ของขวัญปีใหม่ปีนี้ เราจะได้อะไรกันบ้างน้า
ในช่วงที่หลายคนกำลังเฝ้ารอช่วงเวลาเปิดห่อของขวัญจากผองเพื่อน รัฐบาลเองก็มีของจะมอบให้ประชาชนเหมือนกันนะ … แต่จะเป็นของที่ประชาชนอยากได้ไหม ก็เป็นอีกเรื่องล่ะนะ
ทั้งกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน นโยบายที่อาจทำให้ความเป็นอยู่ของเราเปลี่ยนไป และสิ่งของที่รัฐบาลสั่งซื้อมาจากเงินภาษีประชาชน ทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวข้องกับเราทั้งสิ้น
เมื่อเข้าสู่ช่วงสิ้นปีแล้ว The MATTER เลยอยากชวนมาดูของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล ที่ประชาชนควรร่วมกันจับตามองว่า ช่วงคาบเกี่ยวปีเก่าเข้าปีใหม่นี้ จะมีเรื่องอะไรที่กระทบต่อชีวิตเราบ้าง
ปรับค่าไฟ
ค่าไฟจะปรับแพงขึ้นอีกไหม เป็นประเด็นที่คนจับตาดูกันมาตลอด ซึ่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะประกาศรอบบิลค่าไฟในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ออกมาเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ ประเภทที่อยู่อาศัย มีอัตราค่าไฟที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่ 5.69 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 21
นั่นแปลว่า ประชาชนจะยังได้จ่ายค่าไฟบ้านกันในอัตราเดิม แต่ค่าไฟอื่นๆ เช่น สถานประกอบการ ร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันเทิง ค้าบริการต่างๆ จะถูกปรับอัตราค่าไฟเพิ่ม
ดูเผินๆ อาจเเหมือนเราไม่เดือดร้อน แต่เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ภาครัฐพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าไฟรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 5-12% เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
ข่าวนี้ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากโอดครวญ หลายคนระบุว่าที่ผ่านมาพยายามตรึงราคาสินค้าตลอด แต่หากอัตราค่าไฟเพิ่ม ก็คงเลี่ยงการขึ้นราคาสินค้าไม่ได้
“ค่าไฟบ้านพักอาศัยไม่ขึ้น แต่ทำให้ราคาสินค้าขึ้น ค่าครองชีพขึ้นตามค่าไฟ อยากจะถามการไฟฟ้าทั้งหลายว่าขึ้นค่าไฟเพื่ออะไร เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อน แก้ปัญหาพลังงาน แก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือเพื่อผลประกอบการกันแน่”
“ถ้าขึ้นแล้วทำให้มีผลประกอบการดีขึ้นถือว่าไม่ถูกต้อง และเมื่อขึ้นแล้วก็ต้องมีปรับลงด้วย ซึ่งรัฐก็ต้องชั่งน้ำหนักขึ้นค่าไฟทำให้การไฟฟ้ามีผลประกอบการดีขึ้น หรือจะยอมให้ขาดทุนแล้วเศรษฐกิจดีขึ้น” พันธ์เลิศ ใบหยก ประธานกรรมการเครือโรงแรมและศูนย์การค้าใบหยกกล่าว
ประกาศกระทรวง DE ฉบับใหม่
อีกไม่กี่วันประกาศกระทรวงฉบับใหม่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง DE) จะบังคับใช้แล้ว โดยประกาศกระทรวงฉบับใหม่นี้มีจุดที่เปลี่ยนแปลงหลายที่ประชาชนทุกคนควรจับตามอง
หนึ่งในเงื่อนไขที่ต้องจับตามองก็คือ การเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถร้องเรียนให้ลบข้อมูลได้ โดยไม่จะเป็นต้องเป็นผู้ใช้บริการของแพลตฟอร์มนั้น ซึ่งเว็บไซต์ iLaw ยกตัวอย่างไว้ว่า หากใครก็ตาม พบเห็นข้อมูลที่เข้าใจว่าผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ก็สามารถแจ้งให้ทวิตเตอร์ลบข้อมูลนั้นได้ แม้จะไม่มีแอคเคาท์ทวิตเตอร์ก็ตาม
ข้อมูลที่ถูกร้องเรียนโดยบุคคลทั่วไปนี้ จะต้องถูกลบหรือแก้ไขไม่ให้ข้อความนั้นแพร่หลายต่อในทันที โดยประกาศกระทรวงกำหนดว่า จะต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่น แต่เมื่อเหตุนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ก็จะต้องลบข้อมูลดังกล่าวลงในทันที โดยต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมงนับจากวันที่ได้รับข้อร้องเรียน
นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงฉบับใหม่ ยังมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ DE สั่งลบเนื้อหาได้ด้วย จากฉบับเดิมที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจในส่วนนี้ ซึ่งหลังจากที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับคำสั่งของเจ้าหน้าที่แล้ว จะต้องลบหรือแก้ไขไม่ให้ข้อความผิดกฎหมายนั้นแพร่หลายต่อไปโดยทันที พร้อมกับจัดทำสำเนาข้อร้องเรียน และรายละเอียดข้อร้องเรียนส่งให้กับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือคนที่เกี่ยวข้อง
โดยกำหนดระยะเวลาในการระงับข้อมูลสำหรับเจ้าหน้าที่ มีดังนี้
- ข้อมูลที่ผิดตามมาตรา 14(1) ต้องระงับภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน
- ข้อมูลที่ผิดตามมาตรา 14 (2) และ (3) ต้องดำเนินการภาย 24 ชั่วโมง
- ข้อมูลที่ผิดตามมาตรา 14 (4) ต้องดำเนินการภายใน 3 วัน แต่หากเป็นการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเด็กซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 287/1 และมาตรา 287/2 ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องดำเนินการภาย 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังไม่เปิดช้องให้โต้แย้งการลบข้อมูล เหมือนอย่างในประกาศปี 2560ด้วย นั่นแปลว่าเมื่อถูกแจ้งข้อร้องเรียนให้ลบข้อมูล ก็จะต้องลบข้อมูลเท่านั้น แม้ว่าเจ้าของข้อมูลจะไม่เห็นด้วยการลบข้อมูลออกจากระบบ ก็ไม่มีช่องทางให้โต้แย้ง เพื่อขอให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้อีก
อีกทั้ง ข้อ 9 ของประกาศฉบับนี้ยังระบุว่า หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วนและภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่าผู้ให้บริการร่วมมือ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด ซึ่งผู้ให้บริการจะมีความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
เว็บไซต์ iLaw ตั้งคำถามว่า การประกาศไว้เช่นนี้ ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายโดยให้ ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด’ ทำให้เกิดประเด็นว่า ประกาศนี้อาจจะขัดกับ “หลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์” (presumption of innocence) ซึ่งรับรองไว้ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
เรือดำน้ำจากจีน 100%
เป็นที่รู้กันว่า ไทยเราสั่งซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class รุ่น S26T จากจีน แต่เป็นเรือดำน้ำที่ยังใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องยนต์ให้ใช้ ซึ่งตอนแรก เราจะใช้เครื่องยนต์เยอรมนี แต่เยอรมนีผู้ผลิตไม่ส่งเครื่องยนต์ MT396 ให้ ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส.ส.เพื่อไทยตั้งคำถามกับกองทัพเรือ ซึ่งกองทัพเรือออกมาชี้แจงว่า ให้ฝ่ายจีนไปจัดหาเครื่องยนต์ที่ต้องการมาใส่ให้ได้
จริงๆ แล้วเส้นตายการพิจารณาสเปกเครื่องยนต์เรือดำน้ำ (ยืดเวลาไปแล้วรอบหนึ่ง) คือเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา แต่ท้ายสุดยังไม่ได้ข้อสรุป และแปลว่าเรือดำน้ำที่ไทยซื้อจากจีนจะไม่ได้ใช้เครื่องยนต์เยอรมนี ตามที่ระบุในสัญญา
และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ผู้ช่วยทูตทหารจีน ตัวแทนบริษัท CSOC และกองทัพเรือไทย ก็กำลังเจรจาถึงการพิจารณาสเปกเครื่องยนต์จีน เพื่อทดแทนเครื่องยนต์เยอรมนี
แล้วในวันที่ 15 ธันวาคม โฆษกกองทัพเรือก็แถลงว่า กองทัพเรือยังไม่ได้ตกลงใจในการตอบรับหรือปฏิเสธการใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว อีกทั้ง จำเป็นต้องจัดส่งคณะผู้แทนไปเข้าร่วมการทดสอบที่โรงงานผู้ผลิตที่จีนเพิ่มเติมในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2566 ซึ่งเครื่องยนต์ดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหารจากกองทัพเรือจีนด้วย
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นว่างบประมาณบานปลายอีกด้วย หลังจากที่รัฐบาลไทยจะใช้งบเพื่อจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก และนำมาเป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือดำน้ำ และยังของบประมาณก่อสร้างอู่ต่อเรือและท่าเทียบเรือดำน้ำด้วย
พ.ร.บ.ควบคุมสื่อและอินฟลูเอนเซอร์
ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ที่ชื่อดูหรูมีสไตล์ แต่เนื้อในมีปัญหา เมื่อกฎหมายจะมากำหนดนิยามของสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง และระบุให้เสรีภาพสื่อต้องไม่ขัดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยและศีลธรรมอันดี
เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราต้องเตรียมจับตามองกันในปีหน้า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ) ถูกบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของรัฐสภาในฐานะกฎหมายปฏิรูป ให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.พิจารณาและลงมติร่วมกัน แม้ว่าตอนนี้ ร่างดังกล่าวจะยังไม่ถูกพิจารณา แต่ในปีหน้าก็คงถูกนำกลับมาพูดถึงอีกแน่ๆ
ประเด็นที่ต้องจับตามองกันก็คือ แม้ว่ากฎหมายนี้จะได้ชื่อว่า ‘จริยธรรมสื่อ’ และดูเหมือนชาวสื่อหลายคนจะเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่กฎหมายดังกล่าวก็ยังมีข้อน่ากังวลอยู่ อย่างเรื่องของคำนิยามสื่อมวลชน ที่ถูกนิยามไว้อย่างกว้างขวาง
มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ระบุว่า “สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดทำสื่อหรือช่องทางดังกล่าวที่ดำเนินการเพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนโดยมิได้มุ่งแสวงหากำไร”
นั่นคือ ประชาชนที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อการค้า การแสวงหากำไร ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ คลิป ไลฟ์สด หรือพูดง่ายๆ ว่า อินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย ก็อาจเข้าข่ายเป็นสื่อมวลชนและถูกกำกับควบคุมด้วยเช่นกัน
ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์อาจคาบเกี่ยวกับความเป็นสื่อในกฎหมายฉบับนี้ แต่การมีส่วนร่วมของ ‘สื่อพลเมือง’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ประชาชนรับทราบข่าวสารต่างๆ กลับขาดหายไป
ไม่ใช่แค่นั้น ในมาตรา 5 ของร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ระบุว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่าง”
คำว่า “ไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” นี่แหละที่เป็นประเด็น เพราะตามมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีเงื่อนไขดังกล่าวในการจำกัดเสรีภาพสื่อ ขณะเดียวกัน คำว่า ‘ศีลธรรมอันดี’ จากการตีความของเจ้าหน้าที่รัฐไทยก็มีปัญหา เพราะเป็นคำที่ถูกตีความได้กว้างขวาง และมักถูกใช้กับผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล
ดังนั้นแล้ว คำว่า ‘จริยธรรมสื่อ’ ที่เป็นชื่อในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงยังถูกตั้งคำถามอยู่นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ เป็นของขวัญจากภาครัฐที่อยากให้ประชาชนร่วมกันจับตามองต่อไปว่า ของขวัญแต่ละชิ้น จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไรบ้าง
อ้างอิงจาก