วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ตรงกับวันเด็กแห่งชาติ
เด็กไทยแทบทุกคนคงต้องจำข้อมูลข้างต้นได้ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตารอการมาถึงของวันเด็กฯ เพราะวันสำคัญวันนี้จะตามมาด้วยการแจกขนม จับฉลากของรางวัล เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ทำกิจกรรม และค้นหาความฝัน
วันเด็กแห่งชาติเริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2498 สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือการมอบคำขวัญโดยนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มอบคำขวัญว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” เมื่อปี 2499 จากนั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้มอบคำขวัญที่ขึ้นต้นว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า…” ต่อเนื่องติดกัน 5 ปี จนกระทั่งในสมัยของ จอมพล ถนอม กิตติขจร คำขวัญวันเด็กก็เริ่มมีหัวข้อที่หลากหลายมากขึ้น คล้ายคลึงกับปัจจุบัน
การมอบคำขวัญวันเด็กโดยนายกรัฐมนตรีจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่ถูกปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องทุกปี – รวมถึงปัจจุบัน นั่นคือ ปี 2568 นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้มอบคำขวัญว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง”
เมื่อมาจากปลายปากกาของนายกรัฐมนตรี คำขวัญวันเด็กก็เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาล ต่ออนาคตของชาติไปในตัว
The MATTER ชวนย้อนดูว่า แล้วผู้นำรัฐบาลที่มาจากพรรครัฐบาลปัจจุบัน (พรรคเพื่อไทย และย้อนไปถึงพรรคไทยรักไทย) มีวิสัยทัศน์ต่อเยาวชนในเรื่องอะไรบ้าง ผ่านคำขวัญวันเด็ก
ทักษิณ ชินวัตร
- 2545 – เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
- 2546 – เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
- 2547 – รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดี ๆ อนาคตดีแน่นอน
- 2548 – เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
- 2549 – อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
ทักษิณ ชินวัตร คือนายกฯ คนแรกที่นำคำว่า ‘เทคโนโลยี’ มาใส่ไว้ในคำขวัญวันเด็ก ซึ่งปรากฏในปี 2546 ว่า “เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี” นี่น่าจะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ในระดับหนึ่ง
ทักษิณเริ่มดำรงตำแหน่งครั้งแรกเมื่อปี 2544 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจหดตัว จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อปี 2544 รวมถึงครั้งต่อมาเมื่อปี 2548 ก็เน้นหนักไปในด้านเศรษฐกิจ
นโยบายด้านการศึกษาก็ปรากฏให้เห็น เช่น การปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ก็มีเพื่อเป้าหมายของการพัฒนา ‘ทุนสังคม’ และ ‘ทุนมนุษย์’ อันเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน เราจึงเห็นธีม (theme) หลัก นั่นคือ การเรียนรู้ ปรากฏในคำขวัญวันเด็กของทักษิณตลอด 5 ปี
ถ้าเทียบกับนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร และมอบคำขวัญวันเด็กมากกว่า (ต่อเนื่อง 9 ปี) อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะเห็นความแตกต่างชัดเจน ตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นชี้แนะว่าเด็กไทยควรยึดถือ ‘คุณค่า’ หรือ ‘ค่านิยม’ แบบไทยๆ ยกตัวอย่างเช่นปี 2564 “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม”
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
- 2555 – สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี
- 2556 – รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน
- 2557 – กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง
เช่นเดียวกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุคการเมืองสีเสื้อ คำอย่างคำว่า ‘สามัคคี’ ก็จะปรากฏให้เห็นในคำขวัญวันเด็กของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย ยกตัวอย่างคำขวัญปี 2555 ที่ระบุว่า “สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี”
น่าสนใจว่า หลังจากนั้นทักษิณได้เน้นคำที่เป็นเรื่อง ‘คุณธรรม’ อย่าง ความสามัคคี วินัย ความกตัญญู ที่ปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้น สอดแทรกไปด้วยชาตินิยม อย่างการรักษาความเป็นไทย และการ ‘สร้างไทยให้มั่นคง’
คำขวัญวันเด็กของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ น่าจะเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน ที่เชื้อเชิญให้เด็กไทยมองไกลไปกว่าแค่ในประเทศ โดยบรรจุคำว่า ‘อาเซียน’ ในคำขวัญปี 2556 ที่ว่า “รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน” สอดคล้องกับกระแสการตื่นตัวในเรื่องประชาคมอาเซียนในขณะนั้น
เศรษฐา ทวีสิน
- 2567 – มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย
ดำรงตำแหน่งเพียง 358 วัน สิ้นสุดลงด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน มีโอกาสมอบคำขวัญวันเด็กในฐานะนายกฯ เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือเมื่อปี 2567 ที่ว่า “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย”
เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือนนับตั้งแต่ปี 2557 และก็เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในคำขวัญวันเด็กเช่นกัน น่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้ มีนายกฯ แค่คนเดียวที่บรรจุ ‘ประชาธิปไตย’ ในคำขวัญวันเด็ก นายกฯ คนนั้นคือ ชวน หลีกภัย
คำขวัญวันเด็กของเศรษฐาเริ่มก้าวพ้นธีมหลักอย่างการเรียนรู้ ชาตินิยม และคุณธรรม โดยเชิญชวนให้เยาวชน ‘มองโลกกว้าง’ รวมถึง ‘เคารพความแตกต่าง’
แพทองธาร ชินวัตร
- 2568 – ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง
คำว่า ‘การเรียนรู้’ ที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากหายไปจากช่วงนายกฯ ทักษิณ โดยนายกฯ คนปัจจุบัน แพทองธาร ชินวัตร มอบคำขวัญวันเด็กปี 2568 ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” เน้นย้ำความสำคัญของการเรียนรู้ และอนาคตของเยาวชน
ในคำอวยพรประจำปีนี้ นายกฯ ยังระบุด้วยว่า “บางทีเราอาจคิดว่าเป็นมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คงไม่ได้ทำอะไรมากมาย แต่สิ่งที่รัฐบาลมองเห็น คือ คุณค่า คุณภาพในตัวของเด็กทุกคน เพราะอนาคตจะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะน่าอยู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเด็กๆ โอกาสมากมายที่จะเข้ามา เรียนรู้ทุกโอกาสที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ช่วงอายุไหน เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา”
ในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เช่นเดียวกับทักษิณ ผู้เป็นพ่อ แพทองธารประกาศนโยบายโดยเน้นหนักทางด้านเศรษฐกิจ แต่ในด้านการศึกษาก็มีอยู่บ้าง เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการเกิดและโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงครั้งแรกเท่านั้นที่นายกฯ แพทองธารได้มอบคำขวัญให้กับเด็กไทย
หากไม่มีอะไรผิดพลาด เราก็จะได้เห็นคำขวัญวันเด็ก ที่จะสะท้อนวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 คำขวัญ