ใครจะไปคิดว่าในวันหนึ่งเราจะได้เห็นแก๊กขายหัวเราะสุดคลาสสิค ได้ไปปรากฎอยู่บนสนีกเกอร์ จริงอยู่ที่ในต่างชาติมีสิ่งนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่แบรนด์ไทยออกมาทำอะไรแบบนี้ร่วมกัน
The MATTER ได้มีโอกาสคุยถึงเบื้องหลังของ โปรเจ็กต์ PLY x ขายหัวเราะ เมื่อแบรนด์สนีกเกอร์รุ่นใหม่ ได้มาจับมือกับสำนักการ์ตูนไทยสุดคลาสิคอย่างขายหัวเราะ เพื่อหาคำตอบว่า อะไรคือเบื้องหลังของการจับมือกันครั้งนี้ กว่าจะได้เห็นแก๊กการ์ตูนสนุกๆ บนสนีกเกอร์นั้นต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง
เราคุยเรื่องราวนี้กับ บก.วิธิต อุตสาหจิต บอสแห่งขายหัวเราะ และ กอล์ฟ F.HERO ในฐานะหนึ่งในผู้หลงใหลในสนีกเกอร์ และร่วมผลักดันให้เกิดโปรเจ็กต์สนุกๆ นี้ขึ้นมา
The MATTER : ในวัยเด็ก คุณกอล์ฟมีความทรงจำกับขายหัวเราะยังไงบ้าง?
F.HERO : พ่อผมเป็นยามธนาคารและแม่เราตัดเย็บเสื้อผ้า ตอนเด็กก็จะไม่ค่อยมีเงิน แต่ทีนี้สิ่งที่จำความได้คือ เวลาพ่อพาไปที่ธนาคาร แล้วที่ธนาคารก็จะมีหนังสือขายหัวเราะมหาสนุกเล่มใหญ่ ตั้งแต่อ่านออกเขียนได้ ก็คือโตมากับสิ่งนี้ ที่เพราะว่าบ้านก็ไม่ได้มีเงินซื้อการ์ตูนให้ขนาดนั้น แต่ผมจะมีความสุขมากถ้าหากว่าเลิกเรียนแล้วพ่อรับจากโรงเรียน และพาไปที่ธนาคารตอนเย็นๆ ผมก็จะไปนั่งทำการบ้านและอ่านขายหัวเราะ
พออ่านไปอ่านมาก็จะเริ่มวนแล้ว แต่ก็ยังมีความสุขที่จะได้อ่านซ้ำๆ นานๆ ก็จะมีโดราเอมอนหรือเล่มอื่นโผล่มา ผมก็น่าจะเรียกได้ว่าขายหัวเราะน่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ไม่ใช่หนังสือเรียนที่ผมได้จับ แล้วใช้ความเป็นเด็กซึบซับแล้วก็อ่านมาตลอด มาค้นพบจริงๆ ตอนโตว่าขายหัวเราะมหาสนุกน่าจะเป็นรากฐานหรือเป็นหลักในการอ่านของตัวเอง และก็เป็นรากฐานในการที่ทำให้เราโตขึ้นมาแล้วใช้สิ่งนี้มาใช้ในวิชาชีพนักแต่งเพลง การเป็นนักเขียนหรืออะไรก็ตาม นี่คือรากฐานการใช้ภาษาของเราเลย ขายหัวเราะทำให้เราชอบอ่านหนังสือเรียนภาษาไทย
The MATTER : รู้สึกอย่างไร เมื่อเห็นว่าขายหัวเราะสามารถเดินทางมาถึงวันนี้ได้ กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือมีการรีแบรนด์เข้ากับสินค้าใหม่ๆ ได้
บก.วิธิต: ในลักษณะของแบรนด์นี่ก็น้อยที่จะมีอายุมาก ในปีหน้านี้ก็จะอายุ 50 ปีแล้ว และสิ่งที่เราได้จากคนทั่วไปก็คือเขารู้จักผลิตภัณฑ์ของเราดีมาก ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ที่ออกไปก็ได้การตอบรับที่ดีกลับมาจริงๆ อีกเรื่องนึงก็คือการขยายธุรกิจของเราเริ่มตั้งแต่ธุรกิจที่เป็นหนังสือ ก็ได้ขยายมาในหลายๆ รูปแบบ ในตอนที่คุยกัน คุณกอล์ฟ (F.Hero) ก็มีการมองไปในทางเดียวกัน มีแรงบันดาลใจเหมือนกันในช่วงวัยรุ่นก็เหมือนกัน มีความฝันเหมือนกันว่าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองฝัน และก็ประสบความสำเร็จเหมือนกัน
The MATTER : มันคือการปรับตัวเข้าหากัน
F.Hero : ในช่วงเริ่มต้นอยากทำสนีกเกอร์ จริงๆ แล้วมาจากคำว่า Apply และ ช้างพลาย ด้วยความที่ช่วงนี้ทำค่ายเพลงอยู่ด้วย (ค่ายเพลง High Cloud) ตอนที่เริ่มทำผมเลยคิดว่า ทำไมเวลาเราพูดถึงสิ่งที่มันเป็นไทยแล้วเราจะรู้สึกว่ามันเชยจังเลย
เรามีโจทย์ว่า ทำยังไงจะทำให้รู้สึกว่าความเป็นไทยมันต่อยอดไปสู่สากลได้ ที่นี้ก็เลยเดินไปคุยกันว่าเราคิดถึงขายหัวเราะ มหาสนุก เพราะว่าปีที่ผ่านมาเราไปย้อนมองแล้วเห็นถึงการพัฒนา และไม่ตกยุคของสิ่งที่ทางบรรลือสานส์คิด แล้วรู้สึกว่าแก๊กของขายหัวเราะและมหาสนุกคือความคลาสสิค ตอนนั้นเลยอยากคุยกับคุณนิว (พิมพ์พิชา อุตสาหจิต) ว่าทำยังไงถึงสามารถต่อยอดความคลาสสิคให้ยังทันสมัยตลอดเวลาได้ขนาดนี้ ก็เลยคิดเรื่องสนีคเกอร์กัน
บก.วิธิต : ผมคิดว่าความเรโทรเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากคุณค่าของของเก่าๆ มูลค่าก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ มันจึงเป็นการเพิ่มคุณค่าที่จะสามารถนำมาใช้กับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ผมให้อิสระเต็มที่กับคุณนิวในการหาช่องทางที่จะทำให้คอนเท้นท์และผลิตภัณฑ์ของเราสามารถกระจายไปในทุกๆ ช่องทางได้
PLY x ขายหัวเราะ ในมุมของผู้บริหารรุ่นใหม่
แม้ขายหัวเราะจะเป็นแบรนด์ที่อยู่กับสังคมไทยมานาน แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวก็คือเป็นเหมือนเส้นทางบังคับ เพื่อให้แบรนด์สามารถเติบโตไปพร้อมกับผู้คนได้ โดยคนที่รับไม้ต่อแบรนด์ขายหัวเราะคือ นิว—พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ผู้บริหารรุ่นที่ 3
ขณะที่ PLY เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนรองเท้าเซฟตี้ที่เน้นความปลอดภัย มาสู่สนีกเกอร์ที่รวมเอาความเป็นแฟชั่น สวยงาม ทันสมัย
PLY เกิดขึ้นจากการจับมือกันของ หนึ่ง—ภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CPL กับ เก๋—บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ ผู้บริหารแบรนด์ 31THANWA และ แรปเปอร์ชื่อดังที่เราเพิ่งได้คุยกันไปอย่าง กอล์ฟ F.Hero
ไม่ต้องบอกก็รู้ ว่าการทำธุรกิจไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และความท้าทายเพิ่มเป็นทวีคูณในช่วงเวลาที่เกิดการระบาด COVID-19 แต่ถึงอย่างนั้น เหล่าผู้บริหารรุ่นใหม่เหล่านี้ พวกเขาก็สามารถผลักดันจนโปรเจ็กต์ PLY x ขายหัวเราะเกิดขึ้นมาได้ในที่สุด
เก๋ : PLY เป็นแบรนด์น้องใหม่ด้วยซ้ำ เราอยากทำสนีกเกอร์ให้คนไทยด้วยกันใส่ได้ เรารู้สึกว่า ถ้าเราอยากทำสิ่งนี้ เราเลยอยากเลือกแบรนด์ไทยด้วยกันมา collab กัน ปรากฎว่า ‘ขายหัวเราะ’ คือแบรนด์ของวัยเด็กในอดีตของพวกเราหมดเลย เราไม่อยากทำให้ PLY มีแค่อึดทนถึก แต่สามารถดึงความทรงจำวัยเด็กออกมา และเกิดภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับสนีกเกอร์ของเราด้วย
การ์ตูนมันเป็นพลังอย่างหนึ่ง มันคือ storytelling บนรองเท้าหรือเรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากจะเล่า มันทำให้รองเท้าแต่ละคู่มีเอกลักษณ์ เราเลยเริ่มต้นจากการคิดว่า ขายหัวเราะมักจะมีภาพจำของตัวการ์ตูนต่างๆ ที่เป็นคู่ปรับกันตลอดเวลา รองเท้าเองก็อยู่เป็นคู่เหมือนกัน เราเลยอยากให้มีตัวการ์ตูนที่เป็นคู่ปรับ มาอยู่บนคู่รองเท้าด้วย เป็นคู่ปรับตัวหนึ่งอยู่ฝั่งซ้าย อีกตัวหนึ่งอยู่ฝั่งขวา เรามีทั้งหมดสามคู่ ความพิเศษของมันคือ เราดึงสีออกมา เช่น มุขโจรมุมตึกก็เป็นสีขาวดำ หรือลายที่เป็นโลโก้ขายหัวเราะ เราก็ไล่สีเป็นสีรุ้งเลย มันเลยทำให้รองเท้าแต่ละคู่ไม่เหมือนกัน แต่ละลายมันก็มีเรื่องราวไม่เหมือนกัน
นิว : พอเป็นคอนเซ็ปต์คู่ปรับ เราก็เริ่มต้นจากมุขคลาสสิคที่เป็นภาพจำก่อน อย่างโจรมุมตึก หรือมุข บก.วิธิต กับ ไก่ วัลลภ เราก็รู้สึกว่าเป็นมันเป็น collection ที่ลงตัว ตอบโจทย์ และเสริมเอกลักษณ์ของทั้งขายหัวเราะและภาพรองเท้าของแบรนด์ PLY ด้วย
The MATTER : ทั้งสองแบรนด์ปรับเอาความใหม่ กับความคลาสสิค มาอยู่ร่วมกันในโปรเจ็กต์นี้อย่างไร
นิว : มันคือความท้าทาย ที่เราเอาขายหัวเราะที่คนคุ้นเคยในบริบทหนึ่ง ในฐานะที่เป็นการ์ตูนไปอยู่ในรองเท้าที่เป็นอีกแพลตฟอร์ม เราเชื่อว่ารองเท้ามันก็เป็นอีกช่องทางที่สร้างคาแรคเตอร์ได้ เรามองว่า ในความคลาสสิคของขายหัวเราะมันก็ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นของที่ล้าสมัย คำว่าคลาสสิคของขายหัวเราะ มันคือการอยู่ได้ในทุกสื่อ ทุกมิติ ทุกช่องทางในรูปแบบของมันเอง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราเข้ากับแบรนด์ PLY ได้ดี
The MATTER : ทาง PLY ก็เริ่มจากทำรองเท้าเซฟตี้ ก่อนที่จะปรับตัวให้เป็นสนีกเกอร์ที่ทันสมัย
หนึ่ง : เมื่อก่อน เราทำรองเท้าเซฟตี้สี่ถึงห้าหมื่นคู่ทุกเดือน ทำทีวันละสองพันคู่ แต่พอมาทำ PLY มันไม่ใช่แล้ว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดกับทีมว่า มันต้องคล่องตัวมากขึ้นนะ ตอนปีแรกเราก็เจอปัญหาเยอะ ก็ต้องปรับตัวให้ทัน ความท้าทายอีกข้อคือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่จะใส่ไปในรองเท้ายังไงให้มันเกิดขึ้นได้จริงในแง่การผลิต
The MATTER : อะไรคือความท้าทายที่สุดในการทำแบรนด์เวลานี้
เก๋ : การปรับตัวและเดินต่อไปให้ได้เพื่อไม่ให้ล้มหายตายจากไป เราปรับตัวเพื่อให้เราเดินต่อไปได้ เราจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ตอนนี้ยังไง เราจะทำยังไงให้ใช้ช่องทางออนไลน์เข้าถึงคนใช้งานได้จริง
นิว : มิชชั่นของเราคือเราไม่ได้เป็นเพียงแค่คนทำคอนเทนต์การ์ตูน แต่เราเป็นแบรนด์ที่สร้างรอยยิ้มและความสุขกับผู้คนที่ติดตามเรา ขายหัวเราะปรับตัวมาตลอด แต่ก็มีความท้าทายเหมือนกัน เพราะเราจะต้องบาลานซ์ และการตัดสินใจว่า เราจะทำอะไร หรือเราจะไม่ทำอะไร ในสถานการณ์ที่ทรัพยากรมีจำกัด เรื่องนี้รวมไปจุดยืนของแบรนด์เราด้วย เช่น การใช้คาแรคเตอร์ไป collab กับแบรนด์ต่างๆ ว่าเข้ากับความเป็นขายหัวเราะแค่ไหนบ้าง ดังนั้น พอได้มาร่วมงานกับ PLY มันเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้เข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ เช่น กลุ่มคนที่รักรองเท้า คนชอบสนีกเกอร์ ส่วนที่รู้จักอยู่แล้ว
อาจจะเป็นคนที่เคยอ่านตอนเด็กๆ ก็อาจจะกลับมา connect กับขายหัวเราะอีกครั้งผ่านสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยเป็นประจำอย่างสนีกเกอร์