ในยุคที่ธุรกิจ SME โตเร็วกว่าต้นไผ่ เรียกได้ว่าเป็นความฝันของชาวเจนวายสายไม่อยากทำงานประจำ ที่พร้อมทุ่มทุนสักก้อนเพื่อลงทุนทำกิจการอะไรสักอย่าง จะเป็นแม่ค้าในไอจี ขายของในเพจ เปิดร้านชาบูเก๋ๆ หรือถอยฟู้ดทรัคสักคัน ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวเจนวายอยากลอง แม้จะโตเร็ว แต่เสี่ยงมากก็ตามที
หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของ SME นอกจากสภาพเศรษฐกิจ ประสบการณ์ หรือการจัดการต่างๆ แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘โซเชียลเน็ตเวิร์ก’ คือการ Disrupt วงการ SME ก็คงไม่ผิดนัก เพราะนอกจากจะทำให้ทุกอย่างง่ายดายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อแล้ว เจ้าเครื่องมือนี้แหละที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตเจิดจรัสแบบก้าวกระโดด หรือเจ๊งในพริบตาก็ได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้น เราจึงอยากแนะนำให้ว่าที่เถ้าแก่น้อยใหญ่หน้าใหม่ทั้งหลาย ได้ลองศึกษาทริคง่ายๆ ในรูปแบบ ‘5 ยันต์ ที่ SME ควรมี ’ เมื่อธุรกิจของคุณถูกเดิมพันด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของธุรกิจ SME มีกันไว้ เพื่อความอุ่นใจ เพราะ SME ก็เหมือนต้นไม้ ถ้ารากไม่มั่นคง โดนพายุโซเชียล ครั้งเดียวอาจล้มครืน!
ยันต์กันเหลิงกำไรงาม
ในวันที่จุดไฟติดก็ยากที่จะดับลงแล้ว ใครสักคนเคยบอกไว้ เปรียบเปรยได้กับธุรกิจในวันที่กำลังเติบโตไวอย่างกับไฟลามทุ่ง กำไรเข้ากระเป๋าเป็นว่าเล่น ยิ่งถ้ามีจิตวิญญาณความเป็นนักธุรกิจด้วยแล้ว เมื่อกำไรมากขึ้นก็ต้องรีบขยายกิจการเป็นธรรมดา พร้อมรับทรัพย์เพิ่มแบบทวีคูณ แต่เดี๋ยวก่อน! ลองกลับมาทบทวนสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ดีๆ ว่าอยากเติบโตด้วยคุณภาพหรือปริมาณ ยกตัวอย่างธุรกิจร้านชาบูแบบง่ายๆ ถ้าลูกค้าแน่นร้านจนอยากจะขยายสาขา ลองสำรวจความพร้อมก่อนว่า จะสามารถรักษารสชาติแบบนี้ บริการแบบนี้ คุณภาพแบบนี้ ปรับต้นทุนบริหารกำไร ในสาขาใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพนักงานพร้อมไหม การเตรียมวัตถุดิบพร้อมไหม และเราเองที่พร้อมไหม เพราะถ้าสาขาใหม่ไม่ดีเท่าสาขาแรกแล้วล่ะก็ เตรียมรับมือกระแสนักรีวิวตามโซเชียลไว้ได้เลย กระทบไปทุกภาคส่วนแน่นอน ถ้ายังไง ก็อย่าค้ากำไรเกินควร เพราะลูกค้ามารู้ทีหลัง เราจะเสียหายหนัก
ยันต์กันหลงช่องทาง
การใช้ช่องทางของสื่อโซเชียล เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เรียกได้ว่ามีคุณอนันต์ วงเล็บไว้ว่า ถ้าใช้อย่างถูกวิธี เพราะแต่ละประเภทก็มีฟังก์ชั่นและประโยชน์แตกต่างกันออกไป อย่างเฟซบุ๊กคือช่องทางอันดับ 1 ที่เหมาะแก่การทำตลาดมากที่สุด เพราะมีฟังก์ชั่นทุกอย่างครบ ทั้งการโพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ การ Live สด การแชต ฯลฯ ที่สามารถช่วยส่งเสริมการขายได้เต็มที่ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจคือการสร้างแบรนด์อย่างหนึ่ง ที่ลูกค้าสามารถรับรู้ได้โดยตรงนอกจากตัวสินค้า การจะเลือกคอนเทนต์มาโพสต์หรือโฆษณาก็ต้องสอดคล้องกับสินค้าของเรา อย่างเช่นเปิดร้านขายงานคราฟต์เก๋ๆ แต่ดันไปโพสต์คอนเทนต์เรื่องของกิน ซึ่งน่าจะกระทบต่อแบรนด์พอสมควร แถมยังกระทบต่อการรับรู้ของลูกค้าด้วย ว่าตกลงนี่ขายอะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นอย่าหลง โฟกัสทั้งกลุ่มเป้าหมายและสินค้าของเราให้ชัดเจนก่อน
ยันต์กันตามกระแสใคร
ช่วงนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว ที่แบรนด์หรือสินค้าเกือบทุกชนิดต้องมีคลิปไวรัลโฆษณาเป็นของตัวเอง กลายเป็นกระแสที่เจ้าของกิจการอยากทำไม่น้อยไปกว่าคนทั่วไปที่ชอบดูเลย ซึ่งบางทีการทำคลิปไวรัลก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะมันไม่ได้ไวรัลอย่างที่คิด หรือสร้างยอดวิวเป็นล้านแต่กลับไม่ได้ส่งผลต่อยอดขายเลยสักนิด ยิ่งเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ที่ยังไม่ได้มีงบการตลาดเยอะมาก ลองศึกษาวิธีการหรือเครื่องมืออื่นๆ ที่ราคาพอสู้ไหว แต่ได้ผลดีเช่นกัน อย่างการจ้างบล็อกเกอร์ช่วยรีวิวสินค้า หรือสร้างเรื่องราวให้คนสนใจสินค้าผ่านคอนเทนต์รูปภาพหรือตัวหนังสือแทนก็เวิร์กเช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งตามใคร คิดไว้ว่าทุกอย่างมีวิถีที่เหมาะสมของมันเสมอ
ยันต์ป้องกันโลกโซเชียล
ถ้าโลกโซเชียลเปรียบได้กับน้ำมันก็คงจะจริงแท้แน่นอน เพราะถ้าโดนไฟเข้าเมื่อไหร่ มันจะลุกพรึ่บขึ้นทันทีและลามไปในชั่วพริบตา รู้ตัวอีกทีก็วอดวายไปหมดแล้ว ยิ่งถ้าเป็นประเด็นดราม่าเกี่ยวกับเรื่องสินค้าและบริการด้วยแล้ว ถ้าเราเคยเป็นลูกค้ามาก่อนก็น่าจะทราบกันดี ว่ามันจุดติดง่ายขนาดไหน ยกตัวอย่าง ลูกค้าท้องร่วงหลังไปกินร้านหมูกระทะชื่อดัง เสี้ยวนาทีต่อมาลูกค้าโพสต์แฉลงในเฟซบุ๊กของตัวเอง พร้อมเปิด public แวบเดียวเพื่อนลูกค้าแชร์ต่อๆ กันไป ชั่วโมงถัดมามีคนเอาไปลงพันทิป อีกแป๊บเว็บข่าวเอาไปขยี้ต่อ กระพริบตาอีกทีดราม่ากันทั้งโลกโซเชียลแล้วจ้า เหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่า อย่าได้ดูถูกโลกโซเชียลเลยทีเดียว ง่ายที่สุดคือถ้ารู้ตัวว่าทำพลาดกับลูกค้า ก็ให้รีบดับไฟให้ไวที่สุด ขอโทษได้ให้รีบขอโทษ แก้ไขได้ให้แก้ไขทันที ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินไป เพราะพลังของโซเชียลรุนแรงถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายธุรกิจได้เลยนะจะบอกให้
ยันต์ประกันภัย
สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว ยันต์นี้ SME ควรมีกันไว้ เพราะถ้าพบเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนั้น เจ้าของร้านหมูกระทะเจ้านั้นจะรับผิดชอบเช่นไร ยิ่งถ้าเกิดวันนั้นลูกค้าท้องร่วงกันทั้งร้าน คงต้องเลื่อนจ่ายเงินเดือนพนักงานไปจ่ายค่าหมอให้ลูกค้าแน่นอน พอได้เห็นตัวอย่างแบบนี้เจ้าของกิจการหน้าใหม่ๆ ก็อย่าเพิ่งเหวอกันไป เพราะยังมีหนทางของการไม่ประมาท ด้วยการทำประกันเอาไว้ก่อน เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดระหว่างทำธุรกิจของเรา เหมาะที่สุดตอนนี้คงต้อง “ธนชาต SME มีกันไว้” ประกันภัยรูปแบบใหม่ที่เข้าใจเจ้าของธุรกิจ SME ในยุคโซเชียล โดยจุดเด่นคือการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกค้า อาทิ ค่ารักษาพยาบาลลูกค้าเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรืออาหารเป็นพิษ ทรัพย์สินในร้านเสียหาย ภัยธรรมชาติอย่าง น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ หรือแม้แต่ตัวเจ้าของธุรกิจเองก็ยังคุ้มครองอีกด้วย จะดราม่าขนาดไหนก็ไม่ต้องหวั่นอีกต่อไป
อ่านรายละเอียดประกันภัย ได้ที่ http://bit.ly/2qHHHWy