ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นคอนเทนต์หรือโพสต์ทำนองว่า ‘อายุ xx ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่?’ หรือ ‘ตอนนี้อายุเท่าไหร่? มีอะไรเป็นของตัวเองกันแล้วบ้าง?’ ซึ่งพอเลื่อนดูคอมเมนต์ ก็มีหลากหลายความคิดเห็นปนกันไป บางคนมีมาก บางคนมีน้อย จนไปสู่ข้อถกเถียงว่า สรุปแล้วเราควรจะมีเท่าไหร่กันแน่ ถึงจะเรียกว่าโอเค?
จริงๆ คำถามพวกนี้มักจะโผล่เข้ามาในความคิดของคนช่วงวัยกลางคนมากกว่า หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า ‘วิกฤตวัยกลางคน’ (midlife crisis) เพราะผู้คนในช่วงอายุ 35-50 ปี มักจะหมกมุ่นกับชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง ด้วยความที่พวกเขาต้องแบบรับภาระหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หน้าที่การงาน เงิน หรือสุขภาพ จึงได้นำไปสู่การตั้งคำถามใน ‘คุณค่าที่แท้จริง’ ของชีวิต ที่บางครั้งก็ถูกทำให้บิดเบี้ยวผ่านการกฎเกณฑ์ของผู้อื่น
เมื่อคนทุกวัยหมกมุ่นกับความมั่นคง
ทุกวันนี้ความกดดันไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในวัยกลางคน แต่เกิดขึ้นกับคนทุกๆ วัย ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ เราจะเห็นว่าเด็กสมัยนี้เรียนพิเศษกันจนหน้าดำคร่ำเครียด เพื่อดันตัวเองให้ไปสู่ความเป็น gifted หรือ ‘เด็กอัจฉริยะ’ ที่ทำเอาผู้ใหญ่ทึ่งว่า ‘เก่งเกินอายุจังเลยนะเนี่ย’ แต่ถ้าถามถึงช่วงเวลาว่างหรือกิจกรรมนันทนาการ แทบจะสวนทางกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนั้น ผู้ใหญ่เองก็อาจไม่รู้ว่าคำชมที่พูดออกไป กำลังกดดันให้เด็กคนอื่นๆ ต้องดันตัวเองให้เก่งเกินอายุแบบไม่รู้ตัว ซ้ำยังทำให้พวกเขาต้องมานั่งคิดว่า การเป็นเด็กที่ค่อยๆ เติบโตไปแบบคนธรรมดา คือเด็กที่ไม่มีมีคุณค่าในสังคมหรือเปล่า
เช่นเดียวกันกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ LinkedIn แพล็ตฟอร์มจัดหางานชื่อดังเผยแพร่ผลการวิจัยหนึ่ง ที่บ่งชี้ว่า 75% ของผู้คนวัย 25-33 ปี กำลังเผชิญหน้ากับ quarter-life crisis หรือ ‘วิกฤตวัยรุ่นตอนปลาย-ผู้ใหญ่ตอนต้น’ โดยนิยามวิกฤตนี้ว่าเป็น ‘ช่วงที่คนวัย 20 ปีตอนกลางไปถึง 30 ปีตอนปลาย ได้ก้าวผ่านความไม่ปลอดภัยและสงสัยในหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ และการเงินของตัวเอง’
รายละเอียดสำคัญของผลการวิจัยก็ได้เผยอีกว่า กว่า 80% ของคนเหล่านี้ รู้สึก ‘กดดัน’ เพราะกลัวตัวเองจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตก่อนเข้าอายุ 30 ปี โดยความกลัวที่จะหางานที่ตัวเองชอบไม่ได้ คือเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขากระวนกระวาย รองลงมาคือการหาคู่ชีวิต และการจัดการกับค่าเล่าเรียนของตัวเอง
เด็กจบใหม่หลายคนเห็นผลการวิจัยนี้แล้วน่าจะพยักหน้าหงึกๆ เชิงเห็นด้วย เพราะความกดดันหลังเรียนจบนั้นเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่โลกหมุนไปเรื่อยๆ บัณฑิตหลายคนต้องหางานทำทั้งๆ ที่ยังไม่ประกาศเรียนจบอย่างเป็นทางการ มิหนำซ้ำ งานนั้นจะต้องเป็นงานที่ชอบ เงินเดือนที่ใช่ ถึงจะพ้นจากการโดนดูถูกในสังคม เพราะค่านิยมสมัยนี้ คนที่ประสบความสำเร็จจะต้องได้ทำงานที่ตัวเองรักเท่านั้น แล้วถ้าเธอทำงานไปวันๆ โดยไร้ความสุขละก็―shame on you จนลืมไปว่าบางคนต้องดิ้นรนแค่ไหน เพื่อขอให้ได้มีงานมีเงินก็พอ และถ้าถามถึงการมี gap year ช่วงเวลาว่างหลังเรียนจบที่ควรจะเอาไปค้นพบความชอบของตัวเอง ก็ยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยล่ะ
เห็นได้ว่าทุกวัยมีช่วงเวลาที่ต้องหมกหมุ่นกับคุณค่าในชีวิตของตัวเองทั้งนั้น แต่การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น อาจไม่ได้ผลักดันให้ใครเติบโตหรือมีมากขึ้นกว่าเดิม ในทางกลับกัน มันได้นำเอาความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวลมาสู่ชีวิตแทน เพราะวิกฤตการถามหาความมั่นคง เดิมทีก็ทำให้รู้สึกหนักหน่วงมากพออยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้กลับถูกบิดเบือนให้วิกฤตมากขึ้นให้ ด้วยการที่เราต้องมีความมั่นคงให้เท่ากับคนอื่น และเมื่อการหาคุณค่าในตัวเองเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ ท้ายที่สุด ก็อาจนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการมีชีวิตอยู่ (existential crisis) เลยก็ได้
หลุดพ้นวิกฤต ให้ชีวิตได้เดินต่อ
เมื่อนึกดีๆ แล้ว ที่ผ่านมาเราดำเนินชีวิตไปตามปกติ ด้วยงานที่พอทำได้ และเงินเดือนที่ไม่น่าเกลียดอะไรนัก พอจ่ายค่าที่พักไหว สามารถกินใช้แบบไม่อัตคัด หากต้องนำไปใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล ก็ไม่รู้สึกว่ามันจะลำบากอะไร มีความสัมพันธ์ที่เรียบง่าย ราวกับชีวิตนี้ไม่ต้องการอะไรอีก
จนกระทั่งกดเข้าเฟซบุ๊ก แล้วพบว่าเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยได้เข้าทำงานที่บริษัทใหญ่โต มีเงินเดือนเลขหลายหลัก และกำลังจะแต่งงานเร็วๆ นี้ จู่ๆ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองมีนั้น ‘ยังไม่เพียงพอ’
แสดงว่าปัญหาสำคัญที่สุดของเรื่องนี้
อาจอยู่ที่ ‘การเปรียบเทียบ’ ตัวเองกับผู้อื่น
โดยเฉพาะการเปรียบเทียบที่ลืมดู ‘บริบท’ อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
คนเรามักไม่รู้ตัวว่า การทำร้ายตัวเองง่ายๆ ก็คือการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะการเปรียบเทียบเป็นกระบวนการลดทอนคุณค่า หรือลดความซาบซึ้งใจในข้อดีทั้งหมดที่ตัวเองมีลง แทนที่เราจะมองเห็นในสิ่งที่มี เรากลับไปโฟกัสในสิ่งที่ขาด ซึ่งถ้าถามว่าสิ่งที่ขาดนั้นสำคัญมากน้อยแค่ไหนกับชีวิต เราก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ รู้แค่ว่าคนอื่นมี เราไม่มี แปลว่าเราด้อยค่า
และเรียกได้ว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ คือชนวนที่ทำให้คนทุกรุ่นติดกับดักนี้ เพราะในยุคที่ความสำเร็จวัดกันที่ยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดติดตาม ก็ไม่แปลกใจเลยที่ทุกคนจะถูกกระตุ้นให้นำเสนอแต่ด้านที่สวยงามของชีวิต แน่นอน เราทุกคนอยากลงรูปสวยๆ เรื่องราวชีวิตดีๆ ให้คนอื่นชื่นชม น้อยคนที่จะลงรูปในช่วงน้ำหนักขึ้น น้อยคนที่จะโพสต์ประกาศให้โลกรู้ว่ากำลังตกงาน เลิกกับแฟน หรือบ้านโดนยึด ทุกคนมีด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบ เพียงแต่พวกเขาเลือกที่จะไม่นำเสนอ เราเองก็เช่นกัน
เพราะฉะนั้น ก่อนคิดจะเปรียบเทียบกับใคร อย่าลืมว่าบริบทของเราและเขาไม่มีทางเหมือนกัน 100% และด้วยต้นทุนและเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถทำให้ใครประสบความสำเร็จ หรือสมบูรณ์แบบได้ในเวลาพร้อมๆ กัน
กลับมาโฟกัสที่ตัวเองให้ได้ ลองถามว่านิยามความสำเร็จที่แท้จริงสำหรับเรานั้นคืออะไร ซึ่งเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับเป้าหมายของคนอื่นก็ได้ สำหรับบางคน เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือประสบความสำเร็จในธุรกิจ บางคนทำงานหนักเพื่อให้มีบ้านสวยๆ อยู่ มีรถหรูๆ ขับ แต่สำหรับบางคน การได้มีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เรื่องงานหรือเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญนะ แต่อาจจะอยู่รองลงมาอีกที
ซึ่งการนิยามความสำเร็จของตัวเอง จะช่วยทำให้เรามองเห็นชัดขึ้นว่า เราควรจะมุ่งเป้าไปที่การกระทำแบบใด ควรแคร์สิ่งไหนมากที่สุด และสิ่งนั้นนำเราไปสู่ความสุขได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าหากเราเอาความสำเร็จเราไปผูกติดกับความสำเร็จของคนอื่น แน่นอนว่าเราไม่มีทางค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของตัวเอง จะมีก็เพียงแต่การเปรียบเทียบที่ไร้ประโยชน์และไม่มีที่สิ้นสุด
สมมติว่าความสุขของเราคือการมีเวลาว่างหลังเลิกงาน เพื่อที่จะได้นั่งชิล จิบเบียร์เย็นๆ กับเพื่อนฝูง แต่เรามัวแข่งปั่นโปรเจ็กต์กับเพื่อนร่วมงานจนดึกดื่น เพราะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาเขาคนนั้นโบนัสขึ้นรัวๆ หากเป็นเช่นนั้น แปลว่าเราได้เผลอทำความสุขที่แท้จริง ซึ่งควรจะเกิดขึ้นที่ร้านเบียร์ หล่นหายไปท่ามกลางกองงานที่ออฟฟิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นึกให้ออกว่าเป้าหมายไหนในชีวิตที่ ‘สำคัญ’ ที่สุด เรียงลำดับออกมาให้ได้ และทำตามเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ อาจเปรียบเทียบกับคนอื่นบ้างให้พอมีแรงขับเคลื่อน ไม่ใช่เพื่อกดตัวเองให้ต่ำลง เพราะขึ้นชื่อว่าวิกฤต ถ้าไม่สามารถหลุดพ้นได้ ก็พลิกให้เป็นโอกาสเสีย หากเราใช้มันให้เป็นประโยชน์มากพอ สิ่งที่ได้กลับมาก็คือเราในเวอร์ชั่นที่ดีมากกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก