การเลือกตั้งซ่อมสงขลา เขต 6 และชุมพร เขต 1 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นการประกาศศักดาความเหนียวแน่นในภาคใต้อีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพวกเขากวาดเรียบมาทั้ง 2 สนามเลือกตั้งซ่อม ชนิดที่ว่าในสนามชุมพรพวกเขาทิ้งห่างอันดับสอง อย่างพรรคพลังประชารัฐกว่า 15,000 คะแนน (ไม่เป็นทางการ)
และถ้าหากใครติดตามสนามแข่งครั้งนี้จะเห็นว่า ดุเดือดและเฉือดเฉือนชนิด “ไม่มีมารยาททางการเมือง” ทั้งในและนอกเวที เต็มไปด้วยการชิงเล่ห์หักเหลี่ยมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และยังเป็นการยืนยันอีกครั้ง ถึงความแข็งแกร่งของฐานเสียงประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ดังประโยคที่ใครมักพูดกันตามวงกาแฟว่า ในภาคใต้ ประชาธิปัตย์ “ส่งเสาไฟฟ้าลงยังชนะ”
หากใครไม่ติดตามการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ในบทความนี้เราจะค่อยๆ รีแคปสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ร่วมไปกับการวิเคราะห์จากสองนักรัฐศาสตร์ที่เกาะติดการเลือกตั้งครั้งนี้ คนแรก โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้สนใจการเมืองท้องถิ่นและเป็นคนพังงาโดยกำเนิด และคนที่สอง สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตรกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
ทำไมประชาธิปัตย์ถึงยังครองใจคนภาคใต้มาถึงทุกวันนี้? การแย่งชิงพื้นที่นำไปสู่ปัญหาระหว่างพรรคร่วม และภายในพรรคพลังประชารัฐไหม? ทำไมอนาคตใหม่ถึง “ปักธงอนาคต” ไม่ลงเนื้อดินในภาคใต้เสียที? แล้วชัยชนะครั้งนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีของประชาธิปัตย์หรือเปล่า?
การเลือกตั้งซ่อมสงขลา-ชุมพร
สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เราจะขอรีแคปสถานการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟังคร่าวๆ ก่อน
ในสนามเลือกตั้งซ่อมสงขลา เขต 6 ที่เดิมเป็นพื้นที่ของ ถาวร เสมเนียม (ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งสิ้นสภาพ ส.ส. ) จากพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นสนามชิงชัยระหว่าง น้ำหอม – สุภาพร กำเนิดผล รองนายก อบจ.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ น้องโบ๊ท – อนุกูล พฤกษาอนุศักดิ์ พรรคพลังประชารัฐ
คำถามสำคัญคือทั้งคู่เป็นใครบ้าง? สั้นๆ รวบรัดไม่ลงลึก สุภาพรคือภรรยาของ นายกชาย – เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (เพิ่งถูกเลือกขึ้นมาในการประชุมใหญ่พรรคครั้งล่าสุด โดยเพิ่งเคยเป็น ส.ส. แค่สมัยเดียวเท่านั้น) ขณะที่อนุกูลคือ ทายาทของบริษัทผลิตถุงมือยางรายใหญ่ หรือศรีตรัง เศรษฐีแห่งภาคใต้ และเป็นลูกชายของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองสะเดา
หรือเรียกได้ว่าทั้งคู่คือ ‘อาวุธหนัก’ ไม่แพ้กัน
ทางด้านการเลือกตั้งชุมพร เขต 1 อดีตพื้นที่ของ ชุมพล จุมใส บ้านใหญ่ของชุมพรและพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นสนามที่ เลขาตาร์ท – อิสระพงษ์ มากอำไพ ชนะขาดลอยจากการลงขับเคี่ยวกับ ทนายแดง – ชวลิต อาจหาญ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยแพ้ให้แก่ชุมพลไปเมื่อการเลือกตั้งคราวที่แล้ว
แม้สุดท้าย ประชาธิปัตย์จะคว้าชัยทั้งสองเขต โดยในสงขลาเฉือนพลังประชารัฐไปราว 5,000 คะแนน ขณะที่ในชุมพร ชนะขาดไปกว่า 15,000 คะแนน แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเลือกตั้งนั้นน่าสนใจและน่าเก็บมาวิเคราะห์ต่อ
โดยมูฟเมนต์ที่สำคัญในฝั่งพลังประชารัฐคือ การปราศรัยของ ผู้กองแป้ง – ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่สงขลาซึ่งมีบางท่อนที่พูดว่า “เราเลือกตัวแทนของพวกเรา เราต้องเลือกคนที่มีความพร้อม หนึ่ง ชาติตระกูลต้องดี นั่นคือศรีตรัง สอง ต้องมีตัง เวลาไปช่วยชาวบ้าน “สวัสดีครับพี่น้อง ผมไม่มีตังค์ครับ” อย่างนี้เอาไหม กับ “สวัสดีครับพี่น้อง เดือดร้อนหรอครับ เดี๋ยวโบ๊ทเอานี่ให้ใช้ก่อน” อย่างนี้พี่น้องชอบไหม”
ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ ประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ นิพน บุญญามณี รมช. มหาดไทย ใช้มาย้อนคืนว่า พลังประชารัฐดูถูกคนจน, พลังประชารัฐไร้ซึ่งมารยาททางการเมือง และ “ถ้าหมดพลเอก พรรคนี้จะหายไป”
ยังไม่นับตัวแปรใต้ดิน ที่มีเสียงลืออย่างหนาหูว่าครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ ‘กระจายรายได้’ ให้ภาคใต้มากที่สุดครั้งหนึ่ง และยังไม่นับ 5 คดี ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวได้ หลังผู้ต้องหาเข้าคูหาแล้วถ่ายบัตรเลือกตั้ง ส่งให้ใครสักคนผ่านไลน์
เหล่านี้คือสภาพที่เห็นและเป็นอยู่จริงในการเลือกต้ังที่เพิ่งผ่านมา และมันสะท้อนอะไรบ้านผ่านสายตาของนักรัฐศาสตร์ทั้งสองคน
เสาไฟฟ้าลงก็ชนะ ทำไมคนใต้เลือกประชาธิปัตย์มายาวนาน?
ประโยคเก่าแก่หนึ่งที่มักถูกนำยกมาพูดขบขันคือ ถ้าเป็นพื้นที่ภาคใต้ ประชาธิปัตย์ “ส่งเสาไฟฟ้าลงยังชนะ”
ซึ่งเรื่องนี้โอฬารมองว่าไม่จริงนัก โดยเขาเน้นว่าประเด็นสำคัญคือ ผู้สมัครของประชาธิปัตย์เองมากกว่าที่เป็นเครือข่ายหรือผู้ที่มีอำนาจในพื้นที่อยู่แล้ว ทำให้ชนะได้อย่างสบายโดยที่แทบไม่ต้องขยับตัว
“เมื่อก่อนคนที่จะเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ได้ ต้องมีความรู้ดี ขึ้นปราศรัยได้ชนิดเป็นดาวสภา เช่น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, สุเทพ เทือกสุบรรณ, บัญญัติ บรรทัดฐาน, หรือจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”
“หลังปี 2540 ประชาธิปัตย์เข้าหาบรรดาบ้านใหญ่ประจําจังหวัด หรือพูดง่ายๆ ว่าคนเหล่านี้คือคนที่มีเครือข่ายทางการเมืองในพื้นที่อยู่แล้ว จึงไม่แปลก ที่แทบไม่ต้องหาเสียงก็ชนะ”
โอฬารย้ำว่าสำหรับในพื้นที่ภาคใต้ “มันไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์เลย” เพราะคนที่เป็นตัวแทนพรรคของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ล้วนกุมทรัพยากรอยู่ในมืออยู่แล้ว
สติธร นักวิชาการรัฐศาสตร์จากสถาบันพระปกเกล้าก็คิดเห็นคล้ายกันๆ ว่า ความนิยมในภาคใต้ของประชาธิปัตย์เกิดจากการสร้างแบรนด์ “พรรคคนใต้” การดูดผู้มีอำนาจในท้องถิ่น และกระแสนายกฯ ชวน หลีกภัยฟีเวอร์ร่วมกันทำให้มีฐานเสียงที่เข้มแข็งในพื้นที่
“พอมีกระแสชวน หลีกภัยฟีเวอร์ (นายกฯ คนใต้) และประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคของภาคใต้ ใครที่อยู่พรรคอื่นก็ย้ายเข้าประชาธิปัตย์หมด มันเลยกลายเป็นว่า ประชาธิปัตย์กับคนใต้คือเนื้อเดียวกัน
“โดยเฉพาะช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 ถ้าลงพื้นที่ไปคุยกับคนใต้ เขาจะบอกว่ากรีดเลือดออกมาเป็นสีฟ้า มันแปลว่าประชาธิปัตย์ฝังสิ่งนี้ลงไปในเลือดและเนื้อตัวตนคนเลย”
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว เราคงเห็นแล้วว่ามีบางพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นสีฟ้าเหมือนเคย แต่กลายเป็นพื้นที่ของภูมิใจไทยและพลังประชารัฐขึ้นมา ซึ่งสาเหตุนั้นนักรัฐศาสตร์จาก ม.บูรพา วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะการทำงานของผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์เลยที่ทำให้คนในพื้นที่เหนื่อยหน่าย
“มันมีงานวิจัยเยอะว่าระยะหลังกลุ่มชนชั้นกลาง/กลุ่มคนรุ่นใหม่/กลุ่มคนที่พอมีสถานะทางเศรษฐกิจเริ่มไม่พอใจประชาธิปัตย์ เพราะรู้สึกว่าภาคใต้มีความพร้อมถ้าเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แต่กลับพัฒนาน้อยที่สุด ไม่ว่าถนนหนทาง โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพชีวิต”
“ดังนั้น ถ้าอยากรู้อนาคตของประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร ต้องรอดูความถดถอยในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า” นักรัฐศาสตร์ที่มีพื้นเพจากพังงากล่าว
รอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล?
ระหว่างการเลือกตั้งซ่อม ทั้งประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐต่างเปิดไพ่ทุกใบ แลกคนละหมัดซัดกันนัวเนียชนิดลืมไปเลยว่ายังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันอยู่ โดยหนึ่งในประโยคเด็ดมาจาก นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยที่ปราศรัยปรามาศพรรคพลังประชารัฐว่าเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ และถ้านายพลหายไป ก็คงยุบไปในอีกไม่นาน และยังรวมถึงคำเหน็บแหนมว่า “ไม่มีมารยาททางการเมือง” ต่างๆ นานา
อย่างไรก็ดี อาจารย์โอฬารมองว่าเหล่านั้นเป็นเพียง “ภาษาการเมือง” ไม่มีนัยยะสำคัญอยู่เบื้องไลัง และที่สำคัญ เขามองว่าชัยชนะรอบนี้ ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปัตย์จะถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่อาจมีปากเสียงมากขึ้นบ้างในการบริหารประเทศ
“ชัยชนะครั้งนี้เป็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ดีของประชาธิปัตย์ ไม่ว่าในการประชุมสภาหรืออะไรก็ตาม เพื่อทำให้คนเห็นว่าประชาธิปัตย์ยังเป็นอิสระ ไม่ใช่ไก่รองบ่อนของพลังประชารัฐ”
แต่ประเด็นที่คนทั้งคู่เห็นตรงกันคือ คำปราศรัยของธรรมนัส ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มากก็น้อย โดยนักรัฐศาสตร์จากสถาบันพระปกเกล้านิยามว่า เป็นการปราศรัย “เรียกแขก”
“ผมคิดว่ามันมีส่วนไปกระตุ้นคนที่ทีแรกตั้งใจไม่ออกไปใช้สิทธิ์ให้ออกมา เพราะพอเขาได้ยินที่ธรรมนัสปราศรัย เขาก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องออกไปเลือกสั่งสอนซะหน่อย ซึ่งมันก็ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วกลายเป็น 90,000 กว่าคน”
นักรัฐศาสตร์ทั้งสองมองตรงกันว่ๅผู้กองแป้งอาจสูญเสียความเชื่อใจจากผู้มีอำนาจในพรรคหลังแพ้เลือกตั้งซ่อมรอบนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มที่ทรงพลังที่สุดอย่าง 3 ป. แล้ว ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลอะไรกับความสัมพันธ์ของพวกเขาเลย
โดยอาจารย์โอฬารเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ป. แนบนั้น และมีความเข้าใจตรงกันต่อการเมืองไทยเสมอ โดยพวกเขามองว่าตนคือแม่ทัพ ส่วนนักการเมืองคือทหารเลวที่พร้อมใช้แล้วทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายในการคุมอำนาจทั้งหมดของประเทศ
“ในเชิงยุทธศาสตร์ทางการทหาร 3 ป. มองนักการเมืองเป็นแค่ทหารเลวที่พร้อมทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ ส่วนพวกเขาคือแม่ทัพที่มองอย่างเดียวคือ การรักษาพื้นที่และขยายอํานาจต่อ บวกกับ 250 เสียง ส.ว. และเนื้อแท้ของนักการเมืองไทยที่เป็นนักธุรกิจการเมือง ดังนั้น ผมคิดว่า 3 ป. ยังคุมอำนาจอยู่”
อนาคตใหม่และความท้าทายเดิม
ถ้าเราดูผลการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลยังไม่สามารถปักธงการเปลี่ยนแปลงกลางใจคนใต้ได้สำเร็จ และได้รับความนิยมลดน้อยกว่าเดิมด้วย โดยในชุมพรคะแนนหายไป 7,000 คะแนน และสงขลา 6,500 คะแนน
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้เราคงจำภาพที่มีกลุ่มคนบุกไปทุบรถของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้าได้ (แม้สุดท้ายจะไม่ใช่รถของเขาก็ตาม) รวมถึงภาพจำของคนใต้ว่าเป็นภาคที่ผูกพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูง ในประเด็นนี้ โอฬาร มองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระแสนิยมของคณะก้าวหน้าเหมือนกัน
“ยุทธศาสตร์ทางการเมืองของก้าวไกลมุ่งไปที่ตัวสถาบันพระมหากษัตริย์จนเกินไป ซึ่งไม่ผิด แต่ชาวบ้านเขาอาจไม่ได้รับข้อมูลอย่างที่ก้าวไกลส่งก็ได้ และเขาอาจได้รับข้อมูลที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมมาแล้ว บวกกับมันอาจถูกโยงไปเกินเลยถึงเรื่อง ไม่เอาเจ้าด้วย”
โอฬารอธิบายว่าในภาคใต้กลุ่มเครือข่ายการเมือง ทั้งนักการเมือง, เทศบาล รวมถึงข้าราชการล้วนใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงการสื่อสารโดยเฉพาะผ่านทาง ‘ไลน์’ ยิ่งทำให้เกิดการบิดสารจากความเป็นจริง จนการรับรู้ของชาวบ้านเป็นไปในทิศทางนั้น
อีกหนึ่งสาเหตุหลักที่อาจารย์รัฐศาสตร์ ม.บูรพา ให้น้ำหนักคือ นโยบายของพรรคก้าวห่างไกลชีวิตชาวบ้านมากเกินไป
“ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันหรือโครงสร้างต่างๆ ของพรรคก้าวไกล มันอาจไม่ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าสัมพันธ์ยังไงกับการศึกษาของลูก หนี้สินครอบครัว หรือความมั่นคงในของคุณภาพชีวิต”
“ดังนั้น ควบคู่ไปกับนโยบายแก้โครงสร้าง มันควรมีนโยบายประชาธิปไตยในเชิงเศรษฐกิจด้วย เช่น ปฏิรูปที่ดินให้ชาวนา ชาวไร่, การศึกษาฟรี, รักษาพยาบาลฟรี หรือเรื่องการตั้งสหภาพแรงงาน พูดง่ายๆ ว่า พรรคก้าวไกลกับก้าวหน้าต้องเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์สาธารณะกับประชาชนจริงๆ”
ด้านนักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าเสริมอีก 2 เหตุผลที่เขามองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับหายไปของคะแนนพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ ประการแรกคือ ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า และประการที่สองคือ คะแนนถูกเทไปให้หนึ่งในสองผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์หรือพลังประชารัฐ เพื่อให้เกิดผลชี้ขาด
“ถ้าเราไปดูการเลือกตั้งรอบที่แล้ว เราจะเห็นว่าคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าของก้าวไกล เขาได้หลักพันแทบทุกเขต อีกสาเหตุคือ พอการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ใช่เลือกตั้งใหญ่ ไม่มีบัญชีรายชื่อ คนเขาก็เลยแห่ไปเลือกสองคนที่ชิงกันอยู่ (ปชป. และ พปชร.) โดยมีวิธีการคิดคือ ถ้าอยากให้ใครแพ้ก็จะเลือกอีกคนหนึ่ง คือไม่ได้ชอบประชาธิปัตย์หรอก แต่ไม่ชอบที่ธรรมนัสปราศรัยมากกว่า แค่นั้นเอง”
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่าการลงสนามครั้งนี้ของพรรคก้าวไกลไม่ได้เสียของทั้งหมด เพราะมันคือ “เช็คกระแส” และทำให้ผู้บริหารพรรคเห็นสภาพความนิยมที่เป็นอยู่จริงๆ ของพรรคมากขึ้น
ประชาธิปัตย์จะกลับมาผงาด?
นักรัฐศาสตร์ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า ชัยชนะรอบนี้ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปัตย์จะกลับมาผงาดอีกครั้ง รวมถึงอาจไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดีใดๆ สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในทั้งในกรุงเทพฯ (ประชาธิปัตย์ไม่ได้ส่งผุ้สมัครลงแข่งในพื้นที่หลักสี่) รวมถึงในอนาคตข้างหน้า
ในสายตาของทั้งคู่ข้อดีเพียงอย่างเดียวที่ประชาธิปัตย์ได้รับจากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ “ความมั่นใจ”
ด้านอาจารย์โอฬารมองว่า ยังไม่มีแนวโน้มที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาผงาดในเร็ววันนี้ ซึ่งสาเหตุประการแรกคือ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคไร้อุดมการณ์และนโยบายที่ดีมานานเกินไป ประการที่สองคือ ภาวะเลือดไหลที่ทำให้ผู้มีบารมีในพรรคย้ายไปซบพรรคอื่น
“ผมยังไม่ค่อยเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะฟื้นคืนชีพได้ในเวลาอันสั้น เพราะประชาธิปัตย์ไม่ได้มีความชัดเจนในจุดยืนทางอุดมการณ์ จะขวาก็ไม่สุด จะซ้ายก็ไม่ซ้าย ตรงกลางก็ไม่ตรงกลาง”
“..และพื้นที่ภาคใต้ ในการดูแลของ ‘นายกชาย’ ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเมืองก็จะเป็นไปแบบเดิม คือวิ่งหาบรรดาผู้มีบารมีประจําจังหวัดเข้ามาในพรรค ซึ่งคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ทําการเมืองเพื่ออุดมการณ์อีกแล้ว พวกเขากลายเป็นนักธุรกิจการเมือง”
“และในภาวะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคที่มีทุนทางสังคมทยอยออกทีละคนสองคน สุดท้าย คนที่เหลืออยู่คือลูกหลานนักการเมืองที่ไม่สามารถชี้นําพรรคได้เลย ดังนั้น เมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ เป็นงานยากมากที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นที่นิยม”
“ดังนั้น ผมคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าเขาอาจยังรักษาพื้นที่เดิม เช่น นครศรีธรรมราช หรือตรังได้อยู่ แต่ในพื้นที่ที่ต้องขายนโยบายและอุมดการณ์ เช่น กรุงเทพฯ น่าจะยากแล้ว”
นักรัฐศาสตร์พิ้นเพพัทลุงประเมินว่า ในการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้ามากสุดที่ประชาธิปัตย์จะทำได้คือ 50 ที่นั่งเท่าๆ กับรอบที่ผ่านมา
ทางด้านนักรัฐศาสตร์จากสถาบันพระปกเกล้าสะท้อนว่า สำหรับเขาประชาธิปัตย์ตอนนี้คือ พรรคลูกผสม หรือฝ่ายขวาที่ใช้ประชานิยมเฉพาะภูมิภาค และนั่นคือจุดแข็งที่ประชาธิปัตย์ต้องพยายามรักษาไว้ ผ่านอำนาจที่มีอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้
เขาคาดว่าในการเลือกตั้งรอบหน้า พรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะเล่นบทเดิมคือ “เจียมเนื้อเจียมตัว” พยายามรักษาฐานเสียงของตัวเองให้คงไว้ ผ่านนโยบายราคายาง-พืชผลเกษตร และประกาศว่าจะร่วมกับพรรคที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ ไปก่อนจนกว่าทหารจะลงจากอำนาจ
“ตราบใดที่ทหารยังอยู่ เขาก็คงต้องอยู่แบบนี้ เพราะถ้าเผลอคิดการใหญ่อาจตายได้ และเขาเชื่อว่าถ้าทหารตายไป คนที่เคยเปลี่ยนใจไปเลือกประยุทธ์ ยังไงก็จะต้องกลับมาหาประชาธิปัตย์แน่นอน” สติธร ทิ้งท้าย