ดูเหมือนว่าความพยายามกลืนหายความทรงจำและประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรและการปฏิวัติ พ.ศ.2475 จะมูมมามตะกละตะกลามอย่างไร้รสนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
นับตั้งแต่จู่ๆ ก็มีหมุดหน้าใสมาแทนที่หมุดคณะราษฎรในเดือนเมษายน พ.ศ.2560 พอเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ก็รื้ออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญกลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ กรุงเทพ หายไปเฉย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมกราคม พ.ศ.2563 อนุสาวรีย์พระยาพหล ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ค่ายพหลโยธิน ลพบุรี ก็ถูกย้ายและอยู่ในการดำเนินการเปลี่ยนชื่อค่าย ส่วนอนุสาวรีย์จอมพล ป. ก็จะเป็นรายต่อไป แต่สำหรับอนุสาวรีย์จอมพล ป. ที่หน้าอาคารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กรุงเทพ ก็ถูกขนย้ายไปแล้ว ขณะที่พิพิธภัณฑ์ทหาร บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเชียงราย ก็เปลี่ยนชื่อป้ายจาก ‘พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์’ เหลือเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์’ ซะอย่างงั้น[1]
ไม่เพียงสัญลักษณ์และที่ระลึกการกำเนิดระบอบประชาธิปไตยจะถูกทำให้หายสาบสูญไป แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็ถูกทำให้หายไปจากสำนักข่าวและหน้าหนังสือพิมพ์เช่นกัน มีไม่กี่สำนักข่าวที่หมั่นติดตามหรือเพียรนำเสนอขบวนการลบประวัติศาสตร์ เช่น สำนักข่าวประชาไท
ทั้งๆ ที่ขบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการลบล้างประวัติศาสตร์และขโมยการรับรู้ความสำคัญของสามัญชนที่มีต่อประชาธิปไตย
แต่ไม่ว่าอย่างไรอนุสาวรีย์และมรดกของคณะราษฎรก็ยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของเรา และกลายเป็นทั้งวัฒนธรรมและพฤติกรรมของเราจนอาจจะมองข้าม หรือไม่ก็ถูกทำให้ลืมเลือนไปว่าเป็นผลงานของสมาชิกคณะราษฎรที่ต่างร่วมกับสร้างขึ้นมา เช่น การกินอาหารครบ 5 หมู่, การนุ่งเสื้อผ้าสวมรองเท้าออกนอกบ้านเพื่อสุขอนามัย, การยืนตรงเคารพธงชาติ, การมีเพลงชาติ, การประกวดนางสาวไทย, การยอมรับสถานะผู้หญิงประกอบอาชีพข้าราชการเทียบเท่าผู้ชาย[2], การแต่งงานผัวเดียวเมียเดียว, การยกเลิกกฎหมายห้ามรักเพศเดียวกัน[3], คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง, การให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและอนามัยเจริญพันธุ์จนนำไปสู่การกำหนดวันแม่แห่งชาติและเลือกดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์วันแม่[4] ฯลฯ หลายอย่างก็เพื่อให้ประชาชนสามัญชนมีความเข้าอกเข้าใจระบอบการปกครองใหม่ และมีศักยภาพบทบาทต่อระบอบการปกครองในฐานะที่ตนเองเป็นเจ้าของประเทศ
เอาเป็นว่าในประเทศ ที่รัฐเห็นคุณค่าประชาชน เค้าไม่พยายามลบล้างถาวรวัตถุที่เป็นตัวแทนของประชาธิปไตยกันหรอก เหมือนกับที่หลายๆ ประเทศเค้าสนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นตัวแทนของประชาชน เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย รำลึกการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคกัน
เมื่อเกิดปฏิวัติ พ.ศ.2475 และรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรที่ได้ให้สิทธิพลเมืองทั้งชาย-หญิงเท่าเทียมกันพร้อมเพรียงกัน สามารถการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476[5] ไม่ได้ให้ผู้ชายมีสิทธิพลเมืองก่อน เนื่องจากตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ราษฎรหญิงมีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างโดดเด่น
ขณะเดียวกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองสำหรับผู้หญิงในประเทศต้นธารประชาธิปไตยก็พัฒนามาจนผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งได้เต็มที่แล้ว เช่น อเมริกาในปี ค.ศ.1920 อังกฤษ ปี ค.ศ.1928 (ก่อนที่ไทยเพิ่งจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 ซึ่งเทียบเท่ากับปี ค.ศ.1932) ขณะที่ฝรั่งเศสผู้หญิงมีสิทธิพลเมืองเลือกตั้งได้ในปี ค.ศ.1944 หากแต่ก็มีสหภาพสตรีเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิพลเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1909
เนื่องด้วยประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงจนได้มาเพื่อสิทธิพลเมืองจนพวกเธอได้มีสิทธิในการเลือกตั้งและรับเลือกตั้ง จึงทำให้พวกเธอได้รับการก่อตั้งเป็นอนุสาวรีย์ กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหว เช่น อนุสาวรีย์ที่รำลึก เอ็มมิลีน แพงก์เฮิร์สต์ (Emmeline Pankhurst) กับลูกสาวของเธอ คริสตาเบล แพงก์เฮิร์สต์ (Christabel Pankhurst) ที่ตั้งตรงทางเข้าหนึ่งของ Victoria Tower Gardens ในลอนดอนซึ่งใกล้กับรัฐสภา พวกเธอเป็นวีรสตรีคนสำคัญที่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้งชาวอังกฤษ สองแม่ลูกเคยถูกจับเข้าคุกเพราะเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง เธอทดลองต่อสู้หลายรูปแบบทั้งสันติวิธี อดอาหาร ก่อตั้งสหภาพ ระดมประชาชนเดินประท้วงได้ถึง 500,000 คน แจกใบปลิว ใช้หินปาอาคารสำนักงานรัฐบาลและบ้านพักของนายกรัฐมนตรี และยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้รับสิทธิทางการเมือง เธอก็ได้ตั้งพรรคการเมืองของผู้หญิงขึ้น อนุสาวรีย์ของเธอได้รับการเปิดตัวเมื่อปี ค.ศ.1930 และได้ย้ายมาตั้งในที่ปัจจุบันเมื่อปี ค.ศ.1958 มีความพยายามจะรื้อรูปปั้นออกในปี ค.ศ.2018 โดยข้อเสนอของนีล กอร์ดอน ธอร์น (Neil Gordon Thorne) ส.ส.จากพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม ทว่าด้วยเสียงคัดค้านถึง 889 เสียง ข้อเสนอจึงตกไป
และเพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองสังคมไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องของอุดมการณ์และสาธารณชนจำนวนมาก นำไปสู่ประติมากรรม Suffragette Memorial รำลึกถึงการเคลื่อนไหวด้วยรูปของม้วนกระดาษจดหมายตั้งบนฐานเสาทรงกรวยหัวมน พร้อมจารึกข้อความอุทิศให้กับทั้งหญิงและชายผู้ที่ได้ร่วมเคลื่อนไหวมายาวนานเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้ผู้หญิงได้เท่าเทียมกับผู้ชาย และต้องเผชิญกับความรุนแรงอุปสรรคต่างๆ นานา ทั้งการเย้ยหยันดูถูก ต่อต้าน ขับไล่ ทำร้ายร่างกาย อนุสรณ์สถานนี้เปิดตัวในปี ค.ศ.1970 ประดิษฐานตัวหัวมุมของ Christchurch Gardens ในลอนดอนอีกเช่นกันใกล้กับ Caxton Hall ที่คณะสตรีประชุมกันและตั้งผู้แทนไปรัฐสภาเพื่อเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง
และ 1 ในบรรดาอนุสาวรีย์สำหรับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในอเมริกาอย่าง Tennessee Woman Suffrage Memorial ที่เป็นประติมากรรม 3 วีรสตรี อลิซาเบธ อเวรี เมอริเวเธอร์ (Elizabeth Avery Meriwether), ลิซซี่ ครอเซียร์ เฟรนซ์ (Lizzie Crozier French) และแอน ดัลลัส ดัดลีย์ (Anne Dallas Dudley) ยืนเด่นโดยท้าทายใน Market Square ที่เป็นย่านถนนคนเดินและลานกิจกรรมขนาดใหญ่ของ Knoxville ใน Tennessee ซึ่งอนุสาวรีย์ได้อยู่ใกล้ชิดร่วมกับสิ่งแวดล้อมและสถานที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนพบเห็นจดจำและผูกพันรำลึกถึงการให้ได้มาซึ่งสิทธิทางการเมืองและการมีพื้นที่สาธารณะร่วมกันที่ไม่ใช่ของใครคนใดนคนหนึ่ง
เช่นเดียวกับอนุสรณ์รำลึกเหตุการณ์ Stonewall Riots ที่ Christopher Park ตรงข้ามกับ Stonewall Inn ที่เกิดเหตุการณ์จลาจลในปี ค.ศ.1969 ที่กลุ่มเก้งกวางกะเทยต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสิทธิเสรีภาพทางเพศของพวกเขาและเธอและได้กลายเป็นหมุดหมายการเคลื่อนไหวของ LGBT อนุสรณ์นี้กำหนดให้มีในปี ค.ศ.2016 ที่กลมกลืนไปกับม้านั่งและสุมทุมพุ่มไม้ในสวนที่เข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตประจำวันของผู้คนได้ ด้วยความร่วมมือระหว่างนักเคลื่อนไหวนักกิจกรรมและนักการเมือง
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยแลนด์แล้ว ที่ค่อยๆลบล้างอนุสาวรีย์หรือสัญลักษณ์เตือนใจว่าครั้งสามัญชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และการเคลื่อนไหวของประชาชนก็มีมาก ผู้ที่อุทิศตนเองเพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค เพื่อประชาธิปไตยก็มากมาย ล้มตายบาดเจ็บก็มีมาแล้วนักต่อนัก แต่กลับมีสัญลักษณ์รำลึกเตือนให้จดจำไม่กี่แห่ง ซ้ำยังค่อยๆ ถูกทำให้หายไปอีก แค่ไม่ทำให้หายก็แทบจะไม่มีอยู่แล้ว
ราวกับว่าชีวิตคุณค่าสามัญชนประชาชนไม่มีคุณค่าพอ ไม่ใช่แค่ไม่พอให้จดจำรำลึกถึง แต่ยังไม่มีค่าพอที่จะอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้
อ้างอิงข้อมูล
[1] https://prachatai.com/journal/2020/01/86055 ; https://prachatai.com/journal/2020/01/86104 ; https://www.bbc.com/thai/thailand-50923944 ; https://prachatai.com/journal/2019/12/85695 ; https://prachatai.com/journal/2020/02/86171
[2] https://thematter.co/thinkers/the-politics-of-instructor-gender/26486
[3] https://thematter.co/thinkers/gender-equality-and-peoples-party/22305
[4] https://thematter.co/thinkers/mother-day-in-politic/82627
[5] 2476 พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476 เล่ม 50 หน้า 355-357