น้ำท่วมเพราะต้องช่วย กรุงเทพฯ จริงไหม? รังสิตจัดการไม่ดีเองรึเปล่า?
‘ปริมาณฝนสะสม 24 สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของไทย มากถึง 157 มิลลิเมตร’ เป็นตัวอย่างที่ไม่มีใครอยากประสบ แต่ จ.ปทุมธานี พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ฝนตกราวฟ้ารั่วไม่ใช่คำเปรียบเกินจริงเสียแล้ว
ถึงได้เป็นที่มาของภาพย่านการค้าสำคัญอย่างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ที่เกิดน้ำท่วมขังหนัก จนบางจุดการจราจรถึงขั้นอัมพาตในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา อย่างที่ไม่ปรากฏมานานนับแต่เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งในปี 2554 แม้แต่ชาวบ้านสองฝั่งของคลองรังสิตประยูรศักดิ์ หรือที่คนเรียกติดปากว่าคลองรังสิตฯ ที่อยู่ด้วยวิถีชีวิตคนริมน้ำกันจนชินยังถึงต้องโอดโอย
แล้วอะไรบ้างที่เป็นบทเรียนจากวิกฤตน้ำท่วมหนักในพื้นที่รังสิต The MATTER ชวนไปฟังเสียงของคนในพื้นที่ ทำความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำ เพื่อมองหาจุดเด่นและชี้จุดด้อย ผ่านการพูดคุยกับผู้รับผิดชอบในหลายภาคส่วน เพื่อให้ลงสนามครั้งต่อไปจะได้ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ
รังสิตน้ำท่วมเป็นปกติจริงไหม?
ถ้าให้ลองนึกถึงรังสิต หลายคนอาจมีภาพคลองเล็กคลองน้อยผุดขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากความเป็นจริง เนื่องจากสภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านสายน้ำมาตั้งแต่อดีต เป็นที่มีของการขุดคลองรังสิตฯ แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกมา ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 จนเกิดเป็นคลองซอยถึง 15 ซอย โดยมี 3 คลองซอย ที่อยู่ในเขตเทศบาลรังสิตในลักษณะผ่ากลางพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านโดยรอบคุ้นชินกับวิถีน้ำขึ้นน้ำลง
นั่นทำให้เมื่อถูกถามว่ารังสิตน้ำท่วมซ้ำซากจริงไหม? จีระพงษ์ อิ่มสมภาร ชาวบ้านที่เติบโตในพื้นที่ยานรังสิต ยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ไม่คิดว่าท่วมบ่อยนะ” จากความทรงตลอดกว่า 20 ปี หากไม่ได้นับรวมครั้งอุทกภัยใหญ่ในปี 2554 ที่มีน้ำเหนือหลากมาสมทบ เขามองว่า รังสิตยังรับมือกับปริมาณน้ำได้ดีมาตลอด “ช่วงหลังถ้าฝนตกหนักอย่างมากก็น้ำเสมอคลอง ไม่ก็ดันมาปริ่มๆ ท่อระบายน้ำ”
เช่นเดียวกับ พรรณี แต้ประเสริฐ ที่เห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า คลองที่มีอยู่ปกติช่วยไว้ได้เยอะมาก หลายครั้งที่มีข่าวว่าพื้นที่อำเภอรอบนอกของ จ.ปทุมธานี ฝนตกจนต้องหนีน้ำกันแล้ว ที่นี่ยังอาจเป็นแค่การเฝ้าระวัง และให้ขนของขึ้นสูงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
พ้องกับความเห็นของ เจ้าหน้าที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สลล.) ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง ที่ระบุว่า ใน จ.ปทุมธานีมีคลองแนวตั้งอยู่ตลอดแนว ถ้าทุกคนไม่ได้รุกล้ำพื้นที่คลอง ไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งน้ำเสียลงคลอง หรือทำกิจกรรมใดที่ทำให้คลองตื้นเขิน เชื่อว่าประสิทธิภาพคลองรังสิตจะช่วยแบ่งเบาความลำบากของประชาชนได้มาก
ทั้งนี้การจัดการขยะ ก็ยังเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่เชื่อมโยงกับปัญหาน้ำท่วมแทบจะทุกพื้นที่ คำถามที่ตามมาคือ แล้วระบบการจัดการที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะครัวเรือนเล็ดลอดออกมาได้
“คลองรังสิตก็ยังมีพื้นที่ว่างอยู่พอสมควร หน้าแล้งลองสูบน้ำหมดคลองสิ ข้างใต้ เป็นโคลน เป็นเลน ที่นอน ขยะกองอยู่ หลักๆ ของรังสิต คือ การจัดการพื้นที่ตัวเองให้ดี มีคลองที่ดี มีการพร่องน้ำตามเกณฑ์ มีสถานีสูบน้ำออกได้ ถ้าดำเนินการได้ครบถ้วนมีประสิทธิภาพ คลองรังสิตก็จัดการได้ไม่ยาก”
ไม่ว่าใครจะเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการรองรับน้ำของคลองในพื้นที่เช่นไร แต่เหตุน้ำท่วมช่วง เดือนกันยายนที่ผ่านมาก็เป็นภาพที่เกินกว่าที่คาดไปมาก “จากปากซอยบ้านราว 200 เมตร ฝนตกเต็มที่ก็แค่มีน้ำขัง รถยังพอวิ่งผ่านได้ แต่รอบนี้น้ำมาครึ่งหน้าแข้งจนถึงหน้าบ้าน ทั้งที่บ้านเราสูงมาก เท่ากับหน้าปากซอยเกือบครึ่งคันรถเลย” จีระพงษ์เล่า
เช่นเดียวกับพรรณี ที่ระบุว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานแต่ก็ลำบากมากับการต้องเดินทางออกจากบ้าน หลายคนกก็ต้องใช้วิธีนำรถมาจอดหนีน้ำกันใกล้ๆ พื้นที่ทางด่วน
แล้วเหตุผลใดฝนตกครั้งนี้ รังสิตถึงได้วิกฤตเช่นนี้?
บทเรียนแรกที่ได้รับ (การแก้ไข) แล้ว
หลังน้ำยังไม่ทันแห้งสนิท เอกสารของกรมชลประทานที่มีคำสั่งย้าย โบว์แดง ทาแก้ว อดีตผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานชลประทานเขต 11 ก็ถูกเผยแพร่เป็นวงกว้าง ด้วยเหตุผลว่าบกพร่องในหน้าที่ในวันที่ฝนตกหนัก
คงต้องเข้าใจก่อนว่า แทบจะเป็นไปได้ยากที่จะรอให้น้ำในคลองรังสิตฯ ระบายได้เองตามปกติแล้วจะทันใจ ในเมื่อคลองต้องรองรับมวลน้ำจำนวนมากจากหลากหลายแหล่ง ‘ทั้งในและนอกพื้นที่’ อย่างการรับน้ำฝั่งเหนือจาก คลองหนึ่งถึงคลองสิบสอง น้ำจากคลองระพีพัฒน์ ซึ่งอยู่ขนานกัน รวมถึงน้ำจาก จ.นครนายก
ยังไม่หมด ‘น้ำระบายจากกรุงเทพ’ ที่สูบออกมาทางคลองสอง ก็เป็นมวลน้ำจำนวนไม่น้อยอีกส่วน ที่คลองรังสิตต้องช่วยรับภาระไว้ เมื่อสมทบกับน้ำฝนในพื้นที่เอง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะระบายได้หากไม่พึ่งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ช่วยผลักดัน
“ฝนตกในปริมาณมากจริง เราพอรับได้ แต่สิ่งที่คุณปล่อยน้ำเข้ามาโดยไม่ประสานกัน ไม่บอกทางพื้นที่ก่อนเลย นี่คือความบกพร่องของสำนักงานชลประทานของที่รังสิตใต้ ที่รับผิดชอบคลองรังสิตทั้งหมด…อย่างสมมติน้ำจากคลองระพีพัฒน์ เขื่อนป่าสักวิกฤตเหรอถึงเอาเข้ามา แล้วคุณก็โทษฝนตก พอเช้าเกิดวิกฤตก็แก้ไม่ได้ เพราะความบกพร่องของคุณไง”
เป็นคำให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาผ่านอมรินทร์ทีวีของ คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี ที่มองว่า ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการขาดการสื่อสารที่เหมาะสม
อีกเหตุที่คำรณวิทย์เล่าผ่านสื่ออย่างไม่ปิดบังอารมณ์ คงเป็นเพราะเมื่อไปตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ ตรงประตูระบายด่านสุดท้ายของคลองรังสิตก่อนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่เกือบ 20 ตัว กว่าครึ่งไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่เคยถูกพูดถึงว่าจำเป็นต้องแก้ไขมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว
อย่างไรก็ดีในท้ายของเหตุการณ์ อธิบดีกรมชลประทานก็เข้ามาจัดการปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม และรับปากว่าจะมีการสื่อสารไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเดิมอีก
การบริหารน้ำในพื้นที่ปิดล้อม
ตามที่เล่าไปว่า มวลน้ำส่วนหนึ่งที่เข้ามายังคลองรังสิต มาจากการผันน้ำออกมาของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ก็มีฝนตกไม่มีเว้นวันในเดือนกันยายน ตามข้อมูลปริมาณฝนสะสมทั้งปีในกรุงเทพฯ เดิมค่าเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 1,689.7 มิลลิเมตร แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่สิ้นปี เพียงวันที่ 21 ตุลาคมมีปริมาณฝนสะสมไปแล้ว 2,155 มิลลิเมตร แสดงให้เห็นว่าปีนี้ฝนตกหนักมากจริง โดย จ.ปทุมธานี นั้นมีพื้นที่ทางบกที่เชื่อมต่อกับเขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ในขณะที่พื้นทางน้ำต่อเนื่องกันในหลายส่วน
เจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการ ด้านปฏิบัติการ สำนักการระบายน้ำ กทม. เล่าว่า กรุงเทพฯ มีการบริหารเป็นแบบพื้นที่ปิดล้อม ซึ่งมีการใช้คลองรังสิตฯ เป็นแนวกั้นด้านบน เมื่อฝนตกลงมาก็จะมีการสูบน้ำกลับไปยังคลองรังสิตฯ พร้อมกับผลักดันออกทางแม่น้ำเจ้าพระยาอีกช่องทาง “เพราะว่าเวลาฝนตกเราต้องหาวิธีที่จะเอาน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด”
โดยมวลน้ำหากผ่านแนวกั้นตอนเหนือมาแล้ว ก็จะไหลมาตามคลองเปรมประชากร ต่อเนื่องไปยังคลองสอง คลองพระยาสุเรนทร์ และอื่นๆ ตามลำดับ ก่อนจะไหลออกใกล้สุดที่คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองสามเสน และคลองแสนแสบ
“พอเข้ามาแล้วกว่าจะออกจากพื้นที่เป็น 30-40 กม. ซึ่งไกล พอระยะทางไกลน้ำที่ต้นน้ำก็จะยกตัวสูง กว่าจะไหลออกมาได้ ถึงแม้จะมีอุโมงค์ยักษ์ ซึ่งอิทธิพลที่อุโมงค์รับได้ก็อยู่ค่อนข้างไกลจากพื้นที่ด้านเหนือของ กทม. มาก เราถึงต้องใช้คลองรังสิตช่วย”
แล้วกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปิดห้ามน้ำผ่านจริงหรือไม่? ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สลล.) ซึ่ง The MATTER มีโอกาสพูดคุย ชี้ปัญหานี้ว่า การจัดการน้ำของพื้นที่กรุงเทพฯ และรังสิตยังคงมีหลายจุดที่น่าจะสอดประสานกันมากกว่านี้ เพื่อช่วยลดระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาในภาพรวม
“การระบายน้ำเพื่อช่วยตัดยอดน้ำจากแม่น้ำป่าสัก เมื่อระบายลงสู่คลองระพีพัฒน์แล้ว จะสามารถแบ่งออกไปยังคลองระพีพัฒน์แยกตก น้ำจะไหลลงไปคลอง 13 14 15 ไปคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต บางส่วนผ่านกรุงเทพฯ ไปหนองจอก ผ่านไปลาดกระบัง ผ่านไปออกสถานีสูบน้ำชายทะเล อันนี้เป็นแนวต่อเนื่องกัน ที่เป็นแนว floodway ตะวันออกตามพระราชดำริในหลวง ร.9″
“อีกทางหนึ่ง คือแบ่งน้ำบางส่วนมาทางคลองระพีพัฒน์แยกตกและโรยน้ำผ่านคลองแนวตั้งผ่านทุ่งรังสิต น้ำบางส่วนจะไหลเข้าคลองซอยต่างๆ ไป บางส่วนก็จะไหลลงมาในคลองรังสิต จากนั้นสถานีสูบน้ำคลองรังสิตก็ช่วยสูบน้ำออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หากทำงานร่วมกันแล้ว ไม่ใช่แค่ช่วยน้ำฝนอย่างเดียว ยังช่วยการตัดยอดน้ำของระบบรวมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ได้อีกต่างหาก”
แต่แนวความคิดดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากหลักบริหารที่มองว่า “กรุงเทพฯ ปิดตาย ยังไงก็ไม่ให้มา”
“อาจจะไม่จริงทั้งหมด” เป็นข้อโต้แย้งของ เจษฎา ที่ย้ำว่า ในการทำงานจำเป็นต้องรักษาสมดุลของพื้นที่โดยรอบ แต่การรักษาพื้นที่ภายในเขตเมืองที่มีระยะทาง 30-40 กม. ก็ละเลยไม่ได้ เพราะหากน้ำท่วมเสียทั้งหมด ก็เท่ากับไม่มีใครได้รับประโยชน์ “เราก็บริหารเปิดให้เข้ามาสูงที่สุดเท่าที่ข้างในไม่เกิดปัญหา”
นั่นจึงกลับมาที่ประเด็นเดิม คือ การพยายามผันน้ำออกทางคลองรังสิตฯ และอาศัยสถานีสูบน้ำช่วยเดินเครื่องจักรต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการผันน้ำอ้อมผ่านคลองสิบสามเพื่อลงสู่อ่าวไทย
การสื่อสารคือหัวใจหลัก
“หากปริมาณน้ำมาในระดับนี้ ถ้าเกิดเรา ‘คุยกัน’ บูรณาการกันในเรื่องการผันน้ำ ถ้ารู้ตัวเลข เราก็จัดการได้ดีกว่านี้ ถ้าที่อื่นคับขัน คุยกันได้ว่าจะผันน้ำลงมาได้ไหม ปริมาณที่ไหวคือเท่าไหร่ประเมินกัน ถ้าเกิดเราบริหารให้น้ำเยอะแค่ในคลองแต่ไม่ท่วมได้ ก็คือโอเค”
นี่เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันของ ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ที่สะท้อนเป้าหมายเดียวกันว่า ทุกอย่างเป็นไปได้หากมีการสื่อสารอย่างเป็นระบบ และตรงไปตรงมา เพื่อให้ปรับเปลี่ยนแผนการทำงานให้ทันกับสถานการณ์
สอดคล้องกับความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ ‘เข้าใจได้’ หากรังสิตอาจจำเป็นต้องช่วยในการระบายน้ำของพื้นที่กรุงเทพฯ ในเหตุจำเป็น แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานการคำนึงถึงความเดือนรอดของประชาชนส่วนใหญ่
“ครั้งนั้นเหตุการณ์มันไม่ควรเกิดขึ้น เราก็ได้แก้ไขกันไปแล้ว ตอนนี้เรารู้ละฝนเขามาตามธรรมชาติ แต่นำผันเราต้องรู้ว่าจะผันมาทางไหน เท่าไหร และเรารองรับได้ไหม ถ้าหลายพื้นที่แบงปันข้อมูลกันเราก็รอดกันหมด”
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน นายกเทศมนตรีนครรังสิต อธิบายว่า รังสิตอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยมีการวางแผนรองรับมวลน้ำเหนือที่ยังไม่ไหลลงมาทั้งหมด ด้วยการทำคันดินกั้นรอบนครรังสิตในพื้นที่ต่ำ รวมถึงอุดแนวเขื่อนกั้นน้ำที่ไม่สมบูรณ์ “เพราะถ้าเกิดรังสิตท่วม ก็มีสิทธิ์ที่กรุงเทพฯ จะกระทบเป็นลำดับต่อมา”
อย่างไรก็ดี การป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของรังสิต ก็ยังเป็นหนึ่งภารกิจในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องคำนึงเป็นหลักเช่นกัน
ท้ายสุดไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีบทบาทอะไร แต่เมื่อเป็นเรื่องการจัดการน้ำที่ไม่สามารถขีดเส้นแบ่งความรับผิดชอบออกจากกันได้ จึงต้องอาศัยรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกัน ผ่านการ ‘สื่อสาร’ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในวันที่ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณให้ผู้คนใส่ใจวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง