“ไม่ใช่ฉันหรอกที่พรากความฝันไปจากเธอ ยุคสมัยต่างหากล่ะ”
นี่คือประโยคที่โค้ชกีฬาฟันดาบโรงเรียนมัธยมปลายหญิงซอนจุงบอกกับ นา ฮีโด (รับบทโดย Kim Tae-Ri) เด็กสาวผู้หลงใหลการฟันดาบเป็นชีวิตจิตใจและใฝ่ฝันจะเป็นนักกีฬาอาชีพ ในวันที่ชมรมฟันดาบของโรงเรียนต้องถูกยุบเนื่องจากรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการ ‘รัดเข็มขัด’ ตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF
อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจเริ่มเอ๊ะว่า ทำไมเหตุการณ์ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง พ.ศ.2540 ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นยังมีอีกชื่อเสียงเรียงนามว่าวิกฤติการเงินแห่งเอเชียในปี ค.ศ.1997 เพราะการล่มสลายของเศรษฐกิจไทยนั้น ‘แพร่ระบาด’ ไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ส่วนเกาหลีใต้นับเป็นประเทศท้ายๆ ที่โดนผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว
สิ่งที่เกาหลีใต้ต้องเผชิญก็ใกล้เคียงกับไทยคือค่าเงินวอนอ่อนยวบลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงส่งผลให้หนี้ในสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 13% ต่อ GDP เป็น 40 % ต่อ GDP สุดท้ายก็เกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นลูกโซ่ของภาคเอกชน ฉุดพาเอาเศรษฐกิจที่เคยเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้ล้มครืนลงมาจน IMF ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยสินเชื่อ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกำหนดเงื่อนไขมากมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้
เรามักจะคุ้นชินกับการบอกเล่าวิกฤติเศรษฐกิจในอดีตด้วยสารพัดตัวชี้วัดในระดับมหภาค แต่สิ่งที่ขาดหายไป คือ ใบหน้า ชีวิต และจิตใจของผู้คนที่ต้องเผชิญกับยุคสมัยที่ช่วงชิงความฝันและความหวังไปต่อหน้าต่อตา
เรื่องราวของคนตัวเล็กในยุคสมัยที่ไม่ว่าใครต่างก็ต้องกระเสือกกระสนถูกถ่ายทอดใน Twenty Five, Twenty One ซีรีส์หวานขมที่มีเรื่องให้เราลุ้นตัวโก่งทุกตอนและอมยิ้มกับความน่ารักของตัวละครโดยมีวิถีชีวิตยุค 90s เป็นฉากหลัง
‘แผลเป็น’ จากวิกฤติเศรษฐกิจ
แม้ชมรมฟันดาบของโรงเรียนจะถูกยุบ แต่ นา ฮีโด ก็ยังมีความหวังเพราะชมรมฟันดาบของโรงเรียนแทยัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันยังคงอยู่รอดปลอดภัยเพราะมีนักกีฬาฟันดาบดาวเด่น โก ยูริม (รับบทโดย Bona หรือ Kim Ji-Yeon) ซึ่งเคยคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิก แต่ความหวังของ นา ฮีโด ก็พังทลายลงเมื่อแม่ไม่เห็นด้วยกับการย้ายโรงเรียน กลับกันเธอต้องการให้ลูกสาวใช้โอกาสนี้ทิ้งความฝันที่จะเป็นนักกีฬาฟันดาบอาชีพเพราะดูไร้อนาคต แม้ว่าในอดีต นา ฮีโด จะคว้ารางวัลจากการแข่งขันมากมายจนได้รับฉายาว่า ‘เจ้าหนูอัจฉริยะแห่งวงการฟันดาบ’ ก็ตาม
หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศเกาหลีใต้มีการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมบริจาคทองเพื่อช่วยรัฐบาลชดใช้หนี้เงินกู้จาก IMF แม่ของ นา ฮีโด ในฐานะผู้ประกาศข่าวชื่อดังก็ร่วมบริจาคด้วย โดยส่วนหนึ่งของทองที่บริจาคคือเหรียญรางวัลซึ่งเป็นความทรงจำอันทรงคุณค่าของ นา ฮีโด
ยุคสมัยจึงไม่ได้ช่วงชิงเพียงความฝัน แต่ยังลบเลือนอดีตอันน่าจดจำของเธอ ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ไม่ต้องการให้เธอเดินต่อบนเส้นทางของนักกีฬาฟันดาบอาชีพ ยังมีหนึ่งเสียงที่คอยให้กำลังใจเธอเสมอมานั่นคือ แพค อีจิน (รับบทโดย Nam Joo-Hyuk) ชายหนุ่มที่ทำงานส่งหนังสือพิมพ์และร้านเช่าการ์ตูนเจ้าประจำของ นา ฮีโด มิตรภาพของทั้งสองค่อยๆ งอกงาม กระทั่งวันที่ฝันร้ายตามมารังควาน แพค อีจิน จนทั้งสองต้องแยกจากกัน
เบื้องหลังของชายหนุ่มที่ยิ้มง่ายและไม่เลือกงาน คือ ลูกชายคนโตของครอบครัวนักธุรกิจใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจจนบ้านแตกสาแหรกขาด พ่อ แม่ และน้องชายต้องกระจัดกระจายไปคนละทิศละทางเพื่อหนีเจ้าหนี้และพนักงานที่ถูกลอยแพจากอดีตประธานบริษัทที่กลายเป็นอาชญากรทางการเงิน
ชีวิตที่เคยกินหรูอยู่สบายของ แพค อีจิน นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ปี 2 ที่ใฝ่ฝันว่าจะได้ทำงานที่องค์การ NASA จึงหลงเหลือเพียงชายหนุ่มวุฒิ ม.ปลาย ที่ต้องอาศัยในห้องเช่ารูหนู ไม่มีใครรับเข้าทำงาน และยังต้องเผชิญหน้ากับคู่ขัดแย้งของพ่ออยู่เนืองๆ จนสุดท้ายจึงตัดสินใจหนีไปจากกรุงโซลโดยไม่อาจบอกใครได้ว่าปลายทางคือที่ใด
ถึงยุคสมัยจะไม่เป็นใจ แต่ทั้ง นา ฮีโด และ แพค อีจิน ต่างก็ไม่ยอมก้มหัวต่อชะตากรรม ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้เดินบนเส้นทางที่ตัวเองเลือก แม้ว่าเส้นทางนั้นจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบก็ตาม
อดีต ปัจจุบัน และความขัดแย้งของคนต่างวัย
Twenty Five, Twenty One ไม่ได้เล่าเฉพาะเรื่องในอดีต แต่ยังเชื่อมโยงมากับยุคปัจจุบันที่ นา ฮีโด กลายเป็นอดีตนักกีฬาชื่อดังที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเป็นคุณแม่ของลูกสาววัยหัวเลี้ยวหัวต่อ คิม มินแช (รับบทโดย Choi Myung-Bin) ที่กำลังเผชิญกับห้วงยามท้อใจในเส้นทางนักบัลเลต์จนตัดสินใจยอมแพ้ หนีมาอยู่บ้านยาย ก่อนจะได้อ่านบันทึกการฝึกฝนของแม่ในช่วงมัธยมปลายที่ยากลำบากไม่แพ้กัน
ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อโลกของคนแต่ละช่วงวัยได้อย่างน่าสนใจ เราได้เห็นเด็กสาววัยรุ่นโผงผางมุทะลุเติบโตเป็นแม่ที่อ่อนโยน เห็นแม่ที่เข้มงวดกับลูกสาวแก่ชราเป็นคุณยายที่พร้อมจะตามใจหลานตลอดเวลา เรื่องราวเหล่านี้ชวนให้เราย้อนนึกถึงคนใกล้ตัวจนอยากที่จะกลับไปชวนคุยว่าท่ามกลางวิกฤติสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ พ่อแม่ลุงป้าน้าอาของเราทำอะไรในห้วงเวลานั้น และเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบต่อวิธีคิดของพวกเขาและเธออย่างไร
ความขัดแย้งระหว่างวัยเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะคนแต่ละช่วงวัยย่อมผ่านประสบการณ์ร่วมสมัยคนละรูปแบบ โดยแต่ละเหตุการณ์ย่อมทิ้ง ‘บาดแผล’ ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติและวิธีคิด นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นที่คนต่างวัยได้ฟังได้อ่านอาจต้องลุกขึ้นมาคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วย
ในมุมมองของผม ความเห็นที่แตกต่างนั้นเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา เช่นเดียวกับความขัดแย้งที่เป็นเรื่องสามัญ แต่โจทย์สำคัญคือเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในบ้านหนึ่งหลังที่มีทั้งคนยุคเบบี้บูมเมอร์ที่เคยเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งแล้วครั้งเล่าจนยึดความมัธยัสถ์เป็นสรณะ ยุคมิลเลนเนียลที่เติบโตมาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว และเจเนอเรชั่น Z ที่ต้องเจอกับการเรียนและการทำงานผ่านระบบออนไลน์เนื่องจากการระบาดของ COVID-19
แม้ว่าการเรียนรู้ซึ่งกันและกันอาจไม่ได้ทำให้เราเห็นต้องตรงกันทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยต่างฝ่ายก็ย่อมเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น ลดอคติว่าด้วย ‘เด็กสมัยนี้’ และ ‘ผู้ใหญ่หัวโบราณ’ เพื่อให้คนต่างวัยอดทนอยู่ร่วมกันได้แม้ความความคิดเห็นจะแตกต่างกันแค่ไหนก็ตาม