ถ้าสิ่งที่ทำให้เราหวนรำลึกนึกถึงอดีต กลับเป็นสิ่งเดียวกันกับชิ้นส่วนที่เข้ามาบิดพริ้วภาพทรงจำปัจจุบันและอนาคตของเราไปได้โดยสิ้นเชิง?
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ไว้ว่า “ในการเขียนพล็อตของอดีตด้วยวิธีการต่างๆ นั้น การเขียนด้วยอนุสาวรีย์มีประสิทธิภาพสูงที่สุด” จากบางช่วงบางตอนในบทวิเคราะห์ของอาจารย์ เมื่อนำมาใช้เป็นแว่นขยายมองผ่านความพยายามในการรื้อสร้างประวัติศาสตร์ ณ ตอนนี้แล้วก็คงจะไม่เป็นประโยคที่เกินจริงไปนัก
ไอเดียการเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ (monument) เป็นไปเพื่อการระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เคยเกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยเรารับแนวคิดการสร้างอนุสาวรีย์เข้ามาช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และจัดสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยของรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญก็ถูกบันทึกในรูปแบบของอนุสาวรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ
ทว่า เมื่อเวลาผ่านไปฟังก์ชั่นของอนุสาวรีย์ที่ช่วยเก็บบันทึกความทรงจำเก่าๆ กลับทยอยหายไปทีละเล็กทีละน้อย เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่การหายไปของอนุสาวรีย์ที่มีนัยทางการเมืองยังเกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกด้วย
พลานุภาพในการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ทรงพลังขนาดไหน การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และหายไปมีส่วนช่วยพร่าเลือนเหตุการณ์สำคัญได้ยังไง และท้ายที่สุด อนุสาวรีย์เป็นเพียงโครงเหล็กหล่อปูนที่เปลือยเปล่า หรือถูกบรรจุไว้ด้วยความศรัทธาและความทรงจำของคนในชาติ
‘อนุสาวรีย์’ ในฐานะตัวแทนความรักและความชิงชัง
อนุสาวรีย์ทำหน้าที่เสมือนเครื่องเตือนความทรงจำให้ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่สำคัญยังไม่ได้จำกัดด้วยว่า การระลึกถึงในที่นี้จะต้องเต็มไปด้วยความรัก ความชอบ ความเคารพเท่านั้น ผู้พบเห็นผ่านไปมายังสามารถระลึกด้วย ‘ความชัง’ ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น อนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงการทารุณกรรม-ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพรรคนาซีต่อชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อการมีอยู่ของอนุสาวรีย์เป็นไปเพื่อการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของคนในชาติ ทำเลที่ตั้งจึงต้องอยู่ในที่สาธารณะเพื่อให้คนที่เดินผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้ตลอดเวลา
การวางที่ทางของอนุสาวรีย์ในลักษณะเช่นนี้ยังมีนัยแฝงเพื่อให้ประชาชนผู้พบเห็นรู้สึกซึมซับจดจำเหตุการณ์ ที่แม้จะผ่านมานานหลายสิบหลายร้อยปีแล้ว แต่เหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เลือนหายไปกับวันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป หมายความว่าหน้าที่และบทบาทของอนุสาวรีย์จะแข็งแรงได้ก็ด้วยการเข้าไปอยู่ในความทรงจำของคนในชาติร่วมกันนั่นเอง
งานศึกษาของ พิบูลย์ หัตถกิจโกศล พูดถึงฟังก์ชั่นอีกอย่างของอนุสาวรีย์ด้วยว่า ในระเบียบทางการทูตโดยเฉพาะการเยือนต่างประเทศของเหล่าผู้นำจะมีประเพณีการเข้าคารวะหรือวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ ณ ประเทศเจ้าบ้านเสมอ
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อนุสาวรีย์ได้กลายเป็นตัวแทนของประเทศไปแล้ว ไม่ได้เป็นเพียงการให้ความสำคัญแก่บุคคลหรือเหตุการณ์ที่ปรากฏบนแท่นอนุสาวรีย์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ และการให้คุณค่าของประชาชนในประเทศต่ออนุสาวรีย์ด้วย
อนุสาวรีย์ที่ได้กลายเป็นตัวแทนความรู้สึกนึกคิดของคนในชาติจึงเป็นส่วนหนึ่งในการ ‘socialized’ หรือตัวหล่อหลอมคุณค่าและค่านิยมของผู้คนในประเทศนั้นๆ เพราะการมีอยู่ของตัวแทนเหตุการณ์หรือบุคคลที่ได้รับเลือกให้อยู่ในอนุสาวรีย์ ซึ่งหมายความว่า ต้องมีความสำคัญกับชาติอย่างมาก ยิ่งประเทศไหนมีอนุสาวรีย์ที่มีความสอดคล้องในไปทิศทางเดียวกันมากๆ ก็จะยิ่งสะท้อนให้เห็นคุณค่าที่คนในชาติยึดถือตามไปด้วย
คำถามสำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ ใครเป็นผู้เลือกประวัติศาสตร์ให้คนในชาติยึดถือและจดจำ? ประชาชนหรือรัฐเป็นผู้กำหนดมากกว่ากัน เพราะหากมองย้อนไปในช่วงแรกๆ แล้ว อนุสาวรีย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ร่วมกันบริจาคเรี่ยไรเงินเพื่อการจัดสร้างด้วยแรงศรัทธาที่เห็นพ้องต้องกัน นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมอนุสาวรีย์ถึงกลายเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในสังคมนั้นๆ ได้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรากลับพบว่า อนุสาวรีย์อาจไม่ได้เกิดจากภาคประชาชนเหมือนในอดีต กลับเป็นการ ‘เลือก’ ประวัติศาสตร์บางชิ้นส่วนโดยรัฐมากกว่า นี่คือโจทย์สำคัญที่เราต้องมาทบทวนและตามหาร่องรอยกันต่อว่า หากการสร้างอนุสาวรีย์มีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง อนุสาวรีย์จะยังมีสถานะเสมือนตัวแทนของชุมชนอยู่ไหม
ประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้าง เขียนใหม่ และขีดทิ้ง
“เราจะเป็นใครในอนาคตขึ้นอยู่กับว่าเราเคยเป็นใครและอะไรมาในอดีต”
แม้เหตุการณ์ที่ผ่านมาอาจถูกกลบทับด้วยปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อดีตที่ถูกบันทึกและบอกเล่าผ่านตัวแสดงที่แตกต่างกันในสังคมนั้น มีส่วนทำให้ความเข้าใจต่อปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาหลายๆ มลรัฐมีความพยายามในการรื้อถอนอนุสาวรีย์บางแห่งด้วยเหตุผลหลายประการ บางแห่งต้องการทำลายเพราะอนุสาวรีย์นั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ บางแห่งต้องการรื้อออกเพราะนับเป็นความอับอายต่อตัวเองและคนในชาติ หรือบางพื้นที่ก็เกิดการปะทะเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออนุสาวรีย์นั้นเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่ผิดฝาผิดตัวไปจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิงจากผู้ชนะในสงครามนั้นๆ
‘Loyal Slave’ คืออนุสาวรีย์ที่บอกเล่าเรื่องราวระหว่างคนผิวขาว-คนผิวสีในอเมริกา ซึ่งในบทความของ The Nation ระบุว่า ภายหลังสงครามกลางเมืองในอเมริกา อนุสาวรีย์นี้ก็ถูกสร้างขึ้นและจนปัจจุบันก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่เช่นเดิม ความหมายที่ซ่อนเร้นภายใต้อนุสาวรีย์แห่งนี้คือ ทาสผิวสีในยุคนั้นสมัครใจที่จะเป็นทาสรับใช้คนผิวขาว นำไปสู่การตั้งคำถามว่า สรุปเรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่
ถ้าเราลองพิจารณาดูรายละเอียดแล้วจะเห็นว่า ลักษณะอนุสาวรีย์เป็นรูปปั้นผู้หญิงผิวสีโอบกอดเด็กทารกผิวขาว ซึ่งตัวรูปปั้นหญิงผิวสีคนนั้นมีน้ำตาไหลออกมาด้วย เมสเสจที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ต้องการจะสื่อจึงเป็นความซื่อสัตย์ภักดีของตัวทาสที่สมัครใจต้องการอยู่กับคนผิวขาวเอง ไม่ใช่การรับใช้ภายใต้การกดขี่แต่อย่างใด
หากลองย้อนดูไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามกลางเมืองจริงๆ แล้วจะพบว่า การเกิดขึ้นของเรื่องเล่าโรแมนติกแบบนี้เป็นความพยายามเพื่อฝังกลบความพ่ายแพ้ของฝ่ายใต้ที่มีระบบเศรษฐกิจพึ่งพาการใช้แรงงานทาส
เมื่ออับราฮัม ลินคอร์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นมีแนวคิดไม่ประนีประนอมกับการครอบครองทาส เหตุการณ์จึงปะทุดุเดือดกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด
‘Lost Cause’ หรืออุดมการณ์ที่หายไป คือคีย์เมสเสจของอนุสาวรีย์แห่งนี้ สิ่งที่ ‘Loyal Slave’ ต้องการเล่าผ่านอนุสาวรีย์ คือมวลความสุขระหว่างเจ้านายที่เป็นคนผิวขาว และทาสผิวสี ซึ่งเรื่องเล่าในลักษณะนี้ยังมีขึ้นหลายๆ แห่งในโซนรัฐทางใต้ของอเมริกาด้วย บทความจาก The Nations เรียกการเล่าเรื่องแบบนี้ของรัฐทางตอนใต้ว่า ‘south’s nostalgia’
ความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้เขียนพล็อต และใครจะรักษาความหมายของพล็อตนั้นไว้ได้ยาวนานที่สุด