องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดผลการประเมิน ‘ดัชนีการรับรู้การทุจริต’ หรือ CPI (Corruption Perception Index) ประจำปี 2017 ที่ไทยได้ 37 คะแนน จากเต็มร้อย แม้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 96 ดีกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
แต่กล่าวโดยสรุป ก็ถือว่า ยัง ‘สอบตก’ อยู่ดี เพราะได้คะแนน ‘ไม่ถึงครึ่ง’
ถ้าแยกเป็นรายทวีป ไทยจะอยู่ในอันดับที่ 17 ของเอเชีย-แปซิฟิก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของอาเซียน
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่เอกสารระบุรายละเอียดที่มาคะแนน CPI ของไทยว่ามาจาก 8 แหล่งข้อมูล โดยได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 แหล่งข้อมูล ได้เท่าเดิม 2 แหล่งข้อมูล และได้ลดลง 3 แหล่งข้อมูล
- แหล่งข้อมูลที่ได้คะแนน ‘มากที่สุด’ คือ World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Servey สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ ซึ่งได้ 42 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 คะแนน)
- แหล่งข้อมูลที่ได้คะแนน ‘น้อยที่สุด’ คือ Varieties of Democracy Project (V-DEM) วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้เพียง 23 คะแนน (ลดลงจากปีก่อน 1 คะแนน)
สำนักงาน ป.ป.ช. ยังวิเคราะห์สาเหตุที่คะแนนของแหล่งข้อมูลคะแนนดีขึ้น-แย่ลง มาจากเหตุและผลหลายประการ
กรณีที่ ‘ดีขึ้น’ อาทิ เพราะนายกรัฐมนตรีประกาศจุดยืนปราบปรามการทุจริต, มีการตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอย่างเป็นทางการ, ประสิทธิภาพของการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ทำให้คนเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาค, ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของภาครัฐมากขึ้น ฯลฯ
ส่วนกรณีที่ ‘แย่ลง’ อาทิ เพราะรัฐบาลและฝ่ายบริหารยังมีข้อจำกัดในการถูกตรวจสอบ, ยังปรากฎปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องอยู่เป็นระยะ, การตรวจสอบคนในรัฐบาล การจำกัดสิทธิของสื่อ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ยังเป็นจุดอ่อน ฯลฯ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว The MATTER พบว่า การประเมิน CPI ของไทยครั้งนี้ หลายๆ แหล่งข้อมูลจะใช้ระยะเวลาเก็บข้อมูลไม่ตรงกัน แต่แหล่งข้อมูลที่เก็บข้อมูลช้าที่สุด ก็ยังเป็นเดือนกันยายนของปี 2560 ทำให้ยังไม่มีการนำกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า คสช. เข้าไปประเมินด้วย
หากเปรียบเทียบคะแนนการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ของไทยย้อนหลังสิบปี (ระหว่างปี 2551 – 2560) ก็จะพบว่า รัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจ ไม่ได้ดีไปกว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด
– ปี 2551 ได้ 3.5 คะแนนจากเต็มสิบ / อันดับที่ 80 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
– ปี 2552 ได้ 3.4 คะแนนจากเต็มสิบ / อันดับที่ 84 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
– ปี 2553 ได้ 3.5 คะแนนจากเต็มสิบ / อันดับที่ 78 จากทั้งหมด 178 ประเทศ
– ปี 2554 ได้ 3.4 คะแนนจากเต็มสิบ / อันดับที่ 80 จากทั้งหมด 183 ประเทศ
– ปี 2555 ได้ 37 คะแนนจากเต็มร้อย / อันดับที่ 88 จากทั้งหมด 176 ประเทศ
– ปี 2556 ได้ 35 คะแนนจากเต็มร้อย / อันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศ
– ปี 2557 ได้ 38 คะแนนจากเต็มร้อย / อันดับที่ 85 จากทั้งหทมด 175 ประเทศ
– ปี 2558 ได้ 38 คะแนนจากเต็มร้อย / อันดับที่ 76 จากทั้งหมด 168 ประเทศ
– ปี 2559 ได้ 35 คะแนนจากเต็มร้อย / อันดับที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ
– ปี 2560 ได้ 37 คะแนนจากเต็มร้อย / อันดับที่ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศ