ในเดือนไพรด์เช่นนี้ เราจะไม่พูดถึง Stonewall Riots ซึ่งเป็นหมุดหมายของขบวนการเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศสมัยใหม่ได้อย่างไร และยิ่งในปีครบรอบ 50 ปีนี้ เราอาจได้เห็นอนุสาวรีย์ของ 2 ตัวแม่ Marsha P. Johnson และ Sylvia Rivera ตั้งตระหง่านเด่นเป็นสง่าบนถนนเดียวกันกับ Stonewall Inn ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ Stonewall Riots ที่เธอทั้งสองเป็นผู้สร้างแรงปะทุของการต่อสู้ โดยอนุสาวรีย์นี้จะเป็นการเฉลิมฉลอง 50 ปีเหตุการณ์ Stonewall Riots และจะเป็นอนุสาวรีย์แรกของโลกที่อุทิศให้กับกลุ่มหญิงข้ามเพศ และจะเป็นสัญลักษณ์ว่า การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBT และ Stonewall Riots ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกย์แมนๆ ผิวขาวเท่านั้น
จอห์นสันเป็นกะเทยผิวดำและริเวราเป็นกะเทยลาตินอเมริกัน ที่ลุกขึ้นต่อต้านการกระทำที่เหยียดคนรักเพศเดียวกันของตำรวจที่เข้าถล่มบาร์สโตนวอลล์ และท้ายที่สุดนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของ LGBT เธอทั้งสองยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร STAR – Street Transvestite Action Revolutionaries กลุ่มที่ช่วยเหลือแดรกควีนและหญิงข้ามเพศผิวสีที่ไม่มีที่อยู่อาศัย[1]ซึ่งจอห์นสันนางโชว์นี่แหละ ที่บางคนก็บอกว่า ในวันที่เกิดเหตุการณ์การบุกบาร์ในวันนั้น นางเป็นผู้ที่ประเดิมขว้างอิฐก้อนแรกใส่ตำรวจ และเป็นการปูทางไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเกย์ในที่สุด
จอห์นสันตายปริศนาในปี 1992 โดยศพของเธอถูกพบอยู่ที่บริเวณท่าเรือ Christopher Street ในแม่น้ำฮัดสัน ไม่มีใครรู้สาเหตุการตายของจอห์นสัน และไม่มีใครใส่ใจพอที่จะค้นหาสาเหตุการตายของเธอด้วยซ้ำ ที่น่าสนใจก็เพราะ ถ้าหากว่าหัวหน้าของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ เกิดตายในลักษณะที่หาสาเหตุไม่ได้แบบนี้ หน่วยงานของรัฐก็คงจะต้องระดมสรรพกำลังเพื่อสืบสาวหาสาเหตุการตายไปแล้ว
ตัวตายปริศนาแต่ชื่อยังหนังเรื่อง The Death and Life of Marshe P. Johnson (2017) ของ David France ได้ช่วยให้คำตอบเกี่ยวกับการตายของผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งในปี 2017 เพียงในช่วง 4 เดือนแรกของปี มีรายงานการฆาตกรรมผู้หญิงข้ามเพศอยู่ถึง 9 รายแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตายของผู้หญิงข้ามเพศผิวสีอย่างแจ็คสัน
ในหนังสารคดีสืบสวนหาข้อเท็จจริง และพยายามหาสาเหตุการตายเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับจอห์นสัน โดยเก็บข้อมูลด้วยการโทรศัพท์ไปหาตำรวจเกษียณอายุที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี บุคคลที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับจอห์นสันไว้ รวมถึงเพื่อนและคนรอบตัวของจอห์นสันด้วย และสัมภาษณ์ Sylvia Rivera (นางตายในปี 2002) ในปี 1994 โดยเธอเป็นธุระจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับเควียร์วัยรุ่นในช่วงทศวรรษ 1970 เธอพูดถึงทรานส์เจนเดอร์ว่า ทั้งทรานส์และคนทั่วไปบนท้องถนนเป็นกองหน้าสำคัญที่สู้กับตำรวจ และก็ไม่เกรงกลัวที่จะโดนฟาดด้วยไม้ของตำรวจด้วยซ้ำ แต่ในช่วง 1973 เธอถูกผลักให้ออกไปจากการเคลื่อนไหว เพราะเกย์ที่ไม่ได้แต่งหญิงรู้สึกว่า พวกทรานส์จะสร้างภาพเหมารวมในด้านลบให้กับเกย์ ในขณะที่เลสเบี้ยนก็เห็นว่าพวกนี้ล้อเลียนอัตลักษณ์ทางเพศของผู้หญิง[2]
การมีอนุสาวรีย์ของพวกเธออาจจะทำให้เรารำลึกถึงการเคลื่อนไหวภาคประชาชนว่าด้วย LGBTQ กับการต่อต้านความรุนแรงอันเกิดจากความเกลียดชัง ไปจนถึงความขัดแย้งกันเองภายในกลุ่มนักเคลื่อนไหว ว่าต่อไปเราจะต้องเคลื่อนไหวอย่างไรและทำอย่างไรให้ขบวนการเคลื่อนไหวยังอยู่
ขณะที่เยอรมนี ในเมือง gay friendly อย่างเบอร์ลินเอง มีอนุสรณ์ Memorial to Homosexuals Persecuted Under Nazism (Denkmal für die im Nationalsozialismus verfolgten Homosexuellen) (เปิดอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 2008 หลังถูกมองข้ามในพิธีสาธารณะรำลึกการสังหารหมู่มาตลอด และเป็นประเด็นที่ถูกขับเคลื่อนมานานตั้งแต่ 1992-1993) เป็นแท่งคอนกรีตเรียบ คล้ายลูกบาศก์ขนาดใหญ่ ริมสวน Tiergarten ที่ทั้งโลเคชั่นและดีไซน์ ไม่ได้แปลกแยกโดดเดี่ยวไปจากอนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว (สร้างเสร็จ ค.ศ. 2004) ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน Ebertstraße ตามความจงใจของศิลปินคู่ผู้ออกแบบ Michael Elmgreen และ Ingar Dragset ซึ่งภายในลูกบาศก์มีช่องให้ส่องดูหนังสั้นภายใต้คอนเซปต์ “endless kiss” ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงรักเพศเดียวกัน ที่เปลี่ยนทุกๆ 2 ปี และเข้าชมได้ตลอด 24 ชม.
อนุสรณ์ที่แปลเป็นไทยว่า “อนุสรณ์รำลึกคนรักเพศเดียวกันที่ถูกลงโทษภายใต้ลัทธินาซี” เป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงเหยื่อที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน ในยุคไรซ์ที่สาม (Third Reich) ค.ศ. 1933-1945 ภายใต้รัฐเผด็จการฟาสซิสต์ของ Adolf Hitler ไม่เพียงบาร์ ร้านอาหาร และสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกสังสัยว่าเป็นมิตรกับความหลากหลายทางเพศถูกสั่งปิด ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175 ที่เขียนว่าการรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม ก็ถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายโหดที่ปราบปรามกำจัดคนรักเพศเดียวกันอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายรักเพศเดียวกันกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่พรรคนาซีสังหารหมู่ เพราะถูกมองว่าเป็นภัยสั่นคลอนอำนาจพรรคมากกว่าเลสเบี้ยน (ยกเว้น หญิงรักหญิงในออสเตรียที่แสดงท่าทีขัดแย้งกับพรรค) แม้แต่สมาชิกพรรคที่พบว่ารักเพศเดียวกันก็ถูกกำจัดทิ้ง มีผู้ถูกจับกุมในข้อหารักเพศเดียวกันประมาณ 100,000 คน และ 50,000 คนถูกพิพากษาลงโทษ ส่วนมากถูกขังคุก ประมาณ 5,000-15,000 คน ถูกส่งไปอยู่ค่ายกักกันและค่ายกำจัด คนรักเพศเดียวกันตายเป็นจำนวนมหาศาล ด้วยความทรมานจากความหิวโหย ความเจ็บป่วย หรือความรุนแรงโหดเหี้ยมของผู้คุมขัง ในยุคนาซีทั้งชายและหญิงต่างต้องอาศัยร่วมกับความหวาดกลัว หลบซ่อนเพศวิถีของตนเองภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่ แบร์ลินเป็นดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมย่อยของเพศที่หลากหลาย ซึ่งประกอบสร้างอัตลักษณ์และการเคลื่อนไหวเกย์สมัยใหม่ ผลิตงานวิชาการและนวัตกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่ 1850s ก่อนจะเกิด Stonewall riots ในนิวยอร์ก ค.ศ. 1969 ที่ได้หมุดหมายการเคลื่อนไหวและอัตลักษณ์เกย์แห่งยุคสมัยใหม่ด้วยซ้ำ
หลังนาซีล่มสลายไปพร้อมกับการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เพียงปฏิเสธการปล่อยคนรักเพศเดียวกันออกจากค่ายกักกันเหมือนเหยื่อรายอื่นๆ แต่ยังบังคับใช้มาตรา 175 เต็มอัตราโทษ และเมื่อเบอร์ลินถูกผ่าออกเป็นเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออก ใน 1949 ทั้ง 2 ฝั่งก็ยังสมาทานกฎหมายนี้ ในคราวปฏิรูปศีลธรรมของฝั่งตะวันออก ยังได้อธิบายว่าการรักเพศเดียวกันขัดต่อศีลธรรมอันดีและสุขภาพประชาชน เป็นกิจกรรมทางเพศของกากเดนเศษซากของพวกกระฎุมพี และความอ่อนแอทางศีลธรรมที่จะสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐและสังคม[3] มีคนรักเพศเดียวกันจำนวนมากถูกลงโทษ แต่บทลงโทษก็เบากว่าสมัยนาซี กฎหมายนี้ต่อมาถูกยกเลิกไปใน 1968 แต่ไม่บังคับใช้แล้วตั้งแต่ 1957 ถือว่าก้าวหน้ากว่าฝั่งตะวันตกที่มาตรายังคงบัญญัติอยู่จนถึง 1969
อนุสาวรีย์นี้จึงไม่ใช่แค่วัตถุคงที่หรือสุนทรพจน์สวยหรู แต่ยังเป็นความทรงจำที่มีชีวิตและทรงพลัง เพื่อให้เห็นว่าเกย์และเลสเบี้ยนต่างก็เป็นมนุษยชาติเช่นกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ต้องเผชิญกับความทุกข์ระทมและเจ็บปวดเช่นกัน แต่ในความเหมือนกันนั้นก็ย่อมมีความแตกต่างหลากหลาย และจะเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเกลียดชัง ไม่ยอมรับ และการกีดกัน บันทึกความทรงจำร่วมว่า ณ ดินแดน gay friendly แห่งนี้ ครั้งหนึ่งมีการฆ่าแกงราวกับผักปลา เพียงเพราะเพศวิถีเพศสภาพของพวกเขาและเธอ เพื่อคอยเตือนใจไม่ให้ยอมจำนนต่อการกดทับ กีดกัน เลือกปฏิบัติและความรุนแรงเพียงเพราะความแตกต่าง
หากชำเลืองมายังจักรวาลคู่ขนานอย่างประเทศไทย ที่ประวัติศาสตร์ความทรงจำของชาติกลับเป็นชีวประวัติหรือวีรกรรมวีรเวรของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ อนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์ ไม่เพียงบันทึกเรื่องเล่าของกลุ่มศักดินาชนชั้นนำในฐานะตัวแทนของชาติ เป็นความทรงจำเทียมให้ประชาชนเสพประวัติศาสตร์เพื่อลืมความเป็นมนุษย์ของตนเอง แล้วจินตนาการถึง good old days ของพวกเขา อนุสาวรีย์ยังเป็นตัวแทนของรัฐที่กำลังจับจ้องคุ้มครองทางจิตวิญญาณ มีไว้ให้ประชาชนกราบไหว้พึ่งพิงเสมือนศาลพระภูมิมากกว่า
สำนึกความหมายของอนุเสาวรีย์จึงไม่เชื่อมโยงกับประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศเลย
อันที่จริงขบวนการเคลื่อนไหว LGBT ไทยก็ต้องเผชิญความเกลียดชังและความขัดแย้งกันเอง เช่นเหตุการณ์การจัด gay pride ครั้งแรกในเชียงใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ที่นำไปสู่โศกนาฎกรรมแทน เมื่อม็อบผู้ต่อต้าน LGBT ประมาณ 200 คน พร้อมป้ายข้อความด่าทอและรถบรรทุกขนเครื่องขยายเสียง ปิดจุดนัดพบเริ่มต้นขบวนพาเหรด กักขังกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศไม่ให้เริ่มกิจกรรม และสกัดกั้นผู้ที่จะเข้าร่วมพาเหรดไม่ให้เข้าไปวงล้อม พร้อมตะโกนสาปแช่งด่าทอ ขว้างปาข้าวของก้อนหินแก้วน้ำและเศษอาหารจนทีมจัดเกย์ไพรด์บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่รัฐเองก็สนับสนุนการกระทำความรุนแรงครั้งนี้ แล้วก็พยายามขัดขวางการทวงความรับผิดชอบทุกวิถีทางหลังจากนั้น
การที่จะมาตั้งอนุสรณ์เพื่อรำลึกเหตุการณ์วันนั้นคงไปเรื่องที่แสนยาวไกล
เพราะแม้ว่าจะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรง ดักซ้อม หมาหมู่รุมทำร้าย อุ้มฆ่า สังหารหมู่โดยรัฐ โดยเฉพาะกับนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเป็นประจำ แต่การรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงของรัฐก็จัดกันเองภายในกลุ่มเหยื่อและผู้เห็นอกเห็นใจกันเองเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ที่เป็นการลุกขึ้นสู้เผด็จการครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของประชาชน และได้รับการเห็นชอบให้สร้างอนุสรณ์ตั้งแต่ 2517 ทว่ากว่าที่อนุสรณ์จะได้สร้าง ก็ต้องผ่านความล่าช้าอุปสรรคต่างๆ นานา จนแล้วเสร็จก็ 2544 ด้วยแรงผลักดันภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากขบวนการนิสิตนักศึกษา คนเดือนตุลาฯ นักวิชาการ สื่อมวลชน NGO และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างก็มาจากเงินบริจาคของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และในโอกาสครบรอบ 28 ปี 14 ตุลาฯ รวมถึงหน่วยงานของรัฐบางแห่งที่เกี่ยวข้อง
เป็นการดิ้นรนให้เกิดอนุสาวรีย์เพื่อเตือนใจว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศที่เต็มไปด้วยความล่าช้าอุปสรรค เช่นเดียวกับที่การดิ้นรนของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งการเจ้าของประเทศที่แท้จริง ที่เต็มไปด้วยความยาวนานและขวากหนามจนบาดเจ็บไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[3] Jennifer V. Evans. The moral state: Men, mining, and masculinity in the early GDR, German History, 23 (2005) 3, 355–370.