เป็นธรรมเนียมที่ในทุกๆ ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ท่านนายกรัฐมนตรีของเราจะมอบคำขวัญวันเด็กไว้เพื่อเตือนใจและชี้นำเหล่าอนาคตของชาติของเราให้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ด้วยธรรมเนียมนี้ในแต่ละปี นายกรัฐมนตรีแต่ละท่านก็จะแต่งหรือเลือกสรรค์สาส์นบางอย่างเพื่อสื่อสารกับน้องๆ หนูๆ ด้วยน้ำเสียงของตัวเอง
ดังนั้น เมื่อเรามองย้อนไป นายกรัฐมนตรีแต่ละท่านต่างก็มีสไตล์ มีบริบททั้งทางการเมือง สังคมและทางวัฒนธรรมของตัวเองที่ถูกส่งผ่านออกมาผ่านคำขวัญในแต่ละยุค ประวัติศาสตร์คำขวัญวันเด็กไทยจึงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันยาวนานของเราได้
ในโอกาสวันเด็กที่กำลังเวียนมาถึงและคำขวัญชุดใหม่ของรัฐบาลประยุทธ์ชุดใหม่ ที่เพิ่งออกมา The MATTER จึงอยากชวนคนไทยมองย้อนกลับไปยังคำขวัญวันเด็กยุคต่างๆ ไปอ่านคำขวัญกันใหม่ว่าเราอาจมองเห็นอะไรในคำขวัญเหล่านั้นได้ มีข้อสังเกตอะไรน่าสนใจในวลีสั้นๆ เหล่านั้นบ้าง ผู้นำของเรากำลังเผชิญอะไร และกำลังอยากให้เด็กๆ เป็นอย่างไร
ยุคประยุทธ์ประชารัฐ – คำขวัญยุคใหม่
เข้าสู่ยุคใหม่ รัฐบาลก็ชุดใหม่ แม้จะมีรัฐมนตรีหน้าเดิม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งคนนี้ ก็ยืนยันเสมอว่า นี่คือรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ใช่ชุดเดิมของ คสช. ที่อยู่มายาวนาน 5 ปี ซึ่งคำขวัญวันเด็กในปีนี้ ก็ได้สะท้อนสิ่งที่ประยุทธ์พูด กับการย้ำว่า นี่คือ ‘ยุคใหม่’ และเด็กๆ ในยุคนี้ก็เป็นเด็กยุคใหม่ด้วย
นอกจากคำว่ายุคใหม่แล้ว เรายังเห็นคำว่า ‘สามัคคี’ ที่ประยุทธ์ไม่เคยใช้มาก่อนในช่วงคำขวัญยุค คสช. ปรากฎขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งคำนี้ เป็นคำที่ใช้อยู่บ่อยครั้งในช่วงการเมืองสีเสื้อของประเทศไทย รวมถึงคำว่า ‘พลเมืองไทย’ ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในคำขวัญวันเด็กเลยด้วย ที่ถูกเน้นย้ำให้รู้จักหน้าที่ของตนเอง
ยุคคสช. – คำขวัญแห่งอนาคต
การเมืองในยุคนี้ คสช. พูดอยู่เสมอว่าให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศ คำขวัญวันเด็กของท่านนายกฯ จึงมีคำว่า ‘อนาคต’ ใน 2 ปีแรก ทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะกำหนดอนาคตประเทศ และเกี่ยวพัน ปลูกผังอนาคตของเด็กๆ จนโตเป็นผู้ใหญ่
นอกจากนี้ เรายังเห็นคำว่า ‘มั่นคง’ ในคำขวัญปี 60 ซึ่งเป็นแนวคำแบบทหาร ที่ปรากฏในคำขวัญทั้งหมดเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น ในปี 2557 จากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เคยดำรงตำแน่งรัฐมนตรีกลาโหม และย้อนไปในปี 2511 จากจอมพล ถนอม กิตติขจร
และในปี 61 เอง เราคงได้ยินคำว่า ‘ไทยแลนด์ 4.0’ กันมาตลอดทั้งปี ไปไหน ทำอะไรต่างก็พ่วงสโลแกน 4.0 คำว่า ‘เทคโนโลยี’ จึงปรากฏให้เห็นในคำขวัญปีนี้ เป็นการย้ำเตือนนโยบาย 4.0 ของประเทศไทย แต่โดยนัยที่ท่านก็ยังอยากให้เด็ก ‘รู้เท่าทัน’ ก็แปลว่าลึกๆ แล้วท่านก็มีความกังวลว่าเจ้าเทคโนโลยีเหล่านี้มีภัยบางอย่างแอบแฝงอยู่ มีความกลัวเทคโนโลยีตามประสารัฐบาลสูงวัย
การขึ้นต้นคำขวัญด้วยคำว่า ‘เด็ก’ ยังเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของพล.อ. ประยุทธ์ ที่ 5 ปีที่ผ่านมา มีคำนี้ขึ้นต้นถึง 3 ครั้ง รวมถึงปี 62 นี้ ยังมีคำว่า ‘เยาวชน’ ปรากฎขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2520 ในคำขวัญของธานินทร์ กรัยวิเชียร และยังเป็นครั้งแรกที่มีคำว่า ‘จิตอาสา’ ในคำขวัญวันเด็กด้วย
ถ้ามองไปที่ภาษาโดยรวมของคำขวัญรัฐบาลประยุทธ์ รัฐบาลที่มีภูมิหลังแบบทหาร เราก็จะพอมองเห็นถึงลีลาการใช้คำที่ขึงขัง จบพยางค์ด้วยจังหวะสั้นๆ คล้ายกับคำขวัญของกองทัพฯ (ลองอ่านคำขวัญก็จะพอได้ยินเสียงที่นายกพูด มักพูดสั้นๆ จบเป็นห้วงๆ) ความหมายโดยรวมของคำสอนก็เป็นทำนองเดียวกับที่ผู้ใหญ่พร่ำบอกกันมานับสิบปี มีคำสำคัญๆ เช่น หมั่นเพียร เรียนรู้ ตั้งใจศึกษา คุณธรรม
ยุคการเมืองสีเสื้อ – คำขวัญปลูกฝังความสามัคคี
การเมืองในยุคนี้ เป็นยุคที่เมืองไทยมีความขัดแย้งสูง มีการประท้วงระหว่างกลุ่มสีเสื้อหลากสี ปิดถนน เปิดชุมนุม และการปะทะอยู่บ่อยครั้ง จึงสังเกตได้ว่าตั้งแต่อดีต เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นในประเทศ คำว่า ‘สามัคคี’ นั้นมักปรากฎขึ้นมาในคำขวัญวันเด็กเสมอ เหมือนที่ปรากฏในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เราจึงเห็นคำว่า ‘สามัคคี’ จากนายกฯ ทั้ง 3 คนที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลานี้
ในช่วงเวลานี้ อีกกระแสเรื่อง ‘ประชาคมอาเซียน’ กลายเป็นที่ถูกพูดถึง และปลูกฝังมากในสังคมไทย โดยเฉพาะกับเด็กๆ เราจึงได้เห็นคำว่า ‘อาเซียน’ ปรากฏขึ้นในคำขวัญวันเด็กปี 56 จากยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ ถ้าสังเกตสไตล์การใช้คำ จะเห็นว่าคำขวัญในยุคของอภิสิทธิ์ เป็นคำที่แปลกกว่ายุคอื่นๆ มีความหมายที่งงๆ อธิบายยาก มีอยู่จริงไหม จะทำตามได้อย่างไร เช่นคำว่า ‘จิตบริสุทธิ์’ ‘จิตสาธารณะ’ หรือ ‘จุดประกายฝัน’ เป็นคำที่เราพบได้บ้างตามหลังปกหนังสือเบสเซลเลอร์
ยุคทักษิณ – คำขวัญสไตล์ ‘คิดใหม่ ทำใหม่ ?’
ทักษิณ อดีตนายกฯ ที่ผันตัวจากวงการธุรกิจ มาสู่การเมือง มีนโยบายการทำงานด้วยมาดนักธุรกิจ ปรับระบบราชการให้เป็นเอกชน คำขวัญวันเด็กในยุคนี้จะเป็นแนวคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งตรงกับนโยบายแนวทางของพรรคเพื่อไทยในสมัยนั้น
การวางจังหวะคำขวัญของทักษิณ ดูจะไม่ค่อยอิงกับสัมผัส หรือให้ความสำคัญกับรูปแบบความคล้องจอง มากเท่ากับการให้ชุดความที่บอกว่าเด็กๆ ควรทำอะไรบ้าง ถ้าเราดูสไตล์ก็พอจะโยงกับการเป็นนักธุรกิจ เน้นให้คำขวัญที่เล็งเห็นว่าเอ้ออยากเป็นแบบนี้ ต้องทำอะไร ทำอย่างไรบ้าง เป็นเหตุเป็นผล เป็นชุดคำขวัญให้ความสำคัญของความเท่าๆ กับคำ
ในยุคนี้ยังปรากฏคำว่า ‘เทคโนโลยี’ ในคำขวัญวันเด็กเป็นครั้งแรก ในปี 2546 ก่อนจะมีคำนี้อีกครั้ง ในสมัยยิ่งลักษณ์ ปี 2555 และในปีนี้ ของประยุทธ์
นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่า ทักษิณมีแนวการให้คำขวัญที่แตกต่างจากนายกฯ คนอื่นๆ คือไม่มีคำยอดฮิตอย่าง ‘วินัย’ ‘คุณธรรม’ หรือ ‘ชาติ’ ซึ่งเป็น 3 คำที่พบมากที่สุดในคำขวัญวันเด็กเลย และเมื่อเปรียบเทียบวาทศิลป์กับยิ่งลักษณ์ ผู้เป็นน้องสาว ก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างเช่นกันด้วย
ยุคชวน – คำขวัญอดออม หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง
ประเทศไทยเคยมียุคที่ฟุ่งเฟื่อง รุ่งเรื่อง และมีเศรษฐกิจที่เติบโตมาก ไทยเคยมี GDP ที่เติบโตสูงที่สุดในโลก แต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ทุกอย่างกลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เกิดภาวะฟองสบู่แตก ต้องกู้เงิน IMF มากมายมหาศาล
คำขวัญวันเด็กหลังจากเหตุการณ์นั้น จึงเห็นได้ชัดว่า นายกฯ ต้องการปลูกฝังค่านิยมความขยัน ประหยัด และมีวินัย ให้แก่เด็กๆ โดยคำขวัญตลอด 4 ปีของชวน ปรากฏคำว่า ‘มีวินัย’ ทุกปี เสมือนจะสื่อว่า นี่คือแนวทางที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สังคมไทยเดินกลับไปซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจแบบเดิม
ชวนยังเป็นนายกฯ ที่มักใช้คำขวัญเดิม ซ้ำ 2 ปี ไม่ใช่เพียงแค่ในยุคนี้เท่านั้น แต่ในสมัยการเป็นนายกฯสมัยแรก เขาก็ได้ให้คำขวัญเดิมซ้ำเช่นกัน อาจวิเคราะห์ได้ว่าเพื่อต้องการย้ำเตือนสิ่งนั้นอย่างชัดเจนในสมัยการทำงาน ทั้งชวนยังเป็นผู้นำคนเดียวที่ใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในคำขวัญวันเด็กซ้ำหลายครั้ง
คำขวัญในยุคอื่นๆ
คำขวัญในช่วงอื่นๆ ที่น่าสนใจคือในปี 2540 และ 2539 ที่มีคำว่า ‘ยาเสพติด’ ปรากฏขึ้นมาติดต่อกัน เป็นช่วงเวลาใกล้ๆ กับบวาทกรรมคำว่า ‘ยาบ้า’ ที่เริ่มถูกพูดถึงในสังคมไทย รัฐบาลในเวลานั้นมีนโยบายปราบปราม และพยายามปลูกฝังให้เด็กไทยหลีกเลี่ยงและห่างไกลยาเสพติด
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาล และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) คำขวัญวันเด็กในปี 2536 โดยชวน ก็ปรากฏคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในคำขวัญเป็นครั้งแรก และยังใช้คำขวัญนี้ซ้ำอีก เน้นย้ำให้ ยึดมั่นในประชาธิปไตยด้วย
เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไทยอย่าง 6 ตุลาคม ที่เกิดการจลาจล ปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง รวมถึงกระแสความกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เป็นไปอย่างเข้มข้น คำขวัญวันเด็กในปีต่อมาโดยธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ได้เน้นย้ำว่าเยาวชนไทยต้องมีคุณสมบัติ ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ ทั้งยังไม่ใช้สรรพนามว่าเด็กไทย อย่างที่นิยมกัน แต่เลือกใช้คำว่า ‘เยาวชน’ ที่ปรากฏเพียงแค่ 2 ครั้ง คือในครั้งนี้ และในปี 2515 ของจอมพล ถนอม
14 ตุลาคม เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน ในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการจบลง เราก็ได้เห็นคำขวัญวันเด็กที่สั้นที่สุด จากสัญญา ธรรมศักดิ์ คือ ‘สามัคคี คือพลัง’ ซึ่งอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าคำขวัญนี้จริงๆ แล้วต้องการสื่อถึงสังคมในภาพรวมมากกว่าแค่เด็กๆ ก็ได้
นอกจากนี้ ในยุคสมัยของรัฐบาลเผด็จการ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการใช้ภาษาที่โดดเด่น โดยตลอด 5 ปีในการให้คำขวัญวันเด็ก จะขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า’ และตามด้วยว่า ‘จง…’ ซึ่งเป็นรูปแบบคำสั่ง ตามสไตล์ของทหาร
อ้างอิงจาก
Illustration by. Namsai Supavong