ทุกวันนี้เราเรียกตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอะไร?
ช่องทางที่เรารับรู้เรื่องราว ภาษาที่เราใช้ กิจกรรมที่เราทำ ธรรมเนียมที่เรายึด ฯลฯ แน่นอนว่าคำตอบจะเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่พื้นเพของใครก็ตาม แต่อีกคำตอบที่มักพ่วงมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เราเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต
เรามีคำพูดใหม่ๆ จากชาวเน็ต มีภูมิปัญญาใหม่ๆ จากการส่องนั่นส่องนี้ไปเรื่อย ได้พบปะผู้คนใหม่ๆ ได้เรียนรู้มารยาทใหม่ๆ สำหรับการอยู่ในชุมชนอะไรสักอย่าง หากมองย้อนกลับไปในเวลาราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นหน้าตาของอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนแปลงไป จากเครื่องมือการหาความบันเทิง ความรู้ หรือการสื่อสารเล็กๆ น้อยๆ ของคนบางกลุ่ม กลายเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างความเชื่อมต่อระหว่างสังคมมนุษย์ที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม กว้างเสียจนแทบจะเรียกได้ว่าเราทุกคนต่างอาศัยอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตสักระดับ
การอยู่ในสังคมและสภาพแวดล้อมใดสภาพแวดล้อมหนึ่งเป็นเวลานานย่อมมีผลกระทบ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซึมซับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากเราอาศัยอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานและลึกซึ้งกว่าที่ไหนๆ? โดยบางคนอาจเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ‘Terminally Online’
สักครั้งหนึ่ง เราอาจเคยนึกถึงมีมอะไรสักอย่างในชีวิตของเราที่ตลกมากๆ แล้วหัวเราะออกมา เมื่อมีคนถามว่าตลกอะไร สิ่งที่คิดคือเราจะอธิบายประวัติศาสตร์และที่มาที่ไปของมีมนั้นๆ ยังไงให้เขาเข้าใจได้ภายใน 2 ประโยค และไม่ทำให้ตัวเองดูเป็นคนประหลาดจนเกินไปนัก เพราะมีมนี้คือผลลัพธ์จากการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์เล็กๆ เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งโดนบิดให้ผิดรูปผิดร่างจากต้นฉบับของมัน จนกลายเป็นมุกตลกที่ยากจะอธิบายให้คนนอกฟัง นั่นคือตัวอย่างหนึ่งของอาการ ‘Terminally Online’
หากลองนึกภาพว่านั่นไม่ใช่แค่มุกตลก แต่มีกระบวนการคิดดังกล่าวในทุกครั้งที่มีการพูด มีการคิด มีการแสดงค่านิยม ฯลฯ ซึ่งติดตัวมาจากโลกอินเทอร์เน็ตมากๆ แล้วเผลอไผลใช้มันออกไปในชีวิตประจำวันกับกลุ่มคนที่เราคิดว่าอาจจะไม่เข้าใจในพฤติกรรมเหล่านั้น Terminally Online จึงไม่ได้หมายถึงการติดโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่เป็นผลของการซึมซับวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไปมากๆ เสียมากกว่า
การวิจัยพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในวัยรุ่น โดย Pew Research Center พบว่าสัดส่วนการเข้าถึงสมาร์ตโฟน และวัยรุ่นที่บอกว่าตัวเองใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลาในปี 2022 นั้น สูงกว่าปี 2014-2015 ราวๆ 20% และในกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้น 54% บอกว่าการเลิกเล่นโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องยาก นั่นเป็นสถิติที่สื่อสารออกมาอย่างชัดเจนว่าวัยรุ่นเหล่านี้ให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์อย่างมากแบบไม่น่าแปลกใจนัก แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าอาการ Terminally Online จะสามารถเกิดแค่กับคนรุ่นหลังเจนวาย (Gen Y) ลงไปเท่านั้น เพราะระยะเวลาและวิธีการใช้โซเชียลมีเดียของทุกคน สามารถนำไปสู่อาการดังกล่าวได้ในสักรูปแบบ
งานวิจัย Baby Boomers’ use of Facebook and Instagram: uses and gratifications theory and contextual age indicators โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา ศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มตัวอย่างวัย 50-91 ปี พบว่ากลุ่มตัวอย่างใช้โซเชียลมีเดียแทนที่การไม่ได้พบปะกับผู้คนในชีวิตประจำวัน “เมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยวและความเหงา โซเชียลมีเดียมีหน้าที่ทำให้ผลลัพธ์ในแง่ลบของความเหงานั้นลดลง แล้วเสริมสร้างสุขภาพใจได้” ผู้วิจัยกล่าวเสริม
ถ้าตัดเรื่องช่วงวัยของกลุ่มตัวอย่างออก เราหลายๆ คนที่ไม่ได้มาจากช่วงวัยนั้นๆ ก็ใช้โซเชียลมีเดียด้วยเหตุผลแบบเดียวกันใช่หรือไม่? ใช้เพื่อเติมเต็มความต้องการจะเป็นกลุ่มก้อนและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสักชุมชนหนึ่ง และบ่อยครั้งโซเชียลมีเดียก็อนุญาตให้เราเข้าไปร่วมกับชุมชนต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย การเข้าร่วมกลุ่มที่เกี่ยวกับความสนใจเฉพาะทาง การอยู่ในแฮชแท็กเรื่องที่ตัวเองสนใจ และความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งนั่นเองที่ช่วยเราในการซึมซับจารีตของกลุ่มเหล่านั้นเพิ่มขึ้นไปอีก
เราอาจเรียกมันว่า Tribalism หรือ ชนเผ่านิยม ความต้องการที่จะรวบรวมคนที่มีไลฟ์สไตล์เหมือนกับเรามาอยู่ในเผ่าเดียวกัน ด้วยสัญชาตญาณที่ติดตัวเรามาจากวิวัฒนาการของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม ภายในเผ่ามีวัฒนธรรมและจารีตส่วนตัวที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อคงสภาพของการเป็นสมาชิกเผ่า ซึ่งเป็นการเลือกระหว่างการเป็นคนในเผ่า (Ingroup) กับการเป็นคนนอกเผ่า (Outgroup) ฟังดูอาจเป็นการกระทำที่โบราณและแบ่งแยก แต่หากมองไปที่สภาพสังคมในทวิตเตอร์แล้ว ไม่ว่าจะในช่วงเวลาใด เรามักจะเห็นรูปแบบการกระทำนี้ซ้ำไปซ้ำมาในรายวัน
ความต้องการเชื่อมต่อและกลุ่มก้อนของมนุษย์ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด บริษัทผู้ออกแบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ยังรู้เกี่ยวกับมัน และใช้มันเป็นเครื่องมือในการดึงความสนใจของเราให้ได้มากที่สุด อาจจะผ่านฟีเจอร์ที่ทำให้เราสามารถเสพคอนเทนต์ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น หรือการออกแบบอัลกอริทึมที่พยายามโยนสิ่งที่เราน่าจะชอบใส่หน้าไทม์ไลน์เราให้บ่อยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็โยนสงครามที่เกิดขึ้นบนหน้าไทม์ไลน์ให้เราด้วย เพราะมันสามารถเรียกการมีส่วนร่วมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้ดี ผลของมันคือผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องสร้างคอนเทนต์ที่สุดโต่งมากขึ้น เรียกร้องความสนใจมากขึ้น และสร้างคอนเทนต์ให้รวดเร็วขึ้น ทำให้ผู้ใช้เสพติดมันมากขึ้น แล้วทุกอย่างก็เริ่มใหม่ กลายเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการใช้โซเชียลมีเดียของเราไปอย่างไม่รู้จบ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการอยู่ในโลกออนไลน์มากๆ นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การสร้างกลุ่มก้อนที่เข้มแข็งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มระดับเสียงให้แก่การขับเคลื่อนสังคมในประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึงมากนักอย่าง #MeToo และการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากก็ได้รับความสนใจมากขึ้น แล้วมันสามารถเติบโตไปยังโลกออฟไลน์สู่สื่อกระแสหลัก แล้วกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงในโลกจริงได้ การโอบรับวิธีการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียดังนี้จึงมีพลังมากๆ
ในขณะเดียวกัน กลุ่มก้อนสุดโต่งหลายๆ กลุ่มที่มีความเชื่ออันเป็นภัยก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เช่น เหตุการณ์การประท้วงที่ Charlottes Ville นำไปสู่การจลาจลและการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมฝั่งตรงข้ามเอง คือกลุ่มชาตินิยมคนขาวหัวรุนแรงที่มาจากชุมชนคน Terminally Online หลายๆ กลุ่มรวมตัวกันในโลกจริง และเมื่อวิธีการทัวร์ลง หรือ Cancel นั้นได้กลายเป็นวิธีที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย บ่อยครั้งมันสามารถกลายร่างจากวิธีการเรียกร้องที่ดี ข้ามเส้นไปเป็นการคุกคามผ่านโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนความมีเหตุผล แต่เป็นความต้องการจะวางตัวเองไว้เหนือกว่าใครก็ตามที่มีความเชื่อแตกต่างจากเรา
เมื่อชีวิตของเราอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่าโลกความเป็นจริง เหตุการณ์แง่ลบนั้นจึงเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าที่เราต้องการ บางครั้งเราเองก็ไม่เห็นผู้คนที่อยู่เบื้องหลังตัวอักษรของพวกเขา ในสายตาของเรา เขาอาจเป็นเพียงวิดีโอสั้น 15 วินาที หน้าของเขาเป็นเพียงรูปตัวการ์ตูนหรือศิลปินสักคนที่เราไม่ได้ต้องมีความเห็นอกเห็นใจด้วย แล้วเรื่องอะไรเราจะต้องสนใจว่าหลังจากปะทะกันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น? จากเครื่องมือสร้างความเชื่อมต่อ โซเชียลมีเดียก็สามารถกลายเป็นสิ่งที่ตัดเราออกจากคนอื่นๆ ได้อย่างน่าแปลกใจ
ไม่ใช่เรื่องผิดหากเราจะ Terminally Online บ่อยครั้งเราไม่ใช่คนเลือกที่จะเป็นด้วยซ้ำ แต่เป็นโลกรอบข้างและบริบทของยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่ บีบบังคับให้เราเป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม การพิเคราะห์ตัวเราและโลกที่เราอาศัยอยู่นั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เราใช้โซเชียลมีเดียทำไม? โลกอินเทอร์เน็ตที่เราใช้อยู่มากเท่านั้นเท่านี้ มันเติมเต็มเราจริงๆ หรือไม่? วิธีที่เราใช้นั้นตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเราขนาดไหน? เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ
เพราะแม้ว่าเราจะอยู่ในโลกออนไลน์เกินกว่าครึ่งชีวิตของเรา แต่เราเองก็หลีกเลี่ยงที่จะมีตัวตนในโลกของความเป็นจริงไปไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก