เจ้าหญิงหน้าตาขี้เหร่ ในดินแดนอันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่เราคุ้นเคยในนิทานก่อนนอน มีอาณาจักร ปราสาท เจ้าหญิง มังกรและพ่อมด แต่ Disenchantment ที่แม้จะเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง แต่ด้วยความบ้าบอและเละเทะในเรื่องก็ดูจะทำให้เทพนิยายสมัยเด็กของเราเละตุ้มเป๊ะและคลายความขลังไปได้
แค่ดูจากสไตล์ตัวการ์ตูนก็จะคุ้นๆ แล้วว่า หน้าตาแบบนี้มันเดอะซิมป์สันส์ ครอบครัวตัวเหลืองที่แสดงความเละเทะของสังคมอเมริกันชัดๆ Disenchantment เป็นผลงานของ Matt Groening ผู้สร้าง The Simpsons และ Futurama การ์ตูนแบบอเมริกันที่ทำให้เข้าใจว่าการ์ตูนไม่ใช่สิ่งที่เอาไว้ให้เด็กดู
คงด้วยผลงานก่อนๆ ทั้งสองชิ้นเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ และแน่นอนว่าในความเละๆ เทะๆ ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าเละเทะแต่อย่างเดียว แต่ตัวเรื่องของทั้ง The Simpsons และ Futurama กลับใช้ความเละเทะในการล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์สังคมอเมริกันร่วมสมัยไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ชมและนักวิจารณ์จะคาดหวังว่างานแนวล้อเลียน (parody) คราวนี้จะเป็นการล้อเลียนที่ทั้งขำและคม ซึ่งสำหรับหลายสื่อเองก็บอกว่าการล้อเลียนเทพนิยายใน Disenchantment อาจจะไม่คมคายเท่าที่คาดหวัง
ความพังของสาวงามในหอคอย ถึงตัวละครช่วยเหลือที่ช่วยอะไรไม่ได้
เทพนิยาย—นิทาน ไม่ว่าจะเล่าในวัฒนธรรมไหนก็มักจะมีแนวเรื่อง มีองค์ประกอบคล้ายๆ กัน ในสมัยหนึ่งนักวิชาการก็สงสัยว่าทำไมมนุษย์เราถึงเล่าเรื่องคล้ายๆ กันนะ เราคงจะมี ‘รูปแบบ’ (form) บางอย่างร่วมกันแน่ๆ นักวิชาการเช่น Joseph Campbell พูดถึง ‘ฮีโร่ที่มีพันใบหน้า’ เป็นโครงสร้างเรื่องเล่าวีรบุรุษที่ว่า วีรบุรุษใดๆ ก็ต้องมีการเริ่มและจบการผจญภัยด้วยรูปแบบบางอย่าง เช่น มีการเรียนรู้ มีการทดสอบ ได้ของวิเศษหรือผู้ช่วย ก่อนจะฟื้นคืนกลับมา ในขณะที่ Carl Gustav Jung ก็พูดเรื่อง ‘แบบเรื่อง’ (archetype) ประมาณว่าการที่มนุษย์เราสัมผัสกับโลกนี้ เราก็จะสร้างภาพบางอย่างขึ้นมาในลักษณะที่คล้ายๆ กัน เช่น ตัวละครแม่ผู้อารี หญิงสาวขี้อิจฉา ตัวละครเจ้าเล่ห์ทั้งหลาย
Disenchantment เลยดูเป็นการ์ตูนที่เล่นกับเรื่องเล่าแบบเทพนิยายที่เอาองค์ประกอบที่เราคุ้นๆ มาพลิกให้เรารู้สึกขำไปกับความปั่นป่วน ไปกับความไม่น่าจะเป็น ตัวละครเอกของเรื่องเป็นเจ้าหญิง—ชื่อบีน เจ้าหญิงอะไรชื่อนางถั่ว และเวลาที่เรานึกถึงเจ้าหญิงในนิทาน เราจะมีเรื่องแบบที่เรียกว่า ‘damsel in distress’ คือเป็นหญิงสาวที่ถูกจับหรือตกอยู่ในความยากลำบากรออัศวินหรือเจ้าชายไปช่วยเหลือ แต่ยัยเจ้าหญิงถั่วกลับตรงข้าม คืองามก็ไม่งาม แถมยังขี้เหล้าเมายา ทำตัวเละๆ เทะๆ
การเริ่มเรื่องเองก็ดูจะล้อขนบนิทานต่างๆ ในนิทานเรามักมีคำว่า happily ever after เป็นคำเราพบได้ในในตอนจบของนิทานต่างๆ เทพนิยายมักจะจบเรื่องที่ความสมหวังของเจ้าชายและเจ้าหญิง การแต่งงานมักจะเป็นจุดสิ้นสุดของเรื่องก่อนที่ทั้งสองจะไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ การแต่งงานในนิทานเลยดูเหมือนเป็นความหวัง เป็นการคลี่คลายสุดท้ายของเรื่อง แต่ในชีวิตเจ้าหญิงบีน ตอนแรกสุดก็เริ่มด้วยการแต่งงานโดยมีจุดมุ่งหมายทางการทูต และเจ้าหญิงเองก็ไม่ได้อยากแต่งงานแต่อย่างใด
เรียกได้ว่าถ้าคนชอบเรื่องแฟนตาซี ชอบเทพนิยายนับตั้งแต่นิทาน การ์ตูนดิสนีย์ มาจนถึงเกมออฟโทรนส์ ก็น่าจะสนุกกับความ ‘อะไรวะเนี่ย’ ตั้งแต่โครงเรื่องไปจนถึงจุดเล็กๆ น้อยๆ ตัวละครผู้ช่วยของเจ้าหญิงดันเป็นเอลฟ์ที่ดูโง่ๆ เซ่อๆ กับปีศาจร้ายที่งงๆ ว่าจะช่วยหรือทำลาย โดยปกติตามท้องเรื่องตัวละครผู้ช่วยถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ตัวเอกของเราฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ แต่ผู้ช่วยพวกนี้…จะไว้ใจได้มั้ยเนี่ย
ตลกแล้วไปไหน
การ์ตูนขำๆ ไม่ใช่แค่เรื่องขำๆ ดูเหมือนว่านักวิจารณ์และผู้ชมเองก็ค่อนข้างคาดหวังกับงานชิ้นใหม่นี้ว่านอกจากขำแล้วน่าจะคมเหมือนกับงานชิ้นก่อนๆ และงานชิ้นอื่นๆ ที่ขำกันอยู่ในโลกการ์ตูนในขณะนี้ด้วย นักวิจารณ์บอกว่างานชิ้นนี้ดูจะไม่ได้มีมนต์ขลังเช่นงานร่วมสมัยชิ้นอื่นๆ คือในที่สุดแล้วความขำและความวายป่วงอาจจะไม่ได้นำไปสู่อะไร ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์หรือใช้ความขบขันเพื่อสั่นคลอนความเชื่อบางอย่างเหมือนกับที่ The Simpsons ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับค่านิยมอเมริกัน Futurama ที่พูดถึงโลกทุนนิยมและปัญหาร่วมสมัย ไปจนถึงงานอื่นๆ เช่น Big Mouth ที่ใช้ความวายป่วงพูดถึงการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และความซับซ้อนเรื่องเพศ
ถ้าเรามองว่าการเอาเทพนิยายมาเล่นแล้วอาจจะเป็นการตั้งคำถามกับสถานะต่างๆ ที่เคยถูกหล่อหลอมผ่านเทพนิยาย เช่น เจ้าหญิง เจ้าชาย ผู้หญิงผู้ชายต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น ผู้คนมีความเป็นอุดมคติ ตรงนี้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ และในเรื่องก็ไม่ได้คมชัดขนาดนั้น การ์ตูนเด็กน้อยอย่างดิสนีย์เองก็ดูจะพยายามตั้งคำถามและเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าหญิง—ความเป็นผู้หญิงมานานแล้ว และงานแนวล้อเลียนที่เอาขนบหรือรูปแบบงานคลาสสิกมายำก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่นัก
ในแง่ของความคิด เรื่องราวของเจ้าหญิงบีนที่ดูจะต่อต้านมาตรฐานของสังคมโดยรวมดูแล้วอาจจะยังอยู่ในระดับดูเอาขำๆ เพลินๆ ได้เรื่อยๆ นอกจากในระดับเรื่องที่เน้นดูเอาเพลินแล้ว ในแง่ของภาพถือว่าเรื่องนี้ทำออกมาได้สวยงามอลังการดีมากๆ ดนตรีก็หนักแน่นส่งเสริมให้เป็นงานที่ดูเอาเพลินตาเพลินใจแก้ว่างได้ดีเรื่องหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก