สันติภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มีคำจำกัดความอย่างง่ายว่าเป็นการทำให้ประชาชนกินอิ่ม นอนหลับได้
ในวันที่พรรคก้าวไกลขานชื่อพรรคร่วมรัฐบาลที่จะมาจัดตั้งเป็นรัฐบาลใหม่ หลังชนะการเลือกตั้ง (อย่างที่ กกต.ยังไม่รับรองผลทางการ) ไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชื่อของ ‘พรรคเป็นธรรม’ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่หลายคนอาจยังไม่คุ้นหูนักก็ปรากฎตัวขึ้นมา
“ผมติดต่อแพทองธาร และแสดงความยินดี ต่อการมุ่งมั่นหาเสียง และเชิญชวนมาจัดตั้งรัฐบาล .. พรรคก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย และกำลังติดต่อเป็นธรรม รวมกัน 309 เสียง ก็เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก”
แม้ว่าจนถึงวันนี้ (23 พฤษภาคม) จะมีอีก 2 พรรคนั่นคือ พลังสังคมใหม่ และเพื่อไทยรวมพลัง มาเข้าร่วมจนทำให้ก้าวไกลมีเสียงในการจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียงแล้ว แต่ความน่าสนใจก็คือ พรรคการเมืองเล็กๆ ที่มาเข้าร่วมกับก้าวไกลในครั้งนี้ อย่าง ‘พรรคเป็นธรรม’ ที่ก้าวไกลออกตัวว่าติดต่อให้มาร่วมรัฐบาลกันตั้งแต่วันแรกที่แถลงข่าว
พรรคเป็นธรรมส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต 11 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 9 คน และผลที่ออกมาคือได้คะแนน 181,226 คะแนน ส่งผลให้พรรคเป็นธรรมได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน คือ กัณวีร์ สืบแสง ชายผู้เคยทำงานในสำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ ก่อนจะขยับมาอยู่ใน UNHCR นานกว่า 10 ปี ทั้งยังเป็นประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพอีกด้วย
นั่นเป็นเครื่องการันตีว่า กัณวีร์ เป็นหนึ่งในผู้มีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ปาตานี และทำให้หลายคนยิ่งจับตาว่า การมาร่วมรัฐบาลกับก้าวไกลนี้ จะทำให้เราได้เห็นการขับเคลื่อนเรื่องสันติภาพที่ต่างไปจากราว 10 ปีที่ผ่านมาหรือไม่
หลักการสำคัญในการทำงานทางการเมืองของคุณคืออะไร
หลักการของตัวผมเอง ตอนนี้ผมเอามาเป็นหลักการของพรรคด้วย เรื่องหลักการมนุษยธรรมนำการเมือง เพราะว่าช่วง 91 ปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยไทยจริงๆ แล้วยังไม่มีหลักฐานที่มั่นคง เราก็เห็นอยู่ว่าหลายๆ ครั้งมีการเอาทหารนำการเมือง เอาเศรษฐกิจนำการเมือง เอารัฐราชการนำการเมืองตลอดเวลา เพราะฉะนั้นรากฐานของประชาธิปไตยในประเทศไทยมันเลยง่อนแง่น ผมโชคดีมีโอกาสได้ไปทำงานมนุษยธรรมโดยเฉพาะในเวทีระหว่างประเทศ
ตอนที่ทำงาน งานมนุษยธรรมเขาจะต้องใช้หลักการมนุษยธรรมเวลาทำงานทุกที่ เพราะว่าเราต้องทำงานในสถานการณ์เสี่ยงภัย ในสถานการณ์ภาวะฉุกเฉิน ฉะนั้น หลักการมนุษยธรรมตรงนี้ ผมเห็นว่ามันสามารถปรับใช้ได้จริงๆ กับทางด้านการเมือง เพราะว่าการเมืองไทยมันมีสภาวะฉุกเฉินเช่นกัน
คือหลักการทั้งหมดมีสี่หลัก ของหลักการมนุษยธรรม อันแรกเป็น humanity โดยการนำบุคคลในความห่วงใยหรือประชาชนของเราต้องเป็นศูนย์กลางในการพิจารณาการดำเนินงานต่างๆ เราจะไม่พิจารณาอย่างอื่น เราต้องเอาบุคคลในความห่วงใยของเรามาเป็นสิ่งพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการของเขา และช่องว่างที่เขาจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ
เพราะฉะนั้นพอใช้หลักการแรกคือ humanity คือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง คือประเทศไทยเนี่ย หลักการนี้ถ้าเอามาจริงๆ ประชาชนทุกคนจะต้องเป็นศูนย์กลาง ประชาชนทุกคนต้องมาบอกว่าปัญหาเขาคืออะไร แล้วทิศทางการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องนำมาจากประชาชน เพราะเขารู้รากปัญหา เขารู้ว่าเขาต้องการแก้ไขอย่างไร รัฐบาลต่างๆ จำเป็นจะต้องฟังและช่วยในทางเทคนิคกับกลุ่มประชาชน เพราะฉะนั้นจะต้องเป็นประชาชนเป็นศูนย์กลาง อันนี้คือหลักการแรกของมนุษยธรรมทางการเมือง
หลักการที่สอง หลักการความเป็นกลางคือ neutrality ต้องเป็นกลางให้ได้ในการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่สามารถที่จะให้คนใดคนหนึ่งมากกว่ากันได้ เพราะว่าในการทำงานมนุษยธรรม เราอยู่ในสภาวะฉุกเฉินแล้วก็มีการสงครามจริงๆ คือถ้าเราให้ของใครคนใดคนหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งเขาบอกว่าทำไมต้องให้คนนั้นด้วย ทำไมไม่ให้เขาด้วย เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้เป็นกลางให้ได้จริงๆ โดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราจะต้องเป็นกลางให้ได้ neutrality ฉันใดก็ฉันนั้นในการเมืองไทย คนที่เป็นรัฐบาล คนที่เป็นผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องเป็นกลางให้มากที่สุด ดูว่าประชาชนตนเองนั้นมีปัญหาอะไร และต้องใช้ความเป็นกลางของเราในการแก้ไขปัญหา
มันจะไปอิงกับหลักการที่สามคือเรื่องความไม่เอนเอียง เราจะไม่เอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ และรวมถึง prioritization คือการจัดลำดับความสำคัญ การไม่เอนเอียง เพราะมีกลุ่มนายทุนอยู่ มันมีกลุ่มผลประโยชน์อยู่ ฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะให้ผลประโยชน์ต่างๆ นี้มาทับซ้อนกับการตัดสินใจของเราได้ มันก็เป็นหลักการไม่เอนเอียง แล้วก็ต้องจัดลำดับความสำคัญเนื่องจากว่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทรัพยากรของเรามีน้อย เวลาเรามีน้อย เนื่องจากว่าเรามาแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ถ้าเราใช้เวลาเยิ่นเย้อไป ก็อาจจะมีการสูญเสียไปได้
เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับภาษีของเรา เรามีภาษีจำกัด เราก็จัดลำดับความสำคัญให้ดีว่าเราจะให้เงินภาษีของประชาชนไปบริหารจัดการอย่างไรบ้าง อย่างเรือดำน้ำจำเป็นต้องซื้อมั้ย ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่ซื้อ เราไปใช้อย่างอื่นดีกว่าในเรื่องการศึกษา ในเรื่องพัฒนาคุณภาพสังคม ในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องสิทธิมนุษยชน เราต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้
หลักสุดท้ายคือหลักอิสรภาพ การทำงานทุกอย่างของงานมนุษยธรรมคือเราจะต้องมีอิสรภาพ เราต้องไม่สามารถโดนกลุ่มไหนมาครอบงำเราได้ ไม่มีใครสามารถบอกเราได้ว่าต้องเดินซ้ายเดินขวา ฉันใดก็ฉันนั้นในการเมือง เราก็ไม่สามารถที่จะให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบงำการตัดสินใจในเรื่องของรัฐบาลได้ การสร้างนิคมอุตสาหกรรมเราไม่สามารถที่จะเอาเงินนายทุนมาให้เราแล้วบอกว่าต้องสร้างตรงนี้เพราะว่าได้ผลประโยชน์ เราต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นหลักอิสรภาพ สิ่งเดียวที่รัฐบาลไม่สามารถที่จะมีอิสรภาพได้ก็คือประชาชน ประชาชนจะสามารถเป็นคนที่บอกรัฐบาลได้
นี่แหละเป็นหลักการมนุษยธรรมนำการเมืองที่ผมจะปรับใช้ ตัวผมและพรรคเป็นธรรมจะมาปรับใช้กับประเทศไทย
อยากให้ขยายความตรงช่วงที่บอกว่า ‘ความเป็นกลาง’ อีกหน่อย
หลักความเป็นกลางก็คือ ในงานมนุษยธรรมคือเราจะต้องเป็นคนกลางระหว่างความโต้แย้ง อย่างเช่นเขากำลังแย่งชิงทรัพยากรอยู่ แล้วเขามีการทะเลาะเบาะแว้ง ใช้ปืนใช้อาวุธกันอยู่ เราต้องเป็นคนไกล่เกลี่ย เราจะต้องเป็นกลางแล้วมาบอกว่าการที่คุณแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติตรงนี้ อย่างเช่น ผืนนาตรงนี้ ทำไมต้องแย่งชิง ฝั่งนึงอาจจะบอกว่าเพราะว่าเป็นผืนนาในบรรพบุรุษของเขา อีกคนบอกว่าผมจ่ายตังค์มาก่อนผมก็ต้องได้ เพราะฉะนั้นหลักความเป็นกลางคือเราต้องเอาข้อมูลทั้งหลายมาบอกว่าข้อมูลเป็นยังไงบ้าง ตอนนี้มีกฎหมายอะไรบ้างแล้ว เราจะต้องใช้แง่มุมบริบทของกฎหมายมาพูด หรือแง่มุมบริบทในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ มาพูด ความเป็นกลางของเรา เราจะไม่ฟังคนใดคนหนึ่ง เราจะไม่สามารถฟังคนด้านซ้ายแล้วตัดสินใจทันทีว่าคนด้านซ้ายมีเหตุผลที่ถูกต้อง คนด้านขวาเขาอาจจะมีเหตุผลมากกว่าเช่นกัน แต่บางทีมันก็ต้องบาลานซ์ให้ดี มันต้องเป็นกลางจริงๆ
คุณเคยกล่าวไว้ว่า “ต้องการให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง ต้องอาศัยกลไกทางการเมือง เลยเข้ามาทำงานทางการเมือง” การที่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องมีกลไกทางการเมือง หมายถึงอะไร?
เรื่องสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปาตานี จริงๆ แล้ว ถ้าประชาธิปไตยมันไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย สันติภาพไม่เกิดแน่ๆ เพราะฉะนั้นการที่ผมบอกว่าต้องใช้การเมืองเข้ามาช่วยการสร้างสันติภาพ ณ ประเทศไทย ตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา พยายามเจรจาสันติสุขโดยใช้หน่วยราชการ ใช้ทหารไทยเป็นคนนำในการเจรจา ทางโน้นก็เป็นคนถืออาวุธเช่นกัน เพราะฉะนั้นการสร้างสันติสุขโดยการเจรจาโดยทหารสองฝ่ายมานั่งคุยกัน มันไม่สามารถที่จะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ คือเต็มที่เขาสามารถยุติการต่อสู้ได้ หรือลดระดับการต่อสู้ได้ แต่สันติภาพที่แท้จริงจะไม่เกิดแน่ๆ เพราะว่ามันขาดกลไกทางด้านการเมือง ก็คือภาคประชาสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในพื้นที่ เขาจะต้องมาบอกว่า 40-50 ปีที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเขา มันเกิดอะไรขึ้นกับลูกหลานเขาหรือบรรพบุรุษของเขา เขาอยากจะเห็นพื้นที่ตรงนี้มันพัฒนาไปยังไงบ้าง เขาอยากจะเห็นสันติภาพยังไงบ้าง
ตอนนี้ในการเจรจาทั้งหมดที่เราได้ยินมา เรายังไม่เคยได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในพื้นที่เลย การเจรจา ณ ปัจจุบันนี้เป็นการเจรจาระหว่างทหารต่อทหารเท่านั้นเอง และไม่เคยมีการบอกต่อสู่สาธารณะว่าคุณไปเจรจาเรื่องอะไรกันบ้าง บอกก็บอกแค่กะปริดกะปรอย ไม่ยอมบอกทั้งหมด เพราะฉะนั้นการเมืองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการเจรจา กระบวนการสร้างสันติภาพจำเป็นต้องยกระดับขึ้นไปสูงสุดสู่วาระแห่งชาติ ต้องเข้าไปสู่รัฐสภาให้ได้ รัฐสภาไทยยังไม่เคยที่จะมาคุยเรื่องการสร้างสันติภาพจริงๆ
ถ้าพรรคเป็นธรรมเข้าไปร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล เราจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ที่มีการดีเบต พูดคุย หารือและถกแถลงการณ์กันในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพที่ถูกต้องในรัฐสภา เราจะไม่ให้ทางสายทหารหรือข้าราชการประจำเป็นคนนำเรื่องการสร้างสันติภาพอีกต่อไป เพราะว่า 10 ปีที่ผ่านมาเกิดรัฐประหารด้วย มันทำให้ทุกอย่างสะดุดไป ในช่วงการเจรจานี้ ทหารไทยที่เป็นผู้นำการเจรจาไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที สมมติเขาบอกว่าผมต้องการนู่นนี่นั่น แต่รัฐบาลไทยที่เข้าไป ผู้นำบอกว่าเดี๋ยวผมขอกลับไปคุยกับนายกรัฐมนตรีก่อน อันนี้แหละทำให้กระบวนการมันชะลอไปเรื่อยๆ เพราะกว่าจะกลับมาคุยอีกที 3-4 เดือน มันก็ไม่คืบหน้า
ดังนั้น จะต้องใช้ฝ่ายการเมืองเข้าไปนั่งอยู่ตรงนั้น เป็นคนนำในการเจรจามันจะเกิดผล และจำเป็นจะต้องมีการเจรจาในประเทศไทย ฝ่ายผู้เจรจาคือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional: BRN) จำเป็นต้องได้รับภูมิคุ้มกัน (immunity) ในการเข้ามาในประเทศไทย ตอนนี้ ถ้าเขากลับมาจะโดนจับทันที จับจากในเรื่องว่ามีกฎหมายความมั่นคง
เพราะฉะนั้น เขาจะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย อาจจะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองฝ่ายเจรจาทางด้านสันติภาพได้ ให้เขาเข้ามานั่งตรงนี้ในพื้นที่ประเทศไทย ให้เขาเอาหน้าเอาตาของเขามายืนบอกประชาชนว่าเขาเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าเขาไม่ใช่ตัวแทนประชาชนที่แท้จริง เขาจะถูกประชาชนต่อต้านเอง
อันนี้มันมีหลักการของมันอยู่คือถ้าคุณบอกว่าคุณต่อสู้เพื่อประชาชน ประชาชนอยู่ตรงนั้นแล้วเขาบอกว่าฉันไม่ต้องการการต่อสู้ เขาก็จะหมดความน่าเชื่อถือไปเองโดยตัวของเขาเอง เพราะฉะนั้นมันมีอะไรต่างๆ ที่ดีมากถ้าการเมืองเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราต้องยกระดับขึ้นมาถึงวาระแห่งชาติให้ได้
แล้วจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างไร?
ก็จะมีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ จริงๆ กระบวนการสร้างสันติภาพที่พรรคเป็นธรรมเสนอ เราเสนอเป็นแบบครอบคลุม comprehensive approach โดยใช้ 3 ขาหลักๆ
ขาแรกคือกระบวนการ ต้องยกระดับไปสู่วาระแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นตัวพระราชกฤษฎีกาที่ผมบอกไปเบื้องต้น ในการให้ภูมิคุ้มกัน ให้ความคุ้มครองฝั่งโน้นกลับมา อันที่สองคือพระราชบัญญัติการสร้างสันติภาพ มันมีในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่นผมไปที่ซูดานใต้กลับซูดานเหนือ เขามีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพทันทีโดยตรงเลย ซึ่งมันจะไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมมาธิการในเรื่องติดตามประเมินผล ในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มันจำเป็นจะต้องมีคณะกรรมาธิการตรงนี้ ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองผลักดันไปด้วย
ขาที่สองคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตอนนี้หลายๆ ครั้ง ขานี้จะโดนปิดหมดจากกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ม.113, ม.116 และ ม.215 มาตราเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีสิทธิในการแสดงออก จะพูดอะไรทีหนึ่ง ก็จะโดนหน่วยงานความมั่นคงใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง เข้ามาจับ มาปิดปาก เหมือนทำให้ทุกคนไม่สามารถมีพื้นที่สาธารณะในการแสดงออก น้องๆ ที่เคยแต่งชุดมลายูออกมาที่หาดวาสุกรีที่เป็นคนนำในการจัดงานนั้น ก็จะโดนหมายเรียก โดนอะไรต่างๆ นานา ฝ่ายความมั่นคงมองว่ากลุ่มคนพวกนี้ยุยงปลุกปั่นให้เยาวชนมลายู แต่งตัวมลายูเพื่อต่อต้านรัฐไทย ดังนั้น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ขานี้จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่ผมบอกมาทั้งหมด กฎหมายพิเศษ 3 ตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ความมั่นคง, กฎอัยการศึก และรวมถึงสามมาตรานั้น ม.113, ม.116 และ ม.215 ต้องแก้ไข ไม่งั้นจะไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
ขาที่สาม ขาสุดท้ายคือการปฏิรูปโครงสร้างระบบรัฐสวัสดิการ ตอนนี้ความใกล้ชิดกันระหว่างพรรคเป็นธรรมกับพรรคก้าวไกลคือคิดคล้ายกัน เรื่องเกี่ยวกับการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ของเราสุดโต่งไปถึงยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แล้วก็มีการกระจายอำนาจโดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง ก็คือเอารูปแบบของ กทม.ไปใช้ เพราะเราเห็นอยู่ว่าโครงสร้างระบบราชการ ณ ปัจจุบัน ในพื้นที่มันเป็นการทับซ้อนของโครงสร้างและโครงสร้าง เรามีรัฐบาลใหญ่อยู่ส่วนกลาง เรามี ศอ.บต. เป็นรัฐบาลส่วนหน้าในพื้นที่ แล้วมี กอ.รมน. กดทับเข้าไปอีก ทำให้งบประมาณต่างๆ มีทั้งอำนาจ มีทั้งหน้าที่ มีทั้งงบประมาณ มีทุกอย่าง แต่เขาไม่สามารถที่จะบริหารจัดการทั้งอำนาจ ทั้งหน้าที่ และงบประมาณให้ประชาชนมีสุขได้เลย คือความสันติสุขต่างๆ มันไม่เกิดขึ้นเพราะว่า
เช่นที่จังหวัดปัตตานี พอปัญหาเรื่องประมงเกิดขึ้น ปัญหาไปอยู่ที่ ศอ.บต.คือเขาบอกว่าเราไปเซ็น IUU (Illegal Unreported and Unregulated) กับทางสหภาพยุโรป (European Union: EU) แล้ว ในการที่ต้องทำเรือ ต้องขนาดนั้น ขนาดนี้ไม่ได้ต้องเล็กกว่า ไม่งั้นก็ต้องจอดเรือทิ้งไว้ ศอ.บต. ก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็เก็บเรือไว้แล้วคุณค่อยเอาเรือมาขายผมนะ คือเขามีการซื้อเรือ แต่งบปรมาณไปอยู่ที่ ศอ.บต. โดยที่ ศอ.บต.ดองเรื่องไว้ประมาณ 18 ปี ทำให้ผู้ประกอบการประมงทั้งพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ต้องหยุดกิจการไป มันทำให้ระบบของประมงล่มสลายในปัตตานี และรวมถึงที่นราธิวาสซึ่งเป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง
คนเกือบแสนคนโดนผลกระทบจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของ ศอ.บต. พักงบไว้ไม่ยอมให้เขา นี่คือหนึ่งตัวอย่าง มันมีอีกหลายๆ ตัวอย่างที่งบประมาณไปดองอยู่ที่ ศอ.บต.งบประมาณ กอ.รมน. เองก็ใช้กำหนดอำนาจเต็มที่ ใช้กฎอัยการศึกจับคน 7 วันโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องขอหมายศาล ต่อด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 30 วันโดยเจ้าตัวไม่ต้องไปหาศาลได้เลย เพราะฉะนั้น 37 วัน ชีวิตคนถูกลิดรอนไปแล้วสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้นกฎหมายต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องยกเลิกไป ไม่งั้น 37 วัน หลังจากนั้นต่อด้วยกฎหมาย ป.วิอาญาทั่วไป โครงสร้างระบบราชการต้องแก้ไขหมด การกระจายอำนาจต้องให้เลือกผู้ว่าโดยตรง อย่างเช่นกรุงเทพมหานคร เลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง สามารถที่จะมีเลือกตั้งสภาเขต สภาอำเภอโดยตรงคล้ายๆ กทม. อันนี้จะเป็นการบริหารจัดการได้ในพื้นที่
แล้วจะเอางบประมาณมาจากไหน
ถามว่างบประมาณเอามาจากไหน ในบริเวณชายแดนไทยทั้งหมด จะมีการค้าชายแดน การค้าข้ามแดนทั้งหมด ปริมาณมูลค่าการส่งออกสินค้าข้ามแดน สินค้าผ่านแดน สองอย่าง ข้ามแดนกับผ่านแดน รวมแล้ว 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี เยอะมาก ทั้งหมด 31 จังหวัด บวกกับ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง รวมแล้วตีซัก 50 จังหวัด เพราะมีจังหวัดทับซ้อนกันด้วย 50 จังหวัดนี้มีเม็ดเงินคือออกนอกประเทศแล้วเนี่ย 1.7 ล้านล้านบาทแค่มูลค่าการส่งออกอย่างเดียว ยังไม่รวมถึงมูลค่าการเดินทางข้ามแดนกัน ซื้อขายของกันเล็กๆ น้อยๆ ใช้วัฒนธรรมอย่างเดียวกัน
อย่างเช่น พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจจะมี เราเสนอระเบียงเศรษฐกิจนูซันตารา ซึ่งมันจะเป็นฮับหลายๆ เรื่อง ทำได้ ภาคเหนือ อีสาน ตะวันตกสามารถทำได้เช่นกัน ใช้พื้นฐานทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตในการกินอยู่ของพี่น้องที่อยู่บริเวณชายแดน คนกะเหรี่ยงฝั่งตะวันตกก็สามารถติดต่อพี่น้องดา-กวินที่รัฐพม่าได้ คนเหนือติดต่อที่สิบสองปันนาได้อะไรประมาณนี้ มันจะสร้างมูลค่าการส่งออกทำให้สามารถยืนด้วยขาตัวเองได้ ตามนโยบายที่ทางเราเสนอไว้ก็คือนโยบายด้านจังหวัดจัดการตนเอง ก็คือการกระจายอำนาจ
มันไปตอบรับกับทางก้าวไกลค่อนข้างจะเยอะ คือเราต้องเห็นว่าถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหากระบวนการสร้างสันติภาพ 3 ขานี้ได้ ผมยังค่อนข้างจะมั่นใจว่ามันจะมีกรอบกระบวนการสร้างสันติภาพที่ถูกหลักสากล ตอนนี้ประเทศไทยกลัวว่าการสร้างสันติภาพจะเป็นวาระแห่งสากล ประเทศไทย รัฐไทยกลัว อยากจะกดทุกอย่างไว้เป็นปัญหาพื้นที่ ดังนั้นก็เลยให้ทหารเป็นคนดูแล แต่ว่าจริงๆ กระบวนการสร้างสันติภาพมันต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เป็นระดับสากล (internationalization) ให้ได้ มันจะได้มีการแก้ไขอย่างถูกต้องและยอมรับได้
ทำไมเรื่องของการกระจายอำนาจ ถึงไม่ค่อยถูกพูดถึงในสื่อหลัก ทั้งที่จริงๆ ก็เป็นประเด็นใหญ่เหมือนกัน
ผมไม่แน่ใจนะ แต่อย่างพรรคเป็นธรรมเองจะโดนตีเพราะเราพูดเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง เราไปพูดเรื่องปาตานีจัดการตนเอง ตอนนั้นที่เราเลือกตั้งทางทีมนราธิวาสของผมก็ติดป้ายหาเสียงว่าปาตานีจัดการตนเอง ก็โดนไปตีเรื่องว่าพวกเราจะทำการแบ่งแยกดินแดน
มันเลยกลายเป็นว่าถ้าเป็นพื้นที่อื่นๆ พูดเรื่องการกระจายอำนาจได้ ก็ไม่น่าเป็นปัญหาอะไร แต่เวลาไปพูดเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบบจัดการตนเองจะโดนตีความว่าหมิ่นเหม่ทางด้านความมั่นคง แต่จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
คิดว่าเป็นเพราะอะไร เวลาที่คนพูดถึงรูปแบบการปกครองแบบเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ มักจะไปนึกถึงล้านนา มากกว่าปาตานี
เพราะว่ามีบริบทความมั่นคงในพื้นที่ปัตตานี มันมีบริบทความมั่นคงเรื่องเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นมาก่อน
แต่ถ้าดูจริงๆ คำว่า ‘อีสาน’ ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเราก็เคยมีอย่างเดียวกันเลย คนที่คิดถึงเรื่องอัตลักษณ์จริงๆ บอกว่าห้ามเรียกเขาว่าคนอีสาน เขาไม่ใช่คนอีสาน การบอกว่าอีสานคือการแบ่งแยกปกครองโดยรัฐไทยที่ไปมองเขาว่าเป็นฝั่งอีสาน จริงๆ แล้วเขาเป็นคนลาว แต่พอตอนเขตแดนเข้ามา เขาโดนเขตแดนกั้นพี่น้องลาวของเขา เขาเลยเรียกว่าเขาคือชาวล้านช้าง ฝั่งขวาของลุ่มแม่น้ำโขง เขาเรียกตัวเองอย่างนั้น แล้วก็เคยมีกบฏแถวนั้นเกิดขึ้น คือเหมือนกันกับภาคใต้ แต่ตอนหลังทางฝั่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเราโดนคำว่าอีสานเข้าไปเรื่อยๆ จนกลืนแล้วหายไปในบริบทความมั่นคง
เพราะฉะนั้นเขาสามารถพูดเรื่องเกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษได้ไม่มีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราพูดปกครองตนเองอะไรต่างๆ นานาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอน ณ ปัจจุบันมันจะมีขบวนการอย่างตอนนี้ก็คือ BRN เขาก็กลัวอย่างเดียวว่ามันจะไปเข้าสู่เขตปกครองพิเศษ ซึ่งมีอำนาจในการดูแลตัวเอง
หรือเป็นความตลกร้ายว่าเราอาจจะต้องโดนกลืนก่อน ถึงจะสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้
ตลกร้ายอันนี้น่าสนใจเลย ที่บอกว่าต้องให้เราโดนกลืนก่อนใช่ไหม ต้องให้อัตลักษณ์ต่างๆ มันหายไปก่อนใช่ไหม เราถึงมาพูดกันได้ จริงๆ แล้วไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น อดีตเราพยายามสร้างรัฐชาติ การสร้างรัฐชาติสมัยนั้นที่มีประเทศไทยเกิดขึ้น เราจะพยายามบอกว่า ความเป็นหนึ่งเดียวจะสร้างเอกภาพคือต้องทำให้ทุกคนเหมือนกันหมด ร้องเพลงชาติไทย ตัดผม ใส่ชุดนักเรียน คือทำให้ทุกคนเป็นอย่างเดียวกัน สร้างรัฐชาติเกิดขึ้น มันเลยจะมีเอกภาพเกิดขึ้น
แต่ ณ ปัจจุบันนี้โลกศตวรรษที่ 21 แล้ว คนเริ่มมองเรื่อง soft power เยอะ คนเริ่มมองเรื่องอำนาจละมุนเยอะ เราต้องเปลี่ยนความคิด
การสร้างรัฐของเราจำเป็นต้องให้ความหลากหลายสร้างเอกภาพให้ได้ ภาคใต้ก็มีอัตลักษณ์ของเขา วิถีการดำรงชีวิตของเขา ภาคเหนือก็มี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มี ภาคตะวันตกก็มี ภาคกลางเราก็ยังมี
ถ้าเราบอกว่าความเป็นไทยคือความหลากหลาย ผมว่าอันนี้จะสร้างเอกภาพได้ สร้างให้เราเกิดเป็นประเทศได้ แต่ถ้าเราพยายามทำให้ทุกคนเหมือนกัน ก็จะยาก และปัญหาก็เลยเกิดแบบ ณ ปัจจุบัน
แนวทางที่จะทำให้อัตลักษณ์เหล่านี้ถูกยอมรับในวงกว้าง ต้องอาศัยภาคส่วนไหนมาช่วย ถึงจะทำให้คนเข้าใจในเรื่องนี้ได้
ทุกภาคส่วนผมว่า โดยเฉพาะในภาคประชาสังคม ตอนนี้ภาคประชาสังคมจริงๆ แล้วเขาก็พยายามจะเร่งทำงานด้านนี้ แล้วเขาทำมานานแล้วด้วยเรื่องเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ใช้ soft power ต่างๆ กลุ่มคนพวกนี้ก็ทำอย่างเช่นการแต่งกายชุดมลายู ก็จะมีกลุ่มคนที่เขารวมกลุ่มกัน แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วรัฐไทยไปมองว่าการทำอย่างนั้นเป็นการต่อต้าน จริงๆ แล้วรัฐบาล ส่วนราชการจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเรื่องนี้ คือถ้าเราปล่อยให้ทางภาคประชาสังคมทำอยู่ฝ่ายเดียว มันก็จะได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าราชการเข้าไปเห็นด้วย รัฐบาลเห็นความสำคัญตรงนี้ รัฐบาลควรจะนั่งอยู่ตรงนั้น แล้วคุยกับเขาว่าจะให้การสนับสนุนตรงไหน มันควรจะมาจากทุกภาคส่วน
คำว่า ‘สันติภาพ’ หมายถึงอะไร
สันติภาพที่เราเสนอไว้ในตัวนโยบาย เหมือนจะเป็นวาทกรรม แต่มันคือสันติภาพที่กินได้ คือเวลาเราพูดเรื่องสันติภาพทุกคนชอบคิดว่ามันไกลตัว สันติภาพคือการสร้างอยู่ที่อัฟกานิสถาน หรือชิลี ว่าเกิดส่งเหตุการณ์สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นองค์การสหประชาชาติ (UN) ส่งกองกำลังเข้าไปรักษาสันติภาพประมาณนั้น
แต่จริงๆ แล้วสันติภาพอยู่ใกล้ตัว สันติภาพคือจะต้องทำให้ประชาชนกินอิ่มและนอนหลับให้ได้
ประชาชนจำเป็นจะต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ กำหนดทิศทางการพัฒนาทางด้านการเมืองของตนเองได้ และรัฐจำเป็นต้องสนับสนุนตรงนี้ เพราะถ้าเรากลับไปดูเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่สี่ 2520 คือเราเน้นเรื่องการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคง กล่าวคือรัฐไทยส่วนกลางเขาจะไปกำหนดว่าการพัฒนาจะลงไปพื้นที่ไหน สมมติปีนี้ประเทศไทยกำหนดว่าจังหวัดนครนายกจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา เศษส่วนมาตราเท่านี้ๆ เราก็เอาความคิดนี้ไปใส่ เพราะว่าตอนนั้นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง การสร้างรัฐ
แต่ตอนนี้ความคิดเรื่องการพัฒนาเชิงพื้นที่ เอาจากส่วนกลางเข้าไปทุ่มให้กับคน มันผิดหลายครั้งแล้ว ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ปี 2566 ผ่านมา 46 ปีให้หลัง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปัจจุบันเปลี่ยนแปลง คือจะต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะต้องเอาประชาชนมานั่งเป็นคนกำหนดว่าเขาอยากจะพัฒนาตรงไหนบ้าง เขาอยากจะกำหนดทิศทางเขาอย่างไรบ้าง แต่แผนตัวนี้มีแค่หนังสือ ในระเบียบวิธีปฏิบัติจริงๆ ยังไม่เคยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง
อย่างเช่นนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เขาบอกว่าการจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ จังหวัดสงขลา คือเขาจะไปเพิ่มงาน เพิ่มนู่นนี่ให้กับประชาชนในพื้นที่ คนเราจะได้งานเยอะแยะเป็นหลายหมื่นคน มันจะทำให้ประชาชนอยู่ดี มีดีเกิดขึ้น แต่ผิดจุดตรงที่ว่าถ้าคุณคิดพิจารณาดีๆ ว่าการพัฒนาที่จริงแล้ว ควรจะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง คุณจะต้องทำเรื่อง Strategic Environmental Assessment (SEA) มันเป็นแผนระดับชาติอยู่แล้ว
คุณต้องเอาประชาชนที่ได้รับผลกระทบตรงนั้นมานั่งถาม มานั่งคุยว่าถ้าเราจะมาสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะตรงนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร หรือควรจะไปสร้างที่ไหน หรือควรจะลดระดับสเกลอย่างไรบ้าง ตอนนี้พี่น้องที่จะนะก็ต่อสู้ กลุ่ม ส.อบจ. ต่างๆ นานาก็มาต่อสู้ เพราะเขาบอกว่านายทุนเอาเงินให้รัฐ รัฐบาลชุดที่แล้วก็ได้รับเงินเสร็จก็จะสร้างให้ได้ เพราะมีค่าเปอร์เซ็นต์ต่างๆ นานาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นประชาชนก็เลยออกมาต่อสู้ ก็มีนักรบผ้าถุงที่ไปต่อสู้ที่หน้าทำเนียบฯ แล้วโดนจับ
การที่สันติภาพจะกินได้จริงๆ ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง แล้วจะเข้ารวมกับนโยบายของเราคือมนุษยธรรมทางการเมืองต้องเอาประชาชนก่อน นั่งคุยกับประชาชนก่อน ไม่งั้นเราจะไม่รู้ว่าแผนพัฒนาจะไปยังไง เขาอยากจะเห็นการพัฒนาในพื้นที่เขาระดับไหน จะระดับเมกะเลยไหม หรือจะเอาระดับจุลภาคอะไรก็ว่ากันไป แต่ต้องให้ประชาชนเป็นคนพูด
อีกเรื่อง เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล เกิดขึ้นเยอะมากแล้วมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แล้วก็ไม่ถามประชาชน ไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยมีเยอะแยะมากมาย เกินมาไม่รู้กี่เปอร์เซ็นต์ ยังจะสร้างไปเรื่อยๆ เพราะเป็นการหลบเลี่ยงบาลีของเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ถ้าเป็นชีวมวลขนาดต่ำก็สามารถทำได้เลยไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ไม่ต้องทำเอกสารค้ำประกัน (ATA) เขาก็ไปดีลกับรัฐบาลจะสร้างโรงไฟฟ้ามาเรื่อยๆ เราก็เลยมีคำถามว่าหนึ่ง มันมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม พี่น้องประชาชนอยู่ตรงนั้นแล้วได้รับผลกระทบจริงๆ สอง เราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าขนาดนั้นหรือ ในเมื่อไฟฟ้าสำรองเราก็มีเยอะอยู่แล้ว คือไม่ถามประชาชน ไม่ดูความจำเป็น สักแต่จะสร้างโครงการ
กลับมาที่สันติภาพ ถ้าประชาชนมีอยู่เป็นศูนย์กลางจริงๆ แล้ว ให้ประชาชนเป็นคนคิด คนกำหนดทิศทางของเขาเอง กำหนดทิศทางการเมืองและการพัฒนาของเขาเอง มันจะเกิดสันติภาพได้ ในพื้นที่ภาคใต้ผมเชื่อ ถ้าให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สันติภาพเกิดตั้งแต่การเจรจาสันติภาพ สันติภาพจะเกิดถ้าเขาสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เขาต้องการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต การดำรงชีวิตของเขาได้ นี่แหละครับ สันติภาพที่กินได้ที่เราเสนอ
ในด้านการปฏิบัติจริงที่จะให้ประชาชนเข้ามาเป็นศูนย์กลางได้ จะต้องทำยังไง
ตอนนี้เป็นแผนแม่บทแห่งชาติแล้วในการที่จะทำ Strategic Environmental Assessment (SEA) กับ Environmental Impact Assessment (EIA) คือสองอันนี้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทแห่งชาติ แต่ยังไม่ถูกปรับใช้จริง เพราะฉะนั้นรัฐบาลชุดหน้า ยังไงผมก็จะผลักดันให้ได้ ถ้าคุณจะทำโครงการพัฒนาต่างๆ อะไรก็ตาม จำเป็นต้องใช้ SEA กับ EIA เสียก่อน พอแผนแม่บทตัวนี้ออกมาเสร็จ ในทางปฏิบัติเราจะมีโครงการอะไร ก็ต้องเรียกชุมชนเข้ามาฟัง ต้องเรียกชุมชนที่ได้รับผลกระทบตรงนั้นเข้ามานั่งคุย มันทำได้เลย แต่ที่ไม่ยอมทำเพราะเขากลัว เพราะกลุ่มนายทุนมันใหญ่ จริงๆ งบประมาณเยอะ เขาก็เลยข้ามเกี่ยวกับเรื่อง SEA, EIA ไป
ถ้าสมมติได้ทำจริง ในอีกด้านหนึ่งจะคุยกับนายทุนอย่างไร เพราะเขาก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่อาจจะต่อต้านกระบวนการนี้
ก็ต้องให้นายทุนมานั่งคุยด้วย เพราะมันจำเป็นจะต้องมีการพูดคุยกันทุกฝ่าย อย่างตัวผมเองไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา ไม่ได้ต่อต้านการลงทุน เพียงแต่ว่าการลงทุนนั้นๆ จำเป็นจะต้องดูประชาชนเป็นหลัก
อย่างนายทุนที่จะมาทำเหมืองตรงบาตูฆอ จังหวัดยะลา พูดตรงๆ เขาจะทุบภูเขา มันเป็นแหล่งหินที่สามารถทำเหมืองหินได้ แต่ประชาชนไม่ยอมเพราะตามกฎหมายต่างๆ นานา ก็ไม่ได้อยู่แล้ว เป็นการทำเหมืองหินใกล้บ้านประชาชน ใกล้กับเส้นทางคมนาคมหลัก แล้วมีทรัพยากรธรรมชาติต้นทุนเป็นแหล่งต้นน้ำตรงนั้นด้วย ถ้าคุณทำลายไป ทุกสิ่งทุกอย่างพังทลาย กฎหมายไทยกำหนดเรียบร้อยแล้ว แต่นายทุนก็พยายามวิ่งไปทุกช่องทาง วิ่งไปคุยกับคนโน้น คนนี้ คนนั้นตลอดเวลา ต่อสัมปทานไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการดี นายทุนคุณต้องการทำงานใช่ไหม ก็คุยกับรัฐบาล และรัฐบาลก็ต้องชัดเจนว่าพื้นที่ไหนสามารถทำธุรกิจได้ การลงทุนได้ แล้วพอเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบอยู่ถ้าจะเกิดโครงการนั้น ก็ต้องเรียกมาคุยกันทั้งหมดทั้งมวลว่าคุณจะได้อะไร คุณจะเสียอะไร แต่ยังไงก็ตามสุดท้ายรัฐบาลจำเป็นต้องฟังประชาชน เพราะเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เขาอยู่ตรงนั้น เขาอยู่กับสิ่งแวดล้อมตรงนั้น
มีนโยบายของพรรคเป็นธรรมที่พูดถึงเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องแก้ไขที่สุด และจะแก้ไขยังไง
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาหลายๆ ส่วน ซึ่งพรรคเป็นธรรมเรามองเห็นประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก เราใช้หลักของสิทธิมนุษยชนเหมือนกับเป็นคัมภีร์ของพวกเราเลย เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญปี 60 นี้ก็มีหลายมาตราที่ไม่เอาคำว่า หลักการอิงสิทธิมนุษยชน (rights-based approach) มาปรับใช้
อย่างเช่น เรื่องเกี่ยวกับเด็ก ก็เอามาทำเป็นพระราชบัญญัติ จริงๆ แล้ว การให้ความคุ้มครองเด็ก จำเป็นต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากว่า เด็กเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแตะต้องได้ ดังนั้นถ้าคุณจัดลำดับความสำคัญได้คุณจะเห็นว่า เรื่องเด็กจำเป็นต้องเข้าไปสู่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระราชบัญญัติ (ซึ่งมีลำดับต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ)
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎอัยการศึกด้วยซ้ำไป กฎอัยการศึกมีมา 100 กว่าปีแล้ว เขายังใช้อยู่ ยังใช้ตั้งแต่ 100 กว่าปีที่ผ่านมา ไอ 100กว่าปีที่ผ่านมาที่เขาให้ ผู้บัญชาการหน่วยทหารสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้กฎอัยการศึกได้เลย สมัยโบราณ แน่นอนเขาต้องทำ เพราะเรื่องเร่งด่วน เกี่ยวข้องกับสงคราม
แต่ปี 2566 นี้เราสามารถใช้อินเทอร์เน็ต มี wi-fi ตรงบริเวณชายแดน ที่ไหนก็ได้ บนดวงจันทร์ยังมีอินเทอร์เน็ตเลย เพราะฉะนั้น คุณต้องไม่ให้อำนาจกับ ผู้บัญชาการหน่วยทหารเล็กๆ ประกาศกฎอัยการศึก คนที่จะประกาศกฎอัยการศึกได้จำเป็นต้องเป็นรัฐสภา ต้องเป็นสภาสูงสุด เพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายสูงสุดเช่นกัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารได้ คือประกาศกฎอัยการศึก ใครๆ ก็ประกาศได้ ถ้าเป็นผู้บัญชาการหน่วยทหารในพื้นที่ เพราะฉะนั้น มันต้องแก้ไข
เรากังวลในเรื่องนี้ เพราะถ้ายังประกาศกฎอัยการศึกได้ตลอดเวลา รถทหารก็สามารถแล่นได้ คนที่ทำปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่ต้องรับโทษ เพราะสามารถล้างมลทินได้ในตัวเอง
เราเห็นในเรื่องนี้ แล้วก็เรื่องกฎหมายต่างๆ ที่ผมเรียนไปในเบื้องต้น เรื่องสิทธิเสรีภาพของการแสดงออก ม.113, ม.116 และ ม.215 มันเป็นการปิดกั้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกของประชาชน เพราะฉะนั้น มันมีอีกหลายมาตราจริงๆ ที่เราจำเป็นจะต้องแก้ไข
เราคุยกับทางเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ก้าวไกลด้วย อะไรด้วย เขาก็บอกว่า ถ้าจะแก้ ก็ไม่ควรมีรัฐธรรมนูญปี 60 กลับไปอันเดิมจะดีกว่าไหม เพราะอย่างน้อยก็เป็นของประชาชน แต่การจะทำกฎหมายได้ต้องร่างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมา ถ้าอยากจะทำสมัยก่อนที่ทำประชามติ ก็ชัดเจนว่าเป็นการทำประชามติแบบบิดเบือน เบี้ยวๆ ก็เลย ทำให้รัฐธรรมนูญนี้ออกมาบิดเบี้ยวเหมือนการทำประชามตินั่นเอง เราก็เลยเห็นว่าต้องทำใหม่
สิ่งที่อยากทำที่สุดในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตามนโยบายของพรรค คืออะไร?
ณ ตอนนี้ศาลเราก็ยังถูกครอบงำได้ ไม่เป็นองค์กรอิสระจริงๆ ไม่เป็น 3 เสาหลักของประเทศ ฝ่ายยุติธรรมก็ยังถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร จริงๆ ไม่ใช่ฝ่ายบริหารด้วยซ้ำ แต่เป็นฝ่าย ‘ทหาร’ ที่เข้ามายึดอำนาจแล้วก็ทำให้ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมยังถูกครอบงำอยู่ เราก็เลยเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมต่างๆ ของประเทศไทย มันต้องแก้ไขไปจนที่ว่า ร่างกฎหมายที่ออกมาต้องมีความเป็นอิสระจริงๆ เพื่อเข้าไปสู่หลักการของเรา ‘มนุษยธรรมนำการเมือง’ จะต้องมีอิสรภาพในการทำงาน ศาลจำเป็นจะต้องมีอำนาจหน้าที่เต็ม ไม่ถูกชักจูงโดยใคร ดังนั้นต้องไปแก้ระบบสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเลย ก็คือรัฐธรรมนูญด้วย มันเกี่ยวข้องกันหมดเลย
จะเกี่ยวข้องกับในพื้นที่ปาตานีด้วยไหม เพราะเข้าใจว่าในพื้นที่ปาตานีก็เจอปัญหาเหล่านี้เยอะเหมือนกัน
บริเวณปาตานีก็จะทั้งเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษต่างๆ 3 ฉบับนั้น เพราะว่ากฎอัยการศึกสามารถมีอำนาจคุมขังได้ 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายศาล พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 30 วันโดยที่ที่ไม่ต้องพาเจ้าตัวไปหาศาล ก็คือ 37 วัน ถูกลิดรอนไปแล้ว หลายคนโดนคุมตัว 30 กว่าวันแล้วปล่อยออกมา แล้วบอกว่า “อ๋อ คนนี้ไม่มีความผิดแล้ว โทษทีที่จับตัว” แต่ไม่มีการเยียวยา
แต่ว่าความทุกข์ทรมานที่คนเหล่านี้โดนคุมขังไว้นาน 37 วันมันสูง ทั้งส่วนตัวที่โดนจับตัวไปด้วย ทั้งครอบครัว คือชุมชนก็ยังเป็นชุมชนท้องถิ่นซึ่งเวลาใครโดนคุมขังไปแล้วก็จะโดนตีตราว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม เขาก็อยู่ในสังคมไม่ได้ ลูกหลานที่จะเดินไปโรงเรียนเห็นรูปพ่อตัวเองติดอยู่บนบอร์ดต่างๆ เห็นหน้าพ่อตัวเองอยู่บนประกาศหมายจับคดีความมั่นคง คือลูกหลานก็มีปมในใจ ไม่กล้าไปโรงเรียนเพราะกลัวโดนเพื่อนล้อ โดนคนตราหน้าว่าเป็นโจร คือกระบวนการต่างๆ มันจำเป็นจะต้องปรับ ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายพิเศษต่างๆ มันต้องไม่พิเศษในพื้นที่
ตัวคุณเองส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ
ใช่ ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ
แต่ทำไมความสนใจถึงดูเน้นไปยังพื้นที่ปาตานี
มี 2 ส่วนครับ ส่วนแรกคือความสนใจเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ตัวผมเองก็มีคุณปู่ที่มาจากพื้นที่ปัตตานี แล้วก็เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ตระกูลเรามาจากตรงนั้น ผมก็มีความสนใจอยู่ อีกส่วนคือผมเคยไปทำงาน ตอนแรกก่อนไปทำงานที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ผมอยู่ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ทำงานเกี่ยวกับจัดการบริหาร จัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็พยายามจะสร้างสันติภาพโดยสวมหมวกของส่วนราชการ จริงๆ แล้วการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แรกๆ เลยกลุ่มผมเป็นคนออก แต่ตอนนั้นเราคาดหวังว่า 9 เดือนถัดมาจะยกเลิก แล้วสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ผ่านมา 18-19 ปี ก็ยังประกาศขยายระยะเวลาเรื่อยๆ
ประกอบกับอันที่สองคือ พรรคเป็นธรรมเพิ่งจัดตั้งแล้วเสร็จ มีสมาชิกครบองค์ที่สามารถส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เมื่อปลายปีที่แล้ว เราก็ต้องเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพราะว่าเราเป็นพรรคเล็ก พอเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ ก็เห็นทั้งความสนใจของผม ผมชอบเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพอยู่แล้ว ผมทำมูลนิธิชื่อ ‘สิทธิเพื่อสันติภาพ’ ผมได้ไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้ก่อนหน้านั้นแล้ว ในการสร้างสรรค์สันติภาพโดยใช้ soft power ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยานเพื่อสันติภาพ ผมก็เลยอยากจะลงไปทำงานด้านนี้
ก็เลยเสนอกับหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคว่า ในเมื่อพรรคเราเป็นพรรคเล็ก เราไม่สามารถเปิดทั่วประเทศได้ เลือกบางพื้นที่ที่ผมถนัดไหม ทั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคก็เห็นด้วย ดังนั้นผมก็เลยมุ่งเน้นไปที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็ไปเจอน้องๆ ที่ทำงาน ก็เป็นการเลือกขึ้นมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.เรา
อยากสอบถามเรื่องที่เคยบอกว่า คุณปู่ของคุณ โดนคดีกบฏสันติภาพ?
จริงๆ แล้วเขาไม่ใช้ปู่แท้ๆ นะ นามสกุลสืบแสงเหมือนกัน ปู่ผมชื่อมั่น แต่ นพ.เจริญ สืบแสง เป็นคนที่รุ่นราวคราวเดียวกับคุณปู่ ท่านโดนเรื่องกบฏสันติภาพ เรื่องนั้นใครๆ ก็คงชอบเพราะมองว่าเป็น local hero ตัวผมเองเคยอ่านเรื่องนี้มา เคยศึกษามาเหมือนกัน
ประเด็นนี้มาประกอบร่างสร้างตัวตนของคุณอย่างไร?
ตัวผม พอไปทำงานเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ ไปทำงาน UNHCR แล้วก็ได้ทำงานทางด้านมนุษยธรรมในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่สงคราม ผมก็ได้ไปเกี่ยวข้องกับการสร้างสันติภาพในเวทีโลก ในประเทศซูดานใต้ ซูดานเหนือ และชาด 3 ประเทศที่ผมไปทำงานเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ
เขาจะให้นำมนุษยธรรมนำการสร้างสันติภาพ เพราะว่าการสร้างสันติภาพจำเป็นต้องใช้หลักมนุษยธรรม สถานการณ์ฉุกเฉิน คุณต้องไม่เอนเอียง ใช้หลักการนี้เข้าไป มันสร้างสันติภาพได้แน่นอน ผมก็เลยไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์นั้นในการสร้างสันติภาพในเวทีโลก แล้วพอมาดูในประเทศไทยก็เห็นว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ต้องการเรียกร้องให้เกิดสันติภาพขึ้น ก็เลยจะใช้ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ใช้กรอบความคิดในการสร้างสันติภาพจาเวทีสากล นำมาปรับใช้ให้ได้กับพื้นที่ปาตานีตรงนี้
ความตั้งใจแรกของคุณ เมื่อได้เป็นรัฐบาล คืออะไร?
ความตั้งใจแรกของผมคือ การสร้างสันติภาพในพื้นที่ปาตานี ซึ่งเป็นนโยบายหลักๆ ของพรรคอยู่แล้ว อีกอันที่ต้องการคือเราอยากจะยกระดับการสร้างสันติภาพในประเทศไทย ในพื้นที่ปาตานีของเราให้เป็นสากล ตอนนี้การสร้างสันติภาพในประเทศไทย คือการที่เรากังวลว่าปัญหาการสร้างสันติภาพมันจะเป็นปัญหาสากล เรากลัวความเป็นต่างชาติ อันนี้ต้องยอมรับ รัฐไทยเวลาแก้ไขปัญหาความมั่นคง เขาจะมองในบริบทแค่เอาทุกอย่างมาอยู่ในพื้นที่เท่านั้น แก้ไขในพื้นที่เท่านั้น
แต่ว่าจริงๆ แล้วกระบวนการสร้างสันติภาพที่ถูกต้อง จะต้องได้รับการยอมรับจากสากล เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับสากลอยู่แล้ว และเห็นว่ามีผู้อำนวยความสะดวกที่มาจากต่างประเทศ มีคนเข้ามา คน BRN ก็กลุ่มคนที่อยู่นอกประเทศด้วย มีอะไรด้วย เพราะฉะนั้น อย่ากลัว ผมต้องการที่จะผลักดันว่า จะผลักเรื่องนี้ขึ้นมาให้มากที่สู่สากลให้ได้
ถ้าเราได้เข้าไปทำงานตรงนี้ การแก้ไขปัญหาสันติภาพ เราจะไม่แก้ไขปัญหาแค่ในระดับเชิงพื้นที่ แต่เราต้องแก้ไขในระดับโครงสร้าง และโครงสร้างต้องถูกต้องตามหลักสากล
เพราะฉะนั้นกระทรวงการต่างประเทศจริงๆ แล้วจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นกระบอกเสียงให้เราบอกออกไปในเวทีโลกว่า การสร้างสันติภาพของไทยนั้น ตอนนี้เรามาถูกทางแล้ว ถ้าเรามี 3 ขาที่ผมบอกไป มันจะทำให้ได้รับการยอมรับจากสากล มันจะทำให้ฝ่ายเจรจาเห็นว่าประเทศไทยเราเอาจริง เราจริงใจกับการแก้ไขปัญหาจริงๆ อันนี้จะเป็นส่วนที่ดีมาก
การจะทำเป้าหมายให้สำเร็จ คิดว่าจะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่?
ถ้าผมจะก่อร่างโครงสร้างขึ้นมาใน 2 ปี ต้องใช้เวลาในการทำทั้งหมด ในการตั้ง 3 ขาให้เป็นรูปเป็นร่าง เป็นรากฐานออกมา หลังจากนั้น ก็จะเป็นการใส่รายละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ กว่าที่เวทีระหว่างประเทศจะตระหนักถึงกระบวนการสร้างสันติภาพของเรา เราต้องสื่อสารกับต่างชาติด้วย ต้องทำงานในพื้นที่ด้วย และต้องทำงานกับฝ่ายเจรจาด้วย เพราะฉะนั้นมันต้องใช้เวลา
ของผม ผมว่า 4 ปีนี้การที่เราจะเห็นอย่างน้อยก็ดอกผลของขบวนการสร้างสันติภาพ ที่เป็นแบบครอบคลุม แล้วมันจะทำให้การเดินต่อไปมันมีความหมาย ตอนนี้ 10 ปีที่ผ่านมาการเจรจาสันติสุข ไม่เดินหน้าไปไหนเลย มันย่ำอยู่กับที่ แถมยังถอยหลังด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างกรอบให้ได้ก่อน
พอสร้างกรอบภายในสองปีนี้ การยกระดับต่างๆ การออกพระราชกฤษฎีกา ออกพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน การปฏิรูประบบโครงสร้างราชการตรงนี้ ผมว่า 2 ปีที่ทำ มันทำได้แน่นอน จบ แล้วเราสามารถเดินต่อได้
ทำไม ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ถึงไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ท่านอยากจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มานั่งปาร์ตี้ลิสต์เป็นเบอร์ 1 ก็คือผม ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรค แล้วอีกอย่างคือหัวหน้าพรรคเคยเป็นอดีต ส.ส.มาแล้ว 3 สมัย อยู่ในพื้นที่ตลิ่งชัน ตรงนั้นแหละครับ ที่ท่านลงสมัครครั้งนี้ ท่านลงเป็นแบบแบ่งเขต เพราะว่าท่านมีความเชี่ยวชาญในการแบ่งเขตเสียมากกว่า ก็เลยให้ผมมานั่งเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ส่วนตัวท่านลงแบบเขต เหมือนคุณหมอชลน่านเลยครับ
ผลการเลือกตั้งที่ออกมา คิดเห็นอย่างไรบ้าง เหมือนกับที่คาดการณ์ไว้ไหม?
ผมคิดว่าตัวเองประเมินแม่นนะ ตอนแรกผมคิดว่าเราจะได้คะแนนทั้งหมด 10,000 เสียงเท่านั้น ปาร์ตี้ลิสต์ 10,000 เสียง ซึ่งก็ถือว่าเก่งแล้ว เนื่องจากเราเป็นพรรคใหม่ และพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเราในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีบ้านใหญ่อยู่ทั้งนั้น มีเจ้าของพื้นที่ มีประชาชาติอยู่ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แน่นอน มีพลังประชารัฐซึ่งออกมาจากพรรคอื่นๆ ปริออกมาจากพรรคประชาชาติด้วย บ้านใหญ่เยอะแยะมากมาย
ถามว่าเราหวังไหม เราก็ต้องหวัง แต่เรารู้ครับว่าความหวังของเรานั้นยาก และเราบอกว่าการทำการเมืองของเราครั้งนี้เป็นการทำการเมืองยาวๆ เราไม่ได้บอกว่าการทำการเมืองครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เราก็เลยจะเดินต่อไปเรื่อยๆ คือผมคิดว่า 10,000 แต่ในพื้นที่ คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เราได้ 12,000 เสียง แต่ผมไปได้คะแนนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับภาคเหนือตอนล่างค่อนข้างจะเยอะ
แต่ว่าตอนหลังมาวิเคราะห์ คิดว่าที่เราได้คะแนนจากสองโซนนั้นเพราะว่าลูกหลานของพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่นั้นถูกส่งมารับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยมาก ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทุกคนโดนส่งมาที่นี่หมด แล้วพ่อแม่ลูกหลานครอบครัว ทุกคนเป็นห่วงชีวิตของทุกคนที่เป็นทหารที่นี่ นโยบายของเราคือการพาทหารกลับบ้าน และนโยบายนี้ก็เป็นสิ่งที่โดนโจมตีมากพอสมควร พอผมบอกว่า “อ่าว ถ้าคุณจะเอาทหารออกไปเลย แล้วเราจะอยู่กันยังไง ใครจะรับผิดชอบถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น” ผมก็จะตีต่อไปเรื่อยๆ ว่า ถ้าขาทั้ง 3ขาที่ผมบอกไปเบื้องต้น สามารถวางหมุดได้เรียบร้อยแล้วในประเทศไทย ในพื้นที่ปาตานีแล้ว ตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดว่า สันติภาพอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นที่แท้จริง ก็คือการพาทหารกลับบ้าน
โครงการพาทหารกลับบ้านจะเป็นสุดท้าย ท้ายสุด ของการวางเรื่องสันติภาพ ผมไม่ได้อยู่ดีๆ พาทหารกลับบ้านเลย ไม่ใช่ พอพูดอย่างนี้มันเลยทำให้มีเสียงตอบรับจากพ่อแม่พี่น้องในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเยอะ เพราะว่าลูกหลานโดนส่งมาเยอะ และก็เสียชีวิตเยอะในพื้นที่นี้
สะท้อนว่าประชาชนมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาจริงๆ
ใช่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกณฑ์ทหารเอง เรื่องการส่งมาในพื้นที่ปาตานี เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงก็ตาม ตรงนี้เป็นตัวบอกเหตุชัดเลยว่าไม่มีใครอยากโดนเกณฑ์มาเป็นทหาร และไม่มีใครอยากให้สถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ทุกคนต้องการสันติภาพตรงนี้ เลยเป็นที่มาของคะแนน 180,000 กว่าคะแนน
อยากทิ้งท้ายถึงคนที่เลือกเข้ามาไหม
ต้องขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ให้กับพรรคเป็นธรรม ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ถึงแม้เราจะได้ 1 ที่นั่ง แต่ 1 ที่นั่งนี้เป็นที่นั่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นคะแนนบริสุทธิ์ที่มาจากประชาชนจริงๆ พรรคเป็นธรรมเราเป็นพรรคเล็กและใหม่ ครั้งนี้ได้คะแนนขนาดนี้ถือว่าได้รับการยอมรับหรือความเชื่อถือจากพี่น้องประชาชนที่จะเอาพวกเราเข้าไปอยู่ในสภา
เพราะว่าเราประกาศตลอดเวลาว่าเรามาครั้งนี้ เราจะมาต่อสู้ในกรอบรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญและการสู้ครั้งนี้จะเป็นการสู้ในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แข็งแรง อันนี้เราจะให้คำมั่น คำสัตย์กับพี่น้องประชาชนเสมอมาว่า เราเข้าไปได้เมื่อไหร่ เราจะเข้าไปต่อสู้ในสิ่งที่เราได้พูดไว้ตั้งแต่แรก เราจะไปต่อสู้เรื่องสันติภาพที่เกิดขึ้น สันติภาพนั้นจะต้องมีและเป็นสันติภาพที่กินได้ เราจะไปต่อสู้เรื่องนี้แล้วจะไปเอาระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา ร่วมกับพรรคร่วมอุดมการณ์ของเราโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นผู้นำ ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน
ผมเคยบอกว่า การลงคะแนนให้พรรคเป็นธรรมจะสูญเปล่า ทุกคะแนนจะไม่สูญเปล่า วันนี้ ได้รับเข้ามาแล้ว ผมจะทำให้พี่น้องทุกท่านไว้ใจและมั่นใจว่าทุกคะแนนที่ทำให้พวกเรา เราจะไปต่อสู้ให้ประชาธิปไตย ให้อำนาจกลับมาคืนสู่มือประชาชนจริงๆ