เมื่อค้นพบซีรีส์สนุกๆ สักเรื่องหนึ่ง หรือหนังสือดีๆ สักเล่ม เรารู้สึกเหมือนได้หลุดเข้าไปอยู่ใน ‘โลกสมมติ’ นั้นโดยปริยาย จึงพยายามสละเวลาทั้งหมดที่มี เพื่อดูหรืออ่านเรื่องนั้นให้จบ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาจนถึงตอนสุดท้าย หรือได้พบกับบทสรุปของการเดินทางตลอดสิบกว่าตอน หรือ 2-3 เล่ม หรือ 4-5 ซีซัน เรากลับเผชิญกับความรู้สึกหน่วง อ้างว้าง ใจหาย และหดหู่อย่างหาสาเหตุไม่ได้
คอซีรีส์หลายคน ไม่ว่าฝั่งตะวันตกหรือเอเชีย น่าจะเคยประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว และเข้าใจดีว่ารู้สึกแย่แค่ไหนที่ซีรีส์เรื่องโปรดต้องจบลง แต่ถึงอย่างนั้น ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเรากำลังเป็นอะไรกันแน่ ที่เป็นอยู่ปกติมั้ย หรือเราอินเกินชาวบ้านชาวช่องหรือเปล่า
จะบอกว่าไม่แปลกหรอกนะ หากลองเสิร์ชคำว่า Post-Series Depression ในกูเกิ้ล จะเห็นบทความอธิบายอาการนี้เยอะเลยล่ะ โดยภาษาไทยของมันก็คือ ‘อาการอ้างว้างหลังดูซีรีส์จบ’ และจะพบว่ามีคนจำนวนมากเผชิญอาการนี้เหมือนกัน
Urban Dictionary อธิบายคำนี้ไว้ว่า เป็นความเศร้าหลังจากอ่านหรือดูซีรีส์ที่มีความยาวประมาณหนึ่งจบ เป็นความขมขื่นที่ต้องรู้ว่าการเดินทางครั้งนี้กำลังจะจบลง และคุณไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เป็นความปรารถนาว่า จะได้เห็นว่าหน้าต่อไปจะยังมีตัวหนังสือหรือเรื่องราวดำเนินอยู่ เหมือนครั้งแรกที่เราเริ่มดูหรืออ่านเรื่องนั้น ซึ่งตอนนั้นเป็นความรู้สึกว่าตัวละครหรือโลกใบนั้นช่างไร้ขีดจำกัด สามารถดำเนินไปในทิศทางไหนก็ได้ โดยที่เราคาดเดาไม่ถูก ต่างจากการกลับมาดูหรืออ่านอีกครั้ง เพราะเรารู้ดีว่าตัวละครเหล่านั้นไม่ได้มีอิสระแบบเมื่อก่อนแล้ว
โห อ่านแล้วก็รู้สึกเหมือนกำลังอกหักจากคนรักอยู่นะเนี่ย ซึ่งอาการสองอย่างนี้ก็มีความคับคล้ายคับคลากันอยู่บ้าง เควิน ฟอสส์ (Kevin Foss) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการวิตกกังวล และผู้ก่อตั้ง California OCD and Anxiety Treatment Center กล่าวว่า
“เมื่อเรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมสักเรื่องหนึ่ง อาจจะเป็นหนังสือ ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือรายการโทรทัศน์ เราจะสูญเสียตัวตนไปกับความแฟนตาซี ความโรแมนติก ความอบอุ่น ความดราม่า หรือความบู้ล้างผลาญเหล่านั้นด้วย
“พอเวลาผ่านไป เราก็เริ่มผูกพันกับตัวละครเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว และเริ่มปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของตัวเองตามตัวละครที่เรารัก มีกระบวนการคิดหรือพัฒนาการทางอารมณ์ตามพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น เรายังเผลอซ้อนทับภาพของเรากับตัวละครเหล่านั้นด้วย
“ในขณะที่ติดตามเรื่องราวไปเรื่อยๆ พวกเขาก็ได้พาเราไปเผชิญกับความพิศวง ความอันตราย และความลึกลับในโลกอุดมคติ ด้วยเหตุนี้ พอเรื่องราวสิ้นสุดลง เราจึงต้องบอกลาตัวละครที่เรารัก ซึ่งไม่ต่างกับการจบความสัมพันธ์กับคนรัก หรือการสูญเสียของคนสำคัญในชีวิตในชีวิตจริง และต้องยอมรับว่าการผจญภัยทั้งหมดต้องจบลงแล้ว”
“พอเรื่องราวสิ้นสุดลง เราจึงต้องบอกลาตัวละครที่เรารัก
ซึ่งไม่ต่างกับการจบความสัมพันธ์กับคนรัก
หรือการสูญเสียคนสำคัญในชีวิตจริง
และต้องยอมรับว่าการผจญภัยทั้งหมดต้องจบลงแล้ว”
จึงไม่แปลกหากใครสักคนมองว่าการอ่านหนังสือหรือดูซีรีส์สักเรื่อง ทำให้เราหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงได้ เพราะในชีวิตจริงของบางคนช่างเศร้า น่าเบื่อ ห่วยแตก และไม่สนุกสนานเหมือนในเรื่องที่ตนได้ดูหรืออ่าน ไม่มีพลังวิเศษดั่งฮีโร่มาร์เวล หรือเสกคาถาอย่างพ่อมดในฮอกวอตส์ แต่เมื่อเราเอาพาร์ตหนึ่งของเราไปผูกไว้กับเรื่องราวเหล่านั้น ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อมันจบลง พาร์ตนั้นก็ต้องสิ้นสุดตามไปด้วย และสุดท้ายก็ต้องกลับมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แม้จะไม่เต็มใจแค่ไหนก็ตาม
“ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะสร้างประสบการณ์ที่ดีขนาดไหน แต่ความเป็นจริงตอนนี้กลับรู้สึกว่างเปล่า ซึ่งเราอาจจะตอบสนองด้วยความเศร้าโศก ความซึมเศร้า หรือความรู้สึกไร้ซึ่งจุดหมาย แน่นอนว่าการกลับมาสู่ชีวิตจริงเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะยอมรับได้เสมอไป” เจเนต เรย์มอนด์ (Jeanette Raymond) จิตแพทย์ กล่าว
แต่การกลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะใช่ว่าเราจะทิ้งทุกอย่างที่เผชิญมาในโลกสมมติเหล่านั้นสักหน่อย เควินเสนอวิธีจัดการความรู้สึกสูญเสียนี้ ด้วยการ ‘เล่าต่อ’ ให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน อาจจะเป็นคนที่ชมรมหนังสือ หรือกรุ๊ปเฟซบุ๊กของแฟนคลับซีรีส์ที่เราดู
ฟอสส์อธิบายว่า “การที่เราได้อยู่ท่ามกลางคนที่มีความสนใจเดียวกัน และพร้อมรับฟังเรื่องที่เราอินอย่างเต็มใจ จะทำให้เราได้สะท้อนเรื่องราวออกมาในเชิงบวก ไม่เพียงแค่นั้น ยังเป็นการสร้างสังคมหรือพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ ด้วย ซึ่งวิธีนี้ทำให้เราได้ ‘เก็บความทรงจำและความตื่นเต้น’ ที่ได้ดูหรืออ่านมาให้คงยังอยู่ตลอดไป นอกจากนี้ เรายังกลับไปดูเรื่องเหล่านั้นได้ทุกเมื่อที่รู้สึกคิดถึง แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามันอาจจะสนุกหรือตื่นเต้นน้อยลงบ้าง”
หรืออีกวิธีที่มีประโยชน์และอยากแนะนำ ก็คือกลับไป ‘ทบทวน’ ว่าเรื่องราวเหล่านั้นส่งผลต่อการเติบโตเรายังไงบ้าง อาจจะลองจดบันทึกดูว่าเรื่องที่เราดูหรืออ่านมา ทำให้ประสบการณ์ชีวิตของเราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง หรือเราเติบโตยังไงหลังจากได้ผจญภัยไปกับตัวละครเหล่านั้น เพราะไม่ว่าหนังสือ ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่ดี ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นสื่อบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นบทเรียนให้กับเราด้วย
โดยได้การกลับมาทบทวนบทเรียนจากหนังสือหรือซีรีส์เหล่านั้น ทำให้รู้สึกว่าแม้เรื่องราวจะจบลง แต่อย่างน้อยมันก็ได้ทิ้งอะไรสักอย่างไว้ให้กับเรา ไม่ได้สลายหายไปในอากาศอย่างที่คิด และทำให้เราอยากมูฟออนไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากเรื่องอื่นๆ บ้าง เพราะยังมีอีกหลายการผจญภัยเลยล่ะที่เรายังไม่ได้ออกสำรวจ
เป็นเรื่องยากที่เราจะออกมาจากโลกที่เติมเต็มความสุขและความสมหวังให้กับเรา แต่อย่าลืมว่าโลกความเป็นจริงเราก็สามารถรู้สึกอย่างนั้นได้ โดยให้ตัวละครโปรดที่เราดูหรืออ่านมา เป็นแรงบันดาลใจในการเดินทางหรือรับมือกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต (แต่บางเรื่องอาจจะต้องนำมาประยุกต์หน่อยนะ)
อ้างอิงข้อมูลจาก