“โอ้ว…นี่มันเทรนด์อะไร ทำไมจู่ ๆ มันกลายเป็นกระแสฮิตขึ้นมาได้”
นี่คือความคิดที่แล่นเข้ามาในหัว เมื่อเพื่อนคนหนึ่งส่งวิดีโอบน TikTok มาให้ดู (ถ้าใครสนใจลองหา perineum sunning ดูได้ แต่ขอเตือนตรงนี้ก่อนว่ามันจะไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไหร่ เตือนแล้วนะ) โดยเหล่าคนที่โพสต์จะทำท่าเหมือนเล่นโยคะกลางแดด แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือการแนะนำให้คนดูให้หัน หรือชูอวัยวะเพศขึ้นไปรับแสงแดด เพื่อซึมซับเอาพลังงานธรรมชาติเข้ามาสู่ตัว (absorb natural energy) และแน่นอนผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์และสุขภาพต่างออกมาชี้แจงว่า ‘มันไม่เป็นความจริง’ จะชูให้สูงชันแค่ไหน ก็ไร้ประโยชน์ครับ
อย่างที่เราทราบกันดีครับว่าตอนนี้ TikTok น่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียที่ร้อนแรงที่สุดแล้ว จากแอปฯ ลิปซิงก์แล้วเต้นสนุกๆ ที่เกิดในประเทศจีนชื่อว่า Douyin ในปี ค.ศ.2016 และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนขยายออกไปสู่ประเทศต่างๆ ในปีต่อมา จนถึงตอนนี้ผ่านมากว่า 6 ปีแล้ว จากวันแรก จนถึงวันนี้ มีผู้ใช้งานเกินหลักพันล้านคนและขยายไปแล้วกว่า 150 ประเทศทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้งานแตะ 1,800 ล้านคนได้ด้วย
มันห่างไกลจากแอปฯ ลิปซิงก์ในตอนแรกอย่างมาก เจ้าใหญ่ ๆ ที่อยู่ในตลาดอย่าง Facebook, Instagram หรือ YouTube ต่างมองว่าเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ โดยผู้ใช้งาน TikTok เฉลี่ยราว 19.6 ชั่วโมง/เดือน (เท่ากับ Facebook) ซึ่งเป็นรองแค่ YouTube ที่ 23.7 ชั่วโมง/เดือน เพียงแห่งเดียว
TikTok แตกต่างจากโซเชียลมีเดียแบบเดิมยังไง
คนที่เคยใช้ TikTok จะทราบดีว่าเวลาเข้าไปแล้วมันยากมากเลยที่จะหยุดเลื่อนดูวิดีโอถัดไป โครงสร้างแบบสองฟีด ‘For You’ ที่แนะนำวิดีโอที่เราน่าจะชอบ กับ ‘Following’ วิดีโอจากบัญชีที่เราไปกดติดตามเอาไว้แล้ว ทำให้ทุกครั้งที่เข้าไปจะมีอะไรใหม่ๆ ให้ดูอยู่เสมอ ที่สำคัญคือเจ้าฟีด For You นั้น ดูเหมือนเข้าใจความต้องการของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ซะด้วย
เหตุผลที่เป็นแบบนั้นเพราะระบบของ TikTok ถูกออกแบบมาให้เรียนรู้พฤติกรรมความชื่นชอบของเรานั่นเอง เราดูวิดีโอแบบไหนซ้ำๆ กดแชร์ ความไวของการเลื่อนผ่าน (นับเป็นเศษวินาทีเลย) หรือค้นหาวิดีโอประเภทไหน มันก็จะเริ่มเรียนรู้แล้วว่าความชอบของเราคืออะไร นี่คือระบบที่เรียกว่า ‘Recommendation Media’ ที่เป็นอัลกอริทึมเบื้องหลังความสำเร็จของแอปฯ ใหญ่ๆ อย่าง Netflix, YouTube หรือ Spotify
แต่ถ้าเราไปดูโซเชียลมีเดียรูปแบบเดิมที่เราคุ้นเคยอย่างเช่น Facebook หรือ Instagram ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มคนที่เชื่อมต่อกัน เพราะฉะนั้นอิทธิพลของการกระจายคอนเทนต์ (รูปภาพ บทความ วิดีโอ ฯลฯ) นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามเป็นหลัก ในรูปแบบเดิมคนที่สร้างเนื้อหา (content creators หรือ influencers) มีอำนาจอยู่ในมือ นั่นหมายความว่าคุณภาพของคอนเทนต์ไม่ได้สำคัญเท่ากับจำนวนผู้ติดตามในระบบเก่า
แต่สำหรับ TikTok วิดีโอของคุณสามารถไวรัลได้โดยที่มีผู้ติดตามไม่เยอะ ตราบใดที่ได้รับความสนใจจากคนดูจำนวนมากมันก็จะกลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนในมุมหนึ่งก็ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับครีเอเตอร์ที่สร้างคอนเทนต์ที่ดี แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเป็นคอนเทนต์ประหลาดๆ (และบางครั้งอันตราย) อย่างการชูอวัยวะเพศขึ้นไปรับแสงแดด เพื่อซึมซับเอาพลังงานธรรมชาติ หรือตอนที่โควิดเริ่มระบาดแรกๆ แล้วมีการท้าทายให้เลียฝาชักโครก วิดีโอเหล่านั้นก็ได้รับการส่งต่อและไวรัลได้เช่นเดียวกัน
ผลกระทบของผู้ใช้งาน
TikTok เคยถูกเรียกว่า ‘ดิจิทัลโคเคนสำหรับสมอง’ โดยนิตยสาร Forbes แล้วในการสัมภาษณ์จูลี่ อัลไบรต์ (Dr. Julie Albright) นักสังคมวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมดิจิทัลและการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอสรุปว่าเมื่อเราเปิด TikTok ขึ้นมาใช้ ก็เหมือนกับการเสพยาเลยทีเดียว
“เมื่อคุณเลื่อนดู… บางครั้งคุณเห็นรูปภาพหรือบางสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขและดึงดูดความสนใจ สารโดปามีนในสมองก็จะหลั่งออกมา… ที่ศูนย์แห่งความสุขของสมอง คุณเลยอยากเลื่อนดูเรื่อยๆ ไม่หยุด”
มีรายงานมากมายที่บอกว่า TikTok ทำให้สมาธิสั้นลง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันในจุดนี้เช่นเดียวกัน
ถึงอย่างไรก็ตาม TikTok ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลแบบที่คาดไม่ถึง ยกตัวอย่าง เอมาลี่ แมคโกแวน (Amalie MacGowan) ที่ทำงานด้านโซเชียลมีเดียและมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกออนไลน์พอสมควร เธอได้ลองใช้ TikTok เหมือนคนอื่นๆ หลังจากได้ยินว่ามันสนุกและมีวิดีโอตลกๆ อยู่บนนั้น หลังจากที่เข้าไปนอกจากวิดีโอแมวชวนหัวเราะแล้ว วิดีโอที่เธอเห็นเริ่มเปลี่ยนแปลงความรู้สึกบางอย่างในตัวเธอ มันเป็นวิดีโอที่ผู้หญิงออกมายอมรับว่าตัวเองชอบเพศเดียวกัน ตอนแรกๆ เธอไม่ได้สนใจอะไร แค่คิดว่ามันน่ารักดี แต่พออัลกอริทึมป้อนวิดีโอเข้ามาอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งเธอมั่นใจแล้วว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวลแน่นอน
เธอเขียนไว้ในโพสต์บนเว็บไซต์ Repeller บอกว่า “ฉันคงไม่พูดว่า TikTok รู้ว่าฉันเป็นไบเซ็กชวลก่อนตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีความรู้สึกบางอย่างมานานแล้ว แต่ฉันใช้เวลาหลายปีในการปฏิเสธความรู้สึกเหล่านั้น”
TikTok ยังถูกใช้เพื่อเป็นการระบายความรู้สึกและเชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ ที่กำลังรู้สึกแย่ได้ด้วย อย่างเช่นแฮชแท็ก ‘grieftok’ ที่คนใช้เพื่อแชร์ช่วงเวลาที่สภาพจิตใจย่ำแย่และต้องการกำลังใจจากคนอื่น ๆ ซึ่งสำหรับคนหลายล้านคนที่กำลังรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง การได้รับกำลังใจแบบนี้ช่วยทำให้มีกำลังใจฮึดสู้ก้าวต่อไปได้ด้วย ในบทความของสำนักข่าว USAToday ได้รายงานเอาไว้ว่าการแชร์เรื่องราวแบบนี้ช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม บรรเทาความรู้สึกเหงาและทุกข์ระทม หลายคนยังบอกเลยว่า ‘TikTok คือสิ่งที่ช่วยให้ฉันยังมีชีวิตอยู่ต่อไป’
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มอง TikTok ในมุมบวกแบบนั้น เพราะเราเห็นการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันที่มีเด็กผู้หญิงวัยไม่ถึงสิบขวบสองคนเสียชีวิตเพราะการทำ ‘TikTok Blackout Challenge’ หรือการท้าให้บีบคอตัวเองให้สลบเพื่อสร้างความสนใจให้กับวิดีโอของตัวเอง ซึ่งวิดีโอที่ท้าทายที่เป็นอันตรายยังคงมีอยู่เต็มไปหมดบน TikTok โดยครอบครัวที่ฟ้องบอกว่าระบบควรทำการคัดกรองคอนเทนต์แบบนี้ให้ดีกว่านี้ ไม่ควรปล่อยให้มันออกไปสู่ผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ดีนัก
ปัญหาเรื่องการตรวจสอบคอนเทนต์นั้นเป็นสิ่งที่แพลตฟอร์มใหญ่ๆ เจอด้วยกันหมดทั้งสิ้น เพราะที่ไหนก็มีข่าวปลอมและเรื่องที่ไม่เหมาะสมวนเวียนอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าโซเชียลมีเดียรูปแบบเดิมการกระจายของคอนเทนต์ขึ้นอยู่กับจำนวน followers เป็นหลัก จึงทำให้การแบนบัญชีที่มีคนติดตามเยอะๆ (อย่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์) ก็สามารถตัดไฟได้เลย แต่ในรูปแบบที่วิดีโอสามารถไวรัลได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้ติดตาม ถูกดันโดยระบบแบบ TikTok ทำให้การตรวจสอบลำบากมากยิ่งกว่าเดิม
มีรายงานจากเว็บไซต์ Business Insider จากอดีต ‘Content Moderators” หรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคอนเทนต์ก่อนที่วิดีโอจะขึ้นไปบนระบบว่าพวกเขาได้เงินน้อยมากเพียงแค่ $7/ชั่วโมง (ประมาณ 260 บาท) ซึ่งถือเป็นค่าแรงขึ้นต่ำเลย บางทีทำงานแบบไม่มีวันหยุดเลยทั้งอาทิตย์ ต้องดูวิดีโอประมาณ 1,000 ชิ้นต่อวัน และแต่ละวันเจอแต่วิดีโอที่เต็มไปด้วยความบั่นทอนจิตใจ พวกเขาต้องติดป้ายให้กับวิดีโอแต่ละอันว่าเป็นอย่าง ‘อนาจาร’ ‘ฆ่าตัวตาย’ ‘ความตาย’ ฯลฯ และแน่นอนว่าด้วยความเป็นมนุษย์ก็ผิดพลาดกันได้ ถ้าเกิดหลุดไปพวกเขาถูกไล่ออกจากงานได้เลยทันที หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่า
“ในแต่ละกะ ฉันจะได้เห็นวิดีโอสักห้าหรือสิบเรื่องที่ไม่มีใครอยากดู เมื่อคุณเห็นคนทำเรื่องเลวร้ายวิตถารนาน ๆ มันส่งผลต่อสภาพจิตใจคุณอย่างมาก”
สรุปว่ามันดีหรือไม่ดี
TikTok ก็เหมือนกับทุกอย่างนั่นแหละ มีด้านดีๆ ที่เห็นคนออกมาพูดกันก็เยอะ ส่วนเรื่องแย่ ๆ แน่นอนก็มีอยู่แล้วอย่างช่วยไม่ได้ ด้วยการขยายตัวอันรวดเร็วและผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลการดูแลอย่างทั่วถึงจึงเป็นไปได้ยาก แต่เหตุผลนี้ไม่ควรถูกใช้มาเป็นข้ออ้างในการไม่แก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน TikTok ทราบดีถึงผลกระทบของแอปพลิเคชั่นในชีวิตของผู้ใช้งาน สิ่งที่พวกเขาควรทำคือการจัดการตรวจสอบคอนเทนต์ให้ดีกว่านี้ อาจจะจ้างพนักงานตรวจสอบเพิ่มเพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่และควรฝึก AI ให้สามารถแบ่งเบาภาระตรงนี้ของคนได้ดียิ่งขึ้นด้วย (ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาน่าจะทำได้)
ในฐานะผู้ใช้งานเองและถ้าใครเป็นพ่อแม่ด้วยแล้วยิ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่จำเป็นไม่ควรทิ้งเด็กไว้กับมือถือโดยไม่มีการตรวจสอบดูแล สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างอย่างดีที่สุด เจอคอนเทนต์ไหนที่ไม่เหมาะสมควรรายงานอย่าปล่อยผ่าน และถ้าลูกๆ หรือเด็กในครอบครัวกำลังสนใจเรื่องอะไรอย่าเมินเฉยเพราะปัญหาจริงๆ อาจจะไม่ได้อยู่ที่แอปฯ แต่เป็นความใส่ใจของพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ขาดไปในชีวิตของเด็ก ๆ เหล่านั้นต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan