หลังจากจบการศึกษา หญิงสาวใฝ่ฝันถึงงานที่ทำให้เธอได้แสดงศักยภาพเต็มที่ พิจารณาถึงสิ่งที่เธอทำได้ และให้สวัสดิการอย่างครอบคลุม แต่ความเป็นจริงกลับสวนทาง เลื่อนหาประกาศรับสมัครงานออนไลน์ก็เจองานที่จำกัดเพศ เงินเดือนที่ได้เลื่อนก็น้อยกว่า วันนั้นของเดือนมาถึงก็ลาไม่ได้ ซ้ำร้ายหนทางจะก้าวไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าก็ยากขึ้นไปอีก
‘แค่กระจกใสบางๆ ที่กั้นตรงกลางเท่านั้น’ เกิดมาเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก ยิ่งเป็นผู้หญิงทำงานก็อาจจะชีวิตยากขึ้นไปอีก เมื่อเพดานกระจก (glass ceiling) ของความเป็นหญิงในที่ทำงานยังคงมีอยู่
แม้ฟังดูเชยและซ้ำซาก แต่การเป็นผู้หญิงในที่ทำงานนั้นถูกกีดกันและเหยียดหยามสารพัด เป็นพนักงานก็มองแทบไม่เห็นว่าสุดทางของการทำงานจะไปอยู่ที่จุดไหน ขึ้นไปเป็นหัวหน้าก็เผชิญกับข้อครหาสารพัด หรือหากไต่ไปสู่ตำแหน่งสูงสุดก็อาจเสี่ยงต่อการถูกเลื่อยขาเก้าอี้ได้
เพราะเส้นทางสายการงานของผู้หญิงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความก้าวหน้าของผู้หญิงมีปัจจัยให้ต้องพิสูจน์มากมาย ผู้หญิง (ยังคง) ต้องเผชิญอะไรในสังคมที่ทำงานบ้าง เราจะพาทุกคนไปดูเส้นทางที่ผู้หญิงต้องเดินไปด้วยกัน
แค่ประกาศรับสมัครงานก็กีดกันแล้ว
‘รับสมัครเลขานุการ เพศหญิง อายุไม่เกิน 25 ปี’
ต่อให้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง แต่เราก็ยังคงเห็นประกาศรับสมัครงานแบบจำกัดเพศอยู่เรื่อยๆ ที่น่าสนใจคือ หลายอาชีพยังคงติดอยู่กับ stereotype เช่น พนักงานต้อนรับ เลขานุการ หรือเจ้าหน้าที่บัญชี
งานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์เปิดเผยว่า การระบุเพศผู้สมัครงานมักพบในกลุ่มงานที่ใช้ทักษะต่ำ ซึ่งอาชีพในกลุ่มเลขานุการ และงานบัญชีมักเปิดรับเฉพาะเพศหญิง ส่วนงานช่างเทคนิคหรืองานก่อสร้างมักรับสมัครบุคคลเพศชายเท่านั้น อาจมองได้ว่านี่เป็นผลจากภาพจำที่เพศชายต้องทำงานแบกหามเพราะความแข็งแรงของร่างกาย ส่วนผู้หญิงเหมาะกับงานบริการที่ดูแลผู้อื่นจากความละเอียดอ่อนของผู้หญิง ไปด้วย
นอกเหนือจากลักษณะงานที่สัมพันธ์กับบทบาททางเพศแล้ว รายได้ของเพศหญิงในที่ทำงานมีสัดส่วนที่น้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ โดยบทความวิจัย ‘Gender-Based Wage Gap in Thailand’ ได้ระบุว่า แม้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างชายกับหญิงในประเทศไทยจะลดน้อยลง แต่ก็ยังคงมีความแตกต่างทางรายได้ที่เกิดจากปัจจัยอื่น อย่างระดับการศึกษาและการเลือกปฏิบัติทางเพศ ไม่เพียงแค่นั้นผู้ชายวัยทำงานบางส่วนก็ยังมองว่า การมีรายได้น้อยกว่าเพศหญิงที่เป็นคู่แข่งเป็น ‘ปมด้อย’ ในการทำงานไปด้วย ซึ่งมันก็สอดคล้องกับชุดความคิดที่ว่าผู้ชายเป็นผู้หารายได้หลัก รวมไปถึงความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ที่ทำให้ผู้ชายบางคนรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าหากจะมีรายได้น้อยกว่าผู้หญิง
ส่วนความเท่าเทียมทางเพศกันในระดับโลก World Economic Forum ได้รายงาน Global Gender Gap Report ประจำปี 2023 พบว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกมีคะแนนความเท่าเทียมเฉลี่ยอยู่ที่ 68.8% โดยมีอัตราความเท่าเทียมด้านการศึกษาอยู่ที่ 95.5% โดยผู้หญิงมีโอกาสออกจากระบบการศึกษาได้ง่ายกว่าเพศชาย อย่างไรก็ดีความเท่าเทียมในตลาดงานในภูมิภาคนี้สูงถึง 71.1% เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อปี 2022 1.1% โดยรายงานดังกล่าวยังระบุว่า ต้องใช้เวลา 189 ปีกว่าเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกจะมีความเท่าเทียมในทุกด้าน พื้นฐานความเชื่อจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หล่มของผู้หญิงในการงานชัดเจนมากขึ้น
เราจึงอาจเห็นได้ว่าการกีดกันและเลือกปฏิบัติทางเพศสอดคล้องกับระบบการรับเข้าทำงาน ตลอดจนการกำหนดรายได้ในทั้งระบบ แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานแล้ว ยังมีสิ่งใดอีกบ้างที่ผู้หญิงต้องเผชิญในโลกของการทำงาน
Harassment และ Stereotype ความลำบากใจที่ผู้หญิงต้องเจอ
หากประกาศรับสมัครงานและรายได้ที่กำหนดเป็นด่านแรกที่ผู้หญิงต้องเผชิญในการหางานแล้ว การอยู่ในที่ทำงานที่เต็มไปด้วยคนร้อยพ่อพันแม่ก็เป็นด่านต่อไปที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นในบรรยากาศการทำงาน และการกดขี่ที่อาจเกิดขึ้นได้ การถูกถามเรื่องสถานะขณะสัมภาษณ์งาน การที่พนักงานหญิงมักถูกผูกอยู่กับการทำงาน ‘บริการ’ อย่างการชงกาแฟ ปฏิคม ตกแต่งสถานที่หากมีการประชุมสัมมนาใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งข่าวการคุกคามทางเพศพนักงานหญิงร่วมออฟฟิศที่ผ่านหน้าไทม์ไลน์อยู่เสมอๆ
ส่วนหนึ่งภาพจำและประสบการณ์เหล่านี้อาจมีจุดร่วมจากภาพเหมารวม (Stereotype) ที่ถูกผลิตซ้ำมากมายในสังคมว่า ผู้หญิงเหมาะกับการเป็นพนักงานสายบริการ จากบทบาททางเพศที่ว่าผู้หญิงต้องอ่อนโยนอ่อนหวาน
ซึ่งนั่นไม่จำเป็นเสมอไป เพราะรายงานขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัยสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า สเตม (STEM) มากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยเมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว นักวิจัยสายวิทยาศาสตร์หญิงไทยมีมากถึง 53% ในขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีสัดส่วนนักวิจัยหญิงอยู่ที่ 15% และ 18% ตามลำดับ กระนั้น ผู้หญิงในสายเทคโนโลยีก็ยังเผชิญการมองข้ามในที่ทำงานอยู่
ขณะเดียวกัน ภาพจำของผู้บริหารมักเป็นเพศชาย ส่วนเพศหญิงมักติดอยู่กับความเชื่อที่ว่าเป็นเพศที่ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล จึงไม่เหมาะสมกับงานบริหารที่ต้องใช้เหตุผลในการตัดสินใจสูง แต่ในทางตรงกันข้าม บริษัทงานบัญชีระดับโลกอย่าง Grant Thornton ได้สำรวจสัดส่วนผู้บริหารหญิงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยมีผู้บริหารหญิงมากถึง 41% เป็นอันดับ 3 ของโลกรองลงมาจากฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้
อีกปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในที่ทำงานคือการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการถูกแทะโลมด้วยสายตา วาจา หรือมุกตลกที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้รู้สึกอึดอัดได้ แม้การเว้นระยะห่างและเก็บรวบรวมหลักฐานจะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ การยืนยันในสิทธิของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันตัวเองและการงานของเราไว้
แง่หนึ่งการ ‘พิสูจน์ตัวเอง’ กลายมาเป็นกลไกสำคัญที่ผู้หญิงจะต้องเผชิญเมื่ออยู่ในที่ทำงาน จากทั้งข้อครหาว่าผู้หญิงไม่เหมาะกับการทำงานในสายวิทยาศาสตร์หรืองานบริหาร ทว่าจากงานวิจัยเรื่อง ‘Women in Business and Management in Thailand: Transforming High Participation Without EEO’ ระบุว่า ผู้บริหารหญิงในไทยสามารถทะลุเพดานกระจกขึ้นไปสู่ตำแหน่งบริหารได้มากมาย ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลากหลายประการที่เอื้อต่อการทำงานของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษา การสนับสนุนจากครอบครัวและคู่ครอง ตลอดจนผลการดำเนินงานภายใต้ระยะเวลาบริหารของผู้บริหารหญิงด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายกำหนดสัดส่วนคนทำงานตามเพศในที่ทำงานอย่างชัดเจนก็ตาม
ทางสองแพร่งของความเป็นหญิง: เมื่อต้องเลือกระหว่างการมีลูกและการทำงาน
เรารู้กันดีว่า ชีวิตคู่ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดบทบาทแค่ผู้ชายหาเลี้ยงและผู้หญิงทำงานบ้านอีกต่อไป แต่ในทางกลับกัน หากผู้หญิงตัดสินใจที่จะมีลูกสักคน ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและรายได้อาจลดน้อยถอยลงไปอีก การมีครอบครัวจึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยก่อให้เกิดปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ที่ลดลง ซึ่งอาจสัมพันธ์กับผู้หญิงทำงานอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นข้อกังวลเรื่องประสิทธิภาพการทำงานหรือรายได้ที่ลดลง
โดยเกาหลีใต้เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังประสบปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ โดยคาดว่าในปี 2024 อัตราการเจริญพันธุ์จะอยู่ที่ 0.68 ซึ่งมีสาเหตุใหญ่คือประชากรไม่ต้องการมีบุตร
ยุนยูริม (Yoon Yoo-rim) อดีตพนักงานบริษัทที่ปัจจุบันกลายมาเป็นนักเขียนเว็บตูนเปิดเผยกับ Financial Times ว่า เมื่อเธอแจ้งบริษัทต้นสังกัดว่าเธอกำลังตั้งครรภ์ บริษัทก็ตัดสินใจจ้างพนักงานชายเข้ามาแทนที่เธอแทบจะทันที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่เลือกปฏิบัติกับเพศหญิง ประกอบกับการยังมองว่าหน้าที่ของการดูแลลูก เป็นหน้าที่หลักของคนเป็นแม่ด้วย
ในลักษณะใกล้เคียงกัน ข้อเท็จจริงนี้ก็อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยงานวิจัยของลูซี เลียว (Lusi Liao) และศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์กล่าวว่า การมีลูกนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าจ้างของแรงงานหญิงอย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ในไทยแรงงานชายที่มีลูกก็ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยที่น้อยลงเช่นกัน ขณะที่งานวิจัยในต่างประเทศแรงงานชายมักได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นหลังจากมีลูก ซึ่งอาจมองได้ว่า เป็นเพราะค่านิยมที่พ่อแม่มีหน้าที่ที่จะช่วยกันดูแลลูกน้อย แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ตามสิทธิการลาคลอดบุตรตามกฎหมายก็ตาม
อย่างไรก็ดี แม้ผู้หญิงทำงานในบางประเทศจะทะลุกำแพงกระจกไปแล้ว ทว่าสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือ ‘ภาพจำ’ ที่ฝังแน่นและการกีดกันทางเพศที่ยังคงอยู่ในสังคม สถิติและงานวิจัยที่เรายกมาในบทความนี้พอจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกได้ว่าความเท่าเทียมในที่ทำงานกำลังเกิดขึ้นในไทย แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ความฝันที่ว่าเราจะได้พบเห็นงานที่ไม่จำกัดเพศ รายได้ที่เท่าเทียม สวัสดิการที่ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย จึงยังคงมีอยู่ เพราะศักยภาพของคนแต่ละคนไม่ได้ผูกติดอยู่กับเพศที่เป็น แต่อยู่ที่สิ่งที่คนคนนั้นทำได้
อ้างอิงจาก