ผีชุดเดรสสีขาวกับผมเผ้ายาวปิดหน้า
ผีนางรำสาวกับซาวด์ดนตรีไทยแบบจัดเต็ม
แม้จะตายกลายเป็นวิญญาณไปนานนับหลายปี แต่พวกเขาก็ยังคงมีเสื้อผ้าหน้าผมแบบจัดเต็มไม่ต่างอะไรกับตอนยังมีชีวิตอยู่เลย แถมผีบางตนยังมีพร็อพประกอบเพิ่มดีกรีความหลอนของตนเองอีกด้วย ทำเอาใครที่ได้พบเจอ ไม่วิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ก็คงต้องเป็นลมล้มพับกันบ้างแหละ
เครื่องแต่งกายของเหล่าผีหรือดวงวิญญาณทั้งหลายถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ซึ่งช่วยให้เราจดจำพวกเขาได้ดีขึ้น พร้อมกับบอกได้ว่า ผีตนนี้คือใคร หรือวิญญาณตนนั้นชื่ออะไร เช่น เมื่อเห็นผีหญิงสาวนุ่งโจงห่มสไบยืนอยู่บนบ้านทรงไทย หลายคนก็คาดเดาไปแล้วว่าเป็นผีนางนาค!
นอกจากเสื้อผ้าการแต่งกายจะบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ความเป็นผีของแต่ละตนแล้ว แฟชั่นเหล่านี้ยังมีความแตกต่างไปตามช่วงเวลาด้วย เสื้อผ้าจึงไม่ต่างอะไรกับหน้ากระดาษที่คอยจดบันทึกเรื่องราวเบื้องหลังไว้ และถ่ายทอดออกมาผ่านการปรากฏกายของผีในแต่ละครั้งนั่นเอง
เปิดประตูสู่โลกของผี
“อย่าเดินผ่านบ้านทรงไทยหลังโรงเรียนเด็ดขาดเลยนะ ได้ข่าวว่ามีเด็กหลายคนเดินผ่านไปตอนโพล้เพล้ แล้วได้ยินเสียงดนตรีไทยบรรเลง พร้อมกับผีสาวในชุดไทยออกมาแสดงร่ายรำอย่างชำนาญ ราวกับว่าเธอรำอยู่ตรงนี้มานานนับหลายปีแล้ว” พอได้ยินเรื่องเล่าขาน หรือตำนานเกี่ยวกับเรื่องผีสางตามสถานที่ต่างๆ ก็เริ่มเสียวสันหลัง ทำเอาเราหวาดกลัว จนเผลอๆ บางครั้งเอาเก็บไปคิดต่อในหัว และหลอนไป 3 วัน 8 วัน
ทว่า หากตัดเรื่องความน่ากลัวออกไปกลับเห็นได้ว่า เรื่องเล่าผีๆ เหล่านี้มักผูกโยงกับทั้งความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีอันแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดต้นทางของเรื่องราวสุดหลอนเหล่านี้ว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหน เพราะแต่ละพื้นที่และช่วงเวลาย่อมมีความแตกต่างกันทั้งความเชื่อและวัฒนธรรม
เรื่องผีสาง เรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณผู้กลับมาจากความตาย เพื่อหลอกหลอนตามสถานที่ที่พวกเขาจากไป มักปรากฏในรูปแบบนิทาน ความเชื่อ มุขปาฐะต่างๆ โดยอ.กลิ่น คงเหมือนเพชร ได้นำเสนอที่มาของความเชื่อเรื่องผี ในหนังสือศึกษาวิเคราะห์ คติความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา เอาไว้ว่า ผีสางเทวดาเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเกิดจากความฉงนสงสัยในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ อาทิ ฝนตก ฟ้าร้อง โรคระบาด รวมถึงความตาย
เมื่อมนุษย์ไม่เข้าใจต่อปรากกฎการณ์เหล่านั้น ตลอดจนไม่สามารถหาสาเหตุที่มาที่ไปได้ จึงนำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับอำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งบันดาลให้เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมา อาจเป็นทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย จนทำให้มนุษย์แบ่งสิ่งลี้ลับออกเป็น 2 ส่วนคือ ‘ภูตผีปีศาจ’ และ ‘เทวดาหรือผีฟ้า’
จากแนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องผีๆ นั้นผูกโยงกับความเป็นมนุษย์มาตั้งแต่แรกเริ่ม หรืออาจกล่าวได้ว่า เรื่องผีหรือเรื่องชวนหลอนต่างๆ เกิดขึ้นมาจากมนุษย์ด้วยกันเอง ผ่านการผสมเรื่องราวโดยรอบในสังคม ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด วัฒนธรรม และความเชื่อ จนเกิดเป็นเรื่องผีอย่างที่เรารับรู้กันมา
หากจะยกตัวอย่าง ‘ผีนางนาค’ เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าที่สามารถแสดงให้เราเห็นถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนกว่าร้อยปีที่แล้วของไทยได้ชัดเจนพอสมควรทีเดียว โดยรวมแล้วนั้น ผีนางนาคสะท้อนภาพของการใช้ชีวิตริมคลองของผู้คน ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับกับน้ำ รวมไปถึงวิธีการและภูมิปัญญาทางการแพทย์ไทยในสมัยก่อน โดยเฉพาะเรื่องของการทำคลอดเด็ก
ทั้งนี้ ภาพสะท้อนต่างๆ ของผีนางนาคยังสอดคล้องกับแนวคิดของอ.กลิ่น ที่ว่าผู้คนมักนำเรื่องผีสางมาเป็นตัวกำหนดบทบาทในการใช้ชีวิต อย่างการทำให้ชุมชนดูน่ากลัวเพราะมีผีนางนาค เมื่อถึงเวลามืดค่ำ ผู้คนก็ไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปในเรื่องผีต่างๆ นานา เราจะเห็นถึงภูมิปัญญาของผู้คนที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ในเรื่องเล่า
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกใส่เข้ามาพร้อมกับเรื่องเล่าผีสางต่างๆ คือ ‘เครื่องแต่งกาย’ อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของผีแต่ละตน เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่องค์ประกอบเพื่อเพิ่มความหลอนของเรื่องเล่า แต่ยังเป็นอีกส่วนสำคัญซึ่งช่วยชี้ให้เราเห็นถึงภูมิปัญญา ความเชื่อ หรือกระทั่งวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
แม้พวกเขาจะตายกลายเป็นผีสาง ทว่าก็ยังมีส่วนเกี่ยวโยงและสะท้อนโลกของคนเป็นอยู่ผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดยงานศึกษาเสื้อผ้าในโลกหลังความตายในเรื่องเล่าผีศตวรรษที่ 19 ของอวีวา บรีเฟล (Aviva Briefel) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเสื้อผ้าของผีในฐานะหลักฐานชิ้นสำคัญ เพื่อตอกย้ำให้เราเห็นว่า ผีที่อยู่ในโลกหลังความตายยังคงมีความข้องเกี่ยวกับโลกของคนเป็น เนื่องจากเสื้อผ้าเป็นภาพสะท้อน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของผู้คนได้
เสื้อผ้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาที่ถูกใส่เข้ามาในเรื่องผีสางตามแนวคิดของอ.กลิ่น เพราะมันคืออีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา และความคิดของผู้คนตามแต่ละยุคสมัยได้ เมื่อเราเห็นผีและเครื่องแต่งกายพวกเขาก็อาจจะระบุได้ว่า ผีตนนั้นมาจากยุคสมัยใด ตลอดจนช่วยให้เราย้อนกลับไปดูตัวตนของพวกเขาเมื่อตอนยังชีวิตอยู่ได้เช่นกัน
ผี เสื้อ และเรื่องราว
ผีบางตนก็คลุมผ้าสีขาวลอยไปลอยมา แต่ทำไมผีบางตนถึงได้ใส่ชุดจัดเต็มเว่อร์วังอลังการ? นั่นอาจเป็นเพราะพวกเขาตายกันคนละช่วงเวลา
ในช่วงเวลาหนึ่ง ผีอาจปรากฏกายด้วยการแต่งกายที่สะท้อนคติความเชื่อ หรือวัฒนธรรมของยุคนั้น ๆ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เสื้อผ้าหน้าผมของพวกเขาก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดหรือแนวเชื่อใหม่ ๆ ของผู้คนในสมัยนั้นได้เช่นกัน เพราะวัฒนธรรมและความเชื่อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อลักษณะของผีในแต่ละยุคสมัยแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในด้านการแต่งกาย เสื้อผ้าเหล่านั้นจึงอาจสะท้อนเรื่องราวบางอย่าง ที่มา และช่วงเวลาตอนพวกเขาโบกมือลาโลกไปให้เรารู้ได้ ตัวอย่างเช่น
ผีชีเปลือย
ไม่ใช่ว่าจะทะลึ่งแต่อย่างใด ทว่าหากย้อนกลับไปช่วงสมัยยุคกลาง เรื่องเล่าหรือนิทานเกี่ยวกับผีต่างๆ ที่ปรากฏต่างก็ไม่ใส่เสื้อผ้า โดยมักปรากฏตัวให้ผู้คนเห็นแบบล่อนจ้อน เช่น เรื่องเล่าในช่วงปี 1447 นักโทษ 5 คนถูกตัดสินให้แขวนคอพร้อมกับถูกถอดเสื้อผ้าเพื่อเตรียมรับโทษทัณฑ์ นานวันเข้า ผู้คนก็มีการพบเห็นชายเปลือยกายทั้ง 5 ตามหลอกหลอนผู้คนในเมืองดังกล่าว
การไม่ใส่เสื้อผ้าของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในช่วงเวลาดังกล่าว ที่มองว่าการเปลือยเปล่าเป็นสัญลักษณ์ของความอับอายและความบาป ตลอดจนบ่งชี้ให้เห็นถึงการถูกลงโทษในสมัยนั้น
ผีผ้าคลุมชุดขาว
ทุกคนอาจคุ้นชินกับผีผ้าคลุมชุดขาวที่นิยมแต่งกันในช่วงเทศกาลฮาโลวีน ทว่ารู้ไหมว่าผีเหล่านี้ไม่ได้เอาผ้าขาวทั่วไปมาคลุมร่าง แต่มันคือ ‘ผ้าห่อศพ’ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของผีตั้งแต่ช่วงยุคกลางเป็นต้นมา จนถึงราวๆ ศตวรรษที่ 19 โดยมีหลักฐานบันทึกภาพลักษณ์ของผีผ้าคลุมเอาไว้ ตัวอย่างเช่น ในภาพวาด The Three Living and the Three Dead ที่ถูกวาดขึ้นราวๆ ศตวรรษที่ 14
ผีผ้าคลุมชุดขาวนี้มีความเกี่ยวโยงกับประเพณีและวิธีการจัดการศพของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าว คนสมัยนั้นมักใช้การห่อศพด้วยผ้าแล้วนำไปฝังเลยทั้งอย่างนั้น มากกว่าจะบรรจุร่างเอาไว้ในโลงศพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนยากจนซึ่งใช้ผ้าปูเตียงมาเป็นผ้าห่อศพเลยเมื่อญาติของพวกเขาเพิ่งเสียชีวิต ด้วยการผูกปมทั้งฝั่งหัวท้าย และนำไปฝั่งดิน
ผีนางรำ
ผีนางรำ หญิงสาวผู้มีใบหน้าขาวโพลน ริมฝีปากสีแดงสด กับชุดนางรำเต็มยศ มักปรากฏตัวขึ้นมาพร้อมกับภาพของวงดนตรีไทย หรือเสียงเครื่องดนตรีไทยที่คอยบรรเลงอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้เธอได้คอยร่ายรำแสดงความน่าสะพรึงกลัวให้กับคนเป็นได้เห็น ซึ่งนอกจากดนตรีไทยจะแสดงถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นไทยแล้ว ผีนางรำยังผูกโยงกับแนวคิดและความเชื่อของคนไทยด้วยเช่นเดียวกัน
ผีนางรำถือเป็นภาพจำความเชื่อของคนไทยมาช้านาน เธอคือตัวแทนสำคัญของศาสตร์นาฏศิลป์ไทย ซึ่งเชื่อกันว่ามีความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิ์ประสาทวิชาสืบต่อกันมา โดยการร่ายรำนั้นคือสิ่งที่อยู่ควบคู่กับแทบทุกกิจกรรม หรืองานประเพณีต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นการรำอวยพร การรำบายศรีสู่ขวัญ หรือกระทั่งในงานอวมงคล เช่น งานศพก็มีธรรมเนียมการร่ายรำด้วยเช่นกัน
ผีก็ใส่เสื้อผ้าตัวเองนี่แหละ
‘ผีชุดเกราะ ผีชนชั้นสูงในชุดเต็มยศ หรือผีชาวบ้านในชุดทั่วไป’ ทั้งๆ ที่พวกเขาตายไปแล้ว แต่ก็ยังได้ใส่เสื้อผ้าของตัว ในเรื่องเล่าผีสางสมัยใหม่ เหล่าบรรดาคุณผีมักถูกเล่าพร้อมกับบรรยายลักษณะเสื้อผ้า ซึ่งสอดคล้องไปตามชีวิตจริงแบบตอนที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่
อวีวาได้นำเสนอในงานศึกษาของตนว่า ผีที่สวมเสื้อผ้าร่วมสมัย หรือเสื้อผ้าเมื่อครั้งยังมีชีวิต เป็นการเชื่อมโยงผีกับโลกความเป็นจริง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของผี การระบุถึงตัวตน สถานะทางสังคม ชนชั้น บทบาทหน้าที่ โดยเขายังมองอีกว่า การสร้างภาพจำของผีในลักษณะนี้ทำให้เราเข้าถึงผีได้ง่ายมากขึ้น อนึ่งเพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างความเหนือธรรมชาติกับความเป็นจริงลง
ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผีจากพื้นที่ไหน จากช่วงเวลาใด ผีก็ล้วนมีเรื่องราวเป็นของตนเองทั้งนั้น แถมเบื้องหลังเสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นภาพจำความหลอนติดตาเรา ยังแฝงไปด้วยความเชื่อ แนวคิด วัฒนธรรม และความเป็นมาอันหลากหลาย แถมยังเป็นส่วนสำคัญซึ่งเชื่อมโลกคนเป็นกับคนตายเข้าไว้หากันด้วย
แล้วภาพจำผีในยุคนี้ของทุกคนแต่งตัวอย่างไรกันบ้าง? ยังใส่ชุดไทยเต็มยศ หรือคลุมผ้าสีขาวลอยไปลอยมาอยู่ไหม? แต่ไม่ว่าจะใส่เสื้อผ้าแบบไหน ถ้าโผล่มาให้เจอละก็ ขอใส่เกียร์วิ่ง ชิ่งหนีไปก่อนเลยแล้วกัน
อ้างอิงจาก