‘การนัดหยุดงาน’ หรือ Strike เป็นอะไรที่เราได้ยินข่าวจากต่างประเทศบ้าง แต่บ้านเราเองก็ไม่ค่อยเจอการนัดหยุดงานเท่าไหร่ จนล่าสุดมีกรณีพนักงานสนามบินสุวรรณนัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าจ้าง สวัสดิการและเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น
ไอ้ปัญหานายจ้าง ลูกน้อง ความเป็นธรรมของการจ้างงาน ดูจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่เราเจอได้ทุกวัน ซึ่งมันก็มีมุมมองหลายแบบ อย่างไม่พอใจก็ไม่ต้องทำ ให้คนอื่นมาทำแทน หรืออีกด้านก็มองว่าจะกดขี่ใช้งานเยี่ยงทาสไปถึงไหน ซึ่งสุดท้ายมันคือการหาตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ที่เอาเรื่องต่างๆ ขึ้นมาไว้บนโต๊ะ แล้วไกล่เกลี่ยผลประโยชน์เพื่อให้การทำงานราบรื่น เป็นธรรม มีความสุขทั้งสองฝ่าย
ขั้นตอนการทำงานที่มันมีเรื่องการเรียกร้องผลประโยชน์ มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เรามักจะไม่ค่อยเอามาพูดกันตรงๆ ยิ่งบ้านเรายิ่งเลี่ยงการเผชิญหน้า จะมาพูดเรื่องเงิน เรื่องผลประโยชน์ โหย ยากหนักเข้าไปเลย ผลคือ เวลามีปัญหามักจะเกิดการเอาปัญหาไปซุบซิบ ไปคุยกันเอง หรือบ่นแรงๆ ในโลกออนไลน์ ทั้งหมดนี้ในที่สุดอาจจะยิ่งขยายให้เรื่องมันใหญ่โตเกินกว่าที่ควรเป็น แถมปัญหาที่มีก็ไม่ได้แก้ด้วย
ถ้าเรามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งเรื่องปัญหา เรื่องการต่อรองในการทำงาน ถ้าเป็นไปได้ทางเลือกมันก็ไม่ควรเป็นทางใดทางหนึ่งที่สุดโต่งระหว่างการเก็บเงียบแล้วเอาไปเม้าท์มอย หรือลุกฮือแตกหักไม่ก็ลาออกไปเลย การคุยกัน ประนีประนอมกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดี
จริงๆ ไม่ว่าที่ไหนไอ้การจะลุกขึ้นมาต่อรองมันก็เป็นเรื่องยากทั้งนั้น แถมอีกฝ่ายก็เป็นเจ้านายเราไปอีก อารมณ์เหมือนไปตีบอส ดังนั้น The MATTER เลยรวบรวมกลยุทธ์ในการต่อรองกับบอสอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามีปัญหายังไง ก็เอามาพูดคุยต่อรองกันดีกว่า
นินทาไปไร้พลัง
การแอบเม้าท์หรือเอาเรื่องต่างๆ ไปนินทาดูจะเป็นกระบวนการแรกๆ เวลาที่เจอปัญหา นักวิจัยเองก็ยังสงสัยว่าทำไม้ทำไมคนเราถึงได้นินทาหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานทั้งๆ ที่เป็นการกระทำที่นำเอาหน้าที่การงานมาเสี่ยง จากการศึกษาบอกว่าการนินทาเป็นพลังที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะมีแรงขับเคลื่อนมาจากความแค้น ซึ่งการปล่อยข่าวลือและการนินทานั้นนับว่าเป็นอาวุธของคนอ่อนแอ แถมแน่ล่ะว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้นโดยไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างเหมาะสม
Collective Bargaining รวมกันเราอยู่
นิทานสอนใจที่เล่าเรื่องให้ทดลองหักไม้กิ่งเดียวกับหักเป็นกำๆ เป็นบทเรียนเรื่องการรวมตัวกันย่อมมีพลังมากกว่า ในชีวิตจริงการที่สามารถรวมตัวกันได้ย่อมหมายถึงการที่เรามีอำนาจต่อรองที่มากขึ้น สมัยก่อนมีความเชื่อว่านายทุนหรือเจ้าของ แน่ล่ะเป็นนายจ้าง เป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ก็ย่อมมีอำนาจมากกว่าเรา แต่การจะทำงานแบบกดขี่ไปเลยมันก็ไม่ได้ เลยมีการรวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิ ไอ้กระบวนการที่เรียกว่า Collective Bargaining เป็นกระบวนที่ลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเข้าไปเจรจาต่อรองเรื่องค่าจ้าง ลักษณะการทำงาน วันหยุด สวัสดิการต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงจากทั้งสองฝ่าย เห็นมั้ย หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว ไม้ซีกกองนึงก็อาจจะงัดไม้ซุงได้
สู้เพื่อ ‘คนอื่น’ มีพลังกว่าเพื่อตัวเอง
ฮีโร่ทุกคนย่อมมีเหตุผลในการต่อสู้ของตนเอง และส่วนใหญ่การที่เรา ‘สู้เพื่อใครซักคน’ มันย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้ฮีโร่คนนั้นมีพลังมากขึ้น ดังนั้นในการต่อรองกับผู้ที่มีอำนาจกว่าก็เหมือนกัน การที่เราไม่ได้พูดเพื่อผลประโยชน์ของเราคนเดียว แต่เรากำลังปกป้องหรือทำเพื่อคนอื่นอยู่ด้วย มันก็จะทำให้เรามีการการยืนหยัดที่แข็งแรงและมีเสียงที่หนักแน่นกว่าเดิม เอ้า เป็นพระเอกซะหน่อยก็ได้
ลองสวมบทบาทและมองจากมุมของอีกฝ่าย
ไม่เชิงว่ารู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เพราะการต่อรองไม่ใช่การรบทำลาย ดังนั้นการที่เราแสดงออกว่า เฮ้ย เราเข้าใจนะว่ามันมีมุมอีกมุมที่ต้องคำนึงด้วย มันก็จะทำให้การพูดคุยต่อรองของเราดูหนักแน่น น่ารักและรอบด้านน่าฟังขึ้น เป็นการแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจที่นำไปสู่การหาทางออกที่ win win เพื่อทั้งสองฝ่ายอย่างจริงใจ
‘ไม่รู้’ เป็นกลยุทธ์ ขอคำแนะนำไปตรงๆ เลยก็ไม่เลว
เราอาจจะนึกภาพการไปรับมือกับบอส เหมือนการลงดันเจี้ยนเพื่อปราบบอสใหญ่ ดังนั้นเราควรต้องไปแบบเต็มที่ เตรียมอาวุธไปครบมือ แต่จริงๆ แล้วเราอาจจะใช้กลยุทธ์ที่หนังจีนชอบใช้ คือการใช้อ่อนสยบแข็ง ใช้ความไม่รู้นำไปสู่ความรู้ ใช้คำถามเป็นคำตอบ ในเมื่ออีกฝ่ายก็เป็นผู้ที่อยู่เหนือเราแล้ว เราก็ขอความเห็นเพื่อนำมาช่วยกันใช้เพื่อหาข้อยุติซะเลยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Rumor as Revenge in the Workplace