เร็วๆ นี้หลายคนอาจจะได้เห็นข่าวใหญ่ที่ สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ถูกบุกยิงเสียชีวิตกลางกรุง นำมาซึ่งคำถามที่ว่า ประเทศไทยปลอดภัยแค่ไหน เมื่อ ‘มือปืนรับจ้าง’ ยังคงมีอยู่ในสังคมเรา?
เมื่อ 7 มกราคม 2568 มีรายงานว่า เกิดเหตุชายปริศนา บุกยิง ‘ลิม กิมยา’ อดีต สส. ฝ่ายค้านกัมพูชาเสียชีวิต บริเวณตรงข้ามวัดบวรนิเวณราชวรวิหาร โดยผู้ก่อเหตุและหลบหนีในคืนนั้น คาดว่าใช้ช่องทางธรรมชาติเพื่อหนีเข้าประเทศกัมพูชา
จากหลักฐานที่พบจากกล้องวงจรปิด ระบุตัวตนได้ว่าผู้ก่อเหตุคือ พ.จ.อ.เอกลักษณ์ หรือ จ่าเอ็ม (ผู้ต้องหา) เคยรับราชการเป็นทหารเรือ เคยมีความผิดฐานขาดราชการ กองทัพเรือจึงพิจารณาให้ออกจากราชการตั้งแต่ 31 พฤษภาคม 2566
จากนั้น ทางการไทยได้เร่งออกหมายจับ ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และล่าสุด 8 มกราคม 2568 ตำรวจสามารถจับกุมตัวจ่าเอ็มได้แล้ว ที่จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เตรียมนำตัวกลับประเทศไทยเพื่อดำเนินคดี และขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการต่อไป
ลิม กิมยา เป็น สส. ฝ่ายค้านกัมพูชา ของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) โดยได้รับเลือกตั้งในปี 2556 เป็นแกนนำในการตรวจสอบรัฐบาลมาเสมอ แต่แล้วก็ถูกศาลสั่งยุบพรรคในปี 2560 พร้อมกับหลังจากนั้นที่ในประเทศเกิดเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน ฝ่ายตรงข้ามพรรครัฐบาลต้องเผชิญกับการคุกคามอยู่เสมอ จึงได้ลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศส
โดยล่าสุด ลิม กิมยา พร้อมภรรยาชาวฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงปีใหม่ จนเกิดเหตุถูกบุกยิงในวันที่ 7 มกราคม
ในระหว่างนี้ที่ยังคงต้องรอการส่งตัวผู้ต้องหากลับประเทศไทย และรอการสรุปการสอบสวนของตำรวจว่าตกลงแล้วเหตุการณ์นี้แรงจูงใจอย่างไรและใครมีส่วนร่วมบ้าง อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทั้งชาวไทยและช่าวต่างชาติต่างกังวล คือเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ ในการใช้ชีวิตในประเทศไทย ที่วันดีคืนดีก็อาจมีคนส่งมือปืนมาปลิดชีวิตเราได้
ซึ่งกรณีของลิม กิมยา ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุมือปืนรับจ้างสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองเช่นนี้
แล้วมือปืนรับจ้าง เกิดขึ้นในในไทยได้อย่างไร พวกเขามักจะเป็นใคร ขบวนการนี้มีอะไรที่ควรสนใจบ้าง และจะแก้ไขปัญหามือปืนรับจ้างให้เด็ดขาดได้อย่างไร
เมื่อปี 2554 พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย อดีตผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เคยได้ทำดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ มาตรการในการปราบปรามมือปืนรับจ้าง : ศึกษาเฉพาะกรณี “ซุ้มมือปืน”
งานวิจัยนี้ ระบุว่า มือปืนรับจ้าง มักจะเป็นบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ หรือไม่มีอาชีพ แต่มีทักษะด้านการสังหารหรือทำร้าย ซึ่งหากนับจนถึงปีปัจจุบัน ก็อาจมีอาชีพนี้ในประเทศไทยมานานกว่า 1030 ปีแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเกิดขึ้นของกลุ่มอิทธิพลที่กระทำสิ่งผิดกฎหมาย อย่างเปิดบ่อนการพนัน ค้ายาเสพติด ไปจนถึงผู้ที่ต้องการเอาชนะคู่แข่ง อย่างในกรณีคู่แข่งทางการเมืองก็เช่นกัน ก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง หนึ่งในกลยุทธ์ คือการใช้มือปืนรับจ้างหลายคนเข้ามาอยู่ในสังกัด จนกลายเป็น ‘ซุ้มมือปืน’
งานวิจัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในเวลานั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กลับไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีมือปืนรับจ้างโดยเฉพาะ ทำให้การสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอว่า จะต้องมีมาตรการปราบปรามมือปืนรับจ้างอย่างเป็นรูปธรรม อย่างการจัดตั้งหน่วยงานใหม่รับผิดชอบการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้างโดยเฉพาะ
ในเดือนกรกฎาคม 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยได้แถลงถึงความพยายามจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบหมายนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรีบดำเนินการ
จากนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. จึงได้สั่งการออกแผนปฏิบัติการ ยุทธการ ‘ พิทักษ์ประชาราษฎร์ 767’ มุ่งปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง และแก๊งอาชญากรรมทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นเป้าหมายประเภทต่างๆ รวมกว่า 200 ราย และตรวจค้น 183 จุดทั่วประเทศ ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการกว่า 2,500 นาย
ผลจากการปฏิบัติการบางส่วน มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องมือปืนรับจ้าง เช่น การจัดการกับผู้มีอิทธิพลที่มีมือปืนรับจ้างในสังกัด การจัดการกับผู้มีอิทธิพลที่ครอบครองอาวุธปืน และการจัดการกับผู้ค้าอาวุธปืนอย่างปิดกฎหมาย
โดยสรุป ยุทธการนี้ได้ดำเนินการจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งสิ้น จำนวน 87 ราย และตรวจยึดอาวุธต่างๆ ตัวอย่างเช่น อาวุธไม่มีทะเบียน 745 กระบอก อาวุธสงคราม 2 กระบอก กระสุนปืน 6,936 ลูก และอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ในงานวิจัยของ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ ยังระบุไว้ถึงข้อท้าทายสำคัญ ที่ยังทำให้การจัดการกับมือปืนรับจ้างนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีปัญหาด้านการแทรกแซงทางการเมือง โดยซุ้มมือปืนได้รับความคุ้มครองจากหัวหน้าที่เป็นผู้มีอิทธิพลให้ไม่ถูกดำเนินคดี
ดังนั้นจึงอาจเรียกได้ว่า ต้นเหตุที่แท้จริงคือ ‘ระบบอุปถัมภ์’ ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมฝังรากลึกในประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งหากจัดการกับผู้มีอิทธิพล และพัฒนาให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปด้วยความเป็นธรรมอย่างแท้จริงได้ ปัญหามือปืนรับจ้างและซุ้มมือปืนจึงจะค่อยๆ ลดลง หรือหายไปในที่สุด
อย่างไรก็ดี ต้องไปลืมว่า ปัญหานี้ยังไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับประเด็นภายในประเทศเองเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เมื่อกรณีล่าสุดของลิม กิมยา เป็นนักการเมืองชาวต่างชาติ ที่กลับถูกสังหารในพื้นที่ของประเทศไทย จึงจำเป็นที่จะต้องพูดถึงประเด็นที่ใหญ่กว่า อย่างการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลด้วย
เคท ชูเอตเซ (Kate Schuetze) รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นเหตุที่น่าหวาดหวั่น โดยเฉพาะเมื่อมีบริบทเกี่ยวข้องกับการเมือง จากการที่ลิม กิมยา ทำงานอย่างหนักในการวิจารณ์รัฐบาลกัมพูชา
“แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าการเสียชีวิตของนายลิม กิมยา อดีต สส. พรรคฝ่ายค้าน เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมืองในกัมพูชาโดยตรงหรือไม่ แต่การสังหารนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ทางการกัมพูชายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีปิดกั้นและคุกคามเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย” ชูเอตเซ กล่าว
ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวนเหตุการณ์อย่างเร่งด่วน โปร่งใส รอบด้าน และเป็นกลาง เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม พร้อมเน้นย้ำถึงการรับรองความปลอดภัยทุกคนในประเทศไทยตามหลักการปกป้องสิทธิมนุษยชน
อ้างอิงจาก
#ลิมกิมยา #มือปืนรับจ้าง #ซุ้มมือปืน #สิทธิมนุษยชน #TheMATTER