นาฬิกากำลังเดินถอยหลังสู่วันเลือกตั้งใหญ่ (14 พฤษภาคม) บรรยากาศการเมืองดูครึกครื้นสนุกสนานขึ้นเรื่อยๆ แต่ละพรรคล้วนงัดไม้เด็ดตัวเองมาแข่งกันอย่างไม่มีกั๊ก
ปรายตามองไป พรรคการเมืองก็ดูคล้ายกับธุรกิจประเภทต่างๆ มีนโยบายต้องขาย มีแบรนด์ดิ้งที่ต้องสร้าง มีฐานลูกค้าที่ต้องรักษาเอาไว้ และมีแคนดิเดตนายกฯ เป็นภาพลักษณ์และภาพจำขององค์กรนั้นๆ
เมื่อการเมืองดูคล้ายและใกล้เคียงกับธุรกิจมากเหลือเกิน The MATTER จึงชวน บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของหนังสือ ‘ถอดรหัสพลิกสนามเลือกตั้ง ทฤษฎีและบทวิเคราะห์การตลาดการเมือง’ และผู้เชี่ยวชาญวิชาการตลาดการเมือง (Political Markerting) มาวิเคราะห์การเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านการเปรียบเทียบว่าผู้สมัครคือชาวบ้านที่อยู่ในซอยแห่งหนึ่ง ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ คือร้านค้าที่อยู่ในซอย พรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นร้านอะไรบ้าง จุดเด่นของแต่ละร้านคืออะไร และแต่ละร้านมีความท้าทายอย่างไรบ้างในการเลือกตั้งครั้งนี้
ร้านก๋วยเตี๋ยวต้นซอย – พรรครวมไทยสร้างชาติ
เริ่มต้นกันด้วยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ ที่ครองอำนาจมาเกือบ 9 ปี (ครบ 9 ปีวันที่ 22 พ.ค. 2566) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศตัวต้องการทำหน้าที่ต่อภายใต้เสื้อ ‘รวมไทยสร้างชาติ’
“คนที่ศรัทธาคุณประยุทธ์ก็ยังศรัทธาอยู่ ไม่มีอะไรมาสั่นคลอนเขาได้ ฉะนั้นถามว่าประยุทธ์เป็นแบรนด์ไหม เป็นครับ เป็นแบรนด์ชนิดที่มั่นใจว่ากับข้าวร้านตัวเองอร่อย ยังไงคุณก็ต้องมาซื้อ คุณเกลียดผม แต่คุณก็ต้องมากิน”
บัณฑิตเปรียบเทียบว่า พล.อ.ประยุทธ์คือเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวร้านใหม่ที่ตั้งอยู่ต้นซอย แยกตัวมาจากร้านเดิมที่หน้าท้ายซอย (พรรคพลังประชารัฐ) มีจุดเด่นที่ทำเลดี คนในซอยหิวก็ต้องมากิน ไม่มีทางเลือกมากนัก ทั้งที่เจ้าของร้านปากร้าย รสชาติอาหารก็ไม่ได้โดดเด่นอร่อยมากมายนัก
“เหมือนร้านก๋วยเตี๋ยวท้ายซอย อร่อยไม่อร่อยไม่รู้ แต่ทำเลดี หิวก็ต้องมา ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ปากร้ายชอบด่าลูกค้า ลูกค้าบอกไม่ใส่ถั่วงอก เขาสวนมา ‘แดกๆ ไปสิ ไม่แดกก็ไปร้านอื่น’ เพราะเขารู้ว่าไม่มีร้านอื่นให้กิน” บัณฑิตเปรียบเทียบอย่างมีอารมณ์ขันว่าความปากร้ายแบรนด์หนึ่งที่ติดตัว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งในแง่หนึ่งมีคนบางกลุ่มชอบนักชอบหนา แต่อีกแง่หนึ่งมันกลับไม่ทำให้ได้ฐานเสียงใหม่เพิ่มเติมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ 2 จาก 3 ป. ตัดสินใจแยกทางกันเดิน ซึ่งบัณฑิตไม่แน่ใจนักว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องไหม
“ใครบอกว่านี่แยกกันตี ผมไม่แน่ใจ ผมเชื่อว่าการแยกกันแบบนี้ทำให้ฐานซึ่งเปราะบางอยู่แล้ว เปราะบางลงไปอีก เพราะฐานเสียงของทั้งสองพรรคอยู่บนขาของ ประชาธิปัตย์ + อดีตพรรคพลังธรรม + มวลชนจำนวนหนึ่งที่เคยสนับสนุนกระบวนการเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณ” บัณฑิตเสริมว่าในรอบนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์เองก็เรียกผู้สมัครหลายคนกลับคืนค่าย
“พูดง่ายๆ ว่ารอบนี้ ประวิตรกับประยุทธ์แย่งฐานกันเอง”
“ถ้าคุณประยุทธ์ แบรนด์ดี แข็งแรง มันจะไม่มีพรรคที่เรียกว่ารวมไทยสร้างชาติ” บัณฑิตส่งท้าย
ร้านก๋วยเตี๋ยวท้ายซอย – พรรคพลังประชารัฐ
ในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐเข้าวินเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในประเทศมากถึง 7.66 ล้าน คิดเป็น ส.ส. ทั้งหมด 119 คน แต่ในการเลือกตั้งคราวนี้บัณฑิตมองว่าคะแนนจำนวนนั้นอาจไม่สูงเหมือนเดิมแล้ว เพราะการแยกกันเดินระหว่าง 2 ป. ที่ส่งผลให้ฐานเสียงตัดคะแนนกันเอง
บัณฑิตเปรียบเทียบว่าพรรคพลังประชารัฐเหมือนร้านก๋วยเตี๋ยวที่ตั้งอยู่ท้ายซอย เป็นสาขาดั้งเดิมของร้านที่เปิดหน้าปากซอย (ร้าน พล.อ.ประยุทธ์) แต่ต่างกันตรงที่เจ้าของปากหวานกว่า พูดจาไพเราะกว่า ที่สำคัญชอบมีของแถมให้ลูกค้า ทำให้คนบางกลุ่มที่ชอบการเมืองแบบ ‘สัจจนิยม’ ชื่นชอบอยากอุดหนุน ที่สำคัญ เป็นร้านที่ประนีประนอม ขายก๋วยเตี๋ยวให้ทุกคน ยกเว้นเสียแต่พรรคก้าวไกล
“ร้านปากซอยก็ไม่ค่อยอร่อยหรอก แต่มีของแถมเยอะ คนขายปากหวาน สุภาพกว่าท้ายซอย [ถ้าเดินไปสั่งก๋วยเตี๋ยว 1 ชามเขาแถมอะไรบ้าง?] แถมเยอะสิร้านนี้ เขามี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มือประสานสิบทิศอยู่” บัณฑิตกล่าว
“คุณประวิตรเป็นแบรนด์ที่คนมองการเมืองแบบสัจนิยมชอบ เพราะถึงแม้จะเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวไม่ค่อยเรียบร้อย แต่รสชาติพอกินได้” บัณฑิตกล่าวต่อ
บุคลิกของประวิตรประนีประนอมมากกว่า เป็นมิตรมากว่า ต่อรองได้มากกว่า สมมติ คุณสั่งก๋วยเตี๋ยวชามนึงบอกไม่เอาถั่วงอกได้ไหม ได้ ไม่เอาผักได้ไหม ได้ เอาเกาเหลาลูกชิ้นได้ไหม ได้ เผลอๆ มีของแถมเป็นน้ำกระเจี๊ยบ น้ำกัญชา แถมฟรีด้วยนะเพราะสปอนเซอร์เยอะ
“ใครๆ ก็อยากจะมาร้านนี้ ไม่มีใครปฏิเสธคุณประวิตร ยกเว้นก้าวไกล” บัณฑิตทิ้งท้าย
ห้างโมเดิร์นเทรดปากซอย – พรรคเพื่อไทย
สำหรับพรรคที่คะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่งในทุกโพลอย่างพรรคเพื่อไทย บัณฑิตเปรียบว่านี่ไม่ต่างจาก ‘ห้างโมเดิร์นเทรด’ มีสินค้า (นโยบาย) ครบทุกด้าน พนักงานตั้งแต่หน้าร้านจนถึงผู้บริหารมากฝีมือ และแบรนด์แข็งแรงติดตลาด จากความสำเร็จในสมัยพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร (2544 – 2549)
เพื่อไทยเป็นห้างโมเดิร์นเทรดตั้งอยู่ปากซอย มีจุดแข็งคือนโยบาย มีขายทุกอย่าง คุณอยากได้อะไรล่ะ ค่ารักษาพยาบาล ค่าแรงขั้นต่ำ นโนบายฉับพลันทันใด และคนในพรรคก็มีประสบการณ์เยอะ มีลูกล่อลูกชนเยอะ เป็นนักมวยเจนเวที นักฟุตบอลเจนสนาม เป็นนักกีฬาซึ่งเล่นได้ไตรกีฬา ตัวแต่ละคนไม่ธรรมดา
บัณฑิตอธิบายว่า ความสำเร็จเชิงนโยบายของพรรคไทยรักไทยยังมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ (ประชาชน) ต่อแบรนด์สูงมาก
“จังหวะของไทยรักไทยรอบแรก ยังส่งผลสะเทือนมาถึงพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ดังนั้น ความเชื่อมั่นในแบรนด์มันเหมือนห้างโมเดิร์นเทรด” บัณฑิตอธิบาย
นอกจากนี้จุดแข็งอีกอย่างที่สำคัญมากของเพื่อไทยคือ แคนดิเดต CEO (นายกฯ) ทั้ง 2 คนที่กำลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งบัณฑิตมองว่า ‘ค่าพลังสูง’ ไม่แพ้กัน
สำหรับแพทองธาร บัณฑิตมองว่ามีความเป็นนักการเมืองเร็ว มีปฏิภาณไหวพริบในการตอบคำถาม ที่สำคัญ เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวในเมืองไทยที่มีญาติเป็นอดีตนายกฯ ถึง 3 คน ได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร (พ่อ), สมชาย วงสวัสดิ์ (น้าเขย) และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อา)
“มันไม่มีคนไหนอีกแล้วในประเทศนี้ที่มีญาติสนิทเป็นอดีตนายกฯ ถึง 3 คน เท่ากับว่าคุณได้สุดยอดที่ปรึกษาถึง 3 คน” บัณฑิตกล่าวต่อ “ผมว่าคุณอุ๊งอิ๊งเรียนรู้จากชัยชนะ ข้อผิดพลาด ความล้มเหลว ถึงแม้อาจโตไม่ทันในช่วงที่ทักษิณโดนรุมกระทืบอยู่ แต่ทันแน่ๆ ในยุคของยิ่งลักษณ์ ผมว่านี่คือสินทรัพย์ที่ทำให้มีความระมัดระวังสูง และได้เห็นของจริงมากกว่าที่คนทั่วไปเห็น”
ส่วนทางด้านเศรษฐา บัณฑิตมองว่าคนนี้มีภาพลักษณ์ของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีความสามารถในการปราศรัยในที่สาธารณะ ที่สำคัญ ดูเข้าใจและสนุกกับสนามการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ
“คุณเศรษฐาดูอินกับการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ และผมคิดว่าคนที่ทิ้งโอกาสและเวลาทางธุรกิจ ทั้งที่รู้ว่าลงมาเล่นการเมืองจะต้องเจอกับอะไรและยังเดินมาถึงตรงนี้ ดังนั้น คุณเศรษฐามีภาษีค่อนข้างดี และภาพลักษณ์ของนักบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเทียบกับแคนดิเดตของพรรคอื่นก็ต้องบอกว่าน่าสนใจ” บัณฑิตวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม บัณฑิตชี้ว่าห้างโมเดิร์นเทรดที่ชื่อเพื่อไทยยังมีลักษณะที่เป็นดาบสองคมอีกประการหนึ่งในตัวเอง คือเป็นร้านค้าที่ “ใครมาขอซื้อก็ขาย ลูกค้ามาก็ต้อนรับทุกคน” ซึ่งทำให้นักเลือกตั้งบางกลุ่ม เช่น กลุ่มสามมิตร ย้ายค่ายจากพรรคพลังประชารัฐมาพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจทำให้คนตั้งคำถามต่อจุดยืนและความน่าเชื่อถือของเพื่อไทยได้
ซุ้มกัญชาหลังหมู่บ้าน – พรรคภูมิใจไทย
“นี่มันซุ้มกัญชาหลังหมู่บ้าน ซุ้มกัญชามันชวนคิดนะ มันเหมือนมุมอับที่ไม่มีใครอยากจะไป แต่คุณรู้ว่าไปแล้วจะมีความสุขแน่” บัณฑิตเริ่มต้นด้วยประโยคนี้
ถึงแม้พรรคภูมิใจไทยจะดันนโยบายกัญชาจนประสบความสำเร็จ ตามที่ประกาศไว้ว่า “พูดแล้วทำ” แต่ในมุมของบัณฑิตมันไม่ใช่ข้อดีนัก เพราะภาวะสุญญากาศทางกฎหมายที่เกิดขึ้นสร้างความรู้สึกทางลบมากกว่าทางบวก
“ปัญหาอีกด้านของนโยบายกัญชาคือ มันเป็นนโยบายที่มีความรู้สึกในทางลบมากกว่าทางบวก ปัญหาใหญ่มากๆ อยู่ที่การวางแนวทางกำกับ” บัณฑิตอธิบายต่อถึงภาพที่เขาเห็นคนขายกัญชาริมถนน ซึ่งเขาเปรียบว่าภาพแบบนี้ไม่ต่างจากประเทศด้อยพัฒนา เช่น นิการากัว หรือภูมิภาคที่ยาเสพติดระบาดอย่างหนักอย่างอเมริกาใต้
“น่าเสียดายที่หลายปีที่ผ่านมา การสร้างแบรนด์ไม่ดีเท่าที่ควร คุณจะเป็นกัญชาโมเดิร์นเทรด เป็นกัญชาแปรรูปสินค้าเพื่อสุขภาพ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้มันเละตุ้มเป๊ะ ผมว่านี่เป็นจุดอ่อนและภัยคุกคามกับพรรคเอง” บัณฑิตสรุป
เขากล่าวต่อว่าจุดแข็งของภูมิใจไทยอีกประการคือ พนักงานทุกคนของซุ้มเป็นตัวจริงในพื้นที่ของตัวเอง แถมยังมีทรัพยากรจำนวนมากเพื่อใช้ในการสนับสนุน นอกจากนี้ ยังสามารถดึงให้พนักงานของตัวเองสังกัดพรรคเดิมได้ ขณะที่สามารถดูดพนักงานเก่งๆ จากพรรคอื่นได้
“ผมเคยพูดว่าการเลือกตั้งรอบนี้ปัจจัยชี้ขาดคือพรรคขนาดกลาง ต้องไม่ลืมว่า ส.ส.เขตในรอบนี้มันมากขึ้น ฉะนั้น พอบัญชีรายชื่อน้อย ก็ต้องไปดู ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคมีในมือ” บัณฑิตวิเคราะห์ “และในพรรคภูมิใจไทย ส.ส.ย้ายออกน้อย แต่ย้ายเข้าเยอะ ดังนั้น ในรอบนี้เขาอาจได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในระดับที่มีอำนาจต่อรองเลย”
อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักการตลาดการเมือง จุดอ่อนอีกประการของภูมิใจไทยอยู่ที่ ‘ภาวะความเป็นผู้นำ’ ของอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่นอกจากจะปัดป่ายไม่รับตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งปี 2562 ตามกระแสข่าวลือแล้ว ยังสำแดงความเป็นผู้นำน้อยจนถูกผู้มีบารมีบางคนล้อเล่นด้วยการเตะตูด
“ปัญหาของอนุทินคือ เขาสำแดงความเป็นผู้นำน้อยไปนิด จนทำให้มีคนไปล้อเล่นกับคุณอนุทิน เช่น เนวิน (ชิดชอบ) ซึ่งมันไม่ใช่ภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศที่ดี” บัณฑิตกล่าวต่อว่า “คุณอนุทินอาจไม่หวังเป็นนายกฯ ซึ่งผมว่าน่าเสียดาย เพราะความสามารถก็ดี ความรู้ก็ดี ทรัพยากรก็ล้นเหลือ”
เฟรนไชส์วัยรุ่นสร้างตัว – พรรคก้าวไกล
“พรรคก้าวไกลคือวัยรุ่นสร้างตัว” บัณฑิตพูดถึงพรรคก้าวไกล เขามองว่าพรรคนี้เต็มไปด้วยพนักงานที่มีความชำนาญหลากหลายด้าน มีลักษณะนิสัยกล้าได้ กล้าเสีย ทำงานหนัก ที่สำคัญเมื่อลูกค้ามาซื้อแล้วมักติดใจไม่เปลี่ยนไปไหน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น Gen Z และกลุ่มผู้สูงอายุที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง
“เฟรนไชส์วัยรุ่นสร้างตัวกระจายตัวอยู่ทุกจุด ต้องไม่ลืมว่าแบรนด์ใหญ่ที่คิดว่าตัวเองเป็นของตาย มันจะมีร้านไปแทรก เช่น ร้าน delivery ที่พร้อมขี่มอไซค์ฝ่าดงกระสุนไปส่งของ ซึ่งผมคิดว่าวัยรุ่นสร้างตัวไม่แคร์ด้วยซ้ำว่าคุณมาขวางซอย ถ้าขวางก็พร้อมกระโดด ถ้าไม่ได้ก็อ้อมกำแพงไปโยนของส่งนอกกำแพง” บัณฑิตกล่าวเชิงชื่นชมใน DNA ของแฟรนไชส์พรรคก้าวไกล
ในมุมของบัณฑิต เฟรนไชส์วัยรุ่นสร้างตัวของพรรคก้าวไกลกำลังยื้อแย่งกลุ่มลูกค้ากับห้างโมเดิร์นเทรดของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าในประเด็นสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือการสู้กับกลุ่มผู้สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร
“ลักษณะของวัยรุ่นสร้างตัว มันปรับเปลี่ยนตัวเองเร็ว มีลูกค้าและแฟรนไชส์ที่เหนียวแน่น แต่ละคนเอาจริงเอาจัง และความที่ถูกดูถูกว่าต้นทุนต่ำ เขาจึงทุ่มสุดตัว ดังนั้น เดิมพันรอบนี้ไม่ใช่แค่วัยรุ่นสร้างตัว แต่มันรวมถึงพรรคการเมืองขนาดใหญ่บางพรรคที่คิดว่าประชาชนคือของตาย” บัณฑิตกล่าว
เขาเสริมว่าเจ้าของแฟรนไชส์คนปัจจุบันอย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีคาแรคเตอร์น่าสนใจ ที่สำคัญมีการพัฒนาตัวเองอย่างเห็นได้ชัด จาก ส.ส.ที่พูดไทยด้วยสำเนียงแปร่งๆ กลายเป็นมือฉมังของทุกเวทีดีเบต และเป็นของสแลงของฝ่ายตรงข้าม
“เราเชื่อว่าพิธาพัฒนาตัวเองขึ้นมาก จากคนที่พูดไทยแปล่งๆ กลายเป็นคนพูดลื่นไหล ปราศรัยเป็นมากขึ้น” บัณฑิตกล่าวต่อว่า เขาชื่นชมพิธาในอีกประการว่าได้สลัดภาพของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอนาคตใหม่ ออกมาได้ และได้แสดงจุดยืนความเป็นตัวเองในการเลือกตั้งครั้งนี้
“เราเห็นภาพความเป็นคนติดดินของพิธา คนที่พาบริษัทครอบครัวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ คนที่รู้จักวิกฤต คนที่รู้ว่าต้องเดินอย่างไรในช่วงเวลานั้น นี่คือคุณสมบัติแบบที่พิธามี และถ้าประเทศไทยเป็นบริษัทหนึ่ง เขาจะเป็นคนที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับวัยรุ่นสร้างตัวคนอื่นๆ ได้” บัณฑิตกล่าวปิดท้าย
สังคมไทยซื้อสินค้าชื่อ ‘ประชาธิปไตย’ หรือยัง
คำถามสำคัญอีกข้อที่เราถามผู้เชี่ยวชาญวิชาการตลาดการเมืองผู้นี้คือ การเลือกตั้งรอบนี้เป็นสัญญาณว่าสังคมไทยมีประชาธิปไตยหรือยัง?
บัณฑิตอธิบายผ่านหนังสือ “How Democracy Die” ว่า ในปัจจุบัน ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตประชาธิปไตย ผู้นำอำนาจนิยมหรือเผด็จการเริ่มมีที่ทางยืนในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในอเมริกา ประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ที่เริ่มมีคำถามถึงการแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งและการสร้างระบบเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม
ในมุมของบัณฑิต ถึงแม้กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.จะเคยล้มระบบเลือกตั้งจนทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ และนำไปสู่การยึดอำนาจของ คสช.ในเวลาต่อมา แต่ความตื่นตัวในการเลือกตั้งรอบนี้ และการออกไปใช้สิทธิเมื่อปี 2562 เป็นสัญญาณว่าสังคมไทยซื้อสินค้าที่ชื่อ ‘ประชาธิปไตย’ เรียบร้อยแล้ว
“ทั้งที่เรารู้ว่าสนามมันเอียง ประชาชนก็ยังไปใช้สิทธิ แสดงว่าประชาชนไทยจำนวนมากรู้ว่านี่คือวิธีออกจากความขัดแย้ง เราเลี่ยงที่จะไม่ฆ่ากันหรือพาตัวเองไปโดนฆ่าตั้งหลายครั้งเพราะการเลือกตั้ง ดังนั้น ผมเชื่อว่าประชาชนไทยยังศรัทธาในกระบวนการประชาธิปไตย” บัณฑิตกล่าว
“และการเลือกตั้งคราวนี้ เป็นครั้งนึงที่เรารู้ว่าสนามมันเอียง กรรมการเอียง แต่เราก็ยังอยากไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หมายความว่าคุณรู้ว่าประชาธิปไตยมันตอบโจทย์ มันเป็นวิธีเดียวที่จะเอาชนะเผด็จการได้ มันไม่มีทางลัด” นักรัฐศาสตร์จากรั้วจุฬาฯ ทิ้งท้าย