‘ครีเอเตอร์’ นับว่าเป็นอาชีพใหม่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้บางคนจะบอกว่า เดี๋ยวนี้แค่มีมือถือกับอินเทอร์เน็ตก็ ‘ทำคอนเทนต์’ ได้แล้ว แต่ในมุมของคนที่ทำอาชีพครีเอเตอร์จริงๆ การผลิตคอนเทนต์แต่ละชิ้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
เราเลยอยากชวนมาฟังเสียงของเหล่าครีเอเตอร์หลากหลายสายในงาน iCreator Conference 2022 กันว่า ความยากของอาชีพนี้คืออะไร เจอ pain point หรือความปวดใจเรื่องไหนกันบ้าง
อาชีพที่ปวดหลัง (ร้าวไปถึงหัวใจ)
เอม – นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหารช่อง WorkpointTODAY เล่าว่า ช่วง COVID-19 ที่หลายคนผันตัวมาเป็นครีเอเตอร์ในโลกออนไลน์กันเยอะขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของคนทำสื่อ เพราะทำให้การแข่งขันสูงขึ้นไปด้วย หลายคนเลยต้องปรับตัวผ่านการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือเรียกง่ายๆ ว่าต้อง ‘รู้จริง’ ในด้านนั้น เพื่อให้ผู้คนจดจำได้ว่าเราทำเรื่องอะไร ซึ่งนอกจากเนื้องานแล้ว ยังมีเรื่องสุขภาพที่เอมมองว่าเป็นหนึ่งใน pain point หลักของเหล่าครีเอเตอร์ โดยเฉพาะออฟฟิศซินโดรมและปัญหาสุขภาพใจ
“อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว อาจจะเป็นเพราะเราทำข่าวหรืออาจจะเป็นทุกวงการก็ได้ คือเจอคนที่ โห เปิดเข้ามาปุ๊บ ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่พอกล้องปิดปุ๊บ เหนื่อย ดีเพรส ซึมเศร้า เจอคนที่เป็นโรคที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ทั้งนักข่าวด้วยกันเอง ทั้งเพื่อนฝูงที่อยู่ในวงการยูทูบเบอร์ วงการ TikTok เราต้องดีลกับสารพัดสิ่งตลอดเวลา”
สารพัดสิ่งที่ว่านี้มีตั้งแต่เนื้อหาข่าวที่บ่อยครั้งมักจะเป็นความทุกข์ร้อนของประชาชน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเชิงโครงสร้าง และการต่อสู้ผลักดันเรื่องต่างๆ ในสังคม แถมโลกออนไลน์ยังเอื้อให้เหล่าคนทำคอนเทนต์ได้มองเห็นตัวเลขวัดผลแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะยอดไลก์ ยอดแชร์ รวมถึงคอมเมนต์ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ
“พอเราทำข่าว บางคนก็รู้สึกเขินนะเวลาพูดคำนี้ แต่ก็จะมีบางคนพูดว่า พี่ หนูอยากทำเพื่อสังคมค่ะ อยาก contribute อะไรกลับไปให้ผู้คน แต่ว่าพอมาทำจริงๆ มาเจอสนามการทำงานที่หดหู่นี้ เจอคอมเมนต์ทุกวัน ดีลกับความทุกข์ในชีวิต ความทุกข์ของประชาชนทุกวัน มันก็กัดกินหัวใจเหมือนกัน มีอย่างหนึ่งที่เอมเรียนรู้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เราผ่านวิกฤต COVID-19 คือ ก่อนจะเติมให้คนอื่น ตัวเองต้องเต็มก่อน ดังนั้นดูแลสุขภาพจิตใจให้ดี ก่อนจะออกไปทำอะไรเพื่อคนอื่น”
คอนเทนต์เรื่องเซ็กซ์ที่ถูกตีกรอบด้วยกฎหมาย
ส่วนฝั่งคอนเทนต์ ครีเอเตอร์สายหนึ่งที่น่าสนใจคือ ครีเอเตอร์ที่ออกมาทำเรื่อง ‘เซ็กซ์’ อย่าง จุ๊กจิ๊ก – นรรณพร แสนใจวุฒิจากเพจ ‘echo’ ที่ทำคอนเทนต์เชิงให้ความรู้และตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้
“ในพื้นที่สื่อออนไลน์จริงๆ มันก็เปิดกว้างมากกว่าสื่อกระแสหลักอยู่แล้ว ถ้าพูดถึง pain point จริงๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องกฎหมายที่ยังไม่รองรับ เราก็ต้องมาคิดว่า เราจะสื่อสารออกไปยังไงให้คนเข้าใจได้มากที่สุด แล้วก็ขับเคลื่อนประเด็นนี้ไปได้ด้วย ส่วนวิธีการเล่า เราสามารถใช้ภาพอะไรที่มันเป็นเชิงนัยยะ ที่มันดูมีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง ให้เรื่องมันไปกับเนื้อหาได้”
“จริงๆ เนื้อหาของ echo เอง มันเป็นเนื้อหาที่เราเปิดพื้นที่ให้ อย่างเช่น sex toys ซึ่งมันยังไม่ถูกกฎหมายในไทย เราก็ต้องมาคิดแล้วว่าจะใช้วิธีการเล่ายังไงเพื่อบอกให้สังคมเข้าใจ”
คอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่อง sex toys ที่ echo นำเสนอจึงออกมาเป็นการสัมภาษณ์และตั้งคำถามว่าทำไม sex toys ในประเทศไทยถึงผิดกฎหมาย ขณะที่บางประเทศเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้
“คือเราก็ยิงคำถาม เพื่อให้เขาอธิบายในบริบทของไทยและต่างประเทศ ทำไมในไทยมันควรถูกกฎหมาย ทำไมมันถึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มันไม่ได้ทำร้าย ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม เพียงแต่ว่ากฎหมายเราในสมัยก่อน มันยังเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ถูกเขียนเอาไว้ตั้งแต่สมัยก่อน เลยทำให้ตามบริบทในปัจจุบันไม่ทันมากกว่า”
“เรามีคลิปที่เป็นรีวิว sex toys ด้วย อันนี้คือเป็นตัวเด่นเลยที่คนชอบดูเยอะ เราก็ เอ๊ะ จะทำยังไงดี ถ้ามันยังไม่ถูกกฎหมาย เราก็ลองรีวิวเลยแล้วกัน เพราะมันเป็นประเด็นที่คนสนใจ แล้วถ้าถามใครหลายๆ คนบนโลกนี้ เรื่องเซ็กซ์มันเป็นเรื่องปกติ sex toys ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ”
“ถ้าเราวางคอนเทนต์เราอยู่บนพื้นฐานของการให้ความรู้ การตั้งคำถาม หรือการทำให้มันเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม เสียดสีจริยธรรมเก่าๆ เดิมๆ ของรัฐ ถ้ามันอยู่บนพื้นฐานหลักการแบบนี้ จริงๆ ก็ไม่ได้มีเพดานอะไร echo ก็ไม่ได้กลัวเรื่องเนื้อหาอะไรแบบนี้อยู่แล้ว เพราะเรามีหลักการในการเล่า”
คลิปสั้นๆ ที่เวลาทำไม่สั้นตามไปด้วย
ครีเอเตอร์อีกสายหนึ่งที่กำลังมาแรงในตอนนี้คือเหล่า TikToker ที่เน้นการทำคลิปสั้นๆ ทั้งด้านความบันเทิงและการให้ความรู้ ซึ่งแซม – พลสัน นกน่วม เจ้าของ TikTok ช่อง ‘เล่าเรื่องแบรนด์กับ แซม พลสัน’ เล่าว่าความยากอย่างหนึ่งของครีเอเตอร์สายนี้ คือเรื่องไอเดียตันหรือคิดไม่ออกว่าจะทำคอนเทนต์อะไรให้แตกต่างจากคนอื่นๆ ท่ามกลางคอนเทนต์มหาศาลที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็วใน TikTok
“จริงๆ เราก็มีตันนะ เราทำเกี่ยวกับเรื่องแบรนด์ แต่สุดท้ายแล้วพอมองรอบๆ ตัว ทุกอย่างเป็นแบรนด์หมดเลย ผมมองให้ทุกอย่างเป็นเรื่องเล่า ก็เลยไม่ตันเท่าไร แต่จะติดเรื่องไม่มีเวลามากกว่าเพราะทำไม่ทัน จริงๆ TikTok บอกว่า ควรลงวันละ 3 คลิป ถ้าเป็นครีเอเตอร์ต่างประเทศลงวันละ 6 คลิป จะเวิร์คมาก”
“เราก็จะดูว่าตอนนั้นมันมีอะไรเกิดขึ้นด้วย แล้วอะไรที่มันใกล้ตัวเขา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แมสมากๆ จะไม่ได้เล่าแบบเฉพาะทางมากขนาดนั้น สังคมพูดเรื่องอะไร มีแบรนด์อะไรที่อยู่ในกระแสในตอนนั้นบ้าง หยิบอะไรมาเล่าได้บ้าง ก็หยิบมาเล่าเลย แล้วผมจะเลือก story แบรนด์ทุกแบรนด์มีเรื่องเล่าอยู่ข้างใน หรือดีเทลน้อยๆ เสื้อผ้าอะไรต่างๆ มันมีดีเทลที่หยิบมาเล่าได้เยอะมาก ถ้าเขียนบทความอาจจะเป็นบทความขนาดยาว แต่ถ้าเป็น TikTok มันเหมือนเราแบ่งบทความ 1 บทความ กลายเป็น 10 chapters แทนที่จะเขียนแค่บทเดียว”
นอกจากการคิดคอนเทนต์แล้ว แซมบอกว่า ‘วิธีการเล่า’ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ยากไม่แพ้กัน
“จริงๆ TikTok ความยากมันคือความสั้นนะ เราถูกคาดหวังว่ามันเป็นเรื่องที่ง่ายไง ซึ่งจริงๆ มันยาก เวลาทำงานกับลูกค้า อาจจะเป็นความเข้าใจผิดว่าคลิปสั้นๆ มันถ่ายไม่ยากหรอก เนี่ย 30 วินาทีเล่าเรื่องนี้ได้ไหม message นี้ต้องเล่าไม่เกิน 30 วินาทีนะ อะไรอย่างนี้ คือกระบวนการผลิตอาจจะง่าย แต่เวลาคิดมันยาก”
เช่นเดียวกับ เฟิร์น – โสรยา วงษ์พัดอำพร เจ้าของช่อง fern_fernforfun ที่มองว่าความยาก คือตอนคิดวางแผนว่าจะทำคลิปออกมาแบบไหน
“ถ้าสิ่งที่เราจะนำเสนอเนี่ย มันเป็นสิ่งที่คนก็ดูอยู่แล้ว เป็นกระแสฮิต มีคนชอบ เช่นเราเป็นดารา ลงคลิปอะไรไปคนก็ดู ถ้าคุณจะนำเสนออะไรก็ตามที่คนชอบอยู่แล้วอาจจะง่าย แต่ถ้าเมื่อไรที่เราจะนำเสนอสิ่งที่มันยากขึ้นมา เช่น วิชาการหรือเราจะขายของเนี่ย มันยากแล้วว่าจะมีเทคนิคยังไงให้คนหยุดดูคลิปในตอนแรก แล้วพอเราขายของคนจะไม่ปัดคลิปหนีและดูคลิปจนจบ แถมมาดูวนได้อีก อันนี้คือความยากว่าเราจะพรีเซ็นต์สิ่งที่คนไม่ชอบให้เขาชอบได้ยังไง คือมีทั้งง่ายและยาก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำเสนออะไร”
ส่วน อาร์ต – ปภังกร เขมจิรโชติ เจ้าของช่อง Artymilk และ ขำไรย่ะ เล่าเสริมว่า “เราว่าอยู่ที่ความคาดหวังด้วย ถ้าเกิดเราคาดหวังว่าคลิปนี้ต้องเป็นไวรัล ต้องดังแน่ๆ เลย มันอาจจะไม่ได้ง่ายสำหรับบางคนเพราะมันต้องผ่านกระบวนการ creative แต่ถ้าเกิดว่าเป็นคลิปสั้นๆ ทำเพลินๆ เอาไว้ดูเล่น แค่หยิบกล้อง ใส่ฟิลเตอร์ ถ่ายปุ๊บลงปั๊บ มันใช้เวลาไม่ถึง 15 วินาทีด้วยซ้ำ สุดท้ายก็อยู่ที่ว่าเราคาดหวังจากงานนี้ยังไง ถ้าเราคิดว่าเราจะขายงาน ขายไอเดียเรา กระบวนการทำงานก็อาจจะต้องเยอะหน่อย โอเค มันอาจจะไม่ได้ไวรัล ไม่ได้ดัง แต่เราได้ใส่ความ creative ของเรา ใส่วิชา ไม่ว่าจะการตัดต่อ อยากจะเติมมุมมองตรงนี้ไปในคลิปสั้นของเรา แล้วก็นำเสนอออกมาในคลิปสั้น แบบนี้มันอาจจะใช้เวลา”
ทั้งหมดนี้คงพอจะทำให้เราเห็นภาพว่า เบื้องหลังกล้องหรือข้อความที่เราเห็นบนโลกโซเชียลมีเดียได้ผ่านกระบวนการคิด ผ่านความท้าทายอะไรมาบ้าง และที่สำคัญคือการสะท้อนให้เห็นว่า แม้ยุคนี้ใครๆ ก็ทำคอนเทนต์ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็น ‘งาน’ หรือ ‘อาชีพ’ ของใครสักคน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้อย่างแน่นอน