ทำไมคนเราต้องอวดแฟน?
ไม่ว่าเราจะเป็นใครในสมการของการอวดแฟน คนอวด คนโดนเอาไปอวด คนเหม็น คนหมั่นไส้ คนแซว ฯลฯ การอวดแฟนนำมาซึ่งความรู้สึกที่แตกต่างกัน บ้างลบ บ้างบวก บ้างดีใจ บ้างรำคาญ บ้างวิตก บางครั้งทุกอย่างผสมกัน ทำไมคนเราต้องอวดแฟน? คำตอบอาจไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น
ส่งสัญญาณความเป็นทางการ
ในแบบสำรวจ ‘Making it Facebook official: The warranting value of online relationship status disclosures on relational characteristics’ โดย บริแอนนา เลน (Brianna L. Lane) จากมหาวิทยาลัยคริสโตเฟอร์นิวพอร์ต ที่สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์คู่รักที่แสดงออกในโลกออนไลน์กับสภาพความสัมพันธ์ในชีวิตจริง บทสรุปของแบบสำรวจนี้ได้ข้อสรุปว่า กลุ่มตัวอย่างที่ ‘เป็นทางการบนเฟซบุ๊ก’ มีโอกาสที่จะทุ่มเท และมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงกว่าคู่ที่ไม่เป็นทางการบนเฟซบุ๊ก
เราให้ค่ากับโซเชียลมีเดียเยอะขนาดนั้นเลยรึเปล่า? จริงๆ หากลองนึกว่าโซเชียลมีเดียมีความสำคัญกับชีวิตของเราทุกคนขนาดไหนก็คงจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจขนาดนั้น ลองนึกภาพว่าทุกวันนี้เราเลื่อนขั้นคนคนหนึ่งจากคนที่เจอผ่านๆ ไปเป็นคนรู้จักของเรายังไง ในหลายๆ ครั้งคำตอบคือการเพิ่มพวกเขาลงไปในลิสต์เพื่อนนั่นเอง เพราะบ่อยครั้งเราเอาตัวตนของเราใส่ไว้บนหน้าไทม์ไลน์โซเชียลมีเดีย มากกว่าที่เราจะแนะนำให้รู้จักกันต่อหน้า
และไม่มีอะไรจริงไปกว่าเรื่องความรัก ถ้าเราอยากรู้ว่าใครมีแฟนแล้วหรือยัง วิธีที่เราเลือกหาคำตอบคือการเข้าไปดูเฟซบุ๊ก ไปดูในโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็ไม่ใช่การถามต่อหน้าจริงๆ ฉะนั้นในทางกลับกัน การเปิดตัวอย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊กหรือการตั้งสถานะคบกันนั้น เสียงดังกว่าการบอกกับเพื่อนๆ ในชีวิตจริงเสียอีก
เห็นกันและกันในอนาคต
หนึ่งในเหตุผลที่คนจะอวดแฟนนั้นมาจากมุมมองอนาคตของคนคนนั้น ในแบบสำรวจ Inclusion of Other in the Self Scale and the structure of interpersonal closeness โดย อาเทอร์ แอรอน (Arthur Aron) จากสาขาจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยโทรอนโต พบว่า คนที่โพสต์เกี่ยวกับคนรักตัวเองบ่อยๆ นั้น บ่อยครั้งเห็นว่าตัวเขาและคู่รักเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันและไม่อาจตัดขาดกันได้ ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยเหตุผลที่เราได้วางคู่รักของอยู่ในแผนการอนาคตแล้ว เช่น วางแผนแต่งงาน หรือการนำคนรักไว้อยู่บนยอดพีระมิดของความต้องการที่เราเรียกว่าความพึงใจส่วนตัว (self-actualization)
เหตุผลดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ดำเนินไปยังจุดที่เกิดความเข้าใจ ความรู้จัก และความทุ่มเทให้กันและกันในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าต้องใช้เวลาและความเชื่อใจในกันและกันว่าคนนี้แหละ ไม่ไปไหนแล้ว และไม่มีคนอื่นแน่นอน การตั้งคบเป็นทางการสามารถเป็นตัวแทนของความมั่นใจนั้นได้
อีกแบบสำรวจยังบอกอีกว่ามันยังสามารถเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันคู่แข่งทางความสัมพันธ์ เช่น คนรักเก่า หรือคนที่อาจเข้ามาเป็นชู้รักได้
กังวลอะไรหรือเปล่าอวดขนาดนี้?
แต่นอกจากการกันความไม่มั่นคงออกแล้ว การอวดแฟนในระดับที่สูงมากๆ อาจมีความหมายถึงสัญญาณอื่นๆ ก็เป็นได้ ในงานวิจัย ‘Can You Tell That I’m in a Relationship? Attachment and Relationship Visibility on Facebook’ โดย ลีเดีย เอเมรี (Lydia F. Emery) จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น เล่าว่า ไม่ใช่คู่รักทุกคู่ที่จะต้องการจะเปิดตัวลงบนโซเชียลมีเดีย และหากความต้องการเปิดเผยความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ตรงกัน อาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ตามมาในความสัมพันธ์
โดยหากแบ่งคนในความสัมพันธ์ตามทฤษฎีการผูกพันแล้วเราสามารถแบ่งได้ 3 แบบ แบบแรกคือ anxious attachment style หรือคนที่โหยหาความรักและความใกล้ชิด แบบที่สองคือ avoidant attachment style หรือคนที่มีความห่างเหิน และสุดท้าย secure attachment style หรือคนที่มีความมั่นคง
ในงานวิจัยของลีเดียจะเน้นไปที่สองแบบแรก คือ คนในแบบแรกมักต้องการการประกาศจากคู่ของตัวเองในโซเชียลมีเดียเนื่องจากความกลัวว่า คู่ของพวกเขาจะหมดความสนใจต่อเขา แต่สำหรับคนที่ตกอยู่ในรูปแบบที่สองจะตรงข้ามกัน เพราะหากเปิดเผยมากและบ่อยครั้งเกินไปสามารถก่อให้เกิดความรู้สึกกดดันในความสัมพันธ์ว่า จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเกินระดับที่ตัวเองรู้สึกสะดวกใจที่จะมอบให้ได้
ความวิตกกังวลอาจไม่ได้มาจากเพียงตามทฤษฎีความผูกพันเท่านั้น แต่จากความรู้สึกคาดหวังจากคู่รักและคนอื่นๆ ในโซเชียลมีเดีย ยิ่งภาพความสัมพันธ์ที่ออกไปให้คนส่วนมากสมบูรณ์มากเท่าไร ความรู้สึกกดดันที่ต้องไปให้ถึงความสมบูรณ์ยิ่งมากขึ้นไปอีก และยิ่งในโลกปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียก่อความวิตกกังวลในตัวของคนกับโลกได้อย่างง่ายดาย เรื่องนี้ยิ่งจริงและต้องคำนึงถึงอย่างมากในการมีความสัมพันธ์
ที่เล่ามานั้น ไม่ได้เป็นการบอกว่าการเปิดเผยหรือการอวดแฟนเป็นเรื่องดีหรือแย่เพราะแต่ละคู่รักนั้นมีมิติของความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง แต่ระดับของการเปิดเผยความสัมพันธ์ต่อคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่แต่ละคู่ต้องคุยกันและรักษาไว้ซึ่งสมดุลและความพอใจของแต่ละฝั่งเพื่อความยั่งยืนของความสัมพันธ์ หากการอวดแฟนนั้นมากเกินไปจนทำให้ใช้ชีวิตไม่มีสุข หรือน้อยเกินไปจนกังวล สิ่งที่สามารถช่วยได้คือการสื่อสารที่ชัดเจนต่อกันและกัน
การเป็นคนรักกันนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเต็มร้อย และไม่ต้องเป็นคนที่ตกอยู่ในทฤษฎีความผูกพันแบบเดียวกันด้วยซ้ำ สิ่งที่สำคัญคือการสื่อสาร ความเข้าใจ และการปรับตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan