“การจากลาแม่เจ็บปวดที่สุด”
หนึ่งในถ้อยคำของ ไมค์–ภาณุพงศ์ จาดนอก หลังออกมากล่าวถึงเหตุผลในการตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา
“วันนี้ผมขอใช้พื้นที่นี้เล่าเรื่องราวของการตัดสินใจครั้งที่ยากที่สุดในชีวิต นั่นคือการจากบ้าน จากครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ‘แม่’ ผู้เป็นที่รัก เพราะการตัดสินใจย้ายประเทศในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะทิ้งสิ่งใด แต่เกิดจากความจำเป็น และความหวังในการแสวงหาชีวิตใหม่ที่ปลอดภัย และมีเสรีภาพที่มากขึ้นกว่าเดิม…” ภาณุพงศ์ ระบุ
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ที่ผ่านมามีนักเคลื่อนไหวราว 100 คน ที่จำเป็นต้องลี้ภัยออกจากประเทศ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เกิดการเรียกร้องศาลให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง การนิรโทษกรรมประชาชน รวมถึงคดีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพื่อไม่ให้เกิดผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออก และการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตาม ม.112 แล้วอย่างน้อย 273 คน ใน 306 คดี
ในจำนวนคดีทั้งหมด ‘ประชาชน’ เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษมากที่สุดประมาณ 161 คดี และพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกมากที่สุดคือ คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 168 คดี รองลงมาได้แก่ คดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 59 คดี และคดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย จำนวน 72 คดี
ดังนั้น The MATTER ขอพาทุกคนไปดูกันว่า ‘แกนนำม็อบราษฎร’ ที่เรามักเห็นหน้าคร่าตากันเป็นประจำ ปัจจุบันนี้พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะทางการเมืองไทยในห้วงเวลานี้
1. อานนท์ นำภา
ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ขณะนี้ถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว จากจำนวนโทษทั้งหมด 14 ปี 2 เดือน 20 วัน โดยระยะเวลาดังกล่าวเกิดจาก 4 คดี ที่เขาถูกตัดสินให้มีความผิด ซึ่งคดีล่าสุดที่เพิ่งตัดสิน (25 กรกฎาคม) ทำให้อานนท์ได้รับโทษเพิ่มอีก 4 ปี เดิมทีเขาได้รับโทษราว 10 ปี
2. ไมค์–ภาณุพงศ์ จาดนอก
นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลายคนอาจจะเรียกเขาว่า ไมค์ ระยอง อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่วันก่อน (15 กันยายน) ภาณุพงศ์ออกมายอมรับว่าเขาตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองแล้ว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ศาลอาญาตัดสินว่า เขามีความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตาม ม.112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ม.14 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ม.8
ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้ลงโทษฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ที่เป็นบทลงโทษหนักสุด จำคุก 4 ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ส่งผลให้โทษจำคุกจำเหลือ 3 ปี
3. เพนกวิน–พริษฐ์ ชิวารักษ์
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ศาลอาญา พิพากษาจำคุก เพนกวิน พริษฐ์ เป็นเวลา 2 ปี เหตุจากจำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตาม ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานดูหมิ่นสถาบันฯ อันเป็นบทหนักสุด จำคุก 3 ปี
แต่คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ให้ออกหมายจับจำเลยมารับโทษตามคำพิพากษา ภายในอายุความ 10 ปี
ทว่าตั้งแต่ 26 มิถุนายน เขาไม่ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลตามนัด ในคดีความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้หลายคนเชื่อว่าเขาลี้ภัยออกนอกประเทศไปแล้ว ทั้งนี้ พริษฐ์ ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ถึง 25 คดี ซึ่งมากที่สุดประวัติศาสตร์การเมืองไทย
4. ฟอร์ต–ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี
แกนนำเยาวชนปลดแอก ที่ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศแคนาดา หลังถูกฟ้องร้องในคดี ม.112
5. รุ้ง–ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
ที่ศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เมษายน พนักงานอัยการสำนักงานสูงสุด มีคำสั่งฟ้องคดีของ รุ้ง ปนัสยา ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ รวมถึงโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์ เมื่อช่วงปี 2564
ทั้งนี้ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี หลังทนายความและนายประกันกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ยื่นขอประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันคนละ 90,000 บาท ไม่มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 23 กันยายน 2567 ซึ่งปนัสยาถูกดำเนินคดี ม.112 มากถึง 10 คดี
6. ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร บุญภัทรรักษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตปล่อยตัวจตุภัทรชั่วคราว หลังถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน จากคดี ม.112 เหตุปราศรัยหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564
7. ครูใหญ่–อรรถพล บัวพัฒน์
เช่นเดียวกับจตุภัทร เขาถูกฟ้องในคดีเดียวกัน แต่ได้รับโทษจำคุก 2 ปี เพราะเป็นครั้งแรกที่ถูกฟ้องในคดี ม.112
8. มายด์–ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
เมื่อ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก ภัสราวลี นักกิจกรรมทางการเมือง ในข้อหา ม.112 เป็นเวลา 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี
9. เบนจา อะปัญ
ราว 1 ปีที่แล้ว (30 ตุลาคม 2566) เบนจา นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาลพิพากษาให้เธอมีความผิดตามฟ้อง ในความผิด ม.112 ทำให้ได้รับโทษจำคุก 3 ปี และฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุกอีก 1 ปี แต่ถูกลดโทษให้ 1 ใน 3 ในข้อหา จึงเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ก่อน 2 ปี
10. ตะวัน—ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
ย้อนไปเมื่อ 27 พฤษภาคม ศาลอาญา ได้พิจารณาคำร้องขอประกันตัว ของทานตะวัน ในคดีความผิดอาญา มาตรา 116 จากเหตุบีบแตรขบวนเสด็จ โดยศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้สวมใส่กำไลอีเอ็ม
“หลังถูกคุมขังมาตั้งแต่ชั้นฝากขังจนคดีถูกสั่งฟ้องเป็นระยะเวลานาน 104 วัน ทานตะวันอดอาหารประท้วงมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ” กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ศูนย์ทนายฯ กล่าวขณะนั้น
11. ใบปอ–ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์
อัยการฟ้อง ณัฐนิช ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมาย ม.112 จากการอ่านแถลงการณ์มรชุมนุม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” ที่แยกอโศก ช่วงการประชุม APEC เมื่อปี 2565
12. บุ้ง ทะลุวัง หรือ เนติพร เสน่ห์สังคม
เมื่อ 14 พฤษภาคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เนติพรเสียชีวิตแล้ว หลังทีมแพทย์พยายามช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเดียวกัน
กรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตว่าเธอมีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ทางทีมแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ แต่ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา
ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน (26 มกราคม) เธอถูกศาลอาญาถอนประกันในคดี ม.112 กรณีทำโพลเรื่องขบวนเสด็จ ทำให้เธอถูกคุมขังมาตั้งแต่นั้นมา เนติพรตัดสินใจอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันแรกๆ ซึ่งกินเวลากว่า 110 วัน จนกระทั่งเสียชีวิต
ทั้งนี้ ข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีแกนนำฯ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกจำนวนมากที่กำลังถูกดำเนินคดี กำลังรับโทษอยู่ หรือแม้แต่ลี้ภัยไปแล้ว