หากมองว่ากระทรวงต่างๆ ก็คือโปรไฟล์ของเราใน dating app พอเปิดเข้าหน้าแมตช์คู่แล้วก็เจอรายชื่อคนที่จะมาคุมกระทรวงนั้นๆ .. คุณอยากจะปัดไปทางซ้ายหรือขวาดีล่ะ?
ไม่ว่าใครจะคิดยังไง จะให้ Like หรือ Nope ก็ว่ากันไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คือกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติตามด้านต่างๆ เราก็คงอยากให้คนที่เหมาะสม มีความรู้ความสามารถตรงกับงานที่กระทรวงเหล่านั้นต้องดูแล ได้รับตำแหน่งเหล่านี้ไป
และในวันที่รายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ถูกเคาะอย่างเป็นทางการนั้น The MATTER ก็อยากจะชวนทุกคนมาลองดูโปรไฟล์ของเหล่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ คนใหม่ กับ 10 กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 10 อันดับแรก แล้วลองเลือกกันเองว่า อยากจะปัดซ้ายหรือปัดขวากันนะ
กระทรวงศึกษา
ได้รับงบประมาณ 590,470.0 ล้านบาท (ร้อยละ 18.5 ของวงเงินงบประมาณ)
กระทรวงสำคัญที่จะเป็นหนึ่งในตัวกำหนดอนาคตของประเทศชาติ เพราะเกี่ยวพันกับเด็กหลายล้านคนทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นกระทรวงที่หลายคนคาดหวังให้คนที่เหมาะสมได้เข้ามาดูแล เนื่องด้วยปัญหาการศึกษาที่ฝังรากลึกโยงใยไปกับเรื่องต่างๆ ในสังคม คือสิ่งที่ฉุดรั้งความเจริญของประเทศนี้อยู่
สิ่งที่เราต้องการการดูแลจากกระทรวงนี้ เช่น
- จำนวนข้าราชการครู 353,611 คน
- จำนวนผู้บริหารโรงเรียน 28,794 คน
- โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 29,312 แห่ง
- จำนวนนักเรียนทั้งหมด 6,550,058 คน
ส่วนคนที่จะได้มาคุมกระทรวงนี้ ก็คือ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ซึ่งจบการศึกษาคณะนิติศาสตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยรับราชการตำรวจมาหลายตำแหน่ง ในหลายรัฐบาล ชื่อของเขาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนัก เมื่อมีความเกี่ยวข้องกับคดี ‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ บุคคลที่ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ จนเสียชีวิต คดีนี้ถูกมองว่าสะท้อนความเหลื่อมล้ำและปัญหาในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องบอส ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ก็มีชื่อเป็นผู้ลงนามแทน ผบ.ตร. ในการไม่เห็นแย้งอัยการ และเป็นผลให้คดียุติลงทันที
กระทรวงมหาดไทย
ได้รับงบประมาณ 325,578.9 ล้านบาท (ร้อยละ 10.2 ของวงเงินงบประมาณ)
ความเป็นอยู่ของประชาชน จะดีหรือร้ายก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงนี้แหละ เพราะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสารทุกข์สุขดิบของประชาชน เช่น หน่วยงานที่ปกครองส่วนท้องถิ่น การประปา การไฟฟ้า และผังเมือง
โดยกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ต้องดูแลหน่วยงานในกำกับ เช่น
- ส่วนราชการ
- สำนักงานปลัดกระทรวง
- กรมการปกครอง
- กรมการพัฒนาชุมชน
- กรมที่ดิน
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- กรมโยธาธิการและผังเมือง
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
จัดเงินเดือนให้บุคลากรในหน่วยงาน รวม 19,413.1597 ล้านบาท
- รัฐวิสาหกิจ
- การประปานครหลวง
- การประปาส่วนภูมิภาค
- การไฟฟ้านครหลวง
- องค์การตลาด
- องค์การจัดการน้ำเสีย
ต้องจัดการงบลงทุน 3,642.2398 ล้านบาท, งบอุดหนุน 75.5750 ล้านบาท, งบอื่นๆ 90.0000 ล้านบาท
- กองทุนหมุนเวียน ดูแลงบรวม 522.3352 ล้านบาท
- งบสำหรับกรุงเทพฯ 21,599.3692
- งบสำหรับเมืองพัทยา 1,698.4417
และผู้ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล อนุทิน ชาญวีรกูล ที่เคยมีโปรไฟล์ทางการเมืองมากมาย ทั้งปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ แถมยังถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เพราะเป็นกรรมการบริหารของพรรคไทยรักไทย ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมกระโดดขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยที่ผ่านมา
กระทรวงการคลัง
ได้รับงบประมาณ 285,230.4 ล้านบาท (ร้อยละ 9.0 ของวงเงินงบประมาณ)
หนึ่งในสามกระทรวงใหญ่ ที่รับหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะหนักหน่วง ซึ่งหนึ่งในหน้าที่ที่กระทรวงการคลังต้องดูแลก็คือ จัดการหนี้สาธารณะคงค้าง โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ อัปเดตถึงเดือนมิถุนายน 2566 พบรายละเอียดของหนี้สาธารณะ ดังนี้
- หนี้รัฐบาล 9,558,050.39 ล้านบาท
- หนี้รัฐวิสาหกิจ 1,085,379.49 ล้านบาท
- หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ 223,508.22 ล้านบาท
- หนี้หน่วยงานของรัฐ 56,245.36 ล้านบาท
คนที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในคราวนี้ เคยเป็นนักธุรกิจรายใหญ่มาก่อน นั่นคือ เศรษฐา ทวีสิน ที่เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองจากการเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ในปี 2565 ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในปี 2566 นั่นเอง
กระทรวงกลาโหม
ได้รับงบประมาณ 197,292.7 ล้านบาท (ร้อยละ 6.5 ของวงเงินงบประมาณ)
‘ทหาร’ เป็นหนึ่งในอาชีพที่เกี่ยวพันกับการเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ กระทรวงกลาโหม เลยกลายเป็นที่จับตามองของการตั้ง ครม. ชุดใหม่ทันที ซึ่งกระทรวงนี้ มีสิ่งที่ต้องดูแล ดังนี้
บุคลากรทางการทหาร ราว 456,000 นาย โดยแบ่งเป็น
- บุคลากรที่กำลังทำหน้าที่ 350,000 นาย
- บุคลากรสำรอง 100,000 นาย
- กองกำลังกึ่งทหาร 6,000 นาย
ยุทโธปกรณ์ เช่น
- เครื่องบินปฏิบัติการณ์รวมทั้งสิ้น 488 ลำ
- ยานพาหนะสำหรับสงคราม (กองทัพบก) 39,808 คัน
- กองกำลังเรือรวม 292 ลำ
ส่วนคนที่ได้รับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในครั้งนี้ คือ สุทิน คลังแสง ซึ่งอยู่ในสังกัดพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ปี 2544 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไป 5 ปี เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ก่อนที่ในปี 2563 สุทินจะได้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
กระทรวงคมนาคม
ได้รับงบประมาณ 180,502.0 ล้านบาท (ร้อยละ 5.7 ของวงเงินงบประมาณ)
ไม่ว่าจะเดินทางทางบน ทางน้ำ ทางอากาศ ปัญหาเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องจัดการให้โครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการการจราจร เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมท่าอากาศยาน กรมเจ้าท่า และการรถไฟแห่งประเทศไทย ในหลายหน่วยงานเป็นไปอย่างราบรื่น
โดยกรณีกรมการขนส่งทางบก มีสิ่งที่ต้องดูแล ดังนี้
- รถโดยสาร
- ประจำทาง 60,346 คัน
- ไม่ประจำทาง 58,587 คัน
- ส่วนบุคคล 13,873 คัน
- รถบรรทุก 1,225,549 คัน
- รถจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน รนยนต์นั่งเกิน 7 คน เป็นต้น รวมกันทั้งหมด 42,035,133 คัน
และคนที่ได้รับหน้าที่ดูแลกระทรวงนี้ ก็คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเริ่มมีบทบาททางการเมืองจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จากพรรคกิจสังคม ก่อนที่ในปี 2544 จะเข้ามาสังกัดพรรคไทยรักไทย และในปี 2545 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะก้าวมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พรรคพลังประชารัฐ) ในปี 2563
กระทรวงสาธารณสุข
ได้รับงบประมาณ 156,408.7 ล้านบาท (ร้อยละ 4.9 ของวงเงินงบประมาณ)
เราต่างรู้ดีถึงความสำคัญของกระทรวงนี้ เพราะเจ็บไข้ได้ป่วย เจอโรคระบาด กำลังแพทย์-พยาบาลจะพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงสารธารณสุขนั่นเอง โดยหากดูทรัพยากรที่กระทรวงสาธารณสุขต้องบริหารจัดการในตอนนี้ ก็มีดังเช่น
- จำนวนแพทย์ที่อยู่ในสังกัด สธ. 68,725 คน
- โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 116 แห่ง
- โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และ กรมสุขภาพจิต 49 แห่ง
- โรงพยาบาลชุมชนในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 743 แห่ง
ใครได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มักจะถูกเรียกว่า ‘หมอ’ ไม่ว่าจะเป็นหมอมาก่อนหรือไม่ก็ตาม (อย่างเช่น หมอหนู) แต่ในครั้งนี้ รับประกันได้ว่าคนที่มานั่งเก้าอี้ดังกล่าว เคยเป็นหมอมาก่อนจริงๆ นั่นคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หมอที่ผันตัวมาทำงานการเมืองตั้งแต่ปี 2544 ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกให้เป็น สส.มาตลอด 6 สมัย ทั้งยังเคยทำงานหลายตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้รับงบประมาณ 126,067.1 ล้านบาท (ร้อยละ 4.0 ของวงเงินงบประมาณ)
หากคำว่า ‘สันหลังของชาติ’ ซึ่งหมายถึงชาวนา สะท้อนความสำคัญของอาชีพเกษตรกรฉันใด กระทรวงเกษตรก็เป็นหนึ่งในกระทรวงที่สำคัญฉันนั้น โดยหน้าที่ของกระทรวงนี้ มีหลายด้าน เช่น
- ต้องดูแลครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งข้อมูลจากปี 2565 มีครัวเรือนเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ 7,146,264 ล้านครัวเรือน โดยมีหนี้เฉลี่ยกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน
- ทำตามเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน หรือก็คือ ให้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10%
- ดูแลจำนวนโค กระบือ และสุกรที่ฆ่าเพื่อบริโภค (ข้อมูลในปี 2565)
- โค 416,939 ตัว
- กระบือ 55,522 ตัว
- สุกร 10,704,224 ตัว
และคนที่ได้รับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งนักการเมืองชื่อดัง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ชื่อของเขามีอิทธิพลขึ้นมาจากการรับราชการทหาร และได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วยการสังกัดในพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2544 ก่อนจะกระโดดไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐในปี 2561 และได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2563
แต่ที่บอกว่าชื่อดังไม่ใช่แค่ตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองหรอกนะ หากเป็นเพราะการเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมและฉ้อโกงหลายครั้ง ตั้งแต่เรื่องที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าวุฒิการศึกษานั้นเป็นของปลอม เพราะมหาวิทยาลัยที่เจ้าตัวอ้างว่าเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอกนั้นไม่มีอยู่จริง และเคยเกี่ยวพันกับคดีฆาตกรรม พูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ ในปี 2541 โดยคดีนี้ ธรรมนัสโดนออกหมายจับร่วมกับพวกอีก 3 คน ติดคุกอยู่ระยะหนึ่ง จนพอการสืบคดีเสร็จสิ้นแล้วศาลสั่งยกฟ้อง เขาจึงออกจากเรือนจำโดยไม่มีคดีติดตัว
ส่วนอีกคดีที่เป็นที่โจษจันก็คือ คดีค้ายาเสพติดข้ามชาติ โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารจากทางการออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่า ธรรมนัสถูกพิพากษาจำคุกฐานนำเฮโรอีนน้ำหนัก 3.2 กิโลกรัมเข้าประเทศออสเตรเลีย ในปี 2536 มีคำพิพากษาในปี 2537 แล้วก็ถูกปล่อยตัวหลังรวมเวลาจำคุกได้ 4 ปี พร้อมเนรเทศออกนอกประเทศ
กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ได้รับงบประมาณ 124,748.2 ล้านบาท (ร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ)
ภาคต่อจากการศึกษาในโรงเรียน ก็คือการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ดังนั้น ก็คงไม่ต้องย้ำกันแล้วแหละว่ากระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำคัญขนาดไหน
โดยทรัพยากรและหน้าที่ที่กระทรวงนี้ต้องรับผิดชอบ เช่น
- สนับสนุนงบให้สถาบันอุดมศึกษาภายใต้การดูแลของกระทรวง 155 แห่ง
- จัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญา 1,345,086 คน
- พัฒนากำลังคนในหลักสูตร Non-Degree ไม่น้อยกว่า 25,000 คน
- เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป เข้าเรียนในระบบอุดมศึกษา ม่น้อยกว่า 275,000 คน
ซึ่ง ศุภมาส อิศรภักดี คือผู้ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ไป โดยเจ้าตัวเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากการเป็น สส.พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 ก่อนที่ในปี 2548 ศุภมาสจะลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้ง ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย พร้อมก้าวขึ้นเป็นคณะกรรมการบริหารและโฆษกพรรค ในปี 2555 และเมื่อปี 2557 ก็ได้เป็น สส.อีกครั้ง ภายใต้สังกัดของพรรคภูมิใจไทย
กระทรวงแรงงาน
ได้รับงบประมาณ 54,338.5 ล้านบาท (ร้อยละ 1.7 ของวงเงินงบประมาณ)
อนาคตของแรงงานไทยจะเป็นอย่างไร ผู้กุมชะตากรรมนั้นคือกระทรวงแรงงานนั่นแหละ ซึ่งหากดูตัวเลขล่าสุด (2565) ของผู้มีงานทำ และผู้ว่างงาน จะพบข้อมูล ดังนี้
- ผู้มีงานทำ 39,221,100 คน
- ผู้ว่างงาน 5,270,000 คน
ซึ่งกระทรวงแรงงานนั้น ก็มีหน้าที่ต้องดูแลกองทุนประกันสังคม โดยตอนนี้ มีผู้ประกันตนรวม 24.51 ล้านคน แบ่งเป็น
- ผู้ประกันตน ม.33 อยู่ที่ 11.72 ล้านคน
- ผู้ประกันตน ม.39 อยู่ที่ 1.85 ล้านคน
- ผู้ประกันตน ม.40 อยู่ที่ 10.93 ล้านคน
อนาคตของแรงงานนั้น อยู่ในมือของ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเขาเริ่มเข้าสู่การทำงานการเมืองตั้งแต่ปี 2541 ในบทบาทกรรมการบริหารพรรคมหาชน ก่อนที่จะมีตำแหน่งสำคัญอีกครั้งจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ด้วยโควตาของพรรคภูมิใจไทย ในปี 2562 และในปี 2564 ก็ได้เป็นรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้รับงบประมาณ 30,638.6 ล้านบาท (ร้อยละ 1.0 ของวงเงินงบประมาณ)
หากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายจนสิ้นซาก ประเทศชาติเราก็คงพังพินาศตามไปด้วย กระทรวงทรัพยากรฯ จึงเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งตัวอย่างของ ‘ทรัพยากร’ ที่กระทรวงนี้ต้องรับผิดชอบดูแล ได้แก่
- ดูแลจัดสรรงบประมาณรายจ่าบบุคลากร รวม 11,351.1306 ล้านบาท
- ดูแลพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ 102,135,974.96 ไร่ (31.57 % ของพื้นที่ประเทศไทย)
- ดูแลเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า 37,377.11 ตารางกิโลเมตร ทั่วประเทศ
- ดูแลพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 6,068.58 ตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ
ส่วนบุคคลที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ก็คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2549 (หลังรัฐประหาร 49) ก่อนจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2551 และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้งในปี 2557 (หลังรัฐประหาร 57)
แม้ว่า พล.อ.พัชรวาท จะไม่ค่อยออกสื่อ แต่เขาก็ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน ‘คีย์แมนบ้านป่ารอยต่อฯ’ หรือก็คือมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พี่ชาย) เป็นประธาน และมีสำนักงานตั้งอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน.1 รอ.)
ย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็นเพียง 10 กระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุดจากการจัดสรรงบครั้งล่าสุดเท่านั้น ยังมีอีกหลายหน่วยงานและรัฐมนตรีอีกหลายคน ที่น่าจับตามอง .. ซึ่งจะ ‘ปัดซ้าย’ หรือ ‘ปัดขวา’ นั้น ก็แล้วแต่ผู้อ่านล่ะนะ
อ้างอิงจาก