พิทบูล—สุนัขประเภทหนึ่งที่ถูกเพาะพันธุ์ขึ้นเพื่อต่อสู้กับสุนัขด้วยกันเองในอดีต โดยมันเป็นสุนัขที่มีกล้ามเนื้อกะทัดรัด จมูกสั้น และขากรรไกรที่แข็งแรง
พวกมันมักจะมีหัวสี่เหลี่ยม ขนสั้น และหูที่ตกโดยธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ หรือบางรัฐของสหรัฐอเมริกาแบนการเลี้ยงพิทบูล เนื่องจากมันถูกจัดว่าเป็นสุนัขอันตรายและก้าวร้าวมากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ
แต่หากย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราคงจะรู้จักมันดีโดยเฉพาะด้านความดุร้าย ที่สืบเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของกรณีสุนัขพิทบูล หรือสายพันธุ์ที่มีลักษณะใกล้เคียง ทำร้ายเจ้าของจนบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมผู้คนยังเลี้ยง หรือจะหยุดยั้งเหตุการณ์อันโหดร้าย ที่เกิดขึ้นจากฝีมือพวกมันได้อย่างไร?
The MATTER พูดคุยกับ กรรมการผู้ก่อตั้งชมรม ไทย พิทบูล เคลเนล คลับ เพื่อคลี่คล้ายข้อสงสัยที่มีต่อพิทบูล
พิทบูลแท้ ไม่กัดคน?
กรรมการผู้ก่อตั้งชมรมฯ เริ่มต้นพูดคุยกับเราว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งในกรรมการร่างกฎหมายสุนัขอันตรายของกรมปศุสัตว์ โดยขณะนี้ก็กำลังถกเถียงกันอยู่ หลังจากเกิดเหตุอเมริกัน บูลลี 3 ตัว กัดน้องของเจ้าของจนเสียชีวิต “ถ้าพูดถึงพิทบูล ตามจริงแล้วมันถือเป็นสุนัขที่ถูกเพาะพันธุ์มาเพื่อการต่อสู้ ซึ่งในอดีตจะมีสนามที่ให้พิทบูลมากัดแข่งกัน”
ดังนั้นเป็นการตอกย้ำว่าตามหลักสายพันธุ์ของพิทบูลแล้ว ต้องปล่อยให้มันลงไปในสนามและให้กัดกัน ซึ่งหากมันย้อนกลับมากัดมนุษย์หรือเจ้าของ สุนัขตัวนั้นจะถูกฆ่าทิ้ง หรือ การุณยฆาต (put to sleep) ทันที
“วิธีดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อคงสายพันธุ์พิทบูลพันธุ์แท้เอาไว้ เพราะตามธรรมชาติแล้วมันต้องสู้กันเอง ไม่ใช้ทำร้ายมนุษย์”
เขายกตัวอย่างว่า พิตบูลบางตัวที่ลงไปแข่งกัดกัน มีอาการบาดเจ็บหนักเจียนตาย แต่ถ้าเจ้าของไม่บอกว่าให้มันหยุดสู้ มันก็จะไม่หยุด มันจะสู้ต่อไป ฉะนั้นแล้วถ้าเป็นสายพันธุ์แท้ โอกาสน้อยมากที่มันจะกัดคนหรือเจ้าของ เพราะสุนัขพันธุ์นี้เกิดมาเพื่อต่อสู้กันเอง หรือถูกนำมาใช้งานปศุสัตว์ เช่น ไล่เป็ดน้ำ หมูป่า และกระทิง
สมมติหมูป่าหรือเสือเข้ามารุกรานที่อยู่อาศัยของคน สุนัขพวกนี้จะเป็นฝ่ายคอยคุ้มกันผู้หญิง เด็ก และคนชรา เพราะสังคมสมัยอดีตผู้ชายส่วนใหญ่มักออกไปทำงานข้างนอก
กรรมการผู้ก่อตั้งชมรมฯ ชี้ว่าก็นำมาสู่คำถามที่ว่าแล้วทำไมตอนนี้พิทบูลถึงกัดคน โดยเขาตอบว่า เพราะคนบางส่วนเห็นว่าสุนัขพวกนี้มีความจงรักภักดี แต่บางครั้งไปเจอศัตรูที่ใหญ่กว่าอย่างกระทิง พวกมันจะสู้ไม่ไหว แม้จะมีความมุ่งมั่นที่จะสู้ก็ตาม
“จึงเกิดการนำสุนัขสายพันธุ์อื่นมาผสมกับพิทบูล เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการ จนเกิดสุนัขสายพันธุ์ผสม ที่มักจะมีจิตประสาทที่ไม่นิ่ง หากเทียบกับพิทบูลสายพันธุ์แท้”
การขึ้นทะเบียน การทำหมัน ช่วยแก้ที่ต้นตอ
ทั้งนี้ ไทย พิทบูล เคลเนล คลับ มีการลงทะเบียนสุนัขไว้ทั้งหมด 40,000 กว่าตัว ด้วยการใช้วิธีฝั่งไมโครชิพ รวมถึงมีการขึ้นทะเบียนคอกฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขราว 1,800 ฟาร์ม “ทุกครั้งที่มีข่าวสุนัขกัดคน เราจะทำการสืบค้นว่าเป็นสุนัขที่อยู่ภายใต้สังกัดหรือเปล่า โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สุนัขที่จดทะเบียนกับชมรมไม่เคยก่อเหตุดังกล่าวเลย”
เขาให้เหตุผลว่า เพราะเจ้าของที่จดทะเบียนทุกคนพร้อมที่จะเปิดหน้า เท่ากับว่าพวกเขาสามารถที่จะควบคุมและดูแลสุนัขได้
“สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดไม่ได้จะเข้าข้างสุนัข แต่จะชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงอย่างถูกต้องเป็นประเด็นสำคัญจริง แต่ถือว่าเป็นปลายเหตุ เพราะต้นเหตุคือการเพาะพันธุ์อย่างเหมาะสม ไม่เลือดชิด หรือผสมข้ามสายพันธุ์”
สมมติทุกวันนี้ซื้อสุนัขสายพันธุ์แท้มาตัวละ 50,000-60,000 บาท แต่พอได้มาอยากจะเพาะพันธุ์ขาย พอผสมสำเร็จก็นำมาขายตัวละหมื่น พอขายได้ ขายดี ก็เริ่มผสมมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มักเป็นสุนัขเลือดชิด เพราะเอาพ่อ พี่น้อง เครือญาติมาผสมกัน
บางคนมักง่ายกว่ามากคือ นำพิทบูลไปผสมกับสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ อาทิ ไซบีเรียน ซึ่งสุนัขพันธุ์ดังกล่าวเป็นสุนัขลากเลื่อน ที่มีลักษณะไม่ค่อยนิ่ง ดังนั้นแล้ว พอเจอกับพิทบูลที่มีความมุ่งมั่น และมีภาระกำลังทำลายล้างสูง ทำให้ผู้ที่เอามาเลี้ยงไม่สามารถรับมือไหว และเมื่อเกิดปัญหาสุนัขดังกล่าวก็มักจะถูกระบุว่าเป็นพิทบูล
และด้วยสภาวะของประเทศไทยที่กฎหมายคุ้มครองไม่ทั่วถึง “ผมพูดคุยกับกรมปศุสัตว์ว่าควรมีการขึ้นทะเบียน หรือออกนโยบาย Set Zero หรือ การทำหมัน โดยข้อบังคับเหล่านี้จะครอบคลุมกับสุนัขจรจัดด้วย”
กรรมการผู้ก่อตั้งชมรมฯ อธิบายว่า ถ้าพิทบูลกัด ก็ยอมรับว่าผิด ไม่เถียงแทน แต่ปีหนึ่งมีคนเสียชีวิตเและบาดเจ็บเพราะพิทบูลมากสุดราวๆ 20 เคส ในทางกลับกันสุนัขจรจัด หรือก็มีการไล่ตามรถจนเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง เหตุการณ์ลักษณะนี้ถือเป็นภัยแฝง และสุนัขพันธุ์เล็กๆ เช่น ชิสุ ชิวาว่า มีสถิติการกัดเจ้าของมากกว่าหากเทียบกับพิทบูล ทว่าอาจด้วยภาระกำลังและแรงกัดที่น้อยกว่า จึงไม่ก่อความเสียหายเท่า
ถ้าเราเลี้ยงสุนัขตามวัตถุประสงค์ หาข้อมูลแหล่งที่มาของสุนัขก่อน โอกาสที่จะกัดเจ้าของจะน้อย และค่อยมาดูเรื่องการเลี้ยง เพราะตามความจริงแล้ว คนเลี้ยงไม่สามารถควบคุมสุนัขที่เลี้ยงได้ 24 ชั่วโมง แม้ว่าสุนัขจะถือเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็ยังมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ที่บางครั้งมนุษย์ไม่สามารถจะควบคุมพฤติกรรมบางอย่างได้
“พอได้สุนัขมาวิธีควบคุมสุนัขที่ดีที่สุดคือ มีพื้นที่ให้อยู่ เป็นที่เป็นทาง รวมถึงเวลาพาสุนัขไปเดินเล่น ผู้เลี้ยงต้องตระหนักเสมอว่า สุนัขเรามีโอกาสทำร้ายคนอื่นได้ แม้ว่ามันจะไม่เคยทำเช่นนี้กับเรา ดังนั้นการใส่สายจูงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าจะมีสิ่งเร้าอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า”
เขายอมรับว่า พิทบูลเป็นสายพันธุ์สุนัขลำดับต้นๆ ที่แพ้ต่อสิ่งเร้า โดยเฉพาะการเล่น เนื่องจากเวลาที่พวกมันได้เล่น พวกมันจะยิ่งสนุก ไม่ต่างกับการต่อสู้ บางครั้งทำให้เกิดการลืมตัว ฉะนั้นแล้วเจ้าของที่เลี้ยงต้องรับมือให้ไหว เริ่มต้นอย่างน้อยต้องมีปลอกคอ สายจูง ที่เปรียบเหมือนเครื่องพันธนาการ สิ่งเหล่านี้ผมกำลังปรึกษาหารือกับคณะร่างกฎหมาย ที่พวกเขาจะต้องปรับปรุงกฎหมายสวัสดิภาพสุนัข
พิทบูลเป็นจำเลยสังคมเพราะสื่อ
ทั้งนี้ เขาพูดถึงกรณีล่าสุด [อเมริกัน บูลลี กัดน้องของเจ้าของจนเสียชีวิต] ว่า หลายสำนักข่าวระบุคล้ายกันว่า พวกมันดุร้าย พวกมันกัดคนจนเสียชีวิต โดยไม่ชี้แจงเบื้องลึกเบื้องหลังของสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งเขามองว่ามันคืออุบัติเหตุ
“แต่สื่อกลับนำประเด็นไปขยี้ว่า หมาดุ เหมือนโฟกัสที่จะขายข่าว ซึ่งผมมองว่ายิ่งทำให้ภาพของสุนัขลักษณะนี้ดูน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก”
ทำให้ทุกครั้งเวลาเกิดกรณีเช่นนี้ ทางเราจะเน้นย้ำเสมอว่า ‘อย่าเพาะเลี้ยงเพื่อการขาย’ เพื่อเป็นการจำกัดหรือตีวงการเพาะพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมให้แคบลง
ซื้อจากฟาร์มที่คุณภาพ ยุติการเพาะพันธุ์ผิดกฎหมาย
กรรมการผู้ก่อตั้งชมรมฯ กล่าวว่าเขามีฟาร์มที่ลงทะเบียนไว้กับชมรมราว 1,880 ฟาร์ม แต่ทั่วประเทศมีฟาร์มสุนัขประมาณหลักหมื่น เขาขยายประเด็นเพิ่มว่าเหตุที่ฟาร์มในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า
“ปัจจุบันเพียงแค่หาสุนัขตัวผู้และตัวเมียมาผสมก็เรียกว่าฟาร์มได้แล้ว ถ้าเข้าไปดูใน TikTok จะเห็นการขายสุนัขตัวละ 3,000-5,000 บาท โดยที่ผู้ซื้อจะไม่มีทางรู้พื้นเพที่แท้จริงของสุนัขเหล่านี้เลย ตรงนี้ถือเป็นต้นเหตุสำคัญของหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นพิทบูลกัดเจ้าของ”
เพราะบางครั้งสุนัขที่เราเอามาเลี้ยงอาจจะเลือดชิด เกิดจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เป็นเครือญาติใกล้กัน ฉะนั้นไม่ควรส่งเสริมการเพาะพันธุ์พิทบูลอย่างไม่ถูกต้องอีกต่อไปแล้ว
เขาแนะนำว่า ถ้าอยากเลี้ยงสุนัขโดยเฉพาะสายพันธุ์ดุร้าย อยากให้ซื้อจากฟาร์มที่มีคุณภาพเท่านั้น ที่จะต้องมีใบอนุญาต และราคาสุนัขมักจะราคาสูง เพราะเป็นสุนัขที่ถูกเพาะพันธุ์มาอย่างดี
“ใครอยากเลี้ยงพิทบูลอยากให้ศึกษาก่อน อาจจะเข้ามาดูที่ชมรมเราก็ได้ เพื่อมาดูว่ารับมือกับพวกมันไหวไหม เป็นการพิจารณาตัวเองว่าควรเลี้ยงหรือไม่ควรเลี้ยง”
กฎหมายเกี่ยวข้องกับ ‘สุนัข’ อยู่ในขั้นตอนถกเถียง
กรรมการผู้ก่อตั้งชมรมฯ ชี้แจงให้เราฟังว่า กฎหมายของปศุสัตว์ถือเป็นกฎหมายใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ปศุสัตว์มุ่งเน้นจะนำกฎหมายการุณยฆาตมาใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ปัญหาสุนัขที่ทำร้ายคน
ทว่าเขาชี้แจงไปว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากการการุณยฆาต ควรใช้กับสุนัขที่มีสุขภาพร่างกายไม่ไหวแล้ว ไม่ใช่ให้พวกมันตายเพราะทำผิด
นอกจากนี้ ปศุสัตว์ยังผลักดันกฎหมายห้ามนำสุนัขสายพันธุ์พิเศษ เช่น พิทบูล ร็อตไวเลอร์ ออกนอกพื้นที่ ถ้าไม่มีการใส่อุปกรณ์เสริม เช่น ปลอกคอ สายจูง และตะกร้อครอบปาก รวมถึงกฎหมายที่ผู้เลี้ยงต้องมีพื้นที่เลี้ยงกว้างและมิดชิดให้แก่สุนัข
ส่วนนโยบายเกี่ยวกับสัตว์ที่ทางหน่วยงานกทม. กำลังหารือร่วมกับเราในขณะนี้คือ การขึ้นทะเบียนและการฝั่งไมโครชิพ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่การสืบค้นได้ว่าเจ้าของและฟาร์มของสุนัขคือใคร เวลาเกิดปัญหาจะได้ตามสืบไปยังต้นตอได้ ซึ่งก็คือตั้งแต่ฟาร์มขายสุนัขเป็นต้นมา
เขาทิ้งท้ายว่า กทม.มีการเสนอกฎหมายห้ามเลี้ยงสัตว์ประเภทพิทบูล โดยเขาให้คำตอบว่า เขาก็ชี้แจงไปว่าจะห้ามเลี้ยงได้อย่างไร สุนัขจรจัดยังมีอยู่เลย ดังนั้น Set Zero หรือ การทำหมัน ถือเป็นทางออกที่จะยุติปัญหาสุนัขที่ถูกเพาะพันธุ์อย่างไม่ถูกต้องและสุนัขจรจัด
เขาบอกว่า สิ่งที่ ชมรม ไทย พิทบูล เคลเนล คลับ ทำได้มากที่สุดในตอนนี้คือ การนำร่องและเป็นโมเดลให้แก่รัฐบาล ในการจัดการดูแลสุนัขอย่างเหมาะสม เพราะสุนัขยังสมควรเลี้ยง เพราะปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่บางบ้านไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล ดังนั้นความอุ่นใจของเจ้าของบ้านเหล่านี้ก็คือ สุนัข และพิทบูลถือเป็นสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ตรงนี้มากที่สุด
ผมสร้างชมรมขึ้นมาเพราะมองว่าพิทบูลตกเป็นจำเลยสังคม และสุนัขบางตัวถือกำเนิดขึ้นมาจากพ่อและแม่ที่มีจิตประสาทที่ไม่นิ่ง หรืออาจจะโดนเจ้าของกดดันจนเกินไป ดังนั้นกฎหมายที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นตอจึงสำคัญ