“การคุมขังตัวอานนท์นั้นเป็นการคุมขังโดยพลการและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” UN ระบุ
ยื่นประกันตัว 52 ครั้ง แต่ถูกยกคำร้องทุกครั้ง
27 มีนาคม ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง วัย 40 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม ‘ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือนเอกก๊าบๆ’ ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง
อานนท์ ระบุต่อศาลว่า คำปราศรัยที่กล่าวนั้นเป็นข้อเท็จจริง ในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช. ปี 2560 และ 2561 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อทรัพย์สินที่เป็นของสถาบันส่วนรวม กลายมาเป็นทรัพย์สินซึ่งให้อำนาจพระมหากษัตริย์บริหารจัดการตามพระราชอัธยาศัย
เขากล่าวในฐานะจำเลยว่า จึงจำเป็นต้องปราศรัยถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยเจตนาถึงความกังวลและห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนจำนวนมาก ที่ทราบถึงปัญหาดังกล่าว แต่ไม่สามารถพูดได้
“คำปราศรัยเป็นการติชมโดยสุจริต และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม ควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย” ทนายอานนท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศาลฯ ตัดสินว่าการกระทำของทนายอานนท์ เป็นความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมาย 112 จึงพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่จำเลยนำสืบให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
คดีข้างต้นนับเป็นคดี ม.112 คดีที่ 7 ของทนายอานนท์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา จากทั้งหมด 14 คดีที่เขาถูกกล่าวหา โดยทุกคดีศาลเห็นว่ามีความผิด แต่เขายื่นอุทธรณ์ทุกคดีที่ถูกฟ้อง ดังนั้นเมื่อนับรวมโทษจำคุกที่เขาต้องเผชิญ จะอยู่ที่ ‘20 ปี 19 เดือน 20 วัน’
ทนายอานนท์ ยืนหยัดที่จะสู้คดีจนถึงที่สุด
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ 26 กันยายน 2566 หรือวันที่ทนายอานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำวันแรก หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับ 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญาจากคดี ม.112 เขาต้องต่อสู้กับอีกหลายคดีการเมืองที่ทยอยมาเรื่อยๆ
เช่น คดีจากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 1, ปราศรัยในม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2, ปราศรัยในม็อบ 14 ตุลา 63, เขียนและโพสต์จดหมายราษฎรสาส์น, กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ และกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ
ซึ่งคดีข้างต้นทนายอานนท์ถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาเขาพยายามยื่นคำร้องขอประกัน ทว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของประกันทุกครั้ง แม้ว่าการยื่นอุทธรณ์ครั้งล่าสุด (20 กุมภาพันธ์) จะมีการแนบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เรื่อง ‘ประเทศไทยต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทันที’
UN ชี้ว่า ‘อานนท์’ ถูกคุมขังโดยพลการและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
การแสดงความเห็นดังกล่าว ถูกเผยแพร่เมื่อ 20 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นความเห็นที่มีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เพื่อให้ศาลพิจารณาสิทธิในการได้รับประกันตัว โดยมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
การที่ประเทศไทยได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อควบคุมตัวและจำคุกนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างร้ายแรง และเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งยกเลิกหรือปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาของไทย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
ทั้งยังระบุอีกว่า กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยทั้งรุนแรงและกำกวม เป็นการให้ดุลพินิจมหาศาลแก่หน่วยงานรัฐและศาลในการนิยามฐานความผิดดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีบุคคลถูกดำเนินคดีและลงโทษไปแล้วกว่า 270 คน ตั้งแต่ปี 2563
นอกจากนี้ ยังออกความเห็นเพิ่มเติมว่า “การคุมขังตัวอานนท์นั้นเป็นการคุมขังโดยพลการและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของ UN หลายคนได้แสดงความกังวลต่อ กรณีการดำเนินคดีอาญากับอานนท์และบุคคลอื่นในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ให้ยกคำร้องในทุกคดี ซึ่งคำสั่งโดยสรุปเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
“รัฐบาลไทยต้องปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี และโทษจำคุกภายใต้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศไทยในทันที” คณะผู้เชี่ยวชาญจาก UN กล่าว