‘4 ปี’ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน จนบางครั้งเราอาจลืมไปแล้วว่า เราผ่านอะไรมาแล้วบ้าง
นับแต่ คสช. ผู้สัญญาว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศ ภายในเวลาไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน น่าสนใจว่า คสช.ได้ทำอะไรมาแล้วบ้าง ทำตามที่พูดไว้จริงหรือไม่
The MATTER ขออาสารวบรวม 44 ข่าวเด่นในยุคนี้ ให้ทุกคนได้ระลึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ว่ามีเหตุการณ์ดีๆ น่าจดจำอะไร ผ่านเข้ามาในชีวิตของพวกเราทุกคนบ้าง
ถือเป็นของขวัญแฮปปี้เบิร์ดเดย์ ในโอกาสที่ คสช. มีอายุครบ 4 ขวบ ไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
1) ประยุทธ์ยึดอำนาจและเป็นนายกรัฐมนตรีเอง (22 พ.ค.2557)
แตกต่างจากการรัฐประหารในปี 2549 คือผู้นำการรัฐประหารครั้งนี้ ได้เลือกที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เลือกคนมาเป็น สนช. แล้ว สนช.ก็เลือก พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกทีหนึ่ง
2) ‘รายการคืนวันศุกร์’ เริ่มออนแอร์ตอนแรก (30 พ.ค.2557)
ผู้นำทุกคนต้องการช่องทางที่จะได้สื่อสารกับประชาชน ไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์จะจัดรายการของตัวเองหลังรัฐประหารได้เพียงสัปดาห์เศษ ออกอากาศทุกวันศุกร์เวลาราว 2 ทุ่ม ผ่านทีวีทุกช่อง แต่แทนที่จะออกอากาศเฉพาะช่วงหลังยึดอำนาจใหม่ๆ แล้วก็ปล่อยให้ทีวีได้เข้าสู่รายการปกติ กลับจัดต่อเนื่องยาวนาน จนปัจจุบันออกไปแล้ว อย่างน้อย 205 ตอน
3) ออกซิงเกิ้ลแรก ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ (6 มิ.ย.2557)
ในยุคปัจจุบัน ไม่มีเพลงไหนจะดังไปกว่านี้อีกแล้ว เด็กร้องได้ ผู้ใหญ่ร้องดี เพราะทีวีและวิทยุทุกสถานีต่างถูกบังคับให้เปิดกรอกหูเกือบ 24 ชั่วโมงในช่วงเวลาหนึ่ง แม้ในเวลานี้จะเป็นเพลงที่ผู้มีอำนาจไม่ค่อยอยากพูดถึงสักเท่าไร โดยเฉพาะท่อนฮุก “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”
จนถึงปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์มีผลงานเพลงแล้ว 6 ซิงเกิ้ล นอกจาก “คืนความสุขให้ประเทศไทย” (2557) ก็ยังมี “เพราะเธอคือ..ประเทศไทย” (2558) “ความหวังความศรัทธา” (2559) “สะพาน” (2560) “ใจเพชร” (2561) “สู้เพื่อแผ่นดิน” (2561) ถือเป็นศิลปินที่มีผลงานสม่ำเสมอคนหนึ่ง
4) คำสัญญา รัฐประหารครั้งนี้ “ต้องไม่เสียของ” (23 ก.ค.2557)
วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ชี้แจงถึงการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่าการรัฐประหารของ คสช.จะต้องไม่ “เสียของ” หรือสูญเปล่า ถือเป็น keyword สำคัญที่บังคับให้ คสช.ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
5) ประยุทธ์บอกว่า บริหารราชการแผ่นดิน “ไม่เห็นยากตรงไหน” (8 ส.ค.2557)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า “การบริหารราชการแผ่นดิน ผมไม่เห็นจะยากตรงไหน” โดยอ้างว่า เพราะตนเคยมีประสบการณ์บริหารกองทัพบกที่มีกำลังพลหลายแสนคนมาแล้ว
6) ไมค์ทองคำห้องประชุม ครม. ที่ “ไม่ทุจริต แค่ส่วนต่างเยอะ” (4 ก.ย.2557)
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น พาสื่อมวลชนไปดูห้องประชุม ครม.ใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกับทำเนียบขาว โดยเฉพาะไมโครโฟนตัวละ 1.45 แสนบาท ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าราคาน่าจะสูงเกินจริง เป็น ‘ไมค์ทองคำ’ ก่อนที่ท้ายสุด คสช.จะให้คนของตัวเองตรวจสอบ และสรุปว่า ไม่มีการทุจริต เพียงแค่ “ส่วนต่างมันเยอะ”
7) ประยุทธ์ให้ความเห็นคดีเกาะเต่า “ใส่บิกีนีจะรอดไหม” (18 ก.ย.2557)
หลังเกิดคดีสะเทือนขวัญฆ่า 2 ท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาให้ความเห็นว่า “ผมถามแต่งบิกินีประเทศไทยเนี่ยจะรอดไหม เว้นแต่ไม่สวยล่ะนะ”
8) ประยุทธ์หยอกสื่อ ขู่ทุ่มโพเดี้ยมใส่ (23 ก.ย.2557)
พล.อ.ประยุทธ์หยอกกับนักข่าว หลังการให้สัมภาษณ์ ด้วยการชี้ไปที่โพเดี้ยม แล้วบอกว่า “เดี๋ยวทุ่มนี่ใส่เลย” หลังถูกถามว่า คิดจะเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งบ้างไหม หรือรอรัฐประหารอย่างเดียว
9) ประยุทธ์ตอบคำถาม เรื่องขายที่ดินพ่อให้นายทุน 600 ล้านบาท (4 พ.ย.2557)
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามนักข่าวด้วยท่าทีหงุดหงิดเรื่องการขายที่ดินของบิดา 9 แปลงให้กับบริษัทในเครือของเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท
10) เปิดซิง ใช้ ม.44 ครั้งแรก (5 ม.ค.2558)
พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 เป็นครั้งแรก เพื่อชะลอการเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครอส่วนท้องถิ่นออกไป และถึงปัจจุบัน ใช้มาแล้ว 188 ครั้ง จนถูกสื่อวิจารณ์ว่า ไม่ต่างจาก ‘ยาวิเศษ’ เพราะใช้สารพัดเรื่อง
11) สั่งทำ Single Gateway (14 ก.ค.2558)
พล.อ.ประยุทธ์สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดทำ Single Gateway ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม “เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ต”
12) ระเบิดราชประสงค์ (17 ส.ค.2558)
เกิดเหตุลอบวางระเบิดพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บอีกนับร้อย ภายหลังจับกุมคนร้ายได้ คาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่ไทยส่งชาวอุยกูร์ที่หลบหนีมากลับสู่จีน แต่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กลับระบุไปล่วงหน้าว่า เกิดจากผู้เสียประโยชน์ทางการเมือง
13) เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกชุด (20 ส.ค.2558)
มีการปรับ ครม.ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจทั้งหมด จากนำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาเป็นนำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
14) ‘ถอดยศ’ ทักษิณ ชินวัตร (4 ก.ย.2558)
หัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ออกคำสั่งถอดยศ ‘พันตำรวจโท’ จากทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อ้างเหตุว่า มีคำพิพากษาถึงที่สุดและยังมีคดีถูกฟ้องอีกหลายคดี
15) คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ เพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” (6 ก.ย.2558)
ที่ประชุม สปช.ลงมติ 135:105 ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขณะที่เจ้าตัวตัดพ้อว่า เป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” แต่ไม่ได้ระบุชัดว่า เขาหมายถึงใคร
16) หัวคิว อุทยานราชภักดิ์ (ปลายปี 2558 – กลางปี 2559)
ข้อครหาเรื่องค่าหัวคิว การก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นเงิน 20 ล้านบาท ถูกสื่อมวลชนร่วมกันตรวจสอบยาวนาน เพราะแม้จะมีการแถลงผลการตรวจสอบกันเองโดยกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ก็ไม่คลายความสงสัยต่อสาธารณชนได้ กระทั่งท้ายสุด ผู้ว่าฯ สตง. ออกมาชี้แจงผลการตรวจสอบว่า เงิน 20 ล้านบาท ไม่ใช่ “ค่าหัวคิว” แต่เป็น “ค่าที่ปรึกษา” และได้บริจาคคืนหมดแล้ว
17) กำเนิดคำฮิต ‘ไทยแลนด์ 4.0’ (28 พ.ย.2558)
พูดโดยสุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งขณะนั้นเป็น รมช.พาณิชย์
18) กองทัพเจ้าสัวเหยียบทำเนียบ ก่อนแปลงกายเป็น ‘ประชารัฐ’ (4 ธ.ค.2558)
สมคิดนำเจ้าสัว 24 บริษัทที่มีมูลค่าบริษัทรวมกันแสนล้านบาท เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงประเด็นเศรษฐกิจต่างๆ ก่อนที่เจ้าสัวหลายคนจะถูกดึงมาร่วมทีม ‘ประชารัฐ’ ของรัฐบาล คสช.
19) เปิดตัว standee ลุงตู่ (2559 – ปัจจุบัน ทุกวันเด็ก)
พล.อ.ประยุทธ์ได้จัดทำ standee หรือป้ายรูปตัวเองขนาดเท่าตัวจริงให้เด็กๆ ได้ถ่ายภาพคู่ด้วย ทุกวันเด็ก ที่ทำเนียบรัฐบาล
20) เรื่องวุ่นๆ ของน้องประยุทธ์ (ตลอดทั้งปี 2559)
เรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ คือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม มีเข้ามาเรือ่ยๆ ไม่หยุดหย่อน ทั้งตั้งลูกชายเป็นทหารด้วยข้ออ้างว่า “ใครๆ ก็ทำกัน” ให้บริษัทลูกชายตั้งในค่ายทหารและรับงานจากกองทัพ ไปถึงการใช้เครื่องบินหลวงให้ภรรยาไปเปิดฝายที่ จ.เชียงใหม่ ฯลฯ
21) ประชามติรัฐธรรมนูญ (7 ส.ค.2559)
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ผ่านการออกเสียงประชามติ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10.6 ล้านเสียง ท่ามกลางการรณรงค์ประชามติที่มีการปิดกั้นผู้เห็นต่างอย่างหนักหน่วง ผ่านการใช้ พ.ร.บ.ประชามติ
22) ระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (11 ส.ค.2559)
เบื้องต้นมองเป็นการสร้างสถานการณ์หลังประชามติรัฐธรรมนูญ ก่อนที่เหตุการณ์จะคลี่คลายขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นผลงานของกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันออกหมายจับคนร้ายไปแล้ว 3 คน จากทั้งหมด 11 คน
23) ปลดสุขุมพันธุ์ (25 ส.ค.2559)
หลังเกิดปัญหาในการทำงานสารพัด ไม่ร่วมถึงข้อครหาเรื่องการทุจริต โดยเฉพาะไฟปีใหม่ 39 ล้านบาท ที่สุด คสช.จึงใช้ ม.44 ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาเป็นแทน เรียกเสียงเฮจากคนกรุงบางส่วน
24) ประวิตรยกคณะ ไป ‘ทริปฮาวาย’ (29 ก.ย.2559)
พล.อ.ประวิตรพร้อมคณะกว่า 40 คน บินเครื่องบินเช่าเหมาลำการบินไทย เพื่อไปร่วมประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการที่ฮาวาย ภายใต้งบ 20 ล้านบาท และเป็นค่าอาหารบนเครื่องบิน 6 แสนบาท โดยมีการเปิดชื่อผู้โดยสาร เป็นผู้ประกาศข่าวสาว กับตัวแทนจากเอกชน ก่อนที่ทั้ง 2 คนจะปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมบินไปด้วย
25) สั่งข้าราชการออกกำลังกายทุกวันพุธ (22 พ.ย.2559)
ที่ประชุม ครม. มีมติสั่งให้ข้าราชการออกกำลังกายทุกบ่ายวันพุธ เพื่อสุขภาพที่ดี และประสิทธิภาพในการทำงาน
26) ค่าโง่เหมืองทอง 3 หมื่นล้าน (14 ธ.ค.2559)
พล.อ.ประยุทธ์ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่ออสเตรเลีย ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อาจนำไปสู่การเรียกค่าโง่เป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพราะ ม.44 มีคุ้มครองให้ผู้ใช้ไม่ต้องรับผิดแค่ในไทยเท่านั้น
27) พรบ.คอมฯฉบับใหม่ (16 ธ.ค.2559)
สนช.เห็นชอบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับที่สอง แม้จะมีเสียงคัดค้านผ่านแคมเปญใน change.org ถึงกว่า 3 แสนรายชื่อ
28) ล้อมวัดธรรมกาย จับธัมมชโย (ระหว่างเดือน ก.พ. – พ.ค. 2560)
หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ประกาศควบคุมพื้นที่รอบวัดพระธรรมกาย เพื่อนำตัวพระธัมมชโยอดีตเจ้าอาวาสมาดำเนินคดีร่วมกันฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่น แต่หลังใช้กำลังตำรวจ-ทหารนับพันปิดล้อมตรวจค้นอยู่ 55 วันก็ไม่พบพระชื่อดังรายดังกล่าวแม้แต่เงา
29) สนช. 7 คน โดดประชุมเกินครึ่ง แต่ไม่มีความผิด (7 ก.พ.2560)
iLaw ได้ตรวจสอบพบว่า สมาชิก สนช. จำนวน 7 คน ส่วนใหญ่เป็น ผบ.เหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขากฤษฎีกา ช่วงต้นปี 2559 ก่อนจะพบว่าทั้งหมดร่วมประชุมและลงมติไม่ถึงครึ่ง อาจต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อ สนช.ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบกันเอง ก็บอกว่า ไม่มีความผิด เพราะทั้งหมดได้ยื่นใบลาถูกต้อง ก่อนที่ในเวลาต่อมา สนช.จะแก้ไขข้อบังคับให้ลาได้อย่างไม่จำกัด
30) “อภินิหารทางกฎหมาย” เรียกภาษีหุ้นชินย้อนหลัง (14 มี.ค.2560)
วิษณุชี้แจงในที่ประชุม ครม.ว่า ได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ ที่นำไปสู่การเรียกเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปย้อนหลัง ทั้งๆ ที่น่าจะหมดอายุความไปแล้ว โดยเรียกเก็บเป็นเงิน 1.76 หมื่นล้านบาท
31) ซื้อเรือดำน้ำจีน (5 พ.ค.2560)
กองทัพเรือเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีนแล้ว โดยจะซื้อทั้งหมด 3 ลำ ใช้งบ 3.6 หมื่นล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์เคยชี้แจงว่า ซื้อไว้ให้เพื่อนบ้านเกรงใจว่าไทยก็มีเรือดำน้ำ
32) เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงจีน (15 มิ.ย.2560)
ใช้ ม.44 ยกเว้นกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เดินหน้ารถไฟจีนเต็มตัว
33) สัญญาทรัมป์ เลือกตั้งปลายปี 2561 ก่อนเบี้ยว (3 ต.ค.2560)
พล.อ.ประยุทธ์ ดูตื่นเต้นกับการได้รับเชิญจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ไปเยือนทำเนียบขาวค่อนข้างมาก เพราะถือเป็นการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ จากที่ไม่เคยยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จนเจ้าตัวไปออกปากให้คำสัญญาไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งปลายปี 2561 แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้นจริง
34) จำคุกยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว (27 ก.ย.2560)
ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้จำคุก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นเวลา 5 ปี ฐานปล่อยปละละเลย ไม่ยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากยิ่งลักษณ์หนีออกนอกประเทศไปแล้ว
35) เปิดตัว ‘น้องเกี่ยวก้อย’ เริ่มต้นสร้างความปรองดอง (29 พ.ย.2560)
กระทรวงกลาโหมเปิดตัว ‘น้องเกี่ยวก้อย’ เป็น mascot ในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ แต่ถูกวิจารณ์ว่ามีหน้าตาน่ากลัวมากกว่าจะน่าสมานฉันท์ด้วย จึงต้องไปทำน้องเกี่ยวก้อยเวอร์ชั่นใหม่ หน้าตาสดใสสไตล์ญี่ปุ่น
36) มหากาพย์ ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ (เดือน ธ.ค.2560 – ปัจจุบัน)
พล.อ.ประวิตรโชว์นาฬิกาหรูระหว่างถ่ายภาพหมู่ ครม.ชุดใหม่ ซึ่งถูกตรวจสอบพบว่า ไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน ก่อนจะถูกโลกโซเชียลตรวจสอบพบอีก 24 เรือน ป.ป.ช.รีบเข้ามาตรวจสอบทันทีว่ามีความผิดหรือไม่ แต่ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่เจ้าตัวอ้างว่า ยืมเพื่อนมาทั้งหมด
37) เปรมเตือนประยุทธ์ “กองหนุนหมดแล้ว” (27 ธ.ค.2560)
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวในโอกาศนายกฯ และคณะเข้าอวยพรปีใหม่ เตือนสติ พล.อ.ประยุทธ์ให้เร่งสร้างผลงาน เพราะ “กองหนุนใกล้จะหมดแล้ว”
38) ประยุทธ์ยอมรับเป็นนักการเมือง (3 ม.ค.2561)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยอมรับว่า เป็นนักการเมือง ที่เคยเป็นทหาร หลังเคยปฏิเสธ 8 ครั้งก่อนหน้านี้ ท่ามกลางท่าทีไม่ปฏิเสธ หากถูกเลือกให้เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย
39) ผู้นำแต่งกลอน ประชาธิปไตย ‘ไทยนิยม’ (13 ม.ค.2561)
นอกจากให้คำขวัญวันเด็กตามธรรมเนียมแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ผู้มีหัวใจเป็นกวี ยังแต่งกลอนประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ซึ่งจะไม่เหมือนประชาธิปไตยแบบที่ผ่านๆ มา
40) พรรคพลังประชารัฐ มาแล้ว (2 มี.ค.2561)
พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นพรรคที่ คสช.ใข้สืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกับ กกต. โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดแกนนำรัฐบาล ระบุว่า จะให้สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าพรรค และอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นเลขาธิการพรรค
41) ใช้ ม.44 ปลดสมชัย กกต. หลังปูดเลื่อนเลือกตั้ง (20 มี.ค.2561)
หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ปลดฟ้าผ่า สมชัย ศรีสุทธิยากร จากตำแหน่ง กกต. หลังออกมาพูดย้ำว่า การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในเดือน ก.พ.2562 แต่จะเลื่อนไปอย่างน้อย 2-6 เดือน หลัง สนช.ส่งตีความกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายได้มาซึ่ง ส.ว.
42) เริ่มปฏิรูปประเทศครั้งที่สาม ใช้งบ 7 แสนล้าน (6 เม.ย.2561)
คสช. อ้างตอนเข้ามาว่าจะปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน แต่นอกจากตั้ง สปช. และ สปท. มาจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศ ได้รายงาน 131 เล่ม 1,342 ข้อเสนอ จากงบที่ใช้อย่างน้อย 1,072 ล้านบาท ต่อมาก็ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 ด้าน มาจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศครั้งที่สาม ภายใน 5 ปี โดยระบุว่าต้องใช้งบรวมกันกว่า 7 แสนล้านบาท
43) ตั้งนักการเมืองเป็นที่ปรึกษานายกฯ (17 เม.ย.2561)
ต้อนรับกระแสข่าวดูดนักการเมืองเก่าๆ เข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ สมัยที่สอง ครม.จึงตั้งให้สนธยา คุณปลื้ม จากพรรคพลังชล มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านการเมือง เสียเลย
44) โอตู่จับมือ BNK48 (24 เม.ย.2561)
วงไอดอลสาว BNK48 นำโดย เฌอปราง อารีย์กุล เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อโปรโมตวิทยุครอบครัว FM 105 MHz โดยระหว่างนั้นนายกฯได้จับมือให้กำลังใจกับไอดอลสาวทุกๆ คนจนถูกแซวว่าเป็น ‘โอตู่’ ซึ่งแผลงมาจากชื่อเรียกแฟนๆ ของวงไอดอลนี้ว่า ‘โอตะ’
ถือว่าทบทวนความทรงจำ ว่าเกิดอะไรดีๆ ขึ้นมาบ้าง ภายใต้รัฐบาล คสช. ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา