14.23 ล้านเสียง คือคะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตส่งพรรคก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่ง กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชนิดหักปากกาเซียน ฉีกผลโพล และพิสูจน์อีกครั้งว่า ในปลายทาง การเมืองแห่งความหวังจะชนะการเมืองแห่งความกลัวเสมอๆ
ถึงแม้ล่าสุดพรรคร่วมรัฐบาลจะลงนามใน MOU 23 ข้อร่วมกันแล้ว แต่ยังต้องยอมรับว่าหนทางการจัดตั้งรัฐบาลยังเต็มไปด้วยหลุมบ่อที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องนำพาข้ามผ่านไปให้ได้ แต่อย่างน้อยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สะท้อนว่า สังคมไทยซื้อแนวคิดของพรรคก้าวไกลไม่ว่าจะเรื่อง นำทหารออกจากการเมือง, กระจายอำนาจ, ทลายทุนผูกขาด หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์ รวมถึงกองเชียร์อ้าปากค้าง The MATTER จึงพูดคุย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักรัฐศาสตร์ที่ขาข้างหนึ่งสอนประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ขณะที่ขาอีกข้างหนึ่งเป็นผู้ลี้ภัยเพราะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ผ่านสายตาของเขา แรงอะไรบ้างที่ส่งให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ชัยชนะครั้งนี้สำคัญอย่างไร คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนจะสำเร็จได้จริงไหม และระหว่างทางจัดตั้งรัฐบาลมีหลุมบ่อตรงไหนที่ก้าวไกลควรระวังบ้าง
เริ่มถามอาจารย์ก่อนว่า แปลกใจที่ผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้
ในความเข้าใจของเรา ยังไงรอบนี้ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องชนะ เราอยู่ในระบบประยุทธ์มานานจนฝ่ายสลิ่มเองก็อยากจะร่วม ฉะนั้น ไม่แปลกใจหรอกที่ก้าวไกลอยู่ฝั่งชนะ เพราะแนวโน้มด้านการเมืองมันเป็นแบบนี้
แต่ถามว่าประหลาดใจไหมที่ก้าวไกลได้เสียงมากกว่าเพื่อไทย ก็ยอมรับว่าประหลาดใจนิดหนึ่ง เพราะก้าวไกลเป็นพรรคที่อายุน้อยมากและเป็นพรรคที่ไม่ได้ชูอุดมการณ์กระแสหลัก
มองว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งให้ก้าวไกลชนะ ทั้งที่แทบทุกคนไม่คาดคิดว่าก้าวไกลจะได้ที่หนึ่ง
ผมคิดว่าปัจจัยจริงๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเริ่มมาจากการชุมนุมเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เมืองไทยเปลี่ยนเร็วมาก โดยเฉพาะความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่จะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ และ ม.112 ซึ่งก้าวไกลเป็นพรรคเดียว (ที่มีขนาดใหญ่) ที่พูดเรื่องนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนที่ออกไปเรียกร้องในช่วงม็อบ ขณะที่พรรคอื่นนอกจากไม่แยแสผู้ชุมนุมแล้ว เผลอๆ ยังให้ร้ายบอกว่าเป็นเรื่องทำผิดกฎหมาย
แต่ขณะเดียวกัน จะพูดถึงความสำเร็จของพรรคก้าวไกลโดยโดดๆ ไม่ได้ ต้องเอาไปเทียบกับพรรคการเมืองอื่น สำหรับฝ่ายตรงข้าม
ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พลังประชารัฐและกลุ่มอำนาจเก่าไม่ได้พิสูจน์เลยว่าสามารถพาประเทศไทยไปสู่อนาคต ไม่ว่าในเรื่องพื้นฐานมากๆ เช่น ปัญหาปากท้อง รัฐบาลที่ผ่านมามันบอกแล้วว่าทำไม่ได้ ฉะนั้น คนที่โหวตให้ฝั่งนั้นมีส่วนในการข้ามมาโหวตฝั่งตรงข้าม พูดง่ายๆ ว่าคนทนระบบเก่าไม่ได้จึงมาเลือกก้าวไกล
ที่น่าสนใจคือความสำเร็จของก้าวไกลผูกอยู่กับพรรคเพื่อไทย เพราะ 2 พรรคนี้แย่งฐานเสียงเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเคยเป็นร้านขายปลาร้านเดียวในตลาด ซึ่งทุกคนต้องมาซื้อไม่ว่าจะขายปลาราคาเท่าไหร่ พอมันมีร้านเดียวเราถึงเห็นเรื่อง เช่น นิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือความพยายามพาคุณทักษิณกลับบ้าน แต่เผอิญว่าตอนนี้มันมีร้านขายปลาร้านอื่นซึ่งเสนอราคาที่ดีมาก และร้านนี้ยังมีวิธีขายปลาที่บอกชัดเจนว่าปลาตัวนี้มาจากแม่น้ำไหน คนเขาก็อยากเลือกร้านที่มันชัดเจนกว่าหรือเปล่า ขอโทษที่ออกทะเลไปเรื่องการขายปลาซื้อปลา
ในแง่ของการเมือง พรรคเพื่อไทยไปผูกอย่างแกะไม่ออกกับคุณทักษิณ (ชินวัตร) พอผูกกับคุณทักษิณมากๆ ทิศทางพรรคก็เป็นทิศทางของคุณทักษิณ แทนที่จะเป็นทิศทางที่ตอบโจทย์สังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชน นอกจากนี้เพื่อไทยยังเล่นเกมเก่าๆ ผูกกับปัญหาปากท้องซึ่งเป็นเกมที่เล่นง่าย เซ็กซี่ พูดยังไงก็ไม่ผิด แต่มันใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการหรอ ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยต้องการคืนดีกับฝ่ายเจ้า ตั้งแต่การบอกว่า ม.112 ไม่มีปัญหาในตัวมันเอง แต่เป็นปัญหาที่วิธีใช้ รวมถึงการที่คุณทักษิณพูดว่าขออนุญาติกลับบ้านนะครับ แล้วเรียกคนบางคนว่าเป็นเจ้านาย จุดยืนแบบนี้คนรุ่นใหม่ไม่ซื้อ มันเลยกลายเป็นว่าคะแนนหลุดไปสู่ก้าวไกล
มีหลายเสียงที่พูดว่าถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทยต้อง disrupt ตัวเอง
ผมขอย้ำว่ามันเป็นไปได้ยากมากที่จะแยกความเป็นทักษิณออกจากความเป็นเพื่อไทย ถ้าสมมติมันจะทำได้นะ คุณทักษิณต้องออกไปเลย เพราะมันไม่ใช่เวลาของคุณทักษิณอีกแล้ว ซึ่งผมขอพูดแบบแฟร์ๆ ว่าคุณทักษิณไม่มีวันหยุดเล่นการเมือง คุณพูดการเมืองมาตลอดใน club house แต่ถึงจุดที่จะกลับบ้านบอกเป็นเรื่องส่วนตัว มันได้หรอ ผมเลยคิดว่าสภาพตอนนี้ไม่ต่างจากการที่คุณทักษิณจับพรรคเพื่อไทยเป็นตัวประกัน
และอีกอันที่คุณทักษิณทำมาตลอดคือใช้ทายาททางการเมืองนำพรรค เราสอนรัฐศาสตร์เรารู้ว่าระบบตระกูลนักการเมือง (political dynasty) เป็นระบบที่มีปัญหามาก คล้ายกับที่เราพูดถึงสภาบันกษัตริย์แล้วพูดถึงการสืบทอดอำนาจทางสายเลือด ซึ่งมันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้แล้วในโลกยุคปัจจุบัน เพราะส่วนใหญ่ทายาทที่เลือกตั้งเข้ามา มันเอาความชอบธรรมของคนที่อยู่ก่อนมาแทนความชอบธรรมของตัวเอง อย่างตระกูลศิลปอาชาหรือชิดชอบ พวกนี้ทำให้การเมืองเป็นธุรกิจในครอบครัวที่ต้องหยุดได้แล้ว
มันมีคนเก่งๆ ในพรรคเพื่อไทยอีกมาก แต่คนเหล่านี้ไม่เคยได้รับโอกาสนำพรรคเลย เพราะมีระบบอภิสิทธิ์อยู่ข้างใน
ระบบแบบนี้มันทำลายกำลังใจของคนในพรรค อย่างเช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ทำไมเขาไม่เคยมีชื่อในแคนดิเดตนายกฯ เลยล่ะ ทำไมพอถึงจุดที่หาเสียงเขาไม่มีตัวตนเลย เขาเป็นหุ่นเชิดหรอ แล้วถ้ามีการยุบพรรค เขาก็ถูกตักสิทธิทางการเมืองหรอ
ต้องยอมรับคะแนนเสียงจากก้าวไกลเป็นส่วนหนึ่งของเพื่อไทย ทำไมคนที่เคยเลือกเพื่อไทยมาตลอดถึงย้ายมาเลือกก้าวไกลในรอบนี้
เพราะวันนี้ไม่มีแล้วคนเสื้อแดง ใครคือคนเสื้อแดง องค์กรอยู่ไหน มูฟเมนต์คืออะไร คนเสื้อแดงก็จางหายไปเรื่อยๆ การเมืองไทยมันเลยไปจากเรื่องเหลืองแดงแล้ว ตอนนี้จุดแบ่งแยกคือสถาบันกษัตริย์แล้ว และอย่าลืมว่าคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับระบบแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการที่พรรคเพื่อไทยไม่พูดถึงเรื่องนี้ เขาจึงย้ายไปเลือกพรรคก้าวไกล
สรุปคือ อย่างแรก มันไม่มีคนเสื้อแดงแล้ว อย่างที่สอง คนจำนวนหนึ่งอยากมูฟออนจากประเด็นปากท้องไปสู่ประเด็นที่หนักขึ้นกว่านั้นแล้ว และอย่างที่สาม เมื่อทิศทางคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยเป็นแบบนี้ เขาก็หันไปหาพรรคตัวเลือกใหม่ ซึ่งไม่ไปไกลกว่าจริตของคนเสื้อแดง
การเลือกตั้งรอบนี้น่าสนใจ เพราะมีคนอีกกลุ่มที่ไม่เคยเลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตยเลย แต่หันมาเลือกก้าวไกล มองว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
บอกตรงๆ ว่าผมก็รู้สึกประหลาดใจนิดหนึ่ง และอาจให้คำตอบแบบเป๊ะไม่ได้เพราะเรื่องนี้น่าจะมีการศึกษาต่อ แต่ถ้าความเห็นผมมาจาก 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ คนกลุ่มนี้เคยวางไข่ในตะกร้าของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือกลุ่มอำนาจเก่า ก่อนมารู้ว่าไข่ตัวเองแตกหมด และตระหนักว่าถ้าเลือกพวกนี้อีกผลประโยชน์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของตัวเองจะไม่เหลือ จึงย้ายมาสู่พรรคการเมืองที่คิดว่าจะให้ผลประโยชน์กับเราได้มากกว่ากลุ่มอำนาจเดิม
แล้วพอต้องการอะไรแปลกใหม่ ถึงกลายเป็นก้าวไกลได้ ประเด็นที่ผมอยากพูดคือ ขณะที่เริ่มเห็นความเสื่อมโทรม มันอาจจะเกิดกระบวนการตาสว่าง เพราะสถาบันกษัตริย์ปัจจุบันเกิดภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ (indefensible) คือปกป้องแก้ต่างให้ไม่ได้ แล้วถ้าเห็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นปัญหาของการเมืองไทยก็จะตระหนักว่าเพื่อไทยไม่ใช่คำตอบ ก็เลยเบนเข็มมาเลือกก้าวไกล
นี่เป็นคำตอบที่ผมไม่รู้ว่าเมคเซนส์หรือเปล่า แต่ผมก็หาคำตอบอื่นไม่ได้ นอกจากลงไปศึกษาให้มากกว่านี้
แสดงว่าโหวตเตอร์ที่หันกลับมาหาพรรคก้าวไกล รับได้กับแนวคิดปฏิรูปสภาบันกษัตริย์
ผมคิดว่าการใช้คำว่ารับได้เป็นคำพูดที่ดี เพราะคนที่เลือกก้าวไกลน่าจะมีหลายเฉดกับแนวทางของพรรค เช่น รับได้นะ, ฉันยอมรับมัน, ฉันเอามันนะ จนถึงมึงต้องเปลี่ยน พวกที่ข้ามมาจากฝั่งตรงข้ามอาจอยู่แค่ลำดับต้นๆ แต่สุดท้ายมันเป็นคำตอบเดียวกันว่า คุณเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล แต่เห็นด้วยระดับไหนมันอีกเรื่องนึง
ถ้าเราเชื่อมั่นในครรลองประชาธิปไตยว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากมีความชอบธรรมสูงสุด เพราะฉะนั้น การนำเอาเรื่องสถาบันกษัตริย์และ ม.112 เข้าสู่การเมืองโดยพรรคก้าวไกล นับว่ามีความชอบธรรม
สำหรับ พิธา ที่ไปออกเวทีดีเบตทุกเวที เทียบกับแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นที่ปฏิเสธการออกเวทีดีเบต มองว่าการทำแบบนี้มีส่วนมากแค่ไหนที่ดึงเสียงเข้ามาให้ก้าวไกล
มากเลย แต่ก่อนที่จะพูดถึงคุณพิธาผมต้องให้บริบทนิดหนึ่ง เพราะพรรคเพื่อไทยน่าผิดหวัง ผมต่อต้านไอเดียการเสนอชื่อ 3 แคนดิเดตนายกฯ มาก เพราะมันไม่แฟร์กับคนโหวต ที่ควรรู้ว่าเสียงที่เราเลือกจะส่งใครเป็นนายกฯ สมมติ ผมไม่อินกับคุณชัยเกษม นิติศิรินัก แต่มันก็มีโอกาสที่คุณชัยเกษมจะเป็นนายกฯ ใช่ไหม
อีกอย่างหนึ่งคือ 2 แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ไม่เชี่ยวชาญในการดีเบต เขาอาจไม่ได้พูดอะไรผิดนะ แต่อย่าลืมนะว่าการเมืองมันมีเรื่องของภาพลักษณ์ การวางตัว ถ้าเทียบระหว่างคุณเศรษฐา (ทวีสิน) และ อุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) กับคุณพิธา คุณพิธาเครื่องติดช้ามาก แต่พอติดแล้วมันเหมือนมีรังสีบางอย่างปล่อยออกมาจากเขา มีความเป็นผู้นำและมีบารมี (charisma) ซึ่งบารมีมันสำคัญกับเมืองไทยมาก รวมถึงยังมีทักษะการพูดที่มีวุฒิภาวะ
ในเรื่องทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ผมอยากบอกว่าเราไม่ควรคิดมากหรอกถ้าผู้นำพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะผมอยากให้พื้นที่สำหรับนักการเมืองท้องถิ่นที่ไม่มีโอกาสไปศึกษาเมืองนอก ทักษะของเขามีจำกัด แต่เราไม่ควรไปจำกัดโอกาสทางการเมืองของเขา ถ้าวันหนึ่งเขาโตมาเป็นนายกฯ แล้วพูดอังกฤษไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องผิดเลย เพราะทั่วโลกก็มีการใช้ล่ามกันเป็นเรื่องปกติ แต่ทำไมจะไม่ดีใจล่ะ ถ้าผู้นำสามารถพูดอังกฤษได้ดี ข้อดีหนึ่งคือไม่ต้องใช้ล่าม การจะเป็นผู้นำโลกมันจำเป็นต้องสื่อสารให้ดี ถ้าสื่อสารตกหล่นมันจะซวย มันถึงมีคำว่า lost in translation ไง
ผมคิดว่าพิธาก็มีความพร้อมในจุดหนึ่ง แต่ผมก็ไม่อยากเชิดชูจนเอาไปตั้งบนหิ้ง เพราะต้องไม่ลืมว่าพิธายังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองในการบริหารเลย
มองอย่างไรกับการจัดตั้งรัฐบาลในตอนนี้ ที่ยังต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ
เรื่องนี้เราต้องพูดถึง 2 ประเด็นพร้อมกัน ส.ว.จะโหวตยังไง และจากนี้ไป ส.ว.จะทำหน้าที่อะไร จะปล่อยให้ ส.ว.ลอยหน้าและมีทธิตัดสินใจแทนประชาชนแบบนี้หรือ คุณมีสิทธิอะไร คุณไม่ได้มาด้วยความชอบธรรมเลย อันนี้เป็นสองท่อนที่ต้องย้ำไปพร้อมกัน
ผมไม่รู้หวยจะออกมายังไง แต่มู๊ดหลังการเลืกตั้งออกมาว่ามันมาถึงจุดที่ ส.ว.ต้องฟังแล้ว ด้วยแรงส่ง 3 ข้อ
- ข้อแรก แรงกดดันจากภาคประชาชนที่กดดันให้ ส.ว.ต้องเคารพเสียงประชาชน ซึ่งตรงนี้เป็นแคมเปญที่ดีมากและเกิดขึ้นพร้อมกันจากภาคประชาชนว่า คนที่ได้เสียงมากที่สุด ก็ต้องมีสิทธิได้เป็นนายกฯ สิ
- ข้อสอง พรรคก้าวไกลขยับตัวจัดตั้งรัฐบาลอย่างรวดเร็ว เหมือนกูไม่รอความเห็นของ ส.ว.แล้ว กูพร้อมจะเป็นรัฐบาลแล้ว
- ข้อสาม พรรคฝ่ายตรงข้ามที่อาจจะยกมือให้ ถึงแม้ภูมิใจไทยจะพลิกไปพลิกมา แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดี พรรคฝ่ายตรงข้ามดูเหมือนจะเห็นด้วยว่าคุณพิธาเหมาะสมเป็นนายกฯ เพราะได้เสียงมากที่สุด
แต่ผมอยากเสริมว่า คุณพิธาต้องทำอะไรมากกว่าหยิบหูโทรศัพท์เพื่อขอเสียงโหวตรับรอง แต่ควรเริ่มปฏิบัติหน้าที่เสมือนตนเป็นนายกฯ และสิ่งสำคัญมากๆ คือไปพบ เอกอัครราชทูตในประเทศต่างๆ เพื่อบอกว่าฉันคือว่าที่นายกฯ ของประเทศไทย
อันที่จริงก็มี ส.ว.บางคนที่ออกมาแสดงจุดยืนจะโหวตให้คุณพิธาบ้างแล้ว ดังนั้น ผมว่าทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่ข่าวร้ายซะทีเดียว แต่ขณะเดียวกัน ผมก็อยากให้ปล่อยตัวลอยๆ เพราะเรารู้ว่าฝ่ายตรงข้ามพร้อมใช้แท็กติกทุเศๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าการใข้ ส.ว.สกัด, การยุบพรรค, ตัดสิทธิทางการเมือง หรือการแทรกแซงจากศาลรัฐธรรมนูญ
มองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst scenraio) ไว้อย่างไรบ้าง
ส.ว.ไม่โหวตรับรองคุณพิธา และโอกาสอาจตกมาที่เพื่อไทยในการเสนอนายกฯ แต่ ส.ว.จะโอเคหรอ แค่การเปลี่ยนชื่อนายกฯ จะทำให้รัฐบาลเปลี่ยนโนบายไปเลยหรอ จะกลายเป็นรัฐบาลที่จะแฮปปี้กับอนุรักษ์นิยมหรอ ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่คำตอบของ ส.ว.และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ดังนั้น ถ้าไม่ถ้าเอาทั้งคู่ก็อาจเดินหน้าสู่สุญญากาศ
และอาจมีการตั้งรัฐบาลจากเสียงข้างน้อย กลับไปพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจากฝ่ายค้านหรอ หรือนายกฯจะชื่ออนุทิน (หัวเราะ) แต่หัวเราะแบบนี้ต้องไม่ลืมว่าความจังไรของการเมืองไทยเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่อย่างที่บอกนี่คือ ภาพที่เลวร้ายที่สุด หรือแย่กว่านั้น ก็ยุบพรรคการเมืองให้หมด (หัวเราะ) นี่เหมือนเป็นเรื่องตลก และไม่ดูเป็นนักวิชาการเลย แต่ก็เป็นไปได้ในการเมืองไทย เราเห็นมาหลายรอบแล้ว
มีบางคนที่เสนอให้พูดกับ ส.ว.ดีๆ หรืออ้อนเพื่อขอคะแนนรับรองจาก ส.ว.
โน! มึงอยู่ในโรงเรียนหรอ ทุกคนมันเท่ากัน ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง คิดว่าถ้าคนพวกนี้ได้ฟังคำพูดเพราะๆ แล้วจะปล่อยผลประโยชน์ของตัวเองหรอ ส.ว.ก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น ที่ยืนอยู่ตรงนี้เพราะได้ประโยขน์ทั้งนั้น การที่ฝ่ายตรงข้ามมาพูดจาหวานๆ เช่น คุณหมอพรทิพย์ไปทำผมที่ไหนมา สวยจัง แล้วเขาจะโหวตให้เลยเพราะชมว่าสวยไหม ก็ไม่
พูดถึง #สวมีไว้ทำไม มองว่าอย่างไรบ้าง ส.ว.ยังจำเป็นอยู่ไหมในการเมืองไทย
วันนี้ไม่มี ส.ว.ได้ไหม เราพิสูจน์แล้วว่าทุกวันนี้มีก็เหมือนไม่มี เพราะมันคือสภาตรายาง มันเป็นคำตอบในตัวเองแล้วว่า ไม่มี ส.ว.ก็ได้ มันเป็นไปได้ไงในเมื่อ ส.ว.ถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนระบอบประชาธิไตย แต่ ส.ว.ไทยกลับกลายเป็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยเสียเอง ถ้าแบบนี้จะมีไว้ทำไม
แต่ผมคิดว่าเราต้องกลับไปที่รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ ส.ว.ควรมีที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าจะมีอยู่ต้องผ่านการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีก็ไม่มีไปเลย เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ทำงานอยู่แล้ว ที่สำคัญกว่านั้น อะไรคือคุณสมบัติของ ส.ว. บางคนได้นั่งตำแหน่งนี้เพราะมีญาติพี่น้องอยู่ในกองทัพด้วยซ้ำไป แบบนี้มันบ้าบอ
ในภาพใหญ่ถ้าพูดถึงฝ่ายประชาธิปไตยที่สามารถรวมเสียงได้ 313 เสียง มันสะท้อนว่าหมดเวลาของกลุ่มอำนาจเก่าและอนุรักษ์นิยมเดิมหรือยัง
มันก็ทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะอย่างตอนคุณทักษิณชนะการเลือกตั้งแบบแลนไสลด์ (2547) ตอนนั้นเราก็คุยกันว่าหมดเวลาหรือยัง แต่มันก็ไม่จบไง แล้วทำไมครั้งนี้เราคิดว่าชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นจุดจบของอนุรักษ์นิยมแบบเดิมๆ
แต่มันอาจจะใช่ตรงที่ว่า ตอนที่ทักษิณขึ้นมามันเป็นเรื่องของปากท้อง และที่มาของรัฐบาลที่ควรมาจากการเลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านั้นเราล้มลุกคลุกคลานมาเยอะทั้งพฤษภาทมิฬ หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ในรอบนี้มันมีเรื่องสถาบันกษัตริย์เข้ามา และนี่จะคือตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริง ซึ่งมันอาจจะตีความได้ว่าคะแนนเสียงที่ก้าวไกลได้รับมา มันไม่ใช่แค่ชนะด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่ดีกว่า แต่ประเด็นที่ก้าวไกลแตะ เป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ และเป็นเรื่องที่คนกลุ่มนั้น (ชนชั้นสูง) หากินมาตลอด
หลังจากนี้มองว่าหน้าตาของอนุรักษ์นิยมไทยจะเป็นอย่างไร
นี่เป็นคำถามที่ดีและยากมาก ผมอาจจะต้องเอาไปเขียนเป็นบทความทางวิชาการต่อว่าเมื่อก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล อะไรคือโฉมหน้าใหม่ของอนุรักษ์นิยมไทยที่แน่ๆ มันเป็นไปไม่ได้ที่อนุรักษ์นิยมจะสูญพันธุ์ เพราะในประเทศเจริญแล้วก็ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยม
อนุรักษ์นิยมแบบใหม่จะเป็น progressive conservative อนุรักษ์นิยมแบบหัวก้าวหน้า เช่น ในประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อนุรักษ์นิยมแบบใหม่อาจจะเห็นด้วยกับการปฏิรูปและให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่จะมองว่ายังต้องมีสถาบันกษัตริย์อยู่
ที่จริงๆ เราเห็นคนพวกนี้มาสักพักแล้ว คนกลุ่มนี้เชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้หูหนวกตาบอดจนเชื่อว่าสถาบันสามารถทำได้ทุกอย่าง เช่น คุณกษิต ภิรมย์ ที่ไปพูดที่อเมริกาว่า สถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัว หรือคำตอบง่ายๆ คือ อนุรักษ์นิยมแบบใหม่ต้องมีความหัวก้าวหน้าผสมอยู่ด้วย
มองต่อไปถึงหลังการจัดตั้งรัฐบาล ก้าวไกลประกาศว่าสิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ 3d ปฏิรูปกองทัพ, กระจายอำนาจ และทลายทุนผูกขาด คำสัญญาเหล่านี้คือการชนกับปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทย อาจารย์มองว่าจะทำได้สำเร็จไหมภายในระยะเวลา 4 ปี
มันไม่มีใครตอบได้ แต่ผมคิดว่าทั้ง 3 ข้อ ลดอำนาจทหาร, กระจายอำนาจ และลดการผูกขาดทุน ยังไม่ใช่การปฏิรูปทั้งหมด มันยังมี 2 ส่วนที่สำคัญและต้องปฏิรูปคือ สถาบันกษัตริย์ และสถาบันตุลาการ แต่ผมเข้าใจว่าสองสถาบันนี้เป็นสถาบันที่แตะลำบาก เพราะตามกฎหมายก็มีหลักว่าเราไม่สามารถวิจารณ์ศาลได้
แต่ผมคิดว่า 3 ข้อนี้เป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับ 4 ปีในการเป็นรัฐบาล ทำได้ไหม ผมคิดว่าเขาตั้งใจจริงและจะพยายามทำ แต่อุปสรรคมันจะเยอะมาก เพราะความเป็นเผด็จการมันฝังรากลึกในสังคมไทย ดังนั้น เขาจะเริ่มทำแต่อาจไม่สำเร็จใน 4 ปีก็ได้ เพราะทั้ง 3 ข้อเป็นของแข็งทั้งนั้น ดูอย่างล่าสุดเรายังมี ผบ.ทบ. (พล.อ.ประยุทธ์) เป็นนายกฯ อยู่เลย ทั้ง 3 ข้อไม่มีข้อไหนง่ายเลย
ที่สำคัญคือเขาพูดถึงและเริ่มทำ สำหรับผมนี่คือการก้าวกระโดดของประชาธิปไตย เป็นไปได้หรอที่จะเราพูดเรื่องสถาบันกษัติรย์ได้ขนาดนี้ พูดเรื่องการปฏิรูป ม.112 ได้ สำหรับผมมันเป็นความสำเร็จไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องให้เวลาและพื้นที่กับก้าวไกลนิดหนึ่ง
ก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่พูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในรัฐบาลนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจะเป็นอย่างไร
ผมอยากรู้และผมจะซื้อตั๋วแถวหน้าไว้เลย พรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปไกลแค่ไหนและไปไกลยังไง อันนี้ต้องรอดูต่อไป แต่ผมเชื่อว่าความอดทนของสถาบันจะไม่สูง อย่าลืมว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจเก่าที่มองว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นภัยต่อสถาบัน
การยุบพรรคอนาคตใหม่ การอุ้มวันเฉลิม ม็อบที่เรียกร้องประเด็นสถาบันกษัตริย์ ทุกอย่างต่อกันอย่างลงตัว ดังนั้น ผลที่ตามมาคือทำให้สถาบันกษัตริย์ยิ่งถูกจับตา หลังจากนี้จึงต้องดูมากๆ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มีก้าวไกลนำกับสถาบันกษัติรย์จะเป็นอย่างไร ผมยังตอบไม่ได้ ต้องจับตาดู
วันก่อนก้าวไกลแถลงข่าวว่าจะผลักดันเรื่อง ม.112 เข้าสู่สภา มีคำถามแยกเป็นสองขยัก พรรคก้าวไกลจะแก้ ม.112 สำเร็จไหม และการผลักดันกฎหมายนี้เข้าไปพูดคุยในสภาได้สำเร็จ มีนัยยะทางการเมืองอย่างไรบ้าง
ผมขอตอบเรื่องนัยยะทางการเมืองก่อน ในปี 2020 การประท้วงทางการเมืองนับว่าสำเร็จ เพราะมันทำให้ประเด็นที่ไม่เคยพูดอย่างเปิดเผยกลายเป็นประเด็นสาธาณะ แต่ปี 2023 เรากำลังมีรัฐบาลที่จะเอาประเด็นนี้เข้าไปพูดในสภาอย่างเป็นทางการ ต้องไม่ลืมว่าการพูดถึง ม.112 ก่อนหน้านี้ไม่ได้มาจากรัฐบาลแต่มาจากฝ่ายค้าน ดังนั้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากว่าประเด็นที่ถูกปิดตายจะถูกเปิดขึ้น และเข้าไปสู่พื้นที่ของการเมืองแล้ว
แล้วจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ไหม ผมตอบเลยว่า ยาก แน่นอนว่าพรรคฝ่ายค้าน (ภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ) ไม่เอา แต่ทางฝ่ายรัฐบาลเองความยากก็เริ่มต้นตั้งแต่พรรคก้าวไกลจะคุยกับเพื่อไทยได้มากน้อยแค่ไหน พรรคเพื่อไทยจะรู้สึกสบายใจแค่ไหนในการพูดเรื่องนี้ในสภา ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะรวมเสียงกันเป็นก้อนได้ในประเด็นนี้ ทั้งที่เอาจริงแล้วพรรคก้าวไกลต้องการเสนอแก้ไขแค่ 2-3 ประเด็น เช่น การจัดตั้งหน่วยงานมาดูแลการบังคับใช้ หรือการลดโทษ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติ
แต่ก็ต้องมาวัดใจกับพรรคเพื่อไทยว่าจะรับได้ไหม ซึ่งมันก็ย้อนแย้งนิดหนึ่ง เพราะพรรคก้าวไกลชนะมาด้วยประเด็นเหล่านี้ และถ้าคุณตัดสินใจมาร่วมรัฐบาลกับเขาแล้ว มันก็น่าตลกถ้าคุณจะโหวตสวนเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องน่าเศร้ามากของการเมืองไทย พอจะมีรรคการเมืองที่ผลักดันเรื่องนี้ได้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่เอาด้วย และจะไม่เอาเขามาร่วมด้วยก็ไม่ได้เพราะจะตั้งรัฐบาลไม่ได้อีก
เมื่ออยู่ใต้รัฐบาลก้าวไกลแล้ว ตัวอาจารย์เองรวมถึงผู้ลี้ภัยคนอื่นจะรู้สึกปลอดภัยที่จะกลับมาเมืองไทยไหม
ถ้าผู้ลี้ภัยที่โดน ม.112 ไม่ได้ แต่ถ้าโดนข้อหาอื่นอาจจะกลับมาได้ (พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์) แต่ถ้าจะโฟกัสเฉพาะผู้ลี้ภัย ม.112 ถึงแม้วันนั้นจะมีการปฏิรูป ม.112 แล้ว แต่คนกลุ่มนี้จะกลับมาอย่างไร ผ่านการนิรโทษกรรมหรอ ใครจะเป็นคนนิรโทษกรรมล่ะ เราจะให้รัฐบาลเป็นคนยกโทษให้หรอ แล้วถ้าสถาบันไม่ยกโทษให้ล่ะ มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นสำหรับผู้ที่โดน ม.112
ดูเหมือนว่าอาจารย์กำลังกังวลเรื่องอื่นมากกว่ากฎหมาย
ใช่ มันมีเรื่องความปลอดภัยด้วย ถ้าเกิดมันไม่มีเคสให้เราเห็นเราจะไม่กังวลขนาดนี้ นับจากปี 2557 มีเคยอุ้มหายเกิดขึ้น 9 ครั้ง หลักๆ อยู่ที่ลาวและกัมพูชา นี่ยังไม่นับเคสที่ผมโดนทำร้ายที่เกียวโต และอั้ม เนโกะโดนทำร้ายที่ฝรั่งเศส คนพวกนี้จะกลับบ้านได้ต่อเมื่อเมืองไทยไม่ใช่แค่ไม่มีกฎหมาย ม.112 นั่นแหละคือคำตอบว่าคนเหล่านี้จะกลับเมืองไทยได้ไหม
คิดว่าในอนาคตจะมีหลุมบ่อตรงไหน ที่พรรคก้าวไกลอาจตกลงไปไหม
ข้อแรก ความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย การจัดตั้งรัฐบาลผสมมันยุ่งยากอยู่แล้ว และการที่สองพรรคมีที่นั่งพอๆ กัน มันต้องมีความคิดอยู่แล้วว่าฉันไม่ได้ห่างจากเธอ ดังนั้น การประคับประคองให้สองพรรคนี้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอุปสรรคแรก
ข้อที่สอง ฝ่ายค้านเตรียมจะงับ ไม่ใข่แค่ฝ่ายค้านในรัฐสภาแต่รวมถึงข้างนอก และมือที่มองไม่เห็นด้วย ผมเชื่อถึงขนาดซื้อหวยก็ถูกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่การแก้ไข ม.112 เข้าสภา มันจะมีการประท้วง และอาจเลยเถิดกลายเป็นขนาดใหญ่ และอย่าลืมว่าการไม่เห็นด้วยเรื่องพวกนี้ไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก ยกตัวอย่าง กปปส. ไม่ใช่คนจำนวนเยอะ แต่เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทั้งสิ้น ไม่ว่าในแง่ธุรกิจ บันเทิง คนพวกนี้เสียงเดียวดังกว่าเสียงแม่ค้าส้มตำในตลาดร้อยคน
ไม่ให้น้ำหนักกับการยุบพรรคหรือตัดสิทธิคุณพิธาหรือ
เป็นไปได้ เราพูดไปแล้วว่า ณ จุดนี้ฝ่ายตรงข้ามเริ่มคำนวณแล้วว่าจะใช้มาตรการไหน แต่ผมเชื่อว่าเขาคิดว่าบุ่มบ่ามไม่ได้ เขากำลังชั่งน้ำหนัก เพราะนี่สองพรรครวมกัน 300 เสียงนะ และเป็นการเลือกตั้งคนหิวโหยประชาธิปไตยมาก และอยู่ดีๆ จะไปล้มเขาเลยหรอ มันอาจจะเกิดแรงสะท้อนกลับได้ เขาต้องคำนวณดูว่าอาจให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลก่อน แล้วค่อยไปกระทืบตอนเป็นรัฐบาล
แต่ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มอำนาจเก่าพวกนี้ บางทีถ้ามันจะทำมันก็จะทำ ถึงมันจะย้อนแย้งกับที่กล่าวไปข้างต้นนะ แต่มันจะมี 2 ไอเดียนี้แหละ ถ้าเขาฉลาดนิดหนึ่งเขาอาจจะคำนวณ แต่ถ้าโง่เหมือนเดิมอาจจะพังไปเลย