ไม่กี่วันก่อนเราได้เห็นกรณี ‘เก้าอี้ผอ.’ ในโลกโซเชียล ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเดือด โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า ‘วันนี้ประเมินเงินเดือนที่ห้องประกัน แล้วเผลอนั่งเก้าอี้ผอ. เพราะยกไปให้แกนั่งแล้วแกไม่นั่ง แกไปนั่งเก้าอี้ธรรมดา’ พร้อมกับภาพแชทไลน์กลุ่มที่ ‘ผอ.’ ส่งข้อความมาว่ารู้สึกเสียใจ และรู้สึกว่ามันไม่เหมาะสมที่มานั่งเก้าอี้ของผอ.
เรื่องราวดังกล่าวกลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับคำถามที่ว่า “เป็นครูต้องเจอกับอะไรบ้าง?” The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณครูวัย 26 ปี จากโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี และคุณครูอีกท่านจากโรงเรียนรัฐบาลเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เกี่ยวกับปัญหาที่ต้องเจอกับทางออกในมุมมองของ ‘ครู’ ในระบบการศึกษาไทย
เป็นครูต้องเจอกับอะไรบ้าง?
เราขอแทนครูจากโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี ว่าครูเอ และครูจากโรงเรียนในภูเก็ตว่าครูบี ทั้งสองประสบกับปัญหาเดียวกันนั่นคือ ‘ไม่มีเวลา’ ไม่ว่าจะเรื่องสอนหรือเรื่องส่วนตัว ครูเอที่เพิ่งบรรจุได้ปีกว่าและยังอยู่ในตำแหน่งครูผู้ช่วยเล่าว่า ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือสอนไม่ทัน แต่มันไม่ได้เกิดจากการสอนไม่ทันในคาบ แต่เป็นการเอาเวลาไปทำงานนอก พวกเอกสาร งานวิชาการ ทำให้ภาระงานมันเพิ่มตามกันไปด้วย เช่นเดียวกับครูบีที่เพิ่งจะบรรจุได้ไม่นาน แต่เมื่อผู้บริหารเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทำให้ต้องแบกรับภาระงานและความคาดหวังที่มากขึ้น
ครูเอเล่าว่า ระบบราชการมีผลต่อการทำงานของเราสุดๆ เลย เพราะเรามีเวลาในการสอนแบบไม่เต็มร้อย ยิ่งถ้าเป็นครูพิเศษ (ครูฝ่ายปกครอง หรือครูวิชาการ) ก็จะยิ่งมีงานเยอะขึ้นไปอีก บางคนแทบไม่มีเวลาสอนเลยด้วยซ้ำ เราเข้าใจความคาดหวังของผู้บริหารที่มีต่อเรานะ เพราะเขาก็คงโดนกดดันมาจากกระทรวงฯ อีกที ซึ่งปัญหาเหล่านี้กระทรวงฯ อาจจะไม่รู้ หรือถ้ารู้ก็คงให้ทางโรงเรียนแก้กันเอง
“ไม่อยากให้มองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่จะต้องเพียบพร้อม 100% อยากให้เข้าใจว่าครูคือคน ที่มีทั้งดีและไม่ดี ไม่อยากให้เหมารวม แต่คำที่ว่าครูคือผู้เสียสละนี่จริงนะ คนเป็นครูมันต้องอุทิศชีวิตจริงๆ มันกลายเป็นเราที่ไม่มีเวลาให้ครอบครัว และแม้กระทั่งตัวเอง ทำงานทั้งวัน กลับไปก็นอน วันหยุดก็ทำงาน ชีวิตมันวนลูปไปแบบนี้” ครูเอเล่า
ครูเอใช้วิธีการแบ่งรับแบ่งสู้ แย้งบ้างบางเรื่องที่รู้สึกว่าไม่โอเคจริงๆ ขณะที่ครูบีใช้วิธีนั่งอยู่บนห้องเรียนนานขึ้น ไม่ลงมาที่ห้องฝ่ายตัวเองเมื่อหมดคาบเพื่อเคลียร์งานสอน ด้วยความที่ครูบีเป็นครูพิเศษด้านวิชาการ ทำให้ครูบีต้องแบกภาระงานสอนและงานฝ่ายวิชาการ จนทำให้ไม่มีเวลาเตรียมการสอนอย่างที่ควรจะเป็น
ครูบีเล่าว่า จริงๆ ครูควรมีเวลาเตรียมการสอน ต้องตรวจคะแนน เก็บคะแนนเด็ก แต่กลายเป็นว่าเวลาที่จะไปเตรียมจัดการเรียนการสอนให้สนุกมันกลับไม่มีเวลาซะงั้น เพราะต้องไปทำงานนอกหมด ถ้าให้ไปเตรียมสอนหลัง 5 โมงไปมันก็ไม่ไหว เพราะเราก็ต้องการเวลาส่วนตัวเหมือนกัน เรามีงานบ้านที่ต้องเคลียร์ ต้องนอนและตื่นเช้าอีก
“คำว่าแบบเป็นครูแล้วสบายจะตาย คือตอนนี้จะตายแล้วแต่ยังไม่สบายเลย ภาระที่ต้องแบกไว้มันหนักเหลือเกิน บางหน้าที่เขาควรที่จะรับคนมามากขึ้นเพื่อที่จะแบ่งเบา แต่มันก็จะไปติดเรื่องอัตรากำลังที่ทำให้มีครูมากกว่านี้ไม่ได้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ทำให้เราเจ็บปวด” ครูบีเล่าพร้อมบอกว่า ผู้บริหารมองว่าครูรุ่นใหม่ก็อดทนไปสิ สมัยเขาเป็นครูยังทนได้ แต่แทนที่เขาจะเข้าใจว่าเขาเคยลำบากมาก่อน คนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ควรจะมาโดนแบบเขาอะไรแบบที่เขาโดน แต่เขาไม่ได้คิดแบบนั้น
นอกจากนี้ The MATTER ยังได้พูดคุยกับ ‘ครูทิว’ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน เกี่ยวกับกรณีเก้าอี้ผอ. และปัญหาของครูในปัจจุบัน
ครูทิวเล่าว่า จริงๆ แล้วตอนนี้เราก็ยังได้เจอผู้บริหารที่ทันสมัย ไม่ได้มีความคิดเรื่องอำนาจอยู่บ้างนะ แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่ในข่าวเรื่องเก้าอี้นี้ มันก็เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทำให้เราเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่อีกเยอะ
“ผมคิดว่าระบบเองก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างผู้บริหารแบบนี้ แต่ด้วยกลไกทั้งโครงสร้างระบบราชการและวัฒนธรรมในระบบราชการ และวัฒนธรรมไทย มันอาจจะสร้างผู้คน ไม่ว่าจะผู้บริหาร หรือครู หรือเป็นใครก็ตามที่มีลักษณะของอำนาจนิยมให้เห็นในสังคม” ครูทิวเล่า
ครูทิวเล่าต่อว่า ถ้าอธิบายตามหลักการแล้วมันเป็นความเคยชิน การปลูกฝังมันหล่อหลอม ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งชนชั้นในโรงเรียนหรือในสังคม ซึ่งมันก็เกี่ยวโยงกับตำแหน่งด้วย ทำให้พวกเขาต้องกอดรัดหรือหวงแหนสถานภาพนั้นไว้ เมื่อมีใครก็ตามมาตีตัวเสมอหรือเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ มันเลยทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะหากเสียสิ่งที่เรียกว่าเป็นเหมือน ‘เปลือก’ นี้ไป เขาอาจจะไม่เหลืออะไรเลย
“สิ่งที่ครูเผชิญอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องเก้าอี้”
แต่มันมีหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการโดนผู้บริหารสั่งให้ทำงานส่วนตัว จะต้องมีคนคอยเสิร์ฟนู่นนี่ให้ตลอดเวลา หรือบางทีจะเดินมาหน้าเสาธงก็ต้องมีคนมาเชิญ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ยิบๆ ย่อยๆ แต่สิ่งนี้มันไปสร้างความเคยชิน ไอ้ที่เราบอกกันว่าเป็นครูแล้วจะต้องไปจับจีบผ้า หรือรับภาระอะไรหลายๆ อย่างมันก็เกิดขึ้นมาจากวัฒนธรรมแบบนี้จนมันกลายเป็นความเหนื่อยยากของครูทั้งเวลา พลังงาน ความเหนื่อยยาก และสภาพจิตใจของครูด้วย
ขณะที่ระบบราชการมีผลอย่างมากต่อการทำงานของครู เพราะระบบราชการมันครอบทุกคนอยู่ ทุกคนต้องทำตามกฏ ระเบียบ ซึ่งบางทีมันมีความยืดหยุ่นที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละโรงเรียน ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าคนที่มีดุลพินิจใช้อำนาจโดยมิชอบ ครูก็ต้องก้มหน้าทำไปโดยไม่สามารถโต้แย้งได้ หรือถ้าจะแย้งมันก็แย้งด้วยวาจาไม่ได้เพราะต้องมีหนังสือแย้ง และบางอย่างมันก็เป็นอะไรที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะบางครั้งมันก็ส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของครูคนนั้นด้วย
ครูทิวบอกว่า ทางออกที่มีในปัจจุบันคือ ถ้าโครงสร้างกระทรวงฯ ยังเป็นแบบนี้อยู่ก็อาจจะต้องมีการกำกับดูแลหรือออกกฎเพื่อถ่วงดุลอำนาจผู้บริหารให้มากกว่านี้ แต่ส่วนตัวครูทิวเองสนับสนุนให้กระทรวงฯ กระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอิสระทางอำนาจในการจัดการตัวเองพร้อมให้ทรัพยากร แต่ต้องมาพร้อมการกำกับของผู้บริหาร คณะกรรมการต่างๆ ด้วย ขณะที่เราเองก็ต้องกลับมาทบทวนการอบรมครูด้วยว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการครูแบบไหนกันแน่
นอกจากนี้ ครูทิวยังแนะนำว่า “ควรมีการสร้างกลไกลในการต่อรอง เพราะทุกวันนี้ต่อให้ครูรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อะไรคือที่พึ่งจริงๆ ของครู? ใครจะเป็นตัวกลางมาไกล่เกลี่ยในเมื่อความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจของครูกับผู้บริหารมันไม่เท่ากัน”
ครูทิวยกกรณีตัวอย่างว่า ในต่างประเทศมีองค์กรของครูที่มีหลักเกณฑ์ของตัวเอง และมีผู้แทนที่ไปเจรจาให้ ซึ่งการมีกลไกเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหา และวางบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ปัจจุบันสื่อโซเชียลอาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง และจะเห็นได้เลยว่าสิ่งไหนยอมรับได้ สิ่งไหนต้องปรับ และสังคมมันจะค่อยๆ ขยับไป
“ผมว่าเรื่องความซับซ้อนโลกที่มันเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ของผู้เรียนที่มันเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นภาระเป็นหนักที่ครูต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ครูไม่อยากจะอยู่ ไม่อยากจะเป็นครูจริงๆ คือ ความไม่เมคเซนส์ของระบบเสียมากกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ครูหลายๆ คนที่เจ็บปวดกับระบบแล้วยังอยู่ได้คือ ‘นักเรียน’ ที่ไม่ว่าจะดีจะเลวจะร้ายยังไงแต่นักเรียนคือคนที่ทำให้ครูรู้ว่าความหมาย และคุณค่าของการเป็นครูมันคืออะไร ขณะที่พวกวัฒนธรรมอำนาจ ความไม่เมคเซนส์ของระบบทำให้ถูกใช้โดยที่ไม่มีอะไรมาคุ้มครอง