บ้านหลังใหญ่ มีใครอยู่บ้าง?
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ครอบครัว’ ภาพในใจใครหลายคนคงกำลังนึกถึงความอบอุ่นพร้อมหน้าพร้อมตา ความเข้มแข็งของพ่อ ความอ่อนโยนของแม่ สายสัมพันธ์แนบชิดระหว่างพี่น้อง ต้นไม้ที่ให้ร่มเงา และอะไรต่อมิอะไรอีกมาก แต่เมื่อครอบครัวนั้นมาอยู่ในบริบทของการเมืองเช่น ‘ครอบครัวเพื่อไทย’ ก็ทำให้เกิดความสงสัยว่าครอบครัวนี้ประกอบด้วยใครบ้าง และที่สำคัญ ครอบครัวนี้จะขยายไปไกลได้แค่ไหน
เรานัดพูดคุยกับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง และ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทยถึงเรื่องในบ้านหลังใหญ่แห่งนี้ ระหว่างเดินสายขึ้นเหนือลงใต้เพื่อหาเสียงเตรียมเลือกตั้ง เขามองเห็นอะไรบ้าง ใครบ้างถูกนับเป็นครอบครัวเพื่อไทย ครอบครัวนี้พร้อมรับใครเข้ามาอีกไหม ที่สำคัญ บ้านหลังอื่นอย่างเช่นพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย หรือบ้านในซอยเดียวกันที่คนในบ้านตีศอกกระแทกเข่ากันอยู่เสมออย่างพรรคก้าวไกลจะเข้ามาเขยพวกเขาในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่
และนี่คือคำตอบของ ‘ครูใหญ่’ ผู้ดูแลรับผิดชอบครอบครัวเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
ถามเป็นเรื่องนี้ก่อนเลย เกิดอะไรขึ้นกับลิเวอร์พูล
มันก็เป็นช่วงเวลาที่ลิเวอร์พูลคุ้นเคยมาตลอด 30 ปี (ยิ้ม) คือล้มลุกคลุกคลานกลางตารางเป็นปกติ เป็นทีมที่บางช่วงก็สร้างความสุขให้กับแฟนๆ บางช่วงก็สร้างความสุขให้กับคู่แข่ง ก็แล้วแต่เลย เพียงแต่ว่าเอาล่ะ ไม่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น คนมันเชียร์กันมายาวนานตลอดชีวิตก็จะเชียร์กันต่อไป ผลงานในสนาม การวิเคราะห์ นักเตะแต่ละตำแหน่ง คงไม่ต้องพูดกันนะ เพราะต่อให้อยู่ตรงไหนก็เชียร์เอาอย่างนั้นดีกว่า
(บางคนเปรียบเทียบว่าเลิกกับเมีย ยังได้นะ แต่เลิกเชียร์ทีมที่รักนี่เลิกไม่ได้) มันก็ยังนะ อย่าไปถึงขนาดว่า เอาปัญหาเข้าบ้าน ประกาศว่าว่ายิ่งกว่าหรือเหนือกว่าเลิกกับเมียเลย คือมันเป็นความผูกพัน เป็นสิ่งที่เราโตมากับมัน โตมากับเสื้อลิเวอร์พูล โตมากับนักเตะลิเวอร์พูลชุดต่างๆ โตมากับการเชียร์ทีมนี้มาตลอด มันก็เหมือนกับส่วนหนึ่งของชีวิตน่ะ บางช่วงก็ไม่ได้คิดถึงอะไรมากมายนะ แต่ว่านึกถึงทีไรมันก็อยู่ในชีวิตทุกที
ช่วงที่ผ่านมา คุณไปปราศรัยมาทั้งภาคใต้ อีสาน เหนือ อยากถามถึงความรู้สึกก่อนว่ากลับมาจับไมค์ปราศรัยเลือกตั้งอีกครั้งเป็นอย่างไรบ้าง
ที่จริง การเลือกตั้งในช่วงหลังของพรรคเพื่อไทยผมก็ทำหน้าที่นี้มาตลอด เพียงแต่ว่าตอนนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย พ.ศ.2544 – 2549) ผมจะเป็นทีมปราศรัยล่วงหน้าร่วมกับพี่อดิศร เพียงเกษเป็นประธาน และมีคุณเอกพร รักความสุข, จตุพร พรหมพันธุ์, อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แล้วก็ผม สิ่งที่ผมต้องทำตอนนั้นคือขึ้นปราศรัยก่อนเป็นคนแรกของทีม คำว่าคนแรกคือคนแรกจริงๆ เพราะบางทีคนฟังก็ยังไม่มา “พ่อแม่พี่น้องที่เคารพครับ…” บางทีพ่อแม่พี่น้องก็ หมายถึงพวกคนเรียงเก้าอี้ ตอนนั้นผมพูดมีคนฟังสัก 300-500 คนนี่ก็จะดีใจมาก
พอมาถึงยุคท่านนายกฯ สมัคร สุนทรเวช (พรรคพลังประชาชน พ.ศ.2550 – 2551) คราวนี้แหละท่านใช้งานเป็นเรื่องเป็นราว ท่านจะบอกว่า “คุณณัฐวุฒิ คุณต้องพูดก่อนผมขึ้นเวที” เวทีไหนถ้าท่านกำลังอยู่ระหว่างเดินทาง ท่านก็จะให้คนโทรเช็กว่าใครกำลังพูด ถ้าผมกำลังพูดอยู่ ท่านก็จะบอกว่าให้พูดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าผมจะไปถึง ถ้าผมยังไม่ได้พูดก็จะบอกว่าให้คนที่กำลังพูดอยู่ลงแล้วให้คุณณัฐวุฒิขึ้น ก็จะเป็นแบบนี้
แสดงว่าหลายๆ ครั้งที่ปราศรัยก็มีตามน้ำ (improvise) ไปเอง
ต้องรับความเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้าให้ได้ ท่านนายกฯ สมัครจะเป็นนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับเวทีปราศรัย เพราะท่านเองก็เป็นนักปราศรัยระดับตำนานคนหนึ่ง ฉะนั้นท่านก็จะมีการประเมินบรรยากาศหน้าเวที ประเมินการแสดงออกของคนฟัง ไมค์ต้องเป็นยังไง ขาไมค์ต้องเป็นยังไง ท่านละเอียด พอมาตอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย พ.ศ.2554-2557) ทั้ง 49 วัน ผมก็ร่วมคณะไปกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ทุกเวที ตั้งแต่เวทีแรกจนเวทีสุดท้ายที่ราชมังคลากีฬาสถาน ผมยืนอยู่ตรงนั้น
มาปัจจุบันนี้ก็ทำหน้าที่ทำนองเดียวกันคือ เดินสายปราศรัยกับแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เพียงแต่ว่าคราวนี้มันว่างเว้นมานาน มันหยุดตั้งแต่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ผมไปติดคุกกว่าครึ่งปี ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ คิดถึงมันเหมือนกันแหละ
มาแรกๆ ก็พยายามจับสังเกต พยายามเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เพราะเดี๋ยวนี้คนฟังการเมืองอายุน้อยลง แล้วก็มีความหลากหลายมากขึ้น ชาวบ้านก็มี ชั้นกลางก็มี คนวัยทำงาน แม้กระทั่งนักเรียนนักศึกษาก็มี แล้วคนกลุ่มนี้มาอยู่รวมกันในเวทีที่เราต้องสื่อสารทางการเมือง ดังนั้น เวลาผมปราศรัยนี่มันก็จะมีทั้งศัพท์แสงที่วัยรุ่นเขาใช้กันในโซเชียล มีเดีย เพลงหรือโฆษณาดังๆ หรือว่าการพูดเรื่องที่ยากด้วยภาษาและท่วงทำนองบ้านๆ เพื่อให้คนอีกส่วนหนึ่งเขาเข้าใจง่ายและใกล้กับเรามากขึ้น หรือว่าสื่อสารในประเด็นของโลกสมัยใหม่ ประเด็นของวิธีคิดวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อให้เข้ากับคนที่อยู่ในวัยกำลังทำงาน
สำหรับผมการขึ้นเวทีปราศรัยต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องมีพัฒนาการตลอดเวลา หยุดนิ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นมายืนอยู่บนเวทีปราศรัยคราวนี้ นอกเหนือจากเราพยายามที่จะปรับตัวเอง ผมก็ต้องฟังคนอื่นเขาปราศรัยด้วย อย่างตอนผมออกมาจากเรือนจำ งานอดิเรกอย่างหนึ่งคือเปิดคลิปที่น้องๆ เขาปราศรัยกัน เพราะว่าพี่น้องที่ไปเยี่ยมเขาบอกว่า เดี๋ยวนี้มีคนปราศรัยเก่งๆ หลายคน เขาก็เอ่ยชื่อคนโน้นคนนี้ ซึ่งผมไม่เคยรู้จักใครเลย ตอนที่ติดกำไร EM อยู่บ้าน 3 เดือนก็เลยเปิดฟังไปเรื่อย
พูดถึงนักปราศรัยรุ่นใหม่ มีคนไหนที่รู้สึกว่าชอบสไตล์คนนี้จัง
มันเก่งๆ กันหลายคน ชื่นชมหลายคน แต่การที่เราจะบอกว่าใครเป็นนักพูดหรือนักปราศรัยที่เป็นยอดฝีมือเนี่ย ตัวชี้วัดไม่ได้มีแค่เสียงเฮหรือพูดแล้วมีเสียงปรบมือเป็นระยะ สาระสำคัญของมันคือ คุณสามารถจะพูดในสิ่งที่คุณคิด ในสิ่งที่คุณต้องการนำเสนอให้คนฟังแล้วเข้าใจตรงกันกับคุณภายใต้เวลาที่จำกัดได้หรือเปล่า ถ้าได้ตรงนี้ ขั้นต่อไปคือคุณควบคุมอารมณ์ความรู้สึกแล้วส่งต่อไปที่คนฟัง แล้วทำให้คนฟังแสดงออกตามที่คุณส่งไปได้หรือเปล่า ขั้นต่อมา คุณสามารถทำให้คนฟังทั้งหมดรู้สึกเป็นคนกลุ่มเดียวกันได้ไหม แล้วเขาพร้อมที่จะสนับสนุนคุณไหม
ดังนั้น ผมคงไปบอกชื่อกันไม่ได้ว่าใครเก่งเป็นพิเศษ แต่ผมยืนยันว่าคนหนุ่มสาวเดี๋ยวนี้เก่งกันหลายคน แล้วในวัยเท่ากัน กลอนต่อกลอนพวกเขาเก่งกว่าผม เขาอายุ 20 ปีต้นๆ พูดจาปราศรัยทางการเมือง เอาเนื้อหาสาระ เอาประวัติศาสตร์ เอาเรื่องหลักการมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผมจะบอกว่าผมเรียนรู้จากพวกเขา เช่นเดียวกับเรียนจากนักการเมืองหลายๆ คนในพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ผมชอบที่จะเรียนรู้วิธีการของคนอื่น เพราะว่าการได้นั่งมองคนเก่งๆ จะทำให้เราพยายามพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น
ไปมาทุกภาคแล้ว มีเวทีไหนไหมที่รู้สึกว่าประทับใจเป็นพิเศษไหม
ถ้าผมต้องขึ้นเวทีปราศรัย ผมจะไม่สนใจว่าคนฟังเราอยู่เป็นจำนวนเท่าไหร่ ผมใส่เต็มที่ทุกครั้ง เพราะหนึ่ง มันคือวินัย คือจิตวิญญาณในการทำหน้าที่ของเรา สอง มันเป็นการให้ความเคารพต่อประชาชนที่เขามานั่งรับฟังอยู่ คุณจะมากันกี่คนก็ตาม คุณคือประชาชน สาม มันเป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่จะต้องสื่อสารความคิด ส่งต่อข้อมูลไปยังประชาชน แล้วต้องทำอย่างเคารพและให้เกียรติเขา ฉะนั้น ทุกเวทีผมประทับใจเหมือนกันหมด
แต่มีอะไรที่น่าประหลาดใจไหม ก็มี เช่น คราวนี้พี่น้องภาคใต้ดูเปิดรับกิจกรรมทางการเมืองของพรรคมากกว่าทุกครั้ง อย่างที่นครศรีธรรมราช เราจัดในหอประชุมเดียวกับประชาธิปัตย์ คนเนี่ยเต็มทุกเก้าอี้ ยืนด้วย นั่งพื้นด้วย จนล้นออกจากอาคารอยู่กันตามสุมทุมพุ่มไม้เยอะแยะไปหมด แล้วบุคลากรของพรรคเราในภาคใต้เขาก็สะท้อนมาในทิศทางเดียวกัน เราไม่เคยสัมผัสบรรยากาศอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าน่าตื่นเต้น ส่วนในภาพรวมทั่วประเทศ กระแสความนิยมพรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในช่วงกระแสสูง แต่ยังไม่สูงที่สุด เมื่อเข้าช่วงเลือกตั้งเต็มตัว นโยบายชุดใหญ่ของเพื่อไทยออก องคาพยพของพรรคขับเคลื่อนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่ากระแสมันจะพุ่งไปได้มากกว่านี้
พูดถึงภาคใต้ อย่างที่รู้กันว่ามันไม่ใช่ฐานที่มั่นของเพื่อไทยเลย คุณคิดว่ามันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้รอบนี้ กระแสตอบรับเพื่อไทยในภาคใต้ดีขึ้นมาก
หนึ่งคือความล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และพวกตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คนรู้สึกตรงกันว่ามันบอบช้ำ มันเสียหาย และไม่สามารถปล่อยให้คนกลุ่มนี้อยู่ในอำนาจอีกต่อไป เมื่อคิดแบบนี้ก็ต้องหันไปมองฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลปัจจุบันคือ พรรคเพื่อไทย แล้วก็เจอมรดกผลงานของพรรคเพื่อไทยที่เคยบริหารนโยบายสำเร็จได้ทุกครั้งที่เป็นรัฐบาล คนก็หวนคิดไปถึงไทยรักไทย หวนคิดไปถึงเพื่อไทยในยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มันก็เกิดความหวัง
ประการต่อมา ในยามที่คนกำลังรู้สึกสิ้นหวังเช่นนี้ สิ่งที่คนไทยต้องการที่สุดคือเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ แน่นอนว่ามันมีปัญหาอื่นๆ ทับซ้อนกันอยู่ด้วย แต่เรื่องนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โจทย์ข้อนี้คนส่วนใหญ่เชื่อตรงกันว่า มีแต่เพื่อไทยเท่านั้นประกาศนโยบายแล้วทำได้จริง อย่างที่เขียนไว้บนป้ายหาเสียง นโยบายดีๆใครก็พูดได้ แต่พรรคที่ทำได้ ทำเจ๋งคือเพื่อไทย
อีกประการคือ กระบวนการทำงานทางการเมืองของพรรค แม้ว่าจะเป็นพรรคที่อายุอานามจะ 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นพรรคที่ทันสมัยอยู่ ต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่มีอายุอานามพอๆ กัน พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่คนทุกกลุ่มสามารถที่จะมองเห็นอนาคตตัวเองในนั้นได้ ผมว่านี่ก็เป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของมัน
พูดถึงนครศรีธรรมราชบ้านคุณเอง รอบที่แล้วประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐกวาดเรียบเลย ในรอบนี้มีความมั่นใจว่าจะได้สักกี่ที่นั่ง
คราวนี้เรามีหวังเป็นพิเศษ เนื่องจากว่าพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ภูมิใจไทยฐานคะแนนหลักคือกลุ่มเดียวกัน และเมื่อเขายืนแข่งกันเองอย่างเข้มข้นก็น่าจะเป็นโอกาสของเพื่อไทยหรือพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ สมัยก่อนมัน 1 ต่อ 1 ไม่เพื่อไทยก็ประชาธิปัตย์ ถ้าเป็นแบบนั้นต้องยอมรับว่าสู้ยาก เพราะคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยยังเป็นรองในพื้นที่ภาคใต้ แต่พอกระจายกันหลายพรรคแบบนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้
ผมมั่นใจว่าคราวนี้เห็นธงพรรคเพื่อไทยถูกปักในพื้นที่ภาคใต้แน่
คุณมีตำแหน่งเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า Job Description ของตำแหน่งนี้มีอะไรบ้าง
เข้ามาช่วยคิดวางแผนทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการขับเคลื่อนครอบครัวเพื่อไทย แล้วก็ออกแบบภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมรณรงค์หาเสียง ขยายฐานมวลชน ถ้าเป็นเวทีของครอบครัวเพื่อไทย ผมจะรับผิดชอบในรายละเอียดทั้งหมด และช่วงไหนไม่มีเวทีปราศรัยใหญ่ผมกับแกนนำเสื้อแดงจำนวนหนึ่งก็จะตระเวนลงพื้นที่พบปะพี่น้องเสื้อแดงกลุ่มย่อย 400 – 500 คน อันนี้ไม่เป็นข่าว แต่เราทำกันเป็นประจำสม่ำเสมอ เราทำเพื่อจะกลับไปหา ไปพูดคุยทำความเข้าใจ สร้างกลไกการมีส่วนร่วม แล้วชวนให้สนับสนุนภารกิจแลนด์สไลด์
นอกจากนั้น มีการตั้งวงพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับนิสิต นักศึกษา คนหนุ่มคนสาว ปัญหาอะไรบ้างที่อยู่ในความสนใจของพวกเขา พอได้คุยกับหลายกลุ่มเราก็พอจะจัดกลุ่มและแชร์ข้อมูลต่อไปให้กับผู้บริหารและฝ่ายนโยบายของพรรค เพื่อกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์กับคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งหลังจากยุบสภาพรรคเพื่อไทยจะเปิดนโยบายชุดใหญ่ คุณจะเห็นว่ามันมีนโยบายของคนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้เต็มไปหมด
เพราะพรรคการเมืองที่จะเป็นความหวังของคนทั้งประเทศหลังจากวิกฤตมา 8 ปี มันต้องเป็นความหวังของคนทุกกลุ่ม อย่างที่ผมบอกว่า มองเข้ามาในเพื่อไทย คนทุกกลุ่มควรเห็นอนาคตของตัวเองอยู่ตรงนั้น
คุณเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ขณะที่คุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) เป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย สองตำแหน่งนี้แตกต่างกันตรงไหน
หัวหน้าก็คือผู้นำสูงสุดไง ส่วนผู้อำนวยการเป็นคนขับเคลื่อนภารกิจ เพราะว่าคุณอุ๊งอิ๊งยังมีสถานะอื่นเช่นประธานนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมและว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นในบทบาทอื่นๆ ผมก็ไม่ได้เข้าไปรับผิดชอบเต็มเหมือนกับเวทีของครอบครัวเพื่อไทย ยกตัวอย่างง่ายๆ ระยะหลังที่เราเดินสายปราศรัยกันตั้งแต่จังหวัดเลย-พังงา มันเป็นเวทีพรรคแล้วไม่ใช่เวทีครอบครัว เมื่อเป็นเวทีพรรค ทีมมันก็จะใหญ่ขึ้น องค์ประกอบของวงประชุมก็จะใหญ่ขึ้น บทบาทของพรรคกับภารกิจของครอบครัวเพื่อไทยก็จะต่างกันตรงนี้
ทีนี้หลังยุบสภา บทบาทในส่วนของครอบครัวเพื่อไทยก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ แต่มันยังมีอยู่บางวาระบางกิจกรรมที่ยังเป็นครอบครัวเพื่อไทยอยู่ แต่ว่าส่วนใหญ่มันจะไหลเข้าไปอยู่ในส่วนของพรรค
ครอบครัวเพื่อไทย พอใช้คำนี้แล้วฟังดูอบอุ่นมากเลย อะไรคือเงื่อนไขและข้อแม้ในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้
ถ้าเข้ามาในครอบครัวเพื่อไทย มันไม่มีเงื่อนไขอะไรนะ เพราะว่ามันไม่มีตัวบทกฎหมายกำกับอยู่ แต่ถ้าจะเป็นสมาชิกพรรคมันมีข้อบังคับพรรค เช่น ต้องพ้นโทษกี่ปีๆ ซึ่งผมก็เป็นไม่ได้นะ แต่ครอบครัวเพื่อไทยผมเดินมาได้เต็มตัว เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ภายใต้กฎกติกาข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น ใครที่จะเดินเข้ามาในครอบครัวเพื่อไทย เข้ามาได้ตั้งแต่ 1 ขวบ จะมีสถานะ เพศสภาพใดก็ได้เราเปิดกว้าง เพียงแต่ว่าเมื่อเข้ามาแล้ว ต้องเข้าใจว่าครอบครัวนี้ยืนยันเรื่องหลักการประชาธิปไตยและต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทย มันไม่ใช่ว่าเป็นครอบครัวที่ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย แต่สนับสนุนพรรคไหนก็ได้ ผมว่ามันก็เป็นคุณสมบัติกว้างๆ หลวมอย่างนี้แหละ เข้ามาเมื่อไหร่และจะออกไปเมื่อไหร่ก็ได้
ผมเข้าใจว่าครอบครัวเพื่อไทยเนี่ย เรียกว่าเป็นร่างสองของขบวนการคนเสื้อแดงที่พัฒนาขึ้นเป็นขบวนการภาคประชาชน
มันไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการต่อสู้ เป็นขบวนการที่พร้อมที่จะยืนบนท้องถนนเพื่อเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ หรือความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง แต่ว่าครอบครัวเพื่อไทย มันมีลักษณะเป็นกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่มีฐานมวลชนทั่วประเทศหลากหลาย แต่การรวมตัวเนี่ยจะมีลักษณะหลวมๆ แตะมือกันเบาๆ ถ้าจะเข้ามาใกล้กันมากขึ้นก็ยินดี แต่จะไม่มีลักษณะต่อสู้มากมายไปกว่าสนามเลือกตั้ง เราไม่คาดหวังว่าสมาชิกครอบครัวเพื่อไทยจะต้องเดินขบวนต่อต้านเผด็จการ แต่ต่อให้ไม่คาดหวังแบบนั้น จิตวิญญาณของคนเสื้อแดงมันเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว
ฉะนั้น การรวมตัวกันในนามของคนเสื้อแดง มันรวมกันถึงจิตวิญญาณเป็นเพื่อนตายของกันและกัน แต่ว่าครอบครัวเพื่อไทยมันเป็นเพื่อนที่คิดเห็นคล้ายๆ กัน สนับสนุนพรรคการเมืองเดียวกัน และยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาสัมพันธภาพให้มันแน่นขึ้นไปอีก
สำหรับอดีตแกนนำ นปช. เช่น แรมโบ้อีสาน (เสกสกล อัตถาวงศ์) หรือว่าคุณจตุพร (พรหมพันธุ์) มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะต้อนรับพวกเขากลับมาเป็นหนึ่งในครอบครัว
อย่างที่ผมบอก ครอบครัวเพื่อไทยเปิดกว้างในทุกมุมทุกมิติ แต่ว่าบางคนหรือคนที่คุณเอ่ยชื่อมาเนี่ย… เขามีเงื่อนไขของเขาเอง เช่น คุณเสกสกล แกไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติตั้งนานแล้ว แล้วก็ไม่มีทางที่จะหวนกลับมาที่ครอบครัวเพื่อไทยอีกแล้ว แล้วครอบครัวเพื่อไทยก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะไปชวนกลับเพราะเห็นแล้วว่ามันเดินกันไปคนละทาง
ส่วนคุณจตุพรเพิ่งประกาศว่าหันหลังให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่ครอบครัวเพื่อไทยต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เป็นการตัดสินใจของคุณจตุพรเช่นนั้น ถือว่าเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนเป็นเส้นทางของแต่ละคนที่จะเลือกเดิน
ส่วนตัวคุณยังถือว่าทั้งคู่เป็นเพื่อนไหม
เป็นเพื่อนมิตรพี่น้องที่เคยต่อสู้ร่วมกันมาที่วันนี้แต่ละคนเลือกเส้นทางของตัวเอง ซึ่งในเส้นทางที่เขาเลือกก็ไม่เหมือนกับเส้นทางที่ผมเลือก ดังนั้น เราก็เดินไปตามวิถีทางของแต่ละคน ผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติ
เจอกัน ทักทายกันได้ไหม
ทักทายกันได้เป็นปกติ แต่ผมกับคุณเสกสกล เราไม่เคยเจอกันเลย ไม่ได้โทรหากัน ไม่ได้ติดต่อกันโดยวิธีการใดๆ ส่วนคุณจตุพรยังขึ้นศาลด้วยกันอยู่ เจอกันก็นั่งติดกันได้ พูดคุยถามไถ่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ได้ปกติ แต่ในทางการเมืองเราไม่ได้ศึกษาหารือหรือแลกเปลี่ยนทัศนทางการเมืองเหมือนกับสมัยก่อนแล้ว
พรรคพลังประชารัฐประกาศก้าวข้าวความขัดแย้ง ถอดความได้ว่าอาจจะมีการออก นิรโทษกรรม คุณมีความคิดเห็นยังไงบ้างกับเรื่องนี้
ถ้าพูดเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยมันต้องพูดภาพใหญ่ ต้องยอมรับให้ตรงกันเสียก่อนว่ามันเกิดขึ้นจากความไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งโดยตัวกติกาสูงสุด (รัฐธรรมนูญ) และโดยตัวกลไกต่างๆ ที่ขัดขวางพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย มันเลยทำให้คนทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันเป็นเวลากว่า 10 ปี จนในเวลานี้ ไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่าคนที่ลุกขึ้นประกาศแก้ไขความขัดแย้งให้หมดไปจะทำได้จริง
ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขความขัดแย้ง เราต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงและให้แต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมในการคลี่คลายวิกฤตนี้ด้วยกัน ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วความขัดแย้งจะจบลง ผมว่ามันไม่อัตโนมัติขนาดนั้น
ถึงแม้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะทำให้ภาระในทางคดีของบางคนหมดลง แต่ถ้ารัฐธรรมนูญยังไม่แก้ อำนาจนอกระบบยังแทรกแซงการเมืองได้ องค์กรอิสระยังอิสระจากการตรวจสอบของประชาชนแบบที่เป็นอยู่ กระบวนการยุติธรรมยังถูกตั้งคำถาม แบบนี้มันไม่จบใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกไหม เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องเล็กมาก
ดังนั้น ผมอยากให้แต่ละพรรคพูดถึงภาพใหญ่แบบนี้ แล้วค่อยจัดการไปทีละเรื่องๆ รัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนเลือก ส.ส.ร.มาร่างกันใหม่ ส่วนจะต้องมีนิรโทษกรรมหรือไม่ ลองมองตัวแบบการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองของหลายๆ ประเทศที่เขาสูญเสียมากกว่าเรา มันต้องเปิดใจคนทุกฝ่ายให้ได้จริง ต้องเกิดมาจากสำนึกร่วมกันว่าพอกันได้แล้วนะ
ถ้ายังคิดจะเผชิญหน้ากันอีก คิดจะห้ำหั่นกันอีก มันไม่มีใครชนะจริงๆ แล้ว เมื่อปี 2553 คุณยิงพวกผมบาดเจ็บเสียชีวิตแล้วเอาผมไปขังคุก คุณชนะเหรอ ถ้าคุณชนะมันไม่มีพวกผมยืนอยู่วันนี้หรอก แล้วถ้าคุณชนะ อำนาจทั้งหลายที่อุ้มพวกคุณไม่อยู่ในสภาพจนมุมต่อหน้าประชาชนแบบนี้หรอก
การรวมกับพรรคพลังประชารัฐหรือว่า พล.อ.ประวิตร จะถือว่าเป็นก้าวแรกในการแก้ไขความขัดแย้งไหม
ผมว่าไม่เกี่ยวกันเลยนะ การอธิบายว่าการจับข้ามขั้วทางการเมืองเป็นการเริ่มต้นคลี่คลายความขัดแย้ง ผมว่าไม่ใช่ การจับขั้วกันของพรรคการเมือง เป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่แก้ไขความขัดแย้ง
ผมได้ยินเรื่องแก้ไขความขัดแย้งพอๆ กับคำขวัญวันเด็ก พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจก็บอกมาแก้ไขความขัดแย้ง แต่ 8 ปีผ่านไปขัดแย้งหนักกว่าเดิม พอ พล.อ.ประวิตรแยกพรรคก็บอกจะแก้ไขความขัดแย้งอีกละ แล้วผมฟันธงเลยนะ อีกไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์จะพูดบนเวทีพรรครวมไทยสร้างชาติว่ามาแก้จะแก้ไขความขัดแย้ง ดังนั้น ผมว่าพรรคไหนจะจับมือกับพรรคไหน มันเป็นคนละเรื่องกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันอย่างถึงรากถึงแก่นในสังคมไทย
ไม่ว่ารัฐบาลไหน ถ้าตั้งใจจะแก้ไขความขัดแย้งจริงมันทำได้ ต่อให้เป็นรัฐบาลเผด็จการแบบ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าตั้งใจจะแก้ปัญหานี้ให้มันถูกวิธีการมันก็ทำได้ เพียงแต่ในโลกความเป็นจริง ไม่มีอำนาจเผด็จการที่ไหนจะลุกขึ้นมาคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในสังคม เพราะความขัดแย้งมันเป็นโอกาสที่อำนาจนอกระบบจะเข้ามายึดคุมอำนาจของประเทศ
การพาคุณทักษิณกลับบ้านเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้ไหม
ผมก็ว่าไม่นะ เพราะนายกฯ ทักษิณพูดชัดมากว่าการจะกลับหรือไม่กลับอยู่ที่หัวใจท่านแล้ว ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับใครจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคไหนแล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่าท่านตัดสินใจของท่านได้ทุกวัน ผมว่าถ้านายกฯ ทักษิณจะประเมินเรื่องกลับบ้าน คงประเมินจากสถานการณ์ในภาพใหญ่ของประเทศ ประเมินสัญญาณจากอำนาจต่างๆ ในประเทศ ประเมินท่าทีจากฝ่ายต่างๆ ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่จะประเมินได้อย่างถูกต้องชัดเจนตรงกับข้อเท็จจริง
ผมอยากให้ท่านทักษิณกลับมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้วโน่น เพียงแต่บทจะกลับมาจริงๆ ผมภาวนาให้ท่านใช้หัวใจอย่างละเอียดรอบคอบ ใช้อย่างถูกต้องตรงตามความจริงของสถานการณ์ ซึ่งผมไม่ทราบว่าวิธีไหนยังไง
มีสมการหนึ่งที่หลายคนเขาคาดการณ์กันมากคือ พรรคเพื่อไทย + พรรคพลังประชารัฐ + พรรคภูมิใจไทย สมการนี้เป็นไปได้แค่ไหน
ยากมาก ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. เกินครึ่ง ซึ่งส่วนตัวผมมั่นใจว่าเกินนะ แล้วมาบวกกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะแตะ 300 ที่นั่งด้วยซ้ำไป ดังนั้น สูตรเพื่อไทย+พลังประชารัฐ+ภูมิใจไทยจึงเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งในเงื่อนไขที่ก็พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ที่นั่งเกินครึ่ง
แต่ถ้าถามว่าถ้าได้ไม่เกิน 375 ที่นั่งจะเลือกนายกฯ ได้ยังไง ต้องถามใจ ส.ว.นะว่ายังจะยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ไหม แล้วก็ต้องถามใจ พล.อ.ประยุทธ์อีกว่าถ้าคุณได้เสียงปริ่มน้ำที่ 25 ที่นั่ง คุณจะยังเสนอหน้าเป็นนายกฯ อีกหรือเปล่า แล้วคุณต้องคิดต่ออีกนะ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้น้อยกว่า พล.อ.ประวิตร แต่ทั้งคู่ได้น้อยกว่าอนุทิน ฝ่ายนั้นจะเอาใครเป็นนายกฯ ผมว่ายุ่งนะ
และถ้าเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ หรือได้ไม่มากพอไม่ถึง 200 ที่นั่ง อำนาจน่าจะไหลกลับไปอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล แล้วถ้าพอถึงตรงนั้น พล.อ.ประยุทธ์น่าจะมีภาษีกว่าคนอื่นตรงที่สามารถใช้พลังของ ส.ว.ได้มากกว่า ประสานกับกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมได้มากกว่า ฉะนั้น ถ้าเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ
คุณประเมินพรรคภูมิใจไทยไว้อย่างไรบ้าง เพราะในช่วงที่ผ่านมาพูดตรงๆ ว่าภูมิใจไทยใช้พลังดูดอย่างรุนแรง
ผมให้เกียรติทุกคนนะ แต่ผมแน่ใจว่าจำนวน ส.ส. ที่ได้กลับมาจะไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่เดินเข้าไป และ ส.ส. เดิมของภูมิใจไทยก็จะได้มากเท่าเก่า ดังนั้น ผมเข้าใจว่าพรรคภูมิใจไทยไม่น่าจะโตกว่าปัจจุบันไปได้มาก น่าจะเท่าเดิมบวกลบ เพราะเวลาประชาชนตัดสินใจในสนามเลือกตั้งคราวนี้ มันจะเกิดวิธีคิด 2 ข้างเป็นพื้นฐาน เอาฝ่ายเพื่อไทยหรือเอาฝ่ายประยุทธ์ เมื่อวิธีคิดใหญ่มันเป็นแบบนี้ ฝ่ายที่คิดว่าไม่เอาประยุทธ์ก็จะเทมาทางข้างเพื่อไทยทั้ง 2 ใบ ผมแน่ใจว่ากระแสมันจะเป็นแบบนั้น เพราะเมื่อปี 2554 หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา พรรคภูมิใจไทยก็อยู่ในสภาพคล้ายกันนี้ ทั้งที่คุมมหาดไทย คมนาคม กระทรวงเกรดเอทั้งนั้น มีสรรพกำลังเต็มสูบในสนามการต่อสู้ แต่เมื่อเจอกันเข้าจริงๆ ปรากฏว่าเพื่อไทยเกินครึ่ง
แล้วถ้าจะฉายภาพให้ชัดขึ้นไปอีก ตั้งแต่ปี 2548 ถ้าใช้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบและปาร์ตี้ลิสต์หารหนึ่งร้อยเมื่อไหร่ เพื่อไทยได้เกินครึ่งทุกครั้ง ฉะนั้น ผมมั่นใจว่าถ้าการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบปาร์ตี้ลิสต์หารร้อยเพื่อไทยแลนด์สไลด์แน่นอน
พูดถึงพรรคก้าวไกลบ้าง มีเงื่อนไขอะไรไหมที่พรรคเพื่อไทยจะรวมหรือไม่รวมกับก้าวไกล ม.112 เป็นประเด็นสำคัญไหม
ผมคิดว่าคงไม่ต้องไปพูดถึงประเด็นไหนเป็นพิเศษหรอก เพียงแต่ว่ามันมีหลักของการทำงานร่วมกันอยู่ มันต้องพูดคุยกันก่อนว่าเราจะร่วมกันภายใต้จุดร่วมอะไร จุดต่างตรงไหน มีข้อห่วงใยกังวลอย่างไร คุยกันได้แล้วถึงประกาศจับมือแล้วแสดงตัวต่อสังคม แม้ว่าตลอดการทำงานที่ผ่านมา กองเชียร์จะตีศอกโยนเข่ากันอยู่ทั่วไป แต่ในสถานะของความเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทุกพรรคเป็นเพื่อนกัน แล้วผมคิดว่าแต่ละพรรคนึกถึงกันและกันว่า ถ้ามีโอกาสจะได้อำนาจบริหาร ก็ยังจะเห็นกันและกันทำงานร่วมกันอยู่ แต่ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น ทุกอย่างมันต้องคุยกันบนโต๊ะ แต่ละพรรคเห็นด้วยกันนโยบายกันและกันไหม
อย่างล่าสุด คุณคริส โปตระนันท์ แกก็ลาออกจากพรรคก้าวไกล เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางอย่าง นี่ขนาดคนในพรรคเดียวกัน ยังเห็นต่างกันในเรื่องนโยบาย เพราะฉะนั้นในระดับพรรคการเมือง ถ้าจะจับมือกัน ทุกพรรคมีสิทธ์ที่จะตั้งข้อสังเกตกับนโยบายของแต่ละพรรค แล้วถ้าผ่านตรงนั้นไปได้ ค่อยบอกประชาชนว่าผมคุยกันรู้เรื่องแล้วนะ
ในการเลือกตั้งรอบนี้ หลายๆ คนคาดการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลัก เงื่อนไขของการรวมและไม่รวมของเพื่อไทย มีอะไรบ้าง
พรรคการเมืองที่จะอยู่กับพรรคเพื่อไทย หนึ่ง ต้องยืนยันหลักการประชาธิปไตยในการทำงานร่วมกัน สอง ต้องรับแนวนโยบายของกันและกันได้ ซึ่งอันนี้มันอยู่ที่การพูดคุย ส่วนที่จะให้บอกว่าจะจับมือกับใครหรือไม่จับกับใคร ประกาศไปเลยดีไหม พรรคเพื่อไทยมีแนวทางแบบนี้ เราไม่เคยประกาศเรื่องนี้ในสนามหาเสียงเลือกตั้งของเรา
จะมีการแก้ไข ม.112 ไหม หลังจากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
ส่วนตัวผมเห็นว่า เนื้อหาสาระของตัวบทกฎหมายนี้ มันยังถูกตั้งคำถามเรื่องหลักนิติธรรมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอัตราโทษ การเปิดให้ใครแจ้งความดำเนินคดีกันได้ เพียงแต่ว่าวันนี้ ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำให้เกิดการถกเถียง เห็นต่าง เผชิญหน้ากันอย่างสุดขั้วในสังคม ดังนั้น ถ้าเรามองกันตามความเป็นจริง รัฐบาลชุดต่อไปควรเริ่มต้นด้วยการดูแลเรื่องการบังคับใช้ให้มันไม่ถูกนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองก่อน ผมว่าถ้าเริ่มต้นตรงนี้ ทุกฝ่ายน่าจะยอมรับร่วมกันได้ ส่วนจะพัฒนากันไปจนถึงการปรับแก้ในตัวบทหรือเนื้อหาหรือไม่ มันยังต้องใช้เวลายังต้องพูดต้องคุยกัน ซึ่งผมคิดว่ายังไม่ง่ายหรือไม่เร็วนักที่จะทำให้คนเห็นตรงกันได้
คนที่เขาอยากจะได้ยินอะไรเร็วๆ คงไม่ชอบที่จะได้ยินแบบนี้ แต่ผมจำเป็นต้องพูดความจริง และผมยังเชื่อว่าในคราวต่อไปไม่ว่าพรรคไหนจะเสนอนโยบายอย่างไร แต่เรื่องนี้ยังเกิดเป็นจริงได้ยาก
พูดถึงการควบคุมการบังคับใช้ ม.112 ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม เพราะว่าในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เคยมีการตั้งคณะกรรมการคล้ายกันนี้ขึ้นมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล
มันขึ้นกับความจริงใจในการมองเห็นปัญหาของรัฐบาลนะ ซึ่งคุณต้องไม่ลืมนะว่าในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ มันมีการกล่าวหามวลชนเสื้อแดงว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า มันมีการโยงใยชื่อคนมั่วไปหมด ผมเป็นคนหนึ่งที่ปรากฏชื่ออยู่ในผังนั้น ซึ่งภายหลังเมื่อมีกระบวนการต่อสู้คดีก็พบว่าผังล้มเจ้านี้คือเรื่องเหลวไหล เป็นจินตนาการของนายทหารกลุ่มหนึ่งในกองทัพเท่านั้นเอง ดังนั้น การบอกว่ามีคณะกรรมการมาดูแลเรื่องการบังคับใช้ ม.112 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมจึงคิดว่ามันขัดกันจนไม่น่าเชื่ออยู่แล้วว่ามันจะเป็นจริง
ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลต่อไปจะมาทำเรื่องนี้ ต้องจริงใจกับทุกฝ่าย รัฐบาลต้องยืนอยู่ตรงกลาง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายนี้มันนิ่ง ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ถูกใช้ทำร้ายใคร และถ้าทำตรงนี้ได้ สังคมมันจะได้ตั้งหลักกันมากขึ้น จะมีพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้กันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลมากขึ้น เวลานี้มันตะลุมบอนใครทำอะไรก็จะมีคนไปแจ้งความ แจ้งความก็ถูกจับ ถูกจับแล้วไม่ได้ประกัน ฝ่ายที่เขารู้สึกว่าเขาถูกกระทำก็ต่อต้าน ฝ่ายที่รู้สึกว่าควรจะทำก็ซ้ำเติมกันเข้าไป ดังนั้น ถ้าการบังคับใช้กฎหมายมันนิ่งเสียก่อน แล้วค่อยๆ นับ 2-3-4-5 มันเป็นจริงได้มากกว่า
แต่คุณห็นด้วยไหมว่า มีดก็คือมีด เปลี่ยนมือคนใช้มันก็คือมีด แล้วถ้าวันหนึ่ง มีดเล่มดังกล่าวตกไปอยู่ในมือคนที่อยากจะใช้มันอีกครั้งล่ะ
ถ้าเราเปรียบเทียบ ม.112 เป็นมีด วันนี้คนจับอยู่ที่คมมีด เพราะฉะนั้นผมว่าเริ่มจากการสร้างฝักมีดก่อนไหมล่ะ ทำให้มีดมันไม่สามารถถูกใช้เป็นอาวุธได้ก่อน แล้วเมื่อสร้างฝักมีดแล้วค่อยมาคุยกันว่ามีดเล่มนี้ควรจะอยู่ในมือใคร ควรจะอยู่อย่างไร ควรจะเก็บเอาไว้แบบไหนให้มันปลอดภัยกับทุกคน