จริงๆ การถ่ายคลิปหรือทำตามชาเลนจ์ที่กำลังฮอตฮิตเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้บนโลกออนไลน์ แต่ใช่ว่าการทำตามเทรนด์กำลังฮิต หรือคลิปที่มียอดวิวเยอะๆ จะเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป
เช่นก่อนหน้านี้ เคยมีชาเลนจ์ที่โดนแบนอย่าง The Milk Crate Challenge ที่นำลังนมมาวางซ้อนกันหลายๆ ชั้นแล้วปีนขึ้นไปให้ถึงยอด แต่หลายคนกลับบาดเจ็บเพราะตกลงมาจากลัง หรือ Blackout Challenge ที่ถ่ายคลิปรัดคอตัวเองจนสำลัก และเกือบจะหมดสติไป ซึ่งก็มีเด็กหลายคนที่พลาดทำตาม และเสียชีวิตจากการทำชาเลนจ์นี้ ในไทยเราอาจเห็นเทรนด์ขอแตรสามช่าจากรถสิบล้อที่เสี่ยงถูกรถชน การแกล้งเด็กจนร้องไห้แล้วอัดคลิปลงใน TikTok ครูบางคนที่ถ่ายคลิปนักเรียนลง TikTok โดยที่เด็กไม่ได้รับรู้หรือยินยอมก่อน
แม้บางคนอาจจะบอกว่า แค่ถ่ายเล่นขำๆ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาหลายครั้งก็อาจจะขำไม่ออก เพราะอันตรายถึงชีวิตหรือสร้างแผลใจให้บางคนไปอีกแสนนาน จนเริ่มมีคนออกมาเตือนผ่านโซเชียลมีเดีย มีข่าวอันน่าสลดใจออกมาให้เห็น แต่กลับยังมีคอนเทนต์รูปแบบเดิมออกมาซ้ำๆ จนถึงตอนนี้..
อะไรทำให้คลิปเหล่านี้ยังไม่หายไป ?
บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมคนเราถลำลึกไปทำคลิปเสี่ยงๆ ได้ขนาดนั้น เพราะอย่างน้อยต่อมเอ๊ะ ก็น่าจะทำงานก่อนกดถ่ายหรือทำตามไวรัลที่ดูสุ่มเสี่ยง แต่ลองนึกภาพว่าถ้าเราเลื่อนดูคอนเทนต์หนึ่ง แล้วกดไลก์ กดติดตาม หรือแค่ดูคลิปนานหน่อย แรกๆ ก็อาจจะรู้สึกแปลกๆ บ้าง ไม่ได้อยากทำตามสักเท่าไร แต่พอดูซ้ำๆ อัลกอริทึมก็ยิ่งแนะนำคอนเทนต์แนวเดียวกันเข้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุด เราก็อาจจะเริ่มรู้สึกว่า “นี่มันเรื่องปกติที่ใครๆ เขาก็ทำกันนี่นา” บรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่จึงค่อยๆ ถูกบิดเบือนไปทีละน้อย
ยิ่งเห็นว่าคนส่วนใหญ่ (บนหน้าฟีด) กำลังทำสิ่งเดียวกัน ยิ่งกระตุ้นให้เกิด FoMO หรือ Fear of Missiong Out คือความรู้สึกวิตกกังวลว่าเราอาจจะพลาดความสนุก ตื่นเต้น หรือเรื่องดีๆ ที่คนอื่นกำลังทำอยู่หรือเปล่า โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Human Factors in Healthcare พบว่า FoMO เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้วัยรุ่นร่วมชาเลนจ์ที่กำลังเป็นไวรัล เพราะพวกเขากลัวจะพลาดความสนุกตื่นเต้น (ทั้งที่จริงพวกเขากำลังพลาดเทรนด์ที่เสี่ยงชีวิตมากกว่า)
ถ้ามองในภาพรวม เราอาจพบว่าคนที่ทำตามเทรนด์ใน TikTok มักจะเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้เกือบครึ่ง (41%) คือหนุ่มสาวอายุ 18-24 ปี นอกจากนี้ เกรตเชน บริออน-ไมเซลส์ (Gretchen Brion-Meisels) นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรม ยังอธิบายว่าวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่จิตใจของเด็กกำลังเปลี่ยนไปสู่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ทุกอย่างกำลังซับซ้อน พวกเขากำลังพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นเรื่องปกติ อะไรที่เป็นบรรทัดฐานในสังคมเพื่อปรับตัวตามสิ่งเหล่านั้น เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งและเข้ากับคนส่วนใหญ่ได้ และถ้าเรามองในมุมชีววิทยา ก็มีงานวิจัยที่พบว่าสมองของมนุษย์ในช่วงวัยรุ่นโดยเฉพาะ prefrontal cortex ที่ควบคุมการวางแผนและการตัดสินใจ ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยสมองส่วนนี้จะเจริญอย่างเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี ทำให้การตัดสินใจที่เกิดขึ้นอาจจะหุนหันพลันแล่นได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม แม้เด็กและวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มที่อ่อนไหว แต่หลายครั้งที่เราเห็นข่าวผู้ใหญ่โพสต์คลิปที่ไม่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ซึ่งในเว็บไซต์ verywellmind อธิบายว่า การทำตามชาเลนจ์ในโลกออนไลน์ช่วยกระตุ้นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ได้ โดย บริตทานี มอร์ริส (Brittany Morris) นักสังคมสงเคราะห์ ในเมืองเชสพีก รัฐเวอร์จิเนีย อธิบายว่าความรู้สึกต้องการเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์
“ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่และก่อนหน้านั้น อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียกลายเป็นที่หลบภัยสำหรับหลายๆ คนที่พยายามหาพื้นที่ของตัวเองในสังคม การได้รับความนิยมชมชอบบนโลกออนไลน์นั้นหล่อเลี้ยงอัตตาของเราในหลายๆ ด้าน และยังทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าอีกด้วย” มอร์ริสกล่าว
ดังนั้น การทำชาเลนจ์ที่ต่างๆ ได้สำเร็จ มียอดไลก์ ยอดแชร์ และคอมเมนต์ที่หลังไหลเข้ามามหาศาล อาจทำให้บางคนรู้สึกราวกับสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนถ้วยรางวัลอันทรงเกียรติ หรือตราประทับที่เขียนไว้ว่า ‘คุณได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ’ และสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง
ทำไมคนยังมีคนดูคลิปเหล่านี้ ?
แน่นอนว่าการโพสต์อย่างเดียวคงไม่กลายเป็นไวรัลแน่ๆ ถ้าไม่มีคนดูที่กดไลก์ กดแชร์จนอัลกอริทึมพาคลิปเดินทางไปสู่การเป็นไวรัล ซึ่งถ้าย้อนไปยังคำถามว่าทำไมคนเราถึงเล่น TikTok จะพบว่าเหตุผลหลักๆ คือเรื่องความบันเทิง โดยคอนเทนต์ยอดนิยม 3 อันดับแรก คือคลิปสายบันเทิง (Entertainment)คลิปเต้น และคลิปแกล้ง/ล้อเล่น (prank) ตามลำดับ
ทว่า ‘ความบันเทิง’ กลับไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องเชิงบวกเสมอไป เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า Schadenfreudeหรือความรู้สึกสุขใจเมื่อเห็นความทุกข์ของคนอื่น โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามหรือคนที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน รวมทั้ง Slapstick Comedy ที่นำถาดมาตีหัว ล้อเลียนคนสะดุดล้ม หรือการ์ตูนทอมแอนด์เจอร์รี่ที่เราดูกันตอนเด็กๆ แถมอะไรแย่ๆ หรือข่าวร้ายๆ ก็มักจะดึงความสนใจของผู้คนได้ง่ายกว่าเรื่องราวเชิงบวก
นอกจากนี้อัลกอริทึมของ TikTok ยังเป็นเหมือนดาบสองคมสำหรับผู้ใช้งาน เพราะ TikTok จะเริ่มจากการแสดงวิดีโอไปยังคนกลุ่มเล็กๆ บนหน้า For You ก่อน ถ้าวิดีโอนี้ทำงานกับคนกลุ่มเล็กๆ ได้ดีTikTok ก็จะเริ่มแนะนำคลิปดังกล่าวไปยังคนกลุ่มใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นไวรัลได้ในที่สุด
ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะทำได้คงเป็นการเลื่อนผ่านไป ไม่กดไลก์กดแชร์ หรืออาจจะกดรีพอร์ตคอนเทนต์สุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้คอนเทนต์เหล่านี้วนกลับมาอีกครั้ง และก่อนจะทำตามชาเลนจ์ไหน เราอาจจะรีเช็คกับตัวเองอีกครั้งด้วยคำถามที่ว่า ถ้าเราไม่ทำตามเทรนด์นี้ เรากำลังตกขบวนเทรนด์สนุกๆ หรือเรากำลังพลาดกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายต่อตัวเองหรือคนอื่นๆ อยู่กันแน่ ?
อย่างไรก็ตามวิธีเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะแม้ว่าโซเชียลมีเดียจะถูกออกแบบมาให้คนอยากจะอยู่บนแอปฯ นานๆ แต่ผู้สร้างแอปพลิเคชั่นต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว TikTok เองก็เคยลบวิดีโอกว่า 89,132,938 รายการในช่วงครึ่งหลังของปี ค.ศ.2020 เพราะละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน TikTok พร้อมกับตั้งศูนย์ความปลอดภัย (TikTok safety center) ขึ้นมา และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2022 TikTok ได้ประกาศว่าผู้ใช้งานสามารถกดปุ่ม ‘ไม่สนใจ’ (not interest) คอนเทนต์บน ฟีด For You หรือ Follow ได้ และยังสามารถกรองคอนเทนต์ที่มีคำและแฮชแท็กที่ไม่ต้องการเห็นใน TikTok รวมทั้งพัฒนาระบบที่สามารถกรองเนื้อหาให้เหมาะสมตามช่วงอายุ เพื่อไม่ให้เด็กๆ เข้าถึงเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ได้
แต่ในทางปฏิบัติ ฟีเจอร์เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ใช้งานได้จริงแค่ไหน ก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องจับตามอง เพราะผู้เขียนบทความ TikTok’s trendiest threats ที่เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ.2021 เคยทำการสำรวจเล็กๆ และตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความของเขาว่า บางคนแทบไม่เห็นคำเตือนเล็กๆ เช่น ‘The actions in this video are performed by professionals or supervised by professionals. Do not attempt.’ ใต้คลิปของ TikTok เลย หรือต่อให้เห็นก็ไม่ได้รู้สึกว่าช่วยอะไรอยู่ดี บ้างก็บอกว่าปุ่มรีพอร์ตไม่มีประโยชน์สำหรับพวกเขา เพราะไม่แน่ใจว่ากระบวนการทำงานของ TikTok หลังจากได้รับการรีพอร์ตแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เลยไม่เชื่อมั่นในฟีเจอร์นี้สักเท่าไร
ดังนั้น ในเราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า TikTok จะออกแบบมาตรกรรับมือกับคอนเทนต์สุ่มเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วความรับผิดชอบต่อคอนเทนต์ที่ออกมา คงไม่ใช่เรื่องของผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว
อ้างอิงจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon