ยังจำขายหัวเราะที่พวกเราเคยอ่านตอนเด็กๆ ได้ไหม? เชื่อว่าแก๊กตลกคลาสสิคมากมายยังคงในความทรงจำพวกเรา บก.วิธิตกับการทวงงานนักเขียน โจรมุมตึกที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะเจอกับอะไร มุขติดเกาะกลางทะเล
จักรวาลคาแรคเตอร์การ์ตูนไทยของขายหัวเราะ ยังคงอยู่กับสังคมไทยเรามาเสมอๆ นึกขึ้นมาได้อีกที วันนี้ขายหัวเราะก็เข้าสู่ขวบปีที่ 50 แล้ว ด้วยวาระสำคัญเช่นนี้ เราจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับ นิว—พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ผู้บริหารรุ่นปัจจุบันของขายหัวเราะ
ถึงแม้พิมพ์พิชา จะรับไม้ต่อการบริหารมาจากครอบครัว แต่เธอก็บอกกับเราอยู่เนืองๆ ว่าไม่มีอะไรที่ง่ายดาย ในวันแรกๆ ที่เธอเข้ามาดูแลขายหัวเราะเต็มตัว ต้องเผชิญกับลมพายุแห่ง Disruption ที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยล้มหายตายจาก แม้บทสัมภาษณ์นี้จะเฉลยในตัวเองอยู่แล้วว่า เธอได้พาให้สำนักการ์ตูนไทยแห่งนี้ผ่านพ้นมรสุมนั้นมาได้
หากแต่การย้อนคุยถึงเส้นทางที่ผ่านมา และวิธีการที่เธอเลือกใช้เพื่อพาขายหัวเราะเดินต่อได้ในเส้นทางธุรกิจก็น่าสนใจไม่น้อย
อะไรกันคือสิ่งที่เธอพาให้ขายหัวเราะเข้าสู่ปีที่ 50 ได้อย่างมั่นคง? บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ
ในฐานะทายาทของขายหัวเราะ ความทรงจำแรกที่คุณมีต่อขายหัวเราะมันเป็นอย่างไร
เราไม่ได้มีความทรงจําแรกที่ชัดเจน แต่จำได้ว่าคุณพ่อคุณแม่เขาเป็นคนทำงานแล้วก็พาเรามาในห้องทำงานของพวกเขา โดยที่มีกองต้นฉบับต่างๆ ห้อมล้อมอยู่ด้วย เราก็ซึมซับการ์ตูน เริ่มอ่านการ์ตูนเป็นตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือขายหัวเราะ แต่จะมาเข้าใจตอนที่โตขึ้นมาหน่อยว่า ตัวการ์ตูน ในการ์ตูนมันคือพ่อเรา และนี่คืองานที่พ่อกําลังทําอยู่
คุณเองกลายเป็นหนึ่งในตัวละครของขายหัวเราะด้วย
เราจําความรู้สึกได้ว่าถึงการมีตัวเราเองในการ์ตูน เราก็สงสัยว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติรึเปล่า หมายถึงว่าเพื่อนทุกคนในโรงเรียนอนุบาลก็จะมีตัวการ์ตูนเหมือนกับเรา (หัวเราะ)
การเติบโตในครอบครัวของขายหัวเราะ มันส่งผลต่อตัวตนของคุณอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นจากนิสัยส่วนตัวของเราก่อนเลย มันทำให้เราเป็นคนที่รักการอ่าน เพราะเราโตมากับหนังสือ พอเราเติบโตมาในกองหนังสือ เราก็ชอบไปหยิบต้นฉบับจากโต๊ะคุณพ่อมาอ่านเสมอๆ เราเลยเหมือนได้โอกาสอ่านหนังสือได้เร็วกว่าในเด็กวัยเดียวกัน เมื่อโตมาเราก็เลยกลายเป็นคนที่ชอบงานที่ได้ขีดๆ เขียนๆ และชอบอ่านหนังสือหลายแบบ
เราคิดว่านิสัยรักการอ่านมันมีผลมากเลยนะ เพราะเมื่อครอบครัวของเราเป็นสํานักพิมพ์ พ่อและแม่เขาเลยไม่อั้นกับเราเรื่องของหนังสือเลย คือถ้าเป็นเรื่องของเล่า พวกเขาก็อาจจะไม่ซื้อให้บ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องหนังสือ เขาก็จะให้เราได้เสมอ อยากอ่านอะไรเขาก็ให้อ่านได้หมดเลย แล้วยิ่งคุณพ่อคุณแม่เขาก็เป็นหนอนหนังสือด้วย เขาก็จะมีคลังหนังสือที่เราสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
แล้วความถนัดตรงนี้ส่งผลต่อความการเลือกอนาคตของคุณไหม
สิ่งนี้มีผลกับการเลือกเส้นทางในมหาลัยของเรา ทำให้เราเลือกที่จะสอบเข้าคณะนิเทศฯ จุฬาฯ เราเลือกที่จะเรียนคณะนี้เพราะมันเป็นสิ่งที่เราชอบ หลังจากเรียนจบ เราก็เลือกที่จะเรียนต่อด้านธุรกิจ เพื่อมาทำธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือ เพราะตอนนั้นมีแนวโน้มว่าเราจะต้องกลับมาช่วยกิจการที่บ้านต่อ เลยคิดว่าการเรียนต่อด้านธุรกิจน่าจะมีประโยชน์กับเรา
อยากรู้ว่าสายตาของเราที่เรียนจบด้านธุรกิจมาแล้วมองกลับเข้าไปในกิจการของที่บ้าน มันต่างกับเวลาเรามองกิจการของเราแบบเดิมๆ แค่ไหน
ต่างค่ะ เพราะว่าเราจะมองมันด้วยแว่นของความรู้ที่มันแบบมีทฤษฎี หรือว่ามีธุรกิจของคนอื่นมาเปรียบเทียบมากขึ้น และเวลาที่เราเรียนธุรกิจมา เราจะไม่ได้มองตัวเองในฐานะผู้อ่านแล้ว แต่เราจะมองว่า ถ้าเกิดเราต้องเป็นทายาทที่เข้ามาทําธุรกิจนี้ให้อยู่รอดต่อไปได้ มันจำเป็นต้องมีปัจจัยอะไร หรือความเสี่ยงอะไรบ้าง หรือมันมีปัจจัยอะไรที่เราต้องระมัดระวัง ทุกก้าวของการเติบโตในชีวิต มันทำให้เราเติบโตเหมือนกัน เราเปลี่ยนจากผู้อ่าน เป็นคนทำ และกลายเป็นคนบริหารธุรกิจ เรามีความรับผิดชอบที่ไม่เชิงสุขแต่ก็ไม่เชิงทุกข์ แล้วเราก็มี commiment และความกดดันในการทำงานมากขึ้น
ความกดดันในวันนี้ของคุณคืออะไร
มันคือความกดดันว่าเราจะเป็นปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ล้มเหลว เพราะตอนที่เราเข้ามาดูแลธุรกิจของขายหัวเราะ มันก็เป็นช่วงที่เกิด Disruption ด้วยเมื่อก่อนเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อะไรก็ตามจะอยู่ในสภาพที่ควบคุมได้ทั้งหมดด้วยตัวเราเองเป็นส่วนมากเช่นการเรียนหนังสือถ้าอยากได้คะแนนดีเราก็แค่ตั้งใจเรียนแต่พอมาทํางานจริงมันคนละเรื่องเลยมันมีปัจจัยอื่นๆอีกมากเช่นความเปลี่ยนแปลงไปของรสนิยมคนและความเปลี่ยนแปลงของสื่อในช่วงแรกๆที่เราเข้ามาทำงาน
มันไม่เคยมี case study มาก่อนเลย คือช่วงนั้นมันฝุ่นตลบไปหมด แม้แต่สื่อต่างประเทศที่ดังๆ กว่าเรา มีธุรกิจที่ใหญ่กว่าเรามาก เขายังไม่รู้ว่าต้องปรับตัวไปยังไง เราเลยกดดันเพราะเวลาเรามองเรามองไปข้างหน้า เราก็ไม่ได้เห็นหนทางที่ชัดเจนกับมัน แล้วเราเองก็ใหม่มากๆ ในโลกของการทำงาน เราไม่รู้ว่าจะจัดวางตัวเองไว้ตรงไหน เราเข้ามาในตําแหน่งที่ไม่มีใครสอนงานแบบจริงจัง คือคุณพ่อ คุณแม่เขาก็เป็นที่ปรึกษาให้เราได้ แต่เราก็เข้ามาในตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในบริษัท (ตำแหน่ง Business Developement Director) ซึ่งท้าทายมากๆ ในภาวะตลาด ณ ขนาดนั้นที่เกิด Disruption อย่างรุนแรง
นอกจากนี้ เราเองต้องดูแลคนในทีมที่มีอายุเยอะกว่าเรามากๆ ด้วย เป็นทีมเก่าแก่ที่อยู่กับขายหัวเราะมานาน ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้มาสอนงานเรา หรืออาจจะด้วยตำแหน่งของเราที่ทำให้เขาไม่กล้าสอน ในภาวะตอนนั้นเหมือนกับ เรากระโดดลงไปในน้ำ และต้องว่ายน้ำเองให้เป็น
อีกอย่างเป็นเรื่องของ personality ของเราด้วย เพราะเราเป็น introvert และขี้อายมากๆ เราชอบทํางานคนเดียวมาตลอด แต่เมื่อมาทำงานในจุดนี้ เราไม่ได้ต้องทำเพียงแค่เพื่อให้งานสำเร็จ แต่ต้องแคร์ความเป็นทีมเวิร์คด้วย เมื่อก่อนเราเคยคิดแค่ว่า ถ้าทำงานสำเร็จก็โอเคแล้ว แต่จริงๆ เราต้องใส่ใจเรื่องของการบริหารคน การทํายังไงเราถึงจะเป็นผู้นําที่และคนทำงานด้วยเขาไม่เกลียดเรา
สิ่งเหล่านี้ฟังดูมันยากมาก อยากรูว่าคุณตั้งหลักยังไง
สเต็ปแรกเลยที่มันทําให้เราสบายใจขึ้น คือการยอมรับก่อนว่าเรายังไม่เก่ง ซึ่งการทำให้ตัวเองยอมรับในเรื่องนี้ได้มันก็เป็นช่วงที่เราเฟลมากนะเพราะเราเป็นเด็กที่เรียนหนังสือได้ดีมาตลอดขึ้นไปรับเกียรติบัตรมาตลอดเพราะสอบได้คะแนนสูงตลอดก็คือเราไม่เคยอยู่ช่วงที่ยอมรับว่าตัวเองไม่ดีแล้วกันโดยเฉพาะในช่วงที่รู้สึกว่าแบบเราก็พยายามแล้วเป็นในแบบของเราแต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันจะดีกว่านี้ได้ยังไง
มันก็เป็นความรู้สึกที่แย่เนอะ ตอนนั้นคือแย่รู้สึกล้มเหลว แบบว่านี่เราเพิ่งเร่ิมต้นเอง เราก็เรียนมาตั้งเยอะ ทำไมเรื่องแค่นี้กลับทำไม่ได้ แต่การที่สเต็ปแรกคือการยอมรับก่อนว่าตัวเองไม่เก่ง มันดีมาก มันทําให้เราเปิดใจมากขึ้น
เข้าใจว่าจังหวะที่คุณเข้ามาดูแลธุรกิจนี้ มันคือช่วง Disruption หนักหนามากๆ แล้วสื่อแบบสิ่งพิมพ์ก็เป็นสิ่งแรกๆ ที่ถูก Disrupt เลยอยากทราบว่าคุณเริ่มต้นปรับเปลี่ยนขายหัวเราะยังไงบ้าง
ช่วงแรกๆ เรายังจับจุดไม่ถูกเท่าไหร่ เราเลยไม่เริ่มต้นที่ตัวคอนเทนต์ก่อน เพราะเคยคิดว่า ถ้าคอนเทนต์เราดี เราก็จะอยู่รอดต่อไปได้ในทุกสถานการณ์ แต่ตอนหลังมาเราก็รู้แล้วว่ามันไม่พอ เพราะในโลกของธุรกิจนั้นเราต้องมองในภาพกว้าง พิจารณาในทุกปัจจัยไปพร้อมกัน เราเลยต้องปรับตัวไปทำอย่างอื่นด้วย ซึ่งก็ใช้เวลาไปกับขั้นตอนนี้ไม่น้อยเลย โดยที่ในระหว่างทางนี้เราได้เรียนรู้ว่าทำอะไรแล้วไม่เวิร์ค เราก็ค่อยๆ ปรับกันมาเรื่อยๆ อะไรที่เราทำแล้วไม่สำเร็จ เราก็จะรู้ตัว และทำให้ฐานในการทำคอนเทนต์ของเราแน่นขึ้น เราอยากให้เครดิตผู้บริหารคนอื่นๆ ในช่วงนั้นด้วยที่ช่วย shape เรามาโดยตลอด ถึงแม้ตอนนี้เราก็ไม่ได้บอกว่า direction ที่เราทำมันถูกหรือดีที่สุดเพียงแต่ว่าเรามีความรู้สึกภูมิใจที่บริษัทรอดและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ที่บอกว่าทำคอนเทนต์ให้ดีอย่างเดียวมันไม่พอ ช่วยขยายความเพิ่มเติมให้หน่อยได้ไหม
โชคดีที่คุณพ่อคุณแม่เขาบอกกับเราว่า ขายหัวเราะไม่ได้เท่ากับสื่อสิ่งพิมพ์นะ แต่มันคือแบรนด์ด้านการ์ตูน คาแรคเตอร์ อารมณ์ขัน มันสามารถไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์มเลย ยกตัวอย่างในปี 2001 เขาก็ขยายธุรกิจไปทำเรื่องอนิเมชั่น ทำคาแรคเตอร์ 3D ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างให้เราเห็นเหมือนกันว่าเราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับโปรดักส์อันใดอันหนึ่งเราสามารถไปได้กับทุกอย่างพอเราทำลายกรอบของความคิดได้แล้วเราก็สามารถเริ่มมองหาที่ทางใหม่ๆให้กับคาแรคเตอร์ของเราได้มากขึ้นรวมถึงพาคาแรคเตอร์เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น
ในเชิง DNA ของแบรนด์ คุณเข้าไปปรับมันแค่ไหนบ้าง หรือมีแก่นอะไรที่คุณอยากยึดไว้บ้าง
เราจำได้ว่าขายหัวเราะมันมีภาพที่ชัดมากๆ ในความทรงจำของคนไทย ซึ่งมันก็มี dilemman เหมือนกันนะ ว่ามันควรจะถูกเปลี่ยนตามยุคสมัย หรือมันควรจะถูกรักษาไว้ แต่จริง ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าแกนของเรา มันไม่ควรยึดติดกับลายเส้นหรืออะไรเป็นพิเศษ ว่ามันต้องเป็นลายเส้นของนักวาดนี้เท่านั้น แต่ว่ากรอบเราจริงๆ แล้วมันเสาหลักที่เราอยากยึดไว้ในสี่เรื่อง คือ คาแรคเตอร์
การ์ตูน อารมณ์ขัน และความคิดสร้างสรรค์ ก็คืองานของเราทุกอันไม่ว่าเราจะคิดไปเป็นโปรเจ็กต์อะไรก็ตาม เราจะไปทําให้มันอยู่ในสี่แกนนี้ อาจจะไม่ต้องครบสี่ ก็ได้แต่ต้องมีกลิ่นไอของสิ่งเหล่านี้ให้มากที่สุด
ในขณะเดียวกันถ้าเกิดว่ามีโปรเจกต์ไหนที่มีคนมาชวนเราทํา หรือมีโอกาสทางธุรกิจ แล้วมันไม่เกี่ยวกับสีแกนนี้เลย เราก็ต้องพิจารณาหนักหน่อย เพราะว่ามันอาจจะไม่ใช่แนวทางของขายหัวเราะที่เราอยากจะเป็น
ตอนนี้เห็นว่าในทีมมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเยอะแยะเลย
เป็นความตั้งใจของเราเลย จริงๆ เรามีความเชื่อนะว่าความรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องของวัยแต่เป็นเรื่องวิธีคิด แต่ต้องยอมรับว่าในหลายๆ งานมันก็จะมาพร้อมกัน เวลารับพนักงานใหม่ๆ เข้ามาเราก็จะดูว่าวิธีคิดของเขาว่า ถ้าเขาเข้ามาในทีมแล้วเขาจะเป็นทีมเวิร์คที่ดี เราไม่ได้มองคนที่บอกว่า รู้สึกจักขายหัวเราะในอดีตครบทุกอย่าง แต่เรามองไปที่อนาคต ว่าเขามองขายหัวเราะในอนาคตยังไงบ้าง
ความสนุกในวันนี้ของการนำขายหัวเราะไปสู่เส้นทางใหม่ๆ คืออะไรบ้าง
มันคือการที่พบว่าขายหัวเราะเป็นอะไรที่หลากหลายได้มากกว่าที่เราคิด มันสนุกมากเพราะว่า หลายหลายโปรเจกต์ที่เราได้ไป มันเป็นการพาขายหัวเราะไปยังพรมแดนหรือว่าดินแดนใหม่ๆ ซึ่งพอเราทํามันอย่างต่อเนื่อง เราก็ได้ท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็ได้ลองท่าใหม่ใหม่ของการใช้ soft power ของการ์ตูนได้ด้วย
อีกอันหนึ่งที่สนุกก็คือการที่ได้เห็นคนเอนจอยไปกับแคมเปญและโปรเจกต์ของเรา การที่คนชมว่า “มันน่ารัก” “ชอบมากเลย” “ติดตามมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนี้ก็ยังติดตามอยู่นะ” สิ่งเหล่านี้มันมีความหมายกับเราและมีความหมายกับทีมมากๆ
ตอนนี้เราก็ผ่านช่วงของ disruption กันมาพักหนึ่งแล้ว มองว่าความท้าทายหลังจากนี้ของขายหัวเราะคืออะไร
มันคือการเติบโต จริงๆ เป้าหมายของเราไม่ได้มองว่าขายหัวเราะต้องเป็นแบรนด์ที่โตที่สุด ทำกำไรเยอะที่สุด แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่ยืนระยะได้นานที่สุด เรามองการเติบโตว่ามันต้องต่อเนื่อง สิ่งนี้เราต้องหาแหล่งน่านน้ำใหม่ๆ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ในการทํางาน แล้วก็ด้วยภาวะของสื่อเทคโนโลยีที่มันหันหัวเปลี่ยนแปลงไปตลอด ส่วนหนึ่งมันก็บีบเราให้ปรับตัวอยู่แล้ว
คือเราไม่สามารถอ้างอิงหรือยึดโยงแพลตฟอร์มไหนได้เป็นพิเศษ ดังนั้นเราต้องตื่นตัวตลอดเวลา และพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ในส่วนนี้ยากที่สุดเพราะว่ามันหมายความว่ามันไม่มีสูตรสําเร็จ แต่ต้องแบบตื่นตัวแล้วก็หาอะไรใหม่ๆ ให้ให้พัฒนาอยู่เสมอ ณ ตอนนี้เรามองว่าขายหัวเราะมันก็ยังเติบโตได้อีก มันยังไปอยู่ใน area ของเรื่องของ character ที่มัน ที่ขายหัวเราะยังขยายไปทําได้อีก มันอาจจะเป็นทั้งคาแรคเตอร์ใหม่ๆ และการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ เราหวังว่า เราในฐานะคนที่ทำงานกับเรื่อง soft power มาหลายปี เราอยากจะผลักดันให้ขายหัวเราะมันได้ออกไปจากพรมแดนเดิมๆ ของการ์ตูนไทย
ปีนี้ขายหัวเราะก็ครบรอบ 50 ปีแล้ว เราจะได้เห็นความพิเศษอะไรในวาระนี้บ้าง
ปีนี้เป็นปีที่พิเศษมากๆ สําหรับเรา มันอาจจะดูเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ และเป็นจุดที่ขายหัวเราะยังโตได้อีก เราอยากทำให้ปีนี้เป็นปีแห่งขายหัวเราะ เป็นปีที่เราอยากกระจายความสุขให้กับคนไทยทุกคน ก็เลยจะมีแคมเปญทั้งปี เราตั้งชื่อว่า ‘ขายหัวเราะ ฮ่าสิบปี Happy Anniversary’
ในช่วงต้นปีแรกก็จะเป็นการสื่อสารกับแฟนๆ มีสิ่งใหม่ๆ ให้แฟนๆ ได้เห็น ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะเป็นช่วงของการ collaboration ซึ่งน่าสนใจมากว่าจะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นแบรนด์การ์ตูนได้ ได้ร่วมมือกับแบรนด์ที่เป็นท็อปของประเทศไทยในอุตสาหกรรมต่างๆ ทุกเดือนในครึ่งปีหลังไปจนจบปีนี้ ก็คือตั้งแต่กรกฎา ขายของเราจะอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมแฟชั่น โดยที่แบ่งเป็นสองหมวดคือหมวดที่เป็นตํานาน เหมือนเติบโตมาในเส้นทางห้าสิบปีร่วมกับขายหัวเราะ ร่วมกับแบรนด์สามัญประจําบ้านที่ถ้าพูดชื่อทุกคนก็จะรู้จัก และแฟนๆ อาจจะคาดไม่ถึงว่ามา collab ด้วยกันได้
แบรนด์แรกที่เปิดตัวไปแล้วก็คือ ททท. ก็จะเป็นการท่องเที่ยวในระดับประเทศ ซึ่งจะมีแคมเปญการท่องเที่ยว ห้าสิบปี ห้าสิบที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยห้าภาค แล้วก็เป็นระดับทั่วประเทศทั้งปี ซึ่งความพิเศษยังอยู่ตรงที่ soft power ของ ททท. ด้านของการท่องเที่ยว แล้วก็ soft cower ทางด้านของการ์ตูน character ของขายหัวเราะมาจับมือกัน
ส่วนในช่วงปลายปี เราก็จะมีอีเวนต์เป็นการเฉลิมฉลองร่วมกับแฟนๆ ทุกคนเพื่อนับเข้าสู่ปีที่ 51 ไปด้วยกัน เรียกได้ว่าทั้งแคมเปญในปีนี้ มันน่าจะทําให้เห็น ศักยภาพของการโดนล้อว่าเราทําอะไรได้มากกว่าสิ่งที่เราเคยทํามา
ห้าสิบปีก่อนแล้วก็สิ่งเหล่าเนี้ยน่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีกับที่ดีที่ทําให้คนได้เห็นว่าขายหัวเราะยังไปได้อีกไกล
คุณอยากให้คนจดจำขายหัวเราะต่อไปอย่างไร
อยากให้คนจำขายหัวเราะว่าเป็นแบรนด์ที่ผูกพันและสร้างความสุขให้เขาได้กับทุกช่วงวัย อย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็น asset ที่ดีมากๆ ของแบรนด์เราคือ หลายๆ คนจะมีภาพของขายหัวเราะอยู่กับโมเมนต์ที่เขามีความสุขในชีวิต ในสมัยที่เขาเด็กๆ เช่น อ่านหนังสือได้ครั้งแรก เพราะว่าสนุกกับแก๊กของขายหัวเราะ มันเป็นเกียรติมากๆ มากเลยที่ขายหัวเราะเราได้อยู่ในโมเมนต์ของเขา มันไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะจะมีความทรงจําผูกพัน มันไม่ใช่แค่เรื่องของการทําคอนเทนต์ให้คน แต่มันคือเรื่องของการสร้างความสุขและความทรงจําที่ดีให้คน
คุณพ่อเคยถามเราว่า คิดว่าคุณค่าหรือว่าตัวภารกิจของขายหัวเราะคืออะไร ตอนแรกนึกว่าตอบ มันก็คือการทําคอนเทนต์ แต่คุณพ่อบอกว่า มันคือการ สร้างความสุขให้กับคนไทย