ทุกเมืองบนโลกมีหลายเฉดหลายสี เมืองที่เหมือนจะเต็มไปด้วย ‘ผู้ดี’ อย่างปารีสก็ด้วย เมื่อพูดถึงพื้นที่สาธารณะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ภาพการแฮงค์เอาท์ในบาร์ชั้นสูงแบบในภาพสเก็ตช์ โปสเตอร์ และ caricature ของศิลปินชาวฝรั่งเศส Henri de Toulouse-Lautrec ก็ผุดขึ้นมา
ผลงานของเขาสะท้อนสองธีมหลัก อันได้แก่ความมลังเมลืองเรืองรองของไลฟ์สไตล์หรูหราในบาร์และคาบาเรต์ของปารีส กับเรือนร่าง การเคลื่อนไหว และกระโปรงบานที่พลิ้วไหวของสตรีนักเต้นผู้เป็นแหล่งรวมแรงบันดาลใจของเขา — แต่เหล่านี้เป็นเพียงภาพของสตรีที่วนเวียนอยู่ในวงสังคมชั้นสูงใช่หรือไม่ แล้วสตรีชนชั้นอื่นไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนกัน?
กรณีนี้ผู้เขียนนึกถึงเหล่าผู้หญิงชนชั้นแรงงานในเขตชุมชนของปารีสค่ะ หากผู้อ่านเคยอ่าน L’Assommoir (1877) หรือ ‘เมรัยพิฆาต’ นวนิยายเล่มที่ 7 ของหนังสือชุด Les Rougon-Macquart ว่าด้วยประวัติศาสตร์ครอบครัวหลากชนชั้นโดย เอมิล โซล่า (Émile Zola) ก็คงจะนึกภาพร้านซักรีด และโรงซักผ้า (public washhouse) ในเขตที่พักอาศัยและชานเมืองปารีสในศตวรรษที่ 19 ออกอยู่บ้าง แต่หากไม่เคยอ่านก็คงจะจินตนาการตามได้ไม่ยากเช่นกัน
ขณะอ่านนิยายหลากชีวิตเล่มนี้ ผู้เขียนนึกถึงแฟลตสิบสามชั้นที่เคยอาศัยอยู่ตอนเด็กซึ่งจะมีเพื่อนบ้านที่ใช้ห้องตัวเองเป็นร้านซักรีดอยู่สองห้อง หนึ่งในนั้นอยู่ชั้นเดียวกันจึงมีโอกาสได้ใช้บริการและไปวิ่งเล่นที่ห้องน้าแกอยู่บ่อยๆ กลิ่นผงซักฟอกในห้องซักผ้า ความอับชื้นในห้องตากผ้า และไอร้อนลวกผิวในห้องรีดผ้านั้นคล้ายคลึงกับที่ เอมิล โซล่า บรรยายในหนังสืออยู่มาก
ในบทความชื่อ The Violence of Ideological Distortion: The Imagery of Laundresses in 19th Century French Culture นักประวัติศาสตร์ศิลปะ Eunice Lipton ยกย่อหน้าหนึ่งมาจากหนังสือเพื่ออธิบายว่า ในช่วงฤดูร้อนของปารีส ไอร้อนที่เตารีดกว่าสิบเตาที่พวยพุ่งออกมาพร้อมกันทำให้พวกเธอรู้สึกอึดอัดและสูดหายใจได้ยากเย็นจนต้องปลดเสื้อนอกเสื้อในให้พอหายใจคล่อง โซล่าเขียนไว้ว่า “… There were ten irons heating round the roaring flue-pipe … The heat was enough to kill you. The street door had been left open, but not a breath of air came in …”
แต่มันก็ไม่ได้มีแค่ความร้อนที่ฆ่าพวกเธอ หากแต่ยังมีความยากจน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ความเป็นแม่ ความเป็นหญิง และความเมามายคอยท่าอยู่เสมอ
บทความชิ้นเดียวกันนี้อธิบายว่า รายได้ของพวกเธอนั้นต่ำเพียง 3.25 ฟรังก์ต่อวัน เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของแพทย์ที่มากถึง 20 ฟรังก์ต่อวัน ซึ่งไม่พอแน่เมื่อนับว่าพวกเธอต้องหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งสามีก็ไม่ได้ได้ค่าจ้างมากไปกว่ากันเท่าไหร่ ยิ่งมีลูกด้วยแล้วก็ยิ่งยากเพราะนอกจากจะต้องเลี้ยงให้รอดยังต้องเลี้ยงให้ดี ซึ่งอย่างหลังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเธอไม่มีโอกาสใช้เวลาร่วมกับลูกๆ มากเท่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง พวกเธอต้องทำงานหนักถึง 15-18 ชั่วโมงต่อวัน สภาพแวดล้อมในการทำงานก็เข้าขั้นเลวร้าย เพราะนอกจากจะร้อนเหลือทนแล้ว ยังเต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศจากเชื้อโรคที่ติดมากับเสื้อผ้าสกปรก อากาศที่ไม่ถ่ายเทเนื่องจากไอร้อนของเตารีดนั้นกินพื้นที่ในอากาศไปหมด และความแออัดของสถานที่ ถึงขนาดที่พวกเธอต้องกินนอนในห้องด้านหลังซึ่งเต็มไปด้วยเสื้อผ้าที่คนมาส่งซัก ยิ่งเป็นร้านซักรีดขนาดเล็กในชุมชนยิ่งแออัดยัดเยียดยิ่งกว่าร้านซักรีดที่มีลักษณะเป็นโรงงานใหญ่ๆ เสียอีก งานวิจัยหลายชิ้นบอกอีกด้วยว่าพวกเธอมักจะเสียชีวิตตอนอายุประมาณ 50 ปีด้วยโรคร้ายสารพัด รวมทั้งโรคแอลกฮอลิคที่มีผลมาจากการอัดเหล้าเพื่อเพิ่มพลังในการทำงานและเพื่อความสำราญของพวกเธอ
ผู้เขียนเห็นด้วยกับตัวโซล่าและนักวิจารณ์หลายคนว่าสภาพแวดล้อมและสภาพที่อยู่อาศัยเป็นส่วนสำคัญในการกำกับพฤติกรรมมนุษย์ และการที่พวกเขาเลือกเส้นทางชีวิตให้ตัวเองไม่ได้ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาผิดหรือควรถูกประณาม โดย Ian Kim Hallaran เสนอไว้ในธีสิสปี 1971 ของเขาว่า “เหล่าชนชั้นแรงงานในเรื่องนั้นเป็นผลิตผลของสิ่งแวดล้อมประเภทที่นำพามาซึ่งอาชญากรรม การล่วงประเวณี และโรคติดเหล้า ว่าอย่างง่ายคือพวกเขาถูกตัดขาดออกจากคนอื่นที่เหลือในสังคมและความมั่งคั่งของคนที่พวกเขาเป็นฐานให้ และถึงแม้การเลื่อนชนชั้นขึ้นไปจะเป็นไปได้ แต่มันก็ยากเหลือเกิน ส่วนมากแล้วพวกเขามักจะอยู่อย่างสลดและตายอย่างหดหู่”
เมื่ออ้างอิงจากสภาพแวดล้อมดังว่าก็สามารถเข้าใจได้ว่า เหตุใด ‘พวกเธอ’ ถึงเป็นแบบที่ ‘พวกเขา’ อยากให้เป็นไม่ได้ ถามว่าอยากให้เป็นแบบไหน ก็คงจะต้องตอบว่า เพศหญิงที่มีลักษณะเรียบร้อย เป็นมิตร น่าทะนุถนอม และมีพฤติกรรมอันเป็นที่น่าชื่นชม (ก็ในสายตาของพวกเขานั่นแหละ)
เพราะฉะนั้นหากจะให้จำกัดความ พวกเธอคงเป็นผู้หญิงเชิงรุกที่ ‘รุกล้ำ’ เข้าไปโลดแล่นในฐานะตัวละครที่ active (ไม่ใช่ passive อย่างแม่สาว Jane Avril ผู้เป็น muse ของ Toulouse-Lautrec) ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่เหมือนจะไม่ใช่และไม่เคยเป็นของพวกเธอมาก่อน รวมทั้งเข้าไปทะลุทะลวงชุดความเข้าใจที่ว่ากุลสตรีที่แท้ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เพราะพวกเธอไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคาดหวัง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
หลังจากที่ทางการออกกฎหมายห้ามซักผ้าในลำธารเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 และยุคนั้นยังไม่มีเครื่องซักผ้า พวกเธอต้องมารวมตัวกันที่โรงซักผ้าสาธารณะ โดยโรงซักผ้าในเรื่องไม่ได้มีแค่พวกเธอที่ทำงานในร้านซักรีด แต่ยังมีผู้หญิงธรรมดาสามัญในชุมชนเดียวกันแบกกองผ้ามาซักด้วย เมื่อนั้นเองที่พวกเธอได้ปฏิสัมพันธ์ จองที่นั่งให้กัน แบ่งปันสบู่ซักผ้า และนินทาชาวบ้านกันอย่างอึกทึกครึกโครม เห็นได้จากฉากตบกันกลางโรงซักผ้าอันโด่งดัง ที่ถังน้ำกับกระดานซักผ้าได้กลายเป็นอาวุธทำลายล้างให้พวกเธอใช้ฟาดฟันกันอย่างมันส์มือ
ว่าด้วยความเป็นกุลสตรีที่แท้ซึ่งพวกเธอไม่ได้เป็น เมื่อสามีของแฌร์แวส (นางเอกของ L’Assommoir) ทิ้งเธอไป เธอก็กลายร่างจากหญิงสาวที่ขยันขันแข็งและปฏิบัติตัวตามแบบแผนมาเป็นสาวเชิงรุกที่เปิดเผยความเปลือยเปล่าของร่างกาย (การปลดเสื้อนอกขณะซักผ้ารีดผ้านั่นไง) ปรากฏกายในร้านเหล้า (ในบาร์อัซซอมมัวร์มีแต่พวกผู้ชายใช่หรือไม่) และรุกคืบเข้าไปยังเครื่องเพศของชายอื่น (โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับมากมาย) เหล่านี้เป็นพื้นที่ของ ‘ความน่าขยะแขยง’ ในสายตาพวกผู้ชาย — แต่ความน่าขยะแขยงนั้นก็ไม่มีความหมายอีกต่อไปเมื่อพวกเธอลุกขึ้นสไตรค์เพื่อขอขึ้นค่าจ้างและเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน จนนำมาซึ่งกฎหมายปี 1900 ที่ห้ามไม่ให้เด็กและสตรีทำงานเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน และผู้ชายไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งห้ามไม่ให้สตรีทำงานในโรงงานยามค่ำคืนด้วย
ถึงสมัยนี้จะมีเครื่องซักผ้าแล้วและน้าสาวข้างบ้านก็ไม่ได้หอบผ้าของลูกค้าไปซักรวมกับคนบ้านอื่นหรือตบกับใคร แต่หลังจากซักรีดผ้าให้ลูกค้าเสร็จ น้าก็ยังเลือกที่จะหิ้วขวดเหล้าไปนอนกับชู้ที่อยู่ซอยข้างๆ อย่างสบายใจอยู่ดี จนบางทีผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่า บางอย่างไม่ได้เปลี่ยนไป แต่วิ่งวนตามกาลสมัย ส่วนอาชีพ เพศ กับสถานที่เกิดเหตุกลับไม่ใช่ข้อจำกัด
อ้างอิงข้อมูลจาก
L’Assommoir มีเวอร์ชั่นหนังด้วยเหมือนกันโดยใช้ชื่อว่า Gervaise (1956, René Clément) เผื่อใครไม่ไหวกับความหนาของหนังสือก็ลองหามาชมได้ แต่ผู้เขียนคิดว่าหนังสือสนุกกว่ามากๆ