“ข้อสอบยากเกินไป”
“ถ้าแค่นี้ทำไม่ได้ ก็อย่าเป็นครูเลย”
ประเด็น ‘การสอบครูผู้ช่วย’ เป็นที่ถกเถียงกันในโลกออนไลน์นับตั้งแต่การสอบสิ้นสุดลง หรือตั้งแต่เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี จวบจนปัจจุบันการโต้แย้งกันก็ยังไม่จบสิ้น หลายคนถึงกับพูดว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นประเด็น ที่วนกลับมาให้พูดถึงทุกปีจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
แต่ระหว่างเดียวกัน ก็มีความเห็นบางส่วนรู้สึกสงสัยว่าต้นตอของเรื่องนี้คืออะไร ทำไมมันถึงดูเรื้อรังจนยากที่จะแก้ไข ดังนั้น The MATTER จึงพูดคุยกับ ครูทิว–ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนรัฐบาล และกลุ่มครูขอสอน เพื่อตีแผ่ปัญหาที่อยู่ในปรากฏการณ์ดังกล่าว
‘ถอดบทเรียน’ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบการสอบ
ครูทิวเริ่มต้นด้วยการอธิบายระบบการสอบบรรจุครูผู้ช่วยว่า เป็นการสอบที่ใหญ่ที่สุดจัดโดยต้นสังกัดคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ดูแลโรงเรียนราว 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา ดังนั้น ครูที่ถูกบรรจุทั่วประเทศส่วนใหญ่จึงมาจาก สพฐ.โดยการจัดสอบในแต่ละเขตพื้นที่จะมีการกระจายอำนาจกัน แต่การเปิดสอบบรรจุครูผู้ช่วย จำเป็นต้องทำพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งแต่ละเขตก็จะมีการกำหนดอัตราการรับในจำนวนที่แตกต่างกันออกไป
ในการจัดสอบแต่ละปี สพฐ.ไม่ได้เป็นผู้บริหารจัดการข้อสอบเอง แต่เป็นทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะการพูดคุยกันว่า ปีนี้ใครเป็นผู้ออกข้อสอบ อย่างเช่นปีนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูทิวย้ำว่า ก็ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้มีอำนาจในการออกข้อสอบทั้งหมดเลยเสียทีเดียว แต่ถือว่าเป็นฝ่ายบริหารจัดการการสอบ ซึ่งมีปัญหาทุกปี ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่
“แต่ในปีนี้ค่อนข้างต่างกับปีก่อนๆ เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการสื่อสารออกมา และค่อนข้างตรงไปตรงมา ทำให้ทั้งผู้สอบและบุคคลทั่วไปเข้าใจการจัดการสอบมากยิ่งขึ้น และมีข้อผิดพลาดตรงไหนก็แจกแจงตรงๆ เลย”
ครูทิวลงลึกไปที่ประเด็นตัวข้อสอบครูผู้ช่วยอีกว่า ในทุกๆ ปีสัดส่วนของคะแนน จำนวนข้อ และโครงสร้างข้อสอบ (blueprint) จะแตกต่างกันไป ที่จะแบ่งเป็นภาคๆ เช่น ภาค ก. จะเป็นความรู้ทั่วไป กฎหมาย และจรรยาบรรณของการเป็นครู ซึ่งความรู้ทั่วไป ได้แก่ เหตุการณ์ในปัจจุบันไปจนถึงวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ “ซึ่งสำหรับภาค ก. ไม่ค่อยมีปัญหาถ้าเทียบกับภาค ข. หรือ ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งโดยเฉพาะวิชาเอก”
“มันน่าสะเทือนใจเหมือนกันว่า ดราม่าเกี่ยวกับข้อสอบไม่ได้มีแค่ข้อสอบครูผู้ช่วย แต่ยังรวมถึง ข้อสอบ O-NET, TGAT, TPAT หรือข้อสอบความถนัดแพทย์ ก็มีปัญหาเช่นกัน”
ครูทิวระบุว่า ดังนั้นปัญหาดังกล่าวอาจจะต้องช่วยกันถอดบทเรียน โดยเฉพาะการบริหารจัดการว่ามันเกิดอะไรขึ้น และจะป้องกันข้อผิดพลาดอย่างไรได้บ้าง ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ผู้เข้าสอบ หรือคนทั่วไป เข้าใจว่ากระบวนการออกข้อสอบมีทั้งทีมออกข้อสอบ ทีมคัดข้อสอบ ทีมเลือกข้อสอบ ทีมจัดพิมพ์ข้อสอบ และทีมตรวจทานข้อสอบ ซึ่งต้นฉบับที่ทีมออกข้อสอบเป็นผู้จัดทำ มักเขียนด้วยมือจนบางครั้งนำไปสู่ human error ได้ อย่างในปีนี้ก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้น จนมหาวิทยาลัยที่ออกข้อสอบมีมติให้คะแนนฟรีไป 13 วิชา หลังจากโดนท้วงติงจากผู้เข้าสอบด้วยหลายๆ เหตุผล
ครูทิวเสริมว่า สุดท้ายแล้วถามว่าได้เปรียบเสียเปรียบกันไหม ระหว่างวิชาความรู้ทั่วไปและวิชาเอก ซึ่งเขาให้คำตอบว่าไม่เสียเปรียบ เพราะระบบจะไม่นำคะแนนมารวมกัน เพราะแต่ละเอกมีเกณฑ์ในการรับแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ เกณฑ์ในการสอบผ่านทั้งภาค ก. และ ภาค ข. อยู่ที่ 60% อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้าผู้สอบสอบได้ 60 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม หรือถ้าตีเป็นเกรดคือ เกรด 2 ก็เท่ากับสอบผ่านแล้ว ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่าการสอบดังกล่าวคือ การแข่งขันกับตัวเอง
“อย่างไรก็ตาม การจะปรับให้ระบบการสอบดียิ่งขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องถอดบทเรียนกันอย่างจริงจัง เช่น การเปลี่ยนมือผู้จัดสอบทุกๆ ปี ก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างขึ้นหรือเปล่า”
ข้อสอบยากไม่ยาก วัดจากหลายปัจจัย
“คำว่า ‘ยาก’ เอาอะไรมาวัด สำหรับผมความยาก มันขึ้นอยู่กับอัตวิสัยเป็นแค่มุมมอง ที่คนนี้บอกยาก แต่คนอื่นอาจบอกว่าง่ายก็ได้ แต่ประเด็นหลัก (point) คือในทางวิชาการ การวัดและประเมินผลค่าความยากง่ายนั้นสามารถจำแนกได้ด้วยการหาค่าอำนาจการจำแนก (discrimination power)”
ครูทิวอธิบายต่อว่า การหาค่าดังกล่าวจะช่วยหาคำตอบว่าคำถามแต่ละข้อในข้อสอบนั้นมีสัดส่วนของคนที่ตอบถูกหรือตอบผิดอยู่ที่เท่าไร เช่น ข้อสอบข้อหนึ่งมีทั้งคนที่อยู่ในกลุ่มคะแนนสูงและคะแนนต่ำตอบได้ แปลว่าข้อนี้ง่ายเพราะใครๆ ก็ตอบถูก ฉะนั้นความเห็นในโซเชียลที่บอกว่าข้อสอบยาก อาจไม่สามารถสรุปได้อย่างแท้จริงว่าตกลงแล้วข้อสอบยากจริงๆ หรือไม่
หลายครั้งที่ข้อสอบมักถูกหยิบยกมาแค่บางข้อ ซึ่งตามจริงอาจมีมากถึง 100 ข้อเลยก็ได้ ดังนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่ในข้อสอบชุดหนึ่งจะมีทั้งยากและง่ายคละกันไป อย่างไรก็ตาม ก็มีคนที่มองว่ายาก และอยากให้ลดมาตรฐานข้อสอบลงอยู่ดี
“ผมมองว่าสำหรับคนที่มองว่ายาก หนึ่งอาจเป็นเพราะมุมมองส่วนบุคคล แต่คำถามคือ มุมมองนั้นมาจากไหน เราก็ต้องย้อนกลับไปที่ใครกันบ้างจะมาสอบเป็นครู อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนเลือกที่จะมาเป็นครู”
ครูทิวเสริมประเด็นข้างต้นว่า ทุกปีมีจำนวนคนสอบครูผู้ช่วยหลักหลายแสนคน (ปี 2567 มีผู้เข้าสอบครูผู้ช่วย 1.5 แสนคน) ซึ่งผมขอย้ำว่าเราไม่สามารถตัดสินได้ตรงๆ ว่าทำไมคนถึงเลือกมาเป็นครู บางคนอาจจะชอบหรือรู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับบทบาทอาชีพนี้
‘ครู’ อาชีพข้าราชการ ที่ช่วยยกระดับทางชนชั้น
ครูทิวกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนมีแรงจูงใจในการเป็นข้าราชการ เพราะการเป็นข้าราชการ ถือเป็นการยกฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ขนาดปิดหมู่บ้านเลี้ยงกันเลยเมื่อมีลูกหลานในหมู่บ้านได้เป็นข้าราชการ ดังนั้น ต้องยอมรับว่าผู้ที่เข้าสอบเพื่อเป็นครูจำนวนหนึ่งอาจมีแรงกดดันหลายอย่างอยู่
แล้วอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่คนเลือกที่จะมาเป็นครูมากที่สุดคือ ครูเป็นอาชีพข้าราชการที่มีสัดส่วนการเปิดรับมากที่สุด เนื่องจากมีโรงเรียนอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งโรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนประจำหมู่บ้าน ดังนั้น การที่คนอยากเลื่อนชนชั้นทางสังคม ด้วยการเป็นข้าราชการ เพื่อหวังสวัสดิการ การมีหน้ามีตาในสังคม เส้นทางที่ง่ายที่สุดคือการเป็นครู นอกจากนี้ ปัญหาที่งานมักกระจุกตัวอยู่ที่ตัวเมือง อาทิ กรุงเทพฯ ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนอยากเป็นครู แทนการหางานอื่นที่ไม่สามารถคาดเดาความแน่นอนหรือความมั่นคงได้ขนาดนั้น
ไม่เพียงเท่านั้น หากลองย้อนดูผลคะแนนการสอบ O-NET หรือ PISA ที่รายงานว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการคิดวิเคราะห์และการอ่านออกเขียนได้ (literacy) ทางวิชาการของเด็ก คือปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ และการกระจายทรัพยากรโดยเฉพาะงบประมาณที่แต่ละโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้รับไม่เท่ากันอีก จนกระทบกับการพัฒนาการเรียนการสอน
“สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าข้อสอบยากเกินไป รู้สึกว่าไม่แฟร์ ผมว่าความรู้สึกนี้ไม่ต่างกับประเด็นข้อสอบ O-NET ที่ทั้งเด็กโรงเรียนสาธิตฯ และเด็กโรงเรียนประจำจังหวัดต้องสอบด้วยชุดข้อสอบเดียวกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกปี”
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การสอบเพื่อเป็นครูจะเกิดดราม่าขึ้น เพราะต้นทุนเกือบทุกด้านของเด็กนั้นต่างกัน แต่ประเด็นการสอบครูผู้ช่วยก็มีจุดที่ต่างออกไป ตรงที่การสอบดังกล่าวเป็นการคัดเลือกคนที่จะไปมีอำนาจ ไปกินเงินภาษี ไปจัดการศึกษาที่ส่งผลต่อตัวผู้เรียนโดยตรง ไม่ใช่การสอบเพื่อแค่วัดองค์ความรู้ที่มีเท่านั้น
“การที่เราเข้าใจต้นทุนและพื้นเพ (background) ของแต่ละคนถือเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่การที่จะก้าวเข้ามาเป็นครู ก็ต้องคำนึงว่าการจัดการศึกษาของเรา ส่งผลกระทบกับผู้เรียนมากเช่นกัน”
เพราะครูเป็นกลไกสำคัญของการศึกษา
ครูทิวกล่าวว่า จึงไม่แปลกที่คนที่สอบได้ หรือคนทั่วไปที่ไม่ได้สอบบรรจุครูจะยกเรื่องนี้มาถกเถียง เนื่องด้วยพวกเขาอาจมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะการศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญในการประกอบสร้างคนๆ หนึ่ง
“คนส่วนใหญ่เคยผ่านโรงเรียนที่อยู่ในเครือ สพฐ.มา ซึ่งเจอทั้งครูดีหรือไม่ดี แต่สำหรับผู้ที่เจอครูไม่ดี ผมเชื่อว่าบางครั้งหลายคนอาจเคยตั้งคำถามในใจเลยว่า ‘ครูคนนี้มาเป็นครูได้ยังไง’ เพราะสอนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจการใช้จิตวิทยา แต่เน้นการใช้อำนาจนิยม ทำให้สังคมเลยเกิดการตั้งคำถาม (question) กับระบบสอบครูเสมอมา เนื่องด้วยอาจกังวลแทนเด็กรุ่นใหม่ๆ ด้วย ที่พวกเขาอาจต้องเติบโตท่ามกลางบุคลากรที่ไม่ค่อยมีความเป็นมืออาชีพ”
สิ่งที่ผมอยากแนะนำกับคนที่สอบได้ไม่ได้ หรือกำลังรู้สึกว่าข้อสอบยากไม่ยากว่า ควรมีทัศนคติ (mindset) ในการพัฒนาตัวเองและการเชื่อมั่นในตัวเองตลอดเวลา ต้องคิดว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ แต่สมมติว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจเลย ผมคิดว่าอาจต้องทบทวนแล้วว่า เราสมควรที่จะเป็น ‘ครู’ หรือไม่ เพราะถ้าเราไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แล้วจะให้นักเรียนเชื่อมั่นเราในฐานะครูที่จะมาสั่งสอนเขาได้อย่างไร
ส่วนคนที่มองว่า ครูเป็นอาชีพสำคัญ ไม่ควรลดมาตรฐานการสอบครูฯ ผมคิดว่าคนเหล่านี้ล้วนคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม (common good) ของประเทศ อยากเห็นการศึกษาไทยพัฒนาไกลมากกว่านี้ แต่ผมอยากให้มี empathy กับพวกเขา (ผู้สอบบรรจุครู) หน่อย ไม่ใช่ว่าให้รู้สึกสงสารนะ แต่ลองเห็นอกเห็นใจดู
“เราสามารถเข้าใจ แต่ไม่ต้องยอมรับก็ได้ แต่อย่างน้อยลองทำความเข้าใจว่าผู้ที่อยู่อีกหน้าจอหนึ่งอาจกำลังแบกทั้งความคาดหวัง ความกดดัน หรือภาระครอบครัวอยู่ก็ได้ ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เขาทำ (สอบบรรจุครู) อาจถือเป็นทางรอดเดียวของเขา ที่ไม่ใช่แค่ทางเลือก” ครูทิวระบุปิดท้าย