***บทความนี้ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์***
The Mauritanian เป็นภาพยนตร์ที่ว่าด้วยชีวิตของ โมฮัมมาดู โอ สลาฮี (Mohamedou Ould Slahi) ชาวมอริตาเนียที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวไว้ที่ ‘คุกกวนตานาโม’ ยาวนานถึง 14 ปี จากการตกเป็น ‘ผู้ต้องสงสัย’ ว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ค.ศ.2001 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 9/11 เมื่อมีการโจรกรรมเครื่องบิน 4 ลำเพื่อก่อวินาศกรรมต่อสถานที่สำคัญๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย 2 ลำ พุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก ด้วยฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ (Al-Qaeda)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงโดยอิงจากข้อมูลในหนังสือ Guantanamo Diary ที่โมฮัมมาดูเป็นคนเขียน ซึ่งบอกเล่าถึงความโหดร้ายที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำย่ำยีกับผู้ต้องสงสัยเพื่อให้เขาเหล่านี้เผยความลับ หรือรับสารภาพผิดตามที่เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อ แต่นับว่าเป็น ‘โชคดี’ ของ โมฮัมมาดูที่ได้มีโอกาสไปเจอทนายความจอมปะฉะดะ ที่ริเริ่มปฏิบัติการทวงคืนหลักสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มคนที่ประกาศตัวว่า ‘รักชาติ’
เมื่อ ‘ความรักชาติ’ อยู่เหนือ ‘หลักสิทธิมนุษยชน’
หนังเปิดฉากด้วยความน่าสงสัยของโมฮัมมาดู ที่ดูมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ โดยหลักฐานที่เจ้าหน้าที่มีคือประวัติการโทรศัพท์ของเขากับญาติ แต่เบอร์ที่ญาติใช้โทรหาเขานั้นเป็นเบอร์ของ ‘อุซามะฮ์ บิน ลาดิน’ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงถูกควบคุมตัวโดยตำรวจมอริตาเนีย ก่อนจะถูกพาไปกักขังอีกหลายที จนได้มาอยู่ที่คุกกวนตานาโม
กว่าที่ครอบครัวจะยืนยันได้ถึงการมีชีวิตอยู่ของโมฮัมมาดูก็ผ่านมาหลายปี แม้ว่าก่อนหน้านี้ ครอบครัวของเขาจะขอความช่วยเหลือจากทนายความในสหรัฐฯ เพื่อตามหาตัว แต่ก็หาไม่พบ จนทนายความรายดังกล่าวได้มาขอความช่วยเหลือจาก แนนซี ฮอลแลนเดอร์ (Nancy Hollander) ทนายความผู้ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน จึงทำให้เกิดกระบวนการตามหาและยืนยันได้ว่า เขาได้ถูกพาตัวมาอยู่ที่คุกกวนตานาโมจริง
และด้วยความลึกลับซับซ้อนนี้ ทำให้แนนซีตัดสินใจทำคดีดังกล่าว
“ประเทศนี้ขังคนแบบไม่พิจารณาคดีได้ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน” แนนซี ฮอลแลนเดอร์ กล่าวกับเพื่อนๆ ทนายความก่อนตัดสินใจรับทำคดีของโมฮัมมาดู
เมื่อแนนซีได้เข้ามาทำคดี สิ่งแรกที่สร้างความประหลาดใจให้กับเธอและเทอรี่ ดันแคน (Teri Duncan) ผู้ช่วยของเธอ คือโมฮัมมาดูไม่รู้เลยว่า ถูกจับกุมและคุมขังด้วยข้อหาอะไร
หลายปีที่เขาถูกคุมขัง ถูกโยกย้ายสถานที่ควบคุมตัว เขาไม่รู้เลยว่าตัวเขานั้นทำผิดอะไร และเขาก็ไม่เคยได้พบทนายความที่จะเข้ามาช่วยเหลือทางคดีมาก่อน
แม้ ‘สิทธิในการพบทนายความ’ ‘สิทธิที่จะได้รับการแจ้งเหตุผลหรือข้อกล่าวหา’ จะเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แต่กับโมฮัมมาดู นี่คือสิทธิอันไกลห่างที่เขาไม่มีสิทธิแม้แต่จะคาดหวัง ยิ่งไปกว่านั้น
ตลอดการถูกคุมขังอยู่ที่กวนตานาโม เขาต้องเจอปฏิบัติการพิเศษสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการถูกขังเดียวในห้องที่มีอากาศหนาวเย็น การล่ามโซ่ให้อยู่ในท่ายืนเป็นระยะเวลานานๆ การใช้แสงไฟกระพริบหรือการเปิดเพลงเสียงดังเพื่อรบกวนระบบประสาท ไปจนถึงการบังคับมีเพศสัมพันธ์ และการทำร้ายร่างกายและทำให้ขาดอากาศหายใจ
การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทั้งหมด เกิดขึ้นอยู่บน ‘ความเชื่อ’ ของเจ้าหน้าที่รัฐว่า โมฮัมมาดูมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 9/11 โดยไม่มีหลักฐานอื่นใด นอกจากประวัติการโทรศัพท์กับญาติที่ใช้เบอร์ของบินลาเดน และคำบอกเล่าของหนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ยืนยันว่า เคยเจอกับโมฮัมมาดู
ที่เหลือเป็นเพียงคำรับสารภาพที่ได้มาจากการซ้อมทรมานยาวนานหลายเดือน จนโมฮัมมาดูเกิดอาการหลอนและยอมทำตามที่เจ้าหน้าที่รัฐขอทุกอย่าง
“ตลอดเวลาที่ผมถูกขัง พวกเขาเอาแต่พูดว่าผมทำผิด แต่ไม่ใช่ในเรื่องที่ผมทำ มันแค่เรื่องที่เขาแค่สงสัยเท่านั้น” โมฮัมมาดู กล่าวกับทนายความถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาในคุกกวนตานาโม
สิ่งที่เกิดขึ้นกับโมฮัมมาดู นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึง ‘อคติ’ ที่มีต่อเชื้อชาติ เช่น เมื่อเป็นมุสลิมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายเพียงเล็กน้อย ก็ถูกเหมารวมว่า เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการในทันที และด้วยอคติเหล่านี้ ยิ่งหล่อหลอมให้สายตาของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ต้องหาเป็น ‘ศัตรูของชาติ’ ที่พวกเขาสามารถปฏิบัติตัวต่อผู้ต้องสงสัยอย่างไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอ ตะคอก หรือแม้แต่การเรียกชื่อด้วยหมายเลขแทนชื่อจริงๆ อีกทั้ง เจ้าหน้าที่รัฐยังเชื่อด้วยว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำคือ ‘ความรักชาติ’
ปฏิบัติการทวง ‘ความเป็นคน’ ของคนทรยศชาติ
ตลอดการต่อสู้คดีของแนนซีกับโมฮัมมาดูเต็มไปด้วยอุปสรรค เริ่มตั้งการพบกันระหว่างลูกความและทนายความ พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามกฎและระเบียบที่รัฐกำหนด อีกทั้งการพูดคุยกันระหว่างลูกความและทนายความก็ไม่มีหลักประกันเรื่องความเป็นส่วนตัว ทุกการบันทึกที่ทนายความพูดคุยกับลูกความจะต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนตรวจสอบก่อนเสมอ รวมถึงการส่งข้อความใดๆ ของโมฮัมมาดูไปยังแนนซีก็จะมี ‘หน่วยปฏิบัติการพิเศษ’ คอยทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาก่อนจะให้ทนายความ และการพบกันแต่ละครั้งก็มีเวลาค่อนข้างจำกัด
“ผมเขียนมาตลอดชีวิต และผมชอบมัน แต่การเขียนที่นี้(คุกกวนตานาโม) มันเป็นหนทางที่อันตรายกว่าพูด” โมฮัมมาดูกล่าวกับทนายความที่ขอให้เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่านการเขียนจดหมาย
อุปสรรคสำคัญอีกประการในการต่อสู้คดีคือ ‘สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล’ แม้การเป็นทนายความจะทำให้ แนนซี เข้าถึงเอกสารจำนวนมหาศาล แต่ทว่า เอกสารเหล่านั้นกลับถูกขีดฆ่าหรือถูกเซ็นเซอร์เนื้อหาจนแทบใช้งานไม่ได้ จนสุดท้าย แนนซีเลือกใช้วิธีการฟ้องต่อรัฐให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เธอและลูกความได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและมีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเธอและลูกความก็ชนะคดีนี้ตามสิทธิที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
การต่อสู้คดีของแนนซี่ ไม่ได้มีอุปสรรค์แค่ทางกายแต่รวมถึงอุปสรรคทางใจ การเข้ามาเป็นทนายความให้กับผู้ต้องสงสัยในคดีก่อการร้าย แม้จะเป็นการทำหน้าที่อย่างถูกต้องชอบธรรม และเป็นการทำงานเพื่อยืนยันถึงหลักการพื้นฐานของความเป็นคน แต่ก็ไม่วายต้องถูกครหาว่า ‘ทรยศต่อชาติ’ แนนซี่ต้องเผชิญกับบรรดาผู้ชุมนุมประท้วงที่ต้องการเห็นการลงโทษผู้ต้องสงสัย รวมไปถึงบรรดานักข่าว หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานที่เริ่มรู้สึกว่า ต้นทุนในการทวงความเป็นคนมันช่างสูงลิ่ว
“ฉันไม่ได้ปกป้องเขา(โมฮัมมาดู) แต่ฉันปกป้องกฎหมาย(หลักนิติรัฐ)” แนนซีกล่าวกับอัยการทหารและสื่อ ที่ตั้งคำถามถึงการมาช่วยทำคดีให้ผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย
ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่แนนซีที่ต้องเผชิญหน้ากับข้อครหา ‘ทรยศต่อชาติ’ แม้แต่ สจวร์ต เคาช์ (Stuart Couch) อัยการทหารที่เคยวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับแนนซีและมองเธอด้วยสายตาว่าเป็นคนทรยศต่อชาติก็มีเหตุต้องเปลี่ยนใจ เพราะในระหว่างที่เขาขะมักเขม้นในการหาหลักฐานเพื่อยืนยันต่อศาลให้ประหารชีวิตโมฮัมมาดู เขาก็ค้นพบว่า หลักฐานที่ใช้ยืนยันถึงความผิดของจำเลยจนสิ้นสงสัยนั้น ‘ไม่มีอยู่จริง’
ในทางกลับกันหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดที่ใช้ยืนยันการกระทำผิดก็เป็นเพียงคำรับสารภาพที่ได้มาด้วยวิธีการซ้อมทรมาน และนั้นเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจถอนตัวจากการทำคดีดังนี้ และยอมแบกรับข้อครหาทรยศต่อชาติไว้
“เราสาบานว่าจะสนับสนุนและปกป้องรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้เรากำลังทำในสิ่งที่ตรงข้าม” สจวร์ต เคาช์ กล่าวกับทหารผู้บังคับบัญชาที่ให้เขาเดินหน้าเอาผิดโมฮัมมาดูแม้ไม่มีหลักฐานชัดเจน
ชัยชนะที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของจำเลย
ตลอดการคุมขังกว่า 8 ปี โมฮัมมาดูเพิ่มได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีในศาลเป็นครั้งแรก โดยมีแนนซีและเทอรี่เป็นทนายความ เพื่อยืนยันว่า การควบคุมตัวเขาเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตลอดการคุมตัวของเขาในกวนตานาโม ก็ทำให้เขาถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่า เขายังเป็นผู้บริสุทธิ์และให้ปล่อยตัวเขา
“ผมเชื่อว่าศาลนี้ตัดสินโดยกฎหมาย ไม่ใช่ความกลัว…” โมฮัมมาดูกล่าวในระหว่างการพิจารณาคดีในศาล
แม้โมฮัมมาดูจะได้รับชัยชนะในคดี แต่กว่าที่เขาได้รับอิสรภาพจริงๆ ก็ผ่านมาจากนั้นอีกหลายปี ชัยชนะของเขาในครั้งนี้ มันจึงเป็นชัยชนะที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันเต็มไปด้วยความทรงจำที่เจ็บปวด และเต็มไปด้วยอุปสรรคต่างๆ นานา
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ พยายามแสดงให้เห็นอยู่ตลอดเวลาคือ ความเป็น ‘รัฐธรรมนูญนิยม’ ของสังคมสหรัฐฯ ไม่ว่าคุณจะนิยามว่าสิ่งที่คุณทำเป็นความรักชาติมากน้อยแค่ไหน แต่ความรักนั้นก็ไม่สามารถยกเว้น ลดทอน หรือละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ และถึงแม้ว่าจะมีเรื่องที่เลวร้ายเกิดขึ้นในสังคมสหรัฐฯ แต่กลไกที่ยังยึดมั่นอยู่ในระบอบประชาธิปไตย อาทิ ‘ศาล’ ก็ยังต้องทำหน้าที่คุ้มครองผู้คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
บทส่งท้าย: สิทธิมนุษยชนไทยอีกไกลแค่ไหนคือใกล้
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ‘โมฮัมมาดู’ ไม่ใช่เรื่องใหม่บนโลกใบนี้ มันเกิดขึ้นอีกหลายที่ ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศไทย แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่าง ‘สิทธิของผู้ต้องหา’ ที่จะมีทนายความหรือได้พบกับบุคคลที่ไว้วางใจ เราก็พบเห็นปัญหานี้อยู่ในหน้าสื่อตลอด อาทิ การจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลไปไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) แต่พยายามกีดกั้นไม่ให้ทนายความได้พบกับผู้ต้องหา ไม่ก็พยายามสร้างเงื่อนไขในการทำงานของทนายความ เช่น จำกัดการเข้าออก จำกัดจำนวนทนาย หรือไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
หรือแม้แต่สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายอาญา แต่ทว่า ในประเทศไทย สิทธิดังกล่าวก็ถูกยกเว้นได้ อย่างกรณีการไม่ให้ประกันตัวกับบรรดาแกนนำการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่ศาลอ้างเหตุผลว่า หากให้ประกันตัว “กลัวว่าจะกระทำความผิดซ้ำ” ทั้งๆ ที่ ศาลยังไม่มีคำพิพากษาเลยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามข้อหาจริงหรือไม่
ไหนจะปัญหาการซ้อมทรมานที่มีมานานและกว้างขวางในสังคมไทย เช่น จากรายงานพิเศษ ’10 ปีกับการซ้อมทรมาน 10 ปีของความยุติธรรมที่หายไป’ ของประชาไท ระบุว่า ระหว่างปี พ.ศ.2550-2556 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อย่างน้อย 134 คำร้อง และมีบุคคลที่ถูกละเมิด อย่างน้อย 188 คน ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็ถูกดองไว้ในระเบียบวาระการประชุมของสภามาไม่น้อยกว่า 1-2 ปี
เราอาจสันนิษฐานได้ว่า การที่สิทธิมนุษยชนถูกยกเว้นทั้งในกรณีโมฮัมมาดูและสังคมไทยมีจุดร่วมกันอยู่ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้สัมพันธ์กับ ‘อคติ’ ของรัฐต่อบรรดาผู้ต้องหา เช่น กรณีผู้ต้องหาในคดีก่อความไม่สงบในชายแดนใต้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอคติต่อเชื้อชาติศาสนา หรืออย่างกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล การยกเว้นสิทธิมนุษยชนบางประกันก็ด้วยความเชื่อว่า คนกลุ่มนี้ไม่หวังดีต่อชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคง
นี่ยังไม่นับเรื่อง ‘สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร’ ที่รัฐประชาธิปไตยทุกรัฐจะต้องว่าอยู่บนหลักธรรมาภิบาลหรืออยู่บนหลักโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ในกรณีของไทยกลับเป็นไปอย่างกลับหัวกลับหาง ทั้งไม่โปร่งใส ทั้งตรวจสอบไม่ได้ ยกตัวอย่าง การขอข้อมูลเกี่ยวกับผลการสอบสวนปมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นเพียงหน้ากระดาษเปล่า แถมล่าสุด ยังมีความพยายามจากรัฐบาล ในการออก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับใหม่ ที่ขยายขอบเขตข้อยกเว้นในการไม่เปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น และเพิ่มเงื่อนไขในการปฏิเสธการให้ข้อมูลให้มากขึ้นอีก
สุดท้ายนี้ คำถามสำคัญ คือ สังคมไทยจะกลับไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เคารพในหลักนิติรัฐ ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างไร หากถอดบทเรียนจากภาพยนตร์ The Mauritanian อาจจะเห็นว่า หลักชัยคือ การสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและสร้างรัฐที่มีธรรมาภิบาล แต่ทว่า ย่างก้าวของการไปถึงนั้น อาจจะต้องเริ่มจากคนธรรมดา เช่น แนนซี โมฮัมมาดู หรือ สจวร์ต ที่กล้าหาญพอจะพูดความจริง กล้าหาญมากพอที่จะยืนยันหลักการ
และไม่ปล่อยให้คนที่กำลังเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรมต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว