“ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน พร้อมที่จะฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้ผมเป็นนายกฯ ที่ดีขึ้นในอนาคต และพวกเรายังพร้อมที่จะเคารพ ให้เกียรติ และต่อยอดกับทุกฝ่ายที่ผ่านมา เพื่อประชาธิปไตย และในขณะเดียวกันเราก็พร้อมที่จะคืนศรัทธาให้กับระบบประชาธิปไตย ระบบสภา สร้างความโปร่งใสให้กับการเมืองไทย และผู้แทนราษฎรทุกคน” พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลกล่าว
พรรคก้าวไกลยังเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนในการรวมเสียงของรัฐสภาให้ได้เกินครึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง เพื่อส่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย The MATTER ชวนอัพเดตแนวโน้มการรวมเสียงโหวตรับรองนายกฯ โดยยึดตามรายงานผลคะแนนบนเว็บไซต์ thvote66.thematter.co ร่วมกับการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนหลายสำนัก
ข้อมูล ณ เวลา 16.15 น. ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไลรวมเสียงได้ทั้งหมด 336 เสียงจากขั้นต่ำที่ 376 เสียงหรือครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา โดยแบ่งเป็น
พรรคร่วมรัฐบาล 313 เสียง ประกอบด้วย
– ก้าวไกล 152 ที่นั่ง
– เพื่อไทย 141 ที่นั่ง
– ประชาชาติ 9 ที่นั่ง
– ไทยสร้างไทย 6 ที่นั่ง
– เพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง
– เสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง
– เป็นธรรม 1 ที่นั่ง
– พลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เป็นธรรม พลังสังคมใหม่ และเพื่อไทรวมพลัง ได้แถลงข่าวร่วมกันกรณีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล
สำหรับเนื้อหาใน MOU มีรายละเอียดอยู่ 23 ข้อ และแนวทางการปฏิบัติของการบริหารประเทศอีก 5 ข้อ โดยประเด็นที่ถูกระบุใน MOU อาทิ ฟื้นฟูประชาธิปไตย, ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม, เปลี่ยนเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ (ยกเว้นยามศึกสงคราม), ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, นำกัญชากลับไปสู่บัญชียาเสพติด ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องแก้ไข ม.112 ไม่ได้ปรากฏอยู่ใน MOU ซึ่งในเรื่องนี้ เพจของพรรคก้าวไกลอธิบายเมื่อวานนี้ (21 พฤษภาคม) ชี้แจงว่า ประเด็นที่ไม่ถูกระบุใน MOU คือ วาระ ‘เฉพาะ’ ของแต่ละพรรค ซึ่งจะมีการผลักดันผ่านกลไกกระทรวงที่พรรคมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรี และกลไกนิติบัญญัติของระบบรัฐสภา
พรรคที่ไม่ร่วมรัฐบาล แต่จะโหวตนายกฯ เสียงข้างมาก
– พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง
– พรรคใหม่ 1 ที่นั่ง
หลังถูกกดดันจากภาคประชาชน และพรรคก้าวไกลได้ออกแถลงการณ์ยุติการร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า อย่างไรก็ตาม สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้าได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า พรรคที่รวมเสียงได้เป็นอันดับ 1 ต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
ทางด้านพรรคใหม้ซึ่งตอนแรกตอบรับเทียบเชิญร่วมรัฐบาลจากพรรคก้าวไกลเช่นกัน ถูกกระแสโซเชียลมีเดียตั้งถามถึงจุดยืนเกี่ยวกับ ม.112 ว่ามีแนวคิดเพิ่มโทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือไม่ ในเวลาต่อมา พรรคใหม่ได้ออกมาปฏิเสธเสียงวิจารณ์ดังกล่าว และยืนยันว่าพรรคมีนโยบายแก้คอรัปชั่นเท่านั้น จนล่าสุด ทางพรรคใหม่จึงออกแถลงการณ์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แต่ยังยืนยันจะโหวตให้พิธานั่งนายกฯ ตากหลักการพรรคที่ได้เสียงข้างมาก
เสียง ส.ว. 20 เสียง
The MATTER ได้รวบรวม ส.ว. ที่แสดงจุดยืนโหวตสนับสนุนพิธา, ไม่โหวต, งดออกเสียง, รอตัดสินใจ รวมถึงยังไม่แสดงท่าทีไว้ใน sheet ด้านล่าง สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อได้ที่: https://docs.google.com/spreadsheets/d/1HnOHsvHPxjwHnhRm_Ag0L5YAzip96CZfxJ8VwTcCOKU/edit#gid=0