ตุ๊กตาหญิงสาวหุ่นเพรียวผมบลอนด์ ปากนิดจมูกหน่อย สวมชุดสีชมพูหวาน คือภาพที่หลายคนคุ้นชินเมื่อนึกถึง ‘บาร์บี้’ แม้ไม่ได้ผูกพันหรือโตมากับตุ๊กตาตัวนี้ แต่เราเชื่อว่าทุกคนต้องคุ้นชื่อบ้างล่ะ เพราะเผลอแปบเดียวตุ๊กตาบาร์บี้ก็มีอายุครบ 64 ปีแล้ว!
ไอเดียตุ๊กตาบาร์บี้ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ รูท แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทของเล่นชื่อดังอย่าง Mattel มองลูกสาวเล่นของเล่นอยู่ แล้วเกิดคำถามว่าทำไมเด็กผู้หญิงถึงมีของเล่นไม่หลากหลายเลยนะ อย่างมากก็แค่ตุ๊กตาเด็กทารก เพื่อให้พวกเธอได้ซ้อมเป็นแม่บ้านดูแลลูกในวันที่เติบใหญ่ ไม่ต่างอะไรจากทางเลือกในชีวิตจริงของผู้หญิงในยุคสมัยนั้น เธอจึงถ่ายทอดความขบถต่อค่านิยม ‘ผู้หญิงควรแต่งงานมีลูก คอยปรนนิบัติสามีอยู่ที่บ้าน’ ผ่านตุ๊กตาที่มีชื่อว่า บาร์บี้ (Barbie) โดยตั้งตามชื่อลูกสาวของเธอ (ส่วนตุ๊กตาเคนที่ตามมาทีหลังก็ตั้งตามชื่อลูกชายของเธอนั่นเอง)
แนวคิดเบื้องหลังบาร์บี้ คือการทำให้เด็กผู้หญิงเห็นทางเลือกในชีวิตตัวเองมากขึ้นและสื่อสารกับเด็กๆ ว่า “เธอสามารถเป็นใครก็ได้ที่อยากจะเป็น” จนถึงทุกวันนี้บาร์บี้ก็ยังมีคอลเลกชั่นใหม่ๆ ที่สนับสนุนเรื่องความหลากหลายและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ไหนๆ วันนี้ก็เป็นวันแรกที่บาร์บี้ฉบับไลฟ์แอคชั่นจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เราเลยอยากชวนทุกคนมาย้อนดูว่าตลอด 64 ปีที่ผ่านมา บาร์บี้ส่งพลังให้เด็กๆ ผ่านตุ๊กตาแบบไหนบ้าง?
- 9 มีนาคม 1959 – บาร์บี้ตัวแรก แรงบันดาลใจจาก Bild Lilli การ์ตูนช่องสำหรับผู้ใหญ่
แม้ภาพลักษณ์จะดูหวานใส แต่จริงๆ แล้วบาร์บี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘บิลด์ ลิลลี่’ (Bild Lilli) การ์ตูนช่องสำหรับผู้ใหญ่ที่มีไว้กระตุ้นอารมณ์ชายเยอรมันหลังสงคราม จนถึงขั้นที่ว่า ถ้าผู้ชายคนไหนยื่นตุ๊กตาตัวนี้ให้ผู้หญิง ก็จะรู้ได้เลยว่าเขาจะสื่ออะไร ทว่าแก่นสารของตุ๊กตาบาร์บี้กลับต่างไปจากกับบิลด์ ลิลลี่ โดยสิ้นเชิง
โดยวันที่ 9 มีนาคม 1959 เป็นวันที่บาร์บี้ได้ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในงาน New York Toy Fair พร้อมชุดว่ายน้ำลายขาวดำสุดเก๋ แต่ช่วงแรกๆ พ่อแม่ก็อาจไม่คุ้นตาซักเท่าไร แถมยังทำใจไม่ได้เพราะดูยังไงก็ไม่รู้สึกว่าเป็นตุ๊กตาสำหรับเด็ก บ้างก็คิดว่าตุ๊กตาตัวนี้ดูแก่แดดเกินอีกต่างหาก (แต่ก็แอบย้อนแย้งเหมือนกัน เพราะไม่นานหลังจากนั้น Mattel ได้ผลิตบาร์บี้ในชุดแต่งงานออกมาซึ่งขายดีแบบเทน้ำเทท่าซะงั้น)
- 1962 – บาร์บี้กับบ้านในฝัน ในวันที่ผู้หญิงยังเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารไม่ได้
3 ปีหลังจากเปิดตัวบาร์บี้ครั้งแรก Mattel ได้เปิดตัวบาร์บี้กับบ้านในฝัน (Barbie Dreamhouse) สีสันสดใสออกมา ในวันที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของบัญชีธนาคาร เรียกว่าป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระและขุมพลัง (empower) ของผู้หญิงในยุคนั้นว่าจริงๆ เราก็ฝันจะมีบ้านเป็นของตัวเองได้นะ
- 1965 – บาร์บี้นักบินอวกาศ ก่อนผู้หญิงคนแรกจะได้เป็นนักบินอวกาศใน NASA
ก่อนมนุษย์จะไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก ก่อนจะมีนักบินอวกาศหญิงคนแรกในนาซ่า (ปี 1978) บาร์บี้ได้เผยโฉมตุ๊กตาที่สวมหมวกและชุดนักบินอวกาศสีเงิน ท่ามกลางฉากหลังที่เต็มไปด้วยดวงดาวเปล่งประกายในอวกาศอันกว้างใหญ่ แม้ว่าความฝันการเป็นนักบินอวกาศของผู้หญิงในยุคนั้นจะดูไกลเกินเอื้อม และอาชีพของผู้หญิงยังมีไม่หลากหลายเลยด้วยซ้ำ
- 1968 – บาร์บี้ตัวแรกที่เป็นตัวแทนของคนผิวดำ
นอกจากเรื่องอาชีพแล้ว ในปี 1968 Mattel ได้เปิดตัวบาร์บี้ชื่อว่า คริสตี้ (Christie) บาร์บี้ตัวแรกๆ ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงผิวดำ สะท้อนถึงความหลากหลายว่าไม่ได้มีแค่ตุ๊กตาตัวแทนคนผิวขาวผมบลอนด์เท่านั้น โดยคริสตี้มาพร้อมชุดและทรงผมสุดวินเทจที่ได้แรงบันดาลใจจากแฟชั่นยุค 60
- 1992 – บาร์บี้กับชุดประธานาธิบดี
มาถึงเรื่องการเป็นผู้นำกันบ้าง จริงๆ บาร์บี้เคยเปิดตัวบาร์บี้ในอาชีพซีอีโอไปแล้ว แต่ที่ปังยิ่งกว่าคือบาร์บี้ในชุดสูทพร้อมลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยในกล่องจะมีทั้งชุดเดรสสำหรับงานเลี้ยงเปิดตัวสีแดง น้ำเงิน และสีเงิน ชวนให้นึกถึงธงชาติสหรัฐฯ และอีกชุดคือสูทสีแดงสุดเนี้ยบพร้อมหน้าที่ประธานาธิบดีใน Oval Office (ห้องทำงานรูปไข่) ซึ่งหลังจากนั้นก็เริ่มมีบาร์บี้คอลเล็กชั่นอื่นๆ ในฐานะผู้นำประเทศผลิตตามมาเรื่อยๆ
- 2016 – บาร์บี้เริ่มมีรูปร่าง สีผิว และทรงผมที่หลากหลาย
หนึ่งในเรื่องที่บาร์บี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดคือมาตรฐานความงามของผู้หญิงว่า มีแค่ร่างสูงเพรียว เอวคอด ผมบลอนด์ ผิวขาว ดังนั้นในปี 2016 Mattel ได้เปิดตัวบาร์บี้ในไลน์แฟชั่นนิสต้า ที่มีส่วนสูง 3 ขนาด พร้อมกับสีผิว สีตา และทรงผมที่หลากหลายมากขึ้น
- 2019 – บาร์บี้ใส่ขาเทียมและบาร์บี้นั่งวีลแชร์
เดือนมิถุนายน 2019 บาร์บี้เปิดตัวตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีขาเทียมและบาร์บี้ที่มาพร้อมวีลแชร์ เพื่อนำเสนอความงามที่หลากหลายให้กับเด็กๆ โดย Mattel ร่วมมือกับจอร์แดน รีฟส์ (Jordan Reeves) นักเคลื่อนไหวด้านความพิการวัย 13 ปีที่เกิดมาโดยไม่มีแขนข้างซ้าย เพื่อสร้างตุ๊กตาที่มีขาเทียมแบบถอดออกได้ และร่วมกับ UCLA Mattel Children’s Hospital และผู้เชี่ยวชาญเพื่อออกแบบเก้าอี้วีลแชร์ที่จำลองมาจากวีลแชร์สำหรับบุคคลที่มีความพิการทางร่างกายอย่างถาวร
- 2021 – บาร์บี้ตัวแทน 6 ฮีโร่หญิงในช่วงโควิด
นอกจากเรื่องความหลากหลายแล้ว ปี 2019 Mattel ได้ผลิตบาร์บี้ฮีโร่ในช่วง COVID-19 โดยบาร์บี้นี้จะไม่ได้มีขาย แต่ผลิตเป็นที่ระลึกสำหรับ 6 บุคคลต้นแบบ ได้แก่ ซาราห์ กิลเบิร์ต (Sarah Gilbert) ศาสตราจารย์ด้านวัคซีนวิทยาผู้นำการพัฒนาวัคซีน AstraZeneca เอมี่ โอ’ซัลลิแวน (Amy O’Sullivan) พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินที่รักษาผู้ป่วย COVID-19 รายแรกในบรูคลิน ออเดรย์ ซู ครูซ (Audrey Sue Cruz) แพทย์หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียผู้ร่วมต่อสู้กับอคติทางเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติ ชิกา สเตซี่ โอริวา (Chika Stacy Oriuwa) แพทย์หญิงจากแคนาดาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิวในวงการแพทย์ในช่วงการระบาดของ COVID-19 แจ็คเกอลีน โกส์ เดอ เฮซุส (Jaqueline Goes de Jesus) นักวิจัยด้านชีวการแพทย์ ผู้นำในการหาลำดับจีโนมของสายพันธุ์ COVID-19 ในบราซิล และเคอร์บี้ ไวท์ (Kirby White) แพทย์หญิงจากออสเตรเลียผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Gowns for Doctors ซึ่งพัฒนาชุด PPE แบบที่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- 2022 – บาร์บี้ตัวแรกที่สวมเครื่องช่วยฟัง
ในปี 2022 Mattel ยังคงโฟกัสเรื่องความหลากหลาย โดยร่วมกับเจน ริชาร์ดสัน (Jen Richardson) ผู้ผ่านประสบการณ์ด้านโสตวิทยาการศึกษามากว่า 18 ปีผลิตตุ๊กตาบาร์บี้สวมเครื่องช่วยฟังออกมาให้ดูสมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าใจความหลากหลายและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- 2023 – บาร์บี้ดาวน์ซินโดรมตัวแรก
เช่นเดียวกับปีก่อนหน้า ที่ Mattel ต้องการให้เด็กทุกคนได้เห็นภาพตัวเองในบาร์บี้ ซึ่งปี 2023 นี้เป็นปีที่มีบาร์บี้ดาวน์ซินโดรมตัวแรก ซึ่ง Mattel ร่วมพัฒนากับ National Down Syndrome Society (NDSS) ในสหรัฐอเมริกาและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อปั้นใบหน้าและโครงร่างของบาร์บี้ใหม่ แถมยังมีสร้อยคอสีชมพู ซึ่งจี้บนสร้อยคอนั้นหมายถึงโครโมโซมคู่ที่ 21 โดยออกมาเป็นรูปลูกศรที่หมายถึงความโชคดี เพื่อสื่อสารถึงความโชคดีของเพื่อนๆ ที่ได้มีผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมอยู่ในชีวิต
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบาร์บี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ และจริงๆ บาร์บี้เองก็ไม่ได้มีเพียงเสียงชื่นชม หรือคอลเล็กชั่นปังๆ เท่านั้น อย่างช่วงที่รูธต้องออกจาก Mattel แล้วคนที่เข้ามาควบคุมการผลิตและออกแบบเป็นผู้ชาย ทำให้ครั้งหนึ่งเคยมีบาร์บี้ที่หมุนแขนแล้วหน้าอกยุบ-พองออกมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าบาร์บี้ชุดนั้นเสียงตอบรับไม่ค่อยดีซักเท่าไร แถมยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องมาตรฐานความงามอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเอวที่คอดเว้าและรูปร่างผอมเพรียวของบาร์บี้
แต่ตลอด 64 ปีที่ผ่านมา นับว่าบาร์บี้เป็นตุ๊กตาในตำนานที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงหลายคนทั่วโลก และเป็นตุ๊กตาที่สนับสนุนให้เด็กๆ ได้จินตนาการภาพฝันในวันที่เติบใหญ่ ว่าเธอสามารถเป็นใครก็ได้ที่อยากจะเป็น
อ้างอิงจาก