เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โพสต์หนึ่งได้กลายเป็นไวรัล อันเนื่องมาจากเด็กนักเรียนถูกสั่งให้แก้อาชีพในฝันของตัวเองจาก ‘ทหารอเมริกา’ เป็นอย่างอื่น โดยครูของเขาได้ให้เหตุผลว่า “ขอเป็นอาชีพในอนาคตที่มีโอกาสเป็นได้”
แล้วอะไรบ้างที่เรียกว่าเป็นไปได้? จากการประเมินต้นทุน โอกาส และศักยภาพของบุคคล ทำให้บางครั้งเราเผลอเย้ยหยันหรือตัดสินใครบางคนว่าเขามีความฝันที่เพ้อเจ้อ ไม่น่าจะเป็นจริง หรือเป็นไปได้ยาก แต่การทำตัวเป็น Dream Police หรือตำรวจตรวจเช็คความฝันของคนอื่นก็เป็นเรื่องที่ไร้สาระเช่นเดียวกัน ในเมื่อทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฝันถึงอะไรก็ได้ อยากเป็นอะไรก็ได้ อยากทำอะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ
ซึ่งถ้าตามสถานการณ์ข้างบนที่กล่าวไป การถามอาชีพในฝันของเด็กนักเรียนก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียมารยาทอะไร ในฐานะครูแนะแนวที่ต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แนวทางการเรียนต่อ แต่การไปบอกว่าทหารอเมริกาเป็นอาชีพที่เป็นไปได้ยากอาจจะไม่ถูกไปซะทั้งเดียว เพราะจากโพสต์นั้นกลายเป็นไวรัล ก็ได้มีคนมาแชร์ประสบการณ์สมัครโปรแกรมฝึกทหารบกในอเมริกา ชื่อ MAVNI ที่เปิดรับสมัครคนที่ไม่ได้เป็น American Citizen หรือ Green Card Holder นั่นก็แสดงว่าโอกาสในการเป็นทหารอเมริกาของเด็กคนนั้น ก็พอจะเป็นไปได้บ้าง หากเขามีเงื่อนไขตามที่กำหนด
นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าครูคนนั้นไม่ทราบถึงโอกาสดังกล่าวแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าบางครั้งเราก็เผลอทำให้ใครสูญเสียความฝันและความมั่นใจไปโดยไม่รู้ตัว เพียงแค่เราไม่ได้ทำความเข้าใจกับความฝันนั้นให้ดีพอ
หรืออีกสถานการณ์หนึ่งที่เรามักจะถูกถามความฝัน อาชีพ หรือเป้าหมายในอนาคตอยู่บ่อยๆ นั่นก็คือ ‘วันรวมญาติ’ ที่พอลูกหลานเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำหรืออยากจะเป็น ญาติโกโหติกาก็มักจะตั้งคำถามมากมาย เช่น ทำอะไร? ได้เงินเท่าไหร่? จะมั่นคงหรอ? ทำอันนี้ไม่ดีกว่าหรือไง? พร้อมแนะนำเส้นทางชีวิตที่พวกเขาคิดว่าเพอร์เฟ็กต์ในยุคของเขา
ขอเน้นย้ำอีกทีว่า ‘ในยุคของเขา’
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความฝันที่ยิ่งใหญ่จึงไม่เหมือนกัน
การมองความฝันที่ยิ่งใหญ่แตกต่างกัน จริงๆ แล้วไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก เพียงแค่เรามองมาจากคนละมุมเท่านั้นเอง โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนั่นก็คือ ‘ช่วงวัย’ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อาชีพที่มีคุณค่าหรือชีวิตในอุดมคติ ก็ย่อมถูกปรับเปลี่ยนความหมายไปด้วยเช่นกัน และวันรวมญาติซึ่งเป็นวันที่คนหลายช่วงวัยมารวมตัวกัน ก็ยิ่งทำให้ความต่างนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
คนรุ่น Baby Boomer อาจถูกปลูกฝังมาว่างานข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจนั้นมั่นคง มีบำเหน็จบำนาญ มีกินมีใช้อยู่เรื่อยๆ แต่พอเป็นเป็น Gen X ก็เริ่มฝันถึงบริษัทขนาดใหญ่ อย่างบริษัทน้ำมัน งานธนาคาร หรือบริษัทสื่อสาร ที่มี Career Path ก้าวไกล พออยู่ไปนานๆ ก็ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง พอเป็น Gen Y และ Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ซึ่งเอื้อให้เกิดอาชีพแปลกๆ มากมาย อะไรที่ไม่คิดว่าจะสร้างงาน สร้างรายได้ ก็เป็นไปได้หมด เช่น นักแคสต์เกม นักกีฬา E-sport หรือเกิดเป็น Gig Economy ระบบเศรษฐกิจที่เน้นรับงานเป็นจ๊อบๆ ไป ได้ใช้ชีวิตได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น หรือที่เราเรียกติดปากว่า ‘ฟรีแลนซ์’ ต้องการเป็นเจ้านายตัวเอง มีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงทำให้เห็นว่ามี ‘สตาร์ทอัพ’ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าอาชีพยอดฮิตในสมัยก่อน อาจไม่ใช่คำตอบของคนยุคใหม่อีกต่อไปแล้ว
อย่างปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา บริษัทอเด็กโกเผยผลสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทย จำนวน 4,050 คน จากทั่วภูมิภาค ในอายุราวๆ 7-14 ปี ซึ่งก็พบว่าอาชีพที่ติดอันดับต้นๆ ยังคงเป็นหมอและครูอยู่ แต่มีอาชีพที่น่าสนใจที่นำมาติดๆ เป็นอันดับ 3 นั่นก็คือ ‘ยูทูบเบอร์’ เพราะพวกเขามองว่าเป็นอาชีพที่มีอิสระและสามารถสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง จึงสะท้อนให้เห็นว่าเด็ก Gen Z และเด็กในยุคต่อๆ ไปอย่าง Alpha จะมีการมองโลกและอนาคตที่แตกต่างจากยุคก่อนๆ เพราะเกิดจากการรับรู้และพฤติกรรมการเสพสื่อของพวกเขานั่นเอง และจากผลสำรวจในปีเดียวกันของฝั่งอเมริกา ก็พบว่า คน Gen Z ประมาณ 1 ใน 3 จาก 1,002 คน มองว่างานในฝันเติมเต็มความสุขในชีวิตของเขาได้มากกว่า และ 29% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ก็กำลังทำตามความฝันนั้นอยู่
คงไม่แปลกใจหากในยุคนี้ เราจะเห็นวัยรุ่นหลายคนทุกข์ระทมจากการถูกบังคับให้สมัครงานที่มีความมั่นคง แต่พวกเขากลับมองว่าน่าเบื่อ ซึ่งในมุมของผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่ที่แนะนำ ก็คงมีแต่ความห่วงใย อยากให้ลูกหลานได้ดิบได้ดี แต่อาจจะลืมไปว่าบางครั้งการล้มเหลวก็เป็นการเรียนรู้เช่นกัน ให้ลูกหลานได้ลองลงมือทำดูสักครั้ง อย่างน้อยๆ พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกเสียดายว่าเกิดมาทั้งที แต่ไม่ได้ทำในสิ่งที่รัก และถ้าหากพวกเขาทำสำเร็จ ก็ร่วมแสดงความยินดีไปกับเขา แต่ถ้าหากผิดพลาด ก็ช่วยพยุงและพากันทบทวนบทเรียนที่ได้มาไปด้วยกัน
ผิดมั้ย? หากยังไม่เจอทางที่ใช่สำหรับตัวเอง
ศัพท์คำว่า Dream Police ที่พูดถึงไปเมื่อตอนต้น มาจากชื่อตอนของรายการเรียลลิตี้ของญี่ปุ่นใน Netflix ที่ชื่อ Terrace House โดยในตอนที่ว่านี้ สมาชิกในบ้านได้มานั่งล้อมวงพูดคุยกันถึงเรื่องความฝันและเส้นทางชีวิตในอนาคตของตัวเอง บางคนอยากเป็นนักออกแบบทรงผม เพื่อจะได้ท่องไปในหลายประเทศ บางคนอยากเป็นแพทย์ เพราะได้แรงบันดาลใจจากพ่อที่เป็นแพทย์ฝีมือดี แต่บางคนกลับคิดไม่ออกจริงๆ ว่าอยากจะทำอะไร แม้จะพูดความชอบของตัวเองออกมามากมายแค่ไหนก็ตาม และเมื่อเค้นคำตอบหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดเป็นระเบิดน้ำตาท่ามกลางบทสนทนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้
“ถ้ากำลังตามหาอยู่ก็พอแล้วไม่ใช่หรอ?” สมาชิกคนหนึ่งถามขึ้นในช่วงสุดท้าย ซึ่งนั่นอาจจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น และทำให้เราในฐานะคนดูฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ก็ไม่เป็นไรนี่ ถ้าหากเรายังหาคำตอบไม่ได้ ขอแค่เราเดินหน้าหามันไปเรื่อยๆ ก็พอ เพราะสุดท้ายทุกวินาทีที่เรากำลังใช้ชีวิต ก็แปลว่าเราอยู่ในกระบวนการหาคำตอบบางอย่างให้กับตัวเองนั่นแหละ
ในช่วงก่อนจะเกิดโรคระบาด COVID-19 มีผู้คนมากมายที่เป็น Job Hopper หรือคนที่เปลี่ยนงานอยู่บ่อยๆ จนประวัติการย้ายงานยาวเป็นหางว่าว (ขอพูดถึงเฉพาะกรณีคนที่ย้ายเพราะค้นหางานที่ใช่นะ) แม้หลายคนจะมองว่าพวกเขาหลงทาง หาสิ่งยึดเหนี่ยวให้กับตัวเองไม่เจอสักที แต่ในการย้ายงานแต่ละครั้ง พวกเขามีการปรับตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้บางคนกลายเป็นคนที่มีทักษะการเรียนรู้เร็ว มีความสามารถที่หลากหลาย มีมุมมองใหม่ๆ มานำเสนอจากประสบการณ์ที่ได้อยู่ในหลายพื้นที่ และมีคอนเน็คชันที่กว้างขวาง
ฉะนั้น Job Hopping หรือการย้ายงานบ่อยๆ เพื่อค้นหาตัวเอง จึงไม่ใช่เครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวในตัวบุคคลเสมอไป หากทุกการกระโดดไปยังที่อื่นๆ เราได้เรียนรู้อะไรกลับมาบ้าง และการยึดติดกับแพชชันเสมอไปก็อาจไม่ใช่เรื่องดี อย่างทีมสำรวจของ Standford University ก็พบว่า การไล่ตามแพชชันอย่างเดียวอาจทำให้เราประสบความสำเร็จได้น้อย แต่ถ้าเราเปิดกว้างต่อด้านอื่นๆ ด้วย มันจะช่วยฝึกฝนจุดแข็งของเรา และทำให้เราประสบความสำเร็จมากขึ้น
แต่พอเป็นปัจจุบัน ที่สถานการณ์โรคระบาดก็กระทบการหางานของผู้คนทั่วโลก ทำให้ทุกคนต้องรีบมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความมั่นคงเร็วๆ ทำให้การจะย้ายงานไปเรื่อยๆ เพื่อตามหางานที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเองอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะเราไม่สามารถมี Gap Year ก่อนสมัครงาน ไม่สามารถค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในต่างประเทศ ไม่สามารถลองทำอะไรแปลกๆ ที่ไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา เหมือนอย่างที่หลายคนเคยทำก่อนจะเกิดโรคระบาดได้
ในช่วงนี้บางคนจึงประสบกับวิกฤติการหาตัวตน อย่าง Midlife Crisis หรือ Quarter Life Crisis ไปพร้อมๆ กับวิกฤติเศรษฐกิจ และโรคระบาดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พูดยากที่สุด เพราะถ้าบอกให้ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป ก็ดูจะเป็นคำพูดที่เพิกเฉยต่อเงื่อนไขชีวิตของคนอื่นมากเกินไป เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะใจเย็นได้สถานการณ์แบบนี้ ดังนั้น อาจจะต้องเปลี่ยนมาบอกให้ ‘ใจดี’ กับตัวเองแทน หากทางที่เราเลือกเดินในตอนนี้ ไม่ใช่ทางที่เราถวิลหามาโดยตลอด ก็อย่าเพิ่งไปคิดโทษโกรธตัวเองนักท่ามกลางสถานการณ์ที่ควบคุมอะไรไม่ได้ มีความเมตตาต่อตัวเองหรือ Self-compassion ให้มากๆ และควรระวังให้ดีก่อนจะไปตีตราว่าใครล้มเหลว หากเขาทำความฝันของตัวเองไม่สำเร็จ
แพทริเซีย เฉิน (Patricia Chen) นักจิตวิทยาสังคมกล่าวว่า การสะกิดจิตตัวเองให้ไล่ตามความฝันหรือความหลงใหล เป็นสิ่งที่กำลังแพร่หลายในสื่อสมัยใหม่ ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีต้นทุนหรือความกล้ามากพอที่จะทำตามความสนใจของตัวเอง เราจึงไม่ควรไปตัดสินใคร หากในที่สุดเขาไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้
นอกจากนี้แพทริเซียก็ได้เสนอแนวคิดที่ว่า การที่เราเลือกทำงานที่รัก หรือมีชีวิตแบบ Perfect Fit นั่นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากเราได้ทำงานที่ไม่ตรงตามที่ฝัน เราอาจจะไม่ต้องบังคับตัวเองให้รักงานนั้นภายในทันทีก็ได้ เพราะนอกจากทฤษฎีความเหมาะสมพอดี (Fit Theory) เธอยังเชื่อในทฤษฎีการพัฒนา (Develop Theory) ด้วย โดยเธอมองว่าความหลงใหล ความพึงพอใจในงาน สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ดี และมีการศึกษาพบว่า สุดท้ายคนที่ใช้ทฤษฎีนี้ก็ลงเอยด้วยการมีความสุขในงานที่ทำ เช่นเดียวกับคนที่มองหางานที่พอดีกับตัวเองตั้งแต่แรกเช่นเดียวกัน มิหนำซ้ำ คนที่ใช้ทฤษฎีการพัฒนาอาจมีความสุขในระยะยาวมากกว่า เพราะพวกเขามักจะเลือกรับงานจากรายได้ก่อน แล้วค่อยพัฒนาความพอใจที่มีต่องานในภายหลัง ในขณะที่คนเลือกใช้ทฤษฎีความเหมาะสมพอดีจะเสียสละเงินเดือนเพื่องานที่ตัวเองรัก
และถ้าหากใครกำลังอายที่จะบอกความฝันในชีวิตของตัวเองให้คนอื่นรู้ โปรดจำไว้ว่าโลกนี้ไม่มีการบัญญัติ ‘ความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด’ เอาไว้ เพราะตราบใดที่ความฝันนั้นตอบโจทย์หรือเติมเต็มชีวิตได้ มันก็คือความฝันที่มีความหมายที่สุดสำหรับคนหนึ่งคนแล้ว ซึ่งความคิดเห็นของคนอื่นก็คงไม่สำคัญอะไรอีกต่อไป
ทุกความฝันสำคัญเท่ากันหมดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพราะถึงแม้จะไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ค้นพบว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร ถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แต่ถ้าหากเรายังไม่หยุดเปรียบเทียบความฝันของตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา เราก็จะพบว่ามีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นให้ตามล่าอยู่เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น และมีคนที่ทำได้ดีกว่าเราอยู่เสมอ แต่เราจะแข่งขันกันไปทำไมนี่สิ? ก็ตอบตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้น ไล่ตามความฝันที่ทำให้ตัวเองสบายใจที่สุดเถอะนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก