ความเป็นครูอาจไม่ได้เริ่มตอนแปดโมงเช้าและจบตอนหกโมงเย็นเสมอไป ไม่ใช่ว่าเพราะความเป็นครูอยู่ติดตัวใครไปตลอดชีวิตหรอกนะ แต่เพราะครูต้องอยู่เวรนอกเวลาต่างหาก ทั้งเวรเสาร์–อาทิตย์ เวรวันหยุดราชการ และเวรค้างข้ามคืนที่โรงเรียน
ปม ‘ครูเข้าเวร’ คือปัญหาคาราคาซังที่ครูหลายคนบ่นถึงมาอย่างยาวนาน บางคนอาจมองเห็นข้อดีที่มีคนคอยพิทักษ์ทรัพย์สินโรงเรียน แต่หลายเสียงก็บ่นถึงภาระงานที่เกินจำเป็นและกังวลถึงความอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ครูหญิงบางคนถึงกับเล่าว่าทุกครั้งที่เข้าเวร (แม้กลางวันแสกๆ) จะต้องหาอาวุธป้องกันตัว ไม่ก็ต้องพาแฟนหรือคนในครอบครัวมาอยู่ที่โรงเรียนด้วยเสมอ
ความกังวลนี้ไม่ใช่ความวิตกจริตเกินจำเป็นแน่ และกรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นกับครูเชียงรายคือเครื่องยืนยันชั้นดี เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เพิ่งเกิดเหตุครูหญิงจากโรงเรียนบ้างโป่งเกลือถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสระหว่างเข้าเวรในวันหยุดเพียงลำพัง อันนำมาสู่เสียงวิจารณ์ #ยกเลิกครูเวรกี่โมง เพราะกังวลว่าเธออาจไม่ใช่เคสสุดท้าย
ทำไมต้องเข้าเวร? มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2542 กำหนดให้สถานที่ราชการต้องมีเวรรักษาการณ์ โรงเรียนซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่เหล่านั้น จึงเกิดเป็นระบบ ‘ครูเวร’ ที่ให้ครูเฝ้าเวรเพื่อดูแลโรงเรียนและทรัพย์สินราชการขึ้นมา ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากความ ‘เสียสละ’ และ ‘อุทิศตน’ ที่สังคมคาดหวังจากครูเกินไปหรือไม่
แม้วันนี้ (23 มกราคม 2567) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเพิ่งแถลงว่าที่ประชุม ครม. มีมติยกเลิกมติ ครม. ว่าด้วยการอยู่เวรรักษาการณ์ในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศแล้ว แต่ประสบการณ์จากการเข้าเวรยังคงตราตรึงใจครูไทยหลายคน The MATTER ชวนครู 5 คนมาแชร์ประสบการณ์การอยู่เวร รวมข้อเสนอจากผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาจากกลุ่ม ‘ครูขอสอน’
เข้าใจระเบียบการอยู่เวร
โดยหลักแล้ว การเข้าเวรตั้งอยู่บนพื้นฐานวิธีคิดว่า สถานที่ราชการต้องมีคนคอยดูแลนอกเวลาราชการ ทั้งในแง่ความปลอดภัย ทรัพย์สิน อัคคีภัย วาตภัย โจรกรรม หรือเหตุต่างๆ ซึ่งตามมติ ครม. เมื่อปี 2542 ว่าด้วยเรื่องเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ มีการกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ไว้ด้วย The MATTER สรุปหลักเกณฑ์สำคัญๆ ไว้ให้ ดังนี้
- ให้หน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น รวมถึงรัฐวิสาหกิจจัดให้มีเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการหรือหน่วยงานนอกเวลาราชการ และในวันหยุดราชการตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อดูแลป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่สถานที่ราชการ
- การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรในแต่ละผลัด ให้มีหัวหน้าเวร 1 คน และผู้อยู่ร่วมปฏิบัติหน้าที่เวรอีก 1 คน ถ้าหน่วยงานไหนมีจำนวนคนเข้าเวรน้อย ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติ ให้ลดจำนวนคนเข้าเวรได้ตามความจำเป็น ตามดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น
- ให้ผู้หญิงเข้าเวรเฉพาะในเวลากลางวันของวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เว้นแต่ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติในเวลากลางคืน
- ถ้าปรากฎว่าผู้เข้าเวรหรือผู้ตรวจเวรจงใจละทิ้งหน้าที่ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด
- ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานใดมีหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำสถานที่ราชการ หรือมีการจ้างเอกชนให้บริการดูแลรักษาความปลอดภัย หรือหน่วยงานนั้นรับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว จะไม่จัดให้มีเวรรักษาการณ์หรือผู้ตรวจเวรก็ได้
หากอิงข้อสุดท้าย จริงๆ หลักเกณฑ์เปิดช่องให้ไม่ต้องมีครูเวรยามก็ได้ ถ้ามีหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำหรือจ้างเอกชนให้มาดูแลความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าระเบียบข้อนี้ระบุหลวมๆ ด้วยคำว่า ‘ก็ได้’ ที่ท้ายสุดก็ต้องพึ่ง ‘ดุลพินิจ’ ของผู้บังคับบัญชาอยู่ดี โรงเรียนจำนวนมากจึงยังต้องมีครูเข้าเวรแม้จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยก็ตาม
“แม้แต่ในกระทรวงศึกษาธิการที่มี รปภ. ด้านใน 30 กว่าคน ข้าราชการก็ยังต้องไปอยู่เวร คำถามคืออยู่ทำไม ทั้งๆ ที่ตามระเบียบก็เปิดช่องให้ แต่มันใช้คำว่า ‘ก็ได้’ ซึ่งแปลว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว จากกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ ระบุ
ฟังเสียงสะท้อนปัญหาเข้าเวรของครูไทย
ครูอิฐ ครูประถมศึกษาและเจ้าของเพจ ‘วันนั้นเมื่อฉันสอน’
ครูอิฐ (นามสมมติ) สะท้อนกับเราว่า การอยู่เวรโรงเรียนเป็นระบบให้โทษมากกว่าประโยชน์ เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ครูมักจะตกเป็นคนรับผิดชอบ เช่นในกรณีทรัพย์สินโรงเรียนหาย ซึ่งถ้าหากไม่อยากโดนลงโทษซึ่งจะเป็นโทษทางวินัยร้ายแรง เหล่าคุณครูก็จะต้องรวมเงินกันซื้อของสิ่งเหล่านั้นคืน ทั้งที่ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนจากการอยู่เวรด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ครูอิฐเห็นว่าระเบียบหลักเกณฑ์เข้าเวรที่บังคับใช้ถ้วนหน้าโดยไม่สนใจความแตกต่างในแต่ละโรงเรียนทำให้เกิดปัญหา เช่น บางโรงเรียนอาจมีครู 200 คน ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กอาจมีครูแค่ 1 คน กลายเป็นคนคนนั้นอาจต้องมีชื่อเข้าเวรทั้ง 365 วัน หรือกฎที่ห้ามครูหญิงเข้าเวรกลางคืน แล้วถ้ามีครูผู้ชายคนเดียว เขาคนนั้นก็อาจต้องเข้าเวร 365 วันเช่นกัน
“คงจะมีประเทศเดียวนี่แหละมั้งที่จ้างครูมาสอนแต่ให้เป็น ‘ยาม’ ด้วย ครูผู้หญิงมีหน้าที่อยู่เวรกลางวัน ส่วนครูผู้ชายมีหน้าที่อยู่เวรกลางคืน หากทั้งปีมีวันหยุด 100 วัน ครูผู้หญิงมี 5 คน ก็แบ่งกันได้คนละ 20 วันที่จะต้องมาอยู่เวรที่โรงเรียนคนเดียวตอนกลางวัน ส่วนครูผู้ชาย ถ้ามีคนเดียวก็ต้องมีชื่ออยู่เวร 365 วัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ครูไม่มีเวลาส่วนตัวผักผ่อนหรือพัฒนาการสอนให้กับเด็กได้” ครูอิฐ บอกกับเรา
เขาเล่าประสบการณ์เพิ่มเติมด้วยว่า “ส่วนตัวผมเป็นครูผู้ชายเคยเจอวัยรุ่นเข้ามามั่วสุมเสพยาตอนกลางคืน ด้วยความที่เราเป็นครูเก่าแก่ พอเขาเจอเราก็หนีไป แต่กับเพื่อนครูผู้หญิงที่อยู่เวรกลางวัน เคยเจอผู้ชายกลิ่นเหล้าหึ่งเข้ามาบอกให้เปิดประตูให้เพราะอยากบริจาค เธอไม่เปิดให้ ผู้ชายคนนั้นก็ยืนยันจะเข้ามาให้ได้”
ครูอิฐ บอกด้วยว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คะแนน PISA ของประเทศไทยตกต่ำ เป็นเพราะครูในระบบการศึกษาไม่ได้มีเรี่ยวแรงเหลือพอที่จะมาทุ่มเทให้กับนักเรียน
“เราเอาเวลาของครูที่จะพัฒนาการศึกษาไปหมดสิ้นไปกับเวรยาม มีครูเก่งๆ หลายคนที่ย้ายออกไปเพราะเขาไม่อยากมาเสียเวลากับระบบที่ไม่เห็นหัวเขา เช่น ถ้าคุณเป็นครูผู้ชายคนเดียวในโรงเรียน 3 ปี คุณต้องเซ็นเอกสารเกี่ยวกับเวรยาม 1095 หน้า มันเป็นภาระงานที่มากมายนะ ทำไมครูคนหนึ่งที่สอบเข้ามาเพื่อสอนหนังสือเด็กถึงต้องมาถูกบั่นทอนกำลังใจขนาดนี้” ครูอิฐทิ้งท้าย
ครู K จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง
สำหรับครู K (นามสมมติ) การนอนเวรทำให้เขาต้องเผชิญกับสัตว์อันตรายมากมาย ทั้งงู ทั้งตะขาบ ถึงขั้นเคยโดนตะขาบกัดระหว่างเข้าเวรจนต้องพักรักษาตัวหลายวัน แถมยังเคยติด COVID-19 เพราะครูเวรคนก่อนติดเชื้อแต่โรงเรียนดันไม่ทำความสะอาดที่นอน
ครู K เข้าใจดีว่าการอยู่เวรเป็นไปเพื่อการรักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินราชการ ป้องกันไม่ให้เกิดการโจรกรรม ก่อวินาศกรรม บ่อนทำลาย ไฟไหม้ และอื่นๆ แต่เขามีความคิดเห็นว่า การให้ครูมาอยู่เวรคือการใช้แรงงานที่ละเมิดกฎหมาย
“การให้ครูมาอยู่เวรเป็นเรื่องที่ใช้แรงงานครูเกินควรและเกินกว่ากฎหมายแรงงานกำหนด บางทีวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังเรียกตัวมาทำงานราชการ แถมกลางคืนให้นอนเวร มันควรยกเลิกได้แล้ว ครูทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ ไม่ปลอดภัย และเวลาที่จะใช้กับครอบครัวก็ถูกริดรอน” ครู K เล่า
นอกจากนี้ ครู K กังวลเรื่องความปลอดภัยที่ครูต้องอยู่ภายในโรงเรียนคนเดียวด้วย เขาเผยว่า ครูก็คือครู ไม่ใช่ตำรวจที่ผ่านการฝึกมาในเรื่องการป้องกันตัว หากมีคนร้ายเข้ามาก็ไม่สามารถต่อสู้ป้องกันได้ พร้อมเสนอว่าโรงเรียนควรจ้าง รปภ. เพื่อดูแลทรัพย์สินไปเลย และควรตระหนักถึงความปลอดภัยของครูให้มากขึ้น
ครูร่มเกล้า ช้างน้อย จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง
ครูร่มเกล้าเป็นอีกหนึ่งคนที่ผ่านประสบการณ์นอนเวร ครั้งหนึ่ง เขาเคยต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไฟไหม้ระหว่างอยู่เวรด้วย โดยเขาเล่าว่า วันนั้นบังเอิญย้ายไปนอนที่ห้องประชาสัมพันธ์พอดี และจู่ๆ ก็เกิดไฟไหม้บริเวณตึกนอนเวร (ที่เขาเพิ่งย้ายออกมา)
โชคดีที่ตอนไฟไหม้คนขับรถของโรงเรียนผ่านมาเจอพอดี ขณะนั้นไฟยังลามไม่เยอะด้วย จึงทำให้ไฟดับได้ก่อนเหตุการณ์จะบานปลาย อย่างไรก็ดี ครูร่มเกล้าเล่าว่าหากไฟลุกลามไปไกลจนถึงห้องนอนเวรและไม่มีคนมาช่วย เขาอาจไม่ได้อยู่ให้สัมภาษณ์ตรงนี้แล้ว
ครูร่มเกล้าเคยริเริ่มแคมเปญ ‘ยกเลิกครูเวร’ ใน change.org เมื่อปี 2561 จวบจนทุกวันนี้เขาก็ยังยืนยันว่าเห็นด้วยกับการยกเลิกครูเวรอยู่ เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถช่วยเรื่องติดต่อราชการได้ เพราะในความเป็นจริงต้องบอกให้ผู้ติดต่อมาในวันและเวลาราชการอยู่ดี หรือถ้าเห็นว่าของสำคัญมาจริงๆ ก็ขอควรให้หน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลความปลอดภัยมารับผิดชอบ
นอกจากนี้ ครูร่มเกล้าเผยว่า การเข้าเวรส่งผลกระทบกับสุขภาพกาย สุขภาพใจ และคุณภาพการสอน ส่วนหนึ่งเพราะนอนพักได้ไม่เต็มที่จนวันถัดมาประสิทธิภาพการสอนลดลง และอีกส่วนคือกังวลว่าเกี่ยวกับความปลอดภัยของครอบครัวที่บ้าน กลัวจะได้พิทักษ์เพียงโรงเรียน แต่พิทักษ์ครอบครัวตัวเองไม่ได้
“ผมเป็นคนต้องนอนเต็มที่ แต่ตอนนอนเวรจะตื่นบ่อยกว่าปกติ ได้ยินเสียงอะไรนิดหน่อยก็ตื่น ทุกเช้าหลังนอนเวรผมไม่สดชื่นเลย เด็กถามเสมอว่าครูเป็นอะไร เพราะนอนเวรเหมือนไม่ได้นอน กระทบคุณภาพการสอน ทำให้ผมสอนแบบ autopilot พูดจบแต่จำไม่ได้ว่าพูดอะไร ความดีดในการสอนลดลง ทำให้ห้องยิ่งเนือย
“ส่วนด้านสุขภาพจิต คือผมจะเป็นห่วงคนที่บ้านครับ ถ้าเป็นอะไรขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ถ้ามีโจรขึ้น มีคนล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุ แทนที่ผมจะอยู่ตรงนั้น ผมกลับต้องมาเฝ้าโรงเรียน สมมติว่ามันเกิดขึ้นจริง ผมพิทักษ์โรงเรียนได้แต่พิทักษ์คนในครอบครัวไม่ได้ ผมจะรู้สึกอย่างไรกับชีวิตที่เหลือหรอ” ครูร่มเกล้า ทิ้งท้าย
ครู A จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง
ครูแต่ละคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในชีวิตที่ต่างกันไป นอกจากบทบาทครู ครู A (นามสมมติ) ยังมีบทบาทคุณแม่ด้วย นั่นทำให้เธอตัดสินใจไม่เข้าเวร และจ้างคนอื่นเข้าเวรแทน เพราะมองว่าการใช้เวลาอยู่กับลูกย่อมมีค่ากว่าการมานั่งอยู่ที่โรงเรียนในวันหยุด
“ไม่เคยอยู่เวรเลย จ้างเอา เพราะลูกยังเล็กและต้องการเรา โรงเรียนไม่มีเราเป็นครูเวรก็มีคนอื่นทำแทนเราได้ แต่ถ้าลูกไม่มีเราเขาไม่มีแม่คนอื่นมาแทนได้ การใช้เวลาอยู่กับลูกมันมีค่ามากกว่าการมานั่งที่โรงเรียนในวันหยุด” ครู A ระบุ
เธอเล่าว่าตนเห็นด้วยกับการยกเลิกระบบครูเวร เพราะเห็นว่าแม้แต่ครูเวรที่มาเข้าเวรเองก็อาจตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่าหน้าที่ที่ต้องมาอยู่โรงเรียนในเวลานี้คืออะไร หลายโรงเรียนก็มียามคอยดูแลอยู่แล้ว หน้าที่ครูที่ต้องเฝ้าจึงยิ่งทับซ้อน
หากว่าด้วยเรื่องการเฝ้าทรัพย์สิน ครู A ชี้ว่า ห้องทุกห้องส่วนใหญ่ถูกล็อกหมดในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์งัดขโมยจริง ก็น่าจะอันตรายต่อชีวิตของครูเวรและทรัพย์สินราชการอยู่ดี
จากปัญหาการอยู่เวร สู่ปัญหาระบบการศึกษาไทย
เพื่อถอยให้เห็นโครงสร้างปัญหานี้ชัดเจนขึ้นและไปให้ไกลกว่าประสบการณ์ที่ครูไทยหลายคนต้องเจอ เราจึงต่อสายคุยกับ ครูทิว—ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูผู้ต้องเข้าเวรในวันศุกร์ที่จะถึงนี้
เราชวนคุยโดยเริ่มถามว่า สังคมเราเดินทางมาถึงปี 2024 แล้ว แต่ทำไมครูไทยยังต้องอยู่เวรเฝ้าระวังภัยให้โรงเรียนทั้งๆ ที่เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยมีเยอะแยะมากมาย ธนวรรธน์เล่าว่าเป็นเพราะระเบียบราชการสั่งให้ทำ แต่หากตอบแบบไม่กำปั้นทุบดิน คงเป็นเพราะความลักลั่น ความไม่เอาใจใส่ ไม่เห็นความสำคัญ ประกอบกับวัฒนธรรมอำนาจราชการแบบไทยๆ ที่ละเลยเรื่องสิทธิและความเหมาะสม
“ในต่างประเทศ ไม่ว่าคุณจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน เรื่องสิทธิแรงงาน เรื่องขอบเขตการทำงาน เรื่อง job description (คำบรรยายลักษณะงาน) และชั่วโมงการทำงาน เขาจะให้ความสำคัญ แต่บ้านเราไม่ อะไรเราก็จะอ้างความขาดแคลน ความไม่เพียงพอ และก็มาขูดรีดเอากับครูผู้ไม่ได้มีอำนาจ หรือไม่ก็ถูกสอนมาว่าว่าต้องเสียสละ ต้องอุทิศตน และก้มหน้าก้มตาทำไปจนเคยชินและกลายเป็นวัฒนธรรม” ธนวรรธน์ บอกกับเรา
แม้บางคนที่สนับสนุนการอยู่เวรของครูจะมองว่า การเป็นเรือจ้างต้องมีความเสียสละ และต้องอดทนเพื่ออยู่ปกป้องโรงเรียนให้ แต่ธนวรรธน์ได้ตั้งกลับถามว่า สังคม ‘ต้องการอะไรจากครู’ กันแน่ พร้อมยกตัวอย่างโรงงานแห่งหนึ่งที่ประกอบไปด้วยวิศวกร ผู้จัดการ HR ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง คนขับรถ ที่ภาระงานแยกจากกัน ขณะที่ครูต้องทำแทบทุกหน้าที่ในโรงเรียน
“ในบริษัทเอกชนแต่ละคนมีหน้าที่เฉพาะ แต่ละคนถูกพัฒนาให้มีความรู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ตัวเองได้เฉพาะ แล้วความเชี่ยวชาญเฉพาะของวิชาชีพครูคืออะไร มันไปอยู่ตรงไหน หรือการพัฒนาของครูจะอยู่ตรงไหนถ้าต้องโฟกัสอย่างอื่นมากขนาดนั้น” ธนวรรธน์ ระบุ
ครูหญิง จ.เชียงรายคงไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดเหตุอันตรายระหว่างการเข้าเวร และแน่นอนว่าไม่ใช่ปัญหาลักษณะเดียวที่ครูเวรต้องเจอ ด้วยความที่ธนวรรธน์ทำกลุ่มขับเคลื่อนด้านการศึกษา อย่างกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ ทำให้เขาได้รับข้อมูลประเด็นปัญหาว่าด้วยเรื่องการอยู่เวรจากครูทั่วประเทศอยู่บ่อยครั้ง เช่น
- บางโรงเรียนให้ครูหญิงเข้าเวรกลางคืน ซึ่งก็ขัดต่อเกณฑ์และระเบียบ แต่จะไม่ให้เข้าก็ได้เพราะระเบียบบอกว่าต้องมีคนอยู่ ไม่มีคนอยู่ไม่ได้
- บางโรงเรียนมีครูชายน้อยมาก มีเพียง 2-3 คน ก็ต้องสลับกันเข้าเวรครั้งละ 2 สัปดาห์ ไม่ก็คนละครึ่งเดือน ทำให้เขาเสียสิทธิในการมีเวลาส่วนตัว และเสียสิทธิในการใช้เวลากับครอบครัวที่บ้าน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เพราะโรงเรียนเกินครึ่งของ สพฐ. เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
- ผู้บริหารมองว่าต้องมีข้าราชการอยู่รับผิดชอบแม้มี รปภ. มีหลายกรณีที่เมื่อเกิดความเสียหายแล้วเรียกร้องจากครู เช่น ของหายก็หักเงินเดือนครู แม้ครูคนนั้นจะมาอยู่เวรตามปกติก็ตาม
ประเด็นที่ธนวรรธน์เล่าว่าครูต้องรับผิดชอบเมื่อของหาย สอดคล้องกับที่ครูอิฐ 1 ใน 5 ครูผู้มีประกบการณ์เข้าเวรเล่าให้เราฟัง ซึ่งธนวรรธน์ยืนยันว่าครูไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ (เว้นแต่ครูเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดความเสียหายตามกฎหมาย) พร้อมยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ 196/2523 ที่โรงเรียนฟ้องให้ครูรับผิดชอบค่าเสียหายเพราะไม่เข้าเวร แต่ศาลพิพากษาว่าก็ให้ลงโทษแค่ทางวินัย แต่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง เพราะต่อให้ครูอยู่เวรก็ป้องกันอะไรไม่ได้
อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลที่ธนวรรธน์มี พบว่าครูบางคนก็ยอมจ่ายเงินเพราะไม่ต้องการมีปัญหาในโรงเรียน ไม่อยากให้เหตุการณ์สร้างผลกระทบในการทำงาน ไม่ว่าจะการพิจารณาผลการปฏิบัติงาน หรือการเลื่อนขั้น ทำให้ครูหลายคนไม่กล้าตั้งคำถามโดยปริยาย
“ปัญหาสำคัญของระบบราชการและการศึกษา คือ วัฒนธรรมอำนาจที่มันยังอยู่ บางคนเป็นผู้บริหารก็ไม่ได้อยากจะรับผิดชอบ หลายครั้งถ้ามี รปภ. และไม่มีครู หากเกิดเหตุ คนรับผิดชอบเต็มๆ คือผู้บริหาร เขาก็เลยเอาครูมาอยู่ นี่คือวิธีคิดของบางคน…ขณะที่หลายโรงเรียนมีกล้องวงจรปิดแต่ไม่ได้ใช้รักษาความปลอดภัย ดันถูกใช้เพื่อดูว่าครูมาอยู่เวรไหม เคยมีครูแคปข้อความส่งมาให้ดูว่าคนระดับบริหารพิมพ์มาว่าเปิดกล้องดูแล้วเจออย่างงั้นอย่างงี้ เหมือนเอาไว้จับผิดครูมากกว่า” ธนวรรธน์ กล่าว
อย่างที่บอกไปในข้างต้น นายกฯ เศรษฐาเพิ่งเปิดเผยว่า ครม. มีมติยกเลิกการมติที่เกี่ยวข้องกับการอยู่เวรแล้วในวันนี้ แต่คำถามต่อมาคือ หลังจากนี้จะทำอย่างไร เมื่อไม่มีครูเวรคอยดูแลปกป้องทรัพย์สินและสถานที่ราชการ ธนวรรธน์เสนอทางออกไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่
- จ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น กุญแจ สัญญาณเตือนภัย เครื่องตรวจจับควัน หรืออื่นๆ ที่สามารถส่งสัญญาณเตือนเข้าผู้รับผิดชอบ สถานีตำรวจ หรือสถานีดับเพลิงใกล้เคียงได้เลย หากไม่มีงบประมาณก็ย้อนไปตรวจสอบว่าปรับลดงบไม่จำเป็นส่วนไหนได้บ้าง
- ประสานหน่วยงานดูแลความปลอดภัยต่างๆ เช่น อส. (สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน) อปภร. (อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน) ตำรวจ หรือหน่วยงานอื่นๆ ในชุมชน เป็นต้น
เราถามธนวรรธน์ว่ารู้สึกอย่างไรกับมติ ‘ยกเลิกครูเวร’ ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งประกาศ เขาตอบกลับว่า เหมือนได้เห็นก้าวใหญ่ที่เรียกร้องมาหลายปี และแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นเรื่องที่ทำได้เลย ไม่ต้องรออะไรเนิ่นนาน และเห็นการปรับนโยบายตามที่ประชาชนเรียกร้อง อย่างไรก็ดี เขาก็มีข้อกังวลในเชิงการปฏิบัติจริง หรือก็คือ กังวลว่าหน่วยงานระดับโรงเรียนจะปฏิบัติอย่างไร จะยังสั่งให้ครูมาอยู่ไหม จะจัดการต่อไปอย่างไรในอนาคต ซึ่งก็คงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องตั้งหน้าตั้งตาลุ้นกันต่อไป
แม้เรื่องนี้จะดูเป็นเหมือนปัญหาของครู ไม่ใช่ปัญหาตาสีตาสาคนธรรมดาทั่วไปซะหน่อย แต่ธนวรรธน์อยากให้สังคมเห็นว่านี่เป็นปัญหาระบบการศึกษาที่ส่งผลกระทบกับทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะพ่อแม่ผู้เรียน นักเรียน คนทำงาน หรือเจ้าของกิจการที่ก็ต้องรับคนที่ผ่านระบบการศึกษาไทยมาทำงาน
“ปัญหาการอยู่เวรสะท้อนว่า ระบบการศึกษาไทยอยู่ใต้ระบบราชการที่ไม่ make sense (ไม่มีเหตุผล) เต็มไปด้วยอำนาจ และไม่คำนึงถึงครูผู้ปฏิบัติและคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ” คือคำตอบเมื่อเราถามนักขับเคลื่อนด้านการศึกษาว่า สิ่งนี้สะท้อนบ้านเราอย่างไร