กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อกองทัพเรือมีความพยายามจัดซื้อเรือดำน้ำเพิ่มอีก 2 ลำ ในปีงบประมาณ 2564 ด้วยวงเงิน 22,500 ล้านบาท โดยให้เหตุผลในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มเติมว่าเรือดำน้ำจะสร้างความมั่นคงให้ประเทศ รวมถึงยังยืนยันว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างโปร่งใส ตามข้อตกลง GtoG หรือสัญญาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล
เหตุผลบางส่วนที่กองทัพเรือยกขึ้นมา อาทิ เรือดำน้ำจะช่วยทำให้ประเทศอื่นเกรงใจไทย และช่วยในการเจรจารักษาผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ ที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท หรือกรณีร้ายแรงที่สุด หากวิกฤตการณ์ปิดปากอ่าวขึ้น เราจะป้องกันได้อย่างไร ถ้าไม่มีเรือดำน้ำ
ถ้ามองผ่านสายตากองทัพเรือ ก็ต้องถือว่ามีน้ำหนักเพียงพอ คุ้มค่าการลงทุน เพราะการรักษาอำนาจอธิปไตยของประเทศเป็นเรื่องหลักและหน้าที่
แต่ถ้าเราลองขยับแว่นเสียหน่อย และมองผ่านเลนส์ความมั่นคงในสายตาคนอื่นดูล่ะ ….
หนึ่งในคนที่มองเรื่องนี้ได้ดีที่สุดไม่น่ามีใครเกิน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงศึกษา และเบื้องล่างนี่คือทัศนะของเขาต่อ การจัดซื้อเรือดำน้ำ ความมั่นคงทางทะเล ตลอดจนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือไทย
กองทัพเรือกล่าวว่า จำเป็นต้องมีเรือดำน้ำเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของชาติ อาจารย์มองว่าประเทศไทยจำเป็น หรือควรต้องมีเรือดำน้ำไหม
ในปี 2538 กองทัพเรือมีความพยายามซื้อเรือดำน้ำครั้งแรก แต่เสียงค้านเยอะ เพราะแบกรับงบประมาณไม่ไหว ทำให้โครงการตกไป แต่หลังรัฐประหารปี 2557 มันกลายเป็นการเปิดช่องทางการจัดซื้ออาวุธที่มากขึ้น แต่ข้อถกเถียงเรื่องความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ยังเป็นประเด็นใหญ่อยู่
ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ข้อจำกัดทางทะเลของไทย เพราะอ่าวไทยเป็นทะเลน้ำตื้น ยิ่งบริเวณชายฝั่งถือว่าตื้นมาก แล้วถ้าพื้นที่อ่าวไทยหรือทะเลอันดามันไม่เอื้อต่อการใช้เรือดำน้ำ แปลว่าเรือดำน้ำจะถูกใช้ในพื้นที่ทะเลหลวง หรือทะเลชั้นนอก นำไปสู่คำถามตามมาว่า ตกลงผลประโยชน์ของไทยในทะเลชั้นนอกคืออะไร หรือมีจริงไหม
เราต้องตระหนักว่า เรือดำน้ำไม่ได้มีไว้เพื่อภารกิจอื่น นอกจากสงคราม ดังนั้นคำถามตามมาคือ ใครคือรัฐข้าศึกที่กองทัพเรือเฝ้ามอง ถ้าดูจากคำแถลงของกองทัพเรือค่อนข้างเห็นชัดว่า เรากังวลกับการถูกปิดอ่าว เท่ากับตอบแล้วว่า กองทัพเรือมอง ‘มาเลเซีย’ เป็นข้าศึก
อย่างไรก็ดี เป็นไปได้เพียงไรที่ทั้งสองประเทศจะขัดแย้งถึงขั้นเกิดสงคราม และใช้เรือดำน้ำยิงต่อสู้กัน ในเมื่อทั้งไทยและมาเลเซียต่างก็เป็นสมาชิกหลักและผู้ก่อตั้งอาเซียน ดังนั้น ผมเชื่อว่าความขัดแย้งจะไม่ถูกยกระดับถึงขั้นการใช้กำลังขนาดใหญ่ มันเป็นการประเมินสถานการณ์เกินจริง
โจทย์ใหญ่อีกชุดมาพร้อมกับทัศนคติที่มองว่า มาเลเซียเป็นประเทศปากอ่าว และมีศักยภาพในการปิดอ่าวไทย ผมมองว่าจินตนาการแบบนี้เป็นผลพวงจากยุคอาณานิคม ซึ่งในโลกสมัยใหม่วิกฤตแบบนั้นเกิดได้ยาก ดังนั้น การวางนโยบายทางยุทธศาสตร์สมัยใหม่ ต้องไม่เอาไปผูกมัดกับจินตนาการแบบยุคอาณานิคม
ประการต่อมา ผมคิดว่าสังคมไทยต้องทำความเข้าใจความสำเร็จที่ พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ทำไว้ให้ นั่นคือ การทำพื้นที่ทางทะเลให้มีลักษณะของพื้นที่การพัฒนาร่วม ที่เห็นตอนนี้ก็อย่าง พื้นที่การพัฒนาร่วม JDA ระหว่างไทย-มาเลเซีย พื้นที่ลาดตระเวนร่วม ไทย-เวียดนาม มันสะท้อนว่าความขัดแย้งทางทะเลไม่จำเป็นต้องยุติด้วยการใช้กำลังเสมอไป แต่ทั้งสองประเทศสามารถแบ่งพื้นที่หรือผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันได้
ดังนั้น ต้องถามผู้นำทั้งในระดับรัฐบาลที่มาจากทหาร ผู้นำกองทัพเรือ และอาจจะรวมถึงผู้นำในกองทัพทั้งหมดว่า ภายใต้บริบทปัจจุบัน ไทยวางแผนที่จะรบกับประเทศเพื่อนบ้านจริงหรือ หรือในทางกลับกัน เชื่อหรือว่าประเทศเพื่อนบ้านมองไทยเป็นศัตรู ผมคิดว่าคำตอบข้อนี้ละเอียดอ่อน และเอาเข้าจริงก็อาจจะไม่ใช่
แต่การมีเรือดำน้ำอยู่ในประจำการอาจช่วยในการเจรจาต่อรองและทำให้เพื่อนบ้านเกรงใจ หรือเปล่า
ถ้าเราสังเกตฝั่งทหารมักจะอ้างว่า ซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อให้เรามีศักยภาพในการเจรจาต่อรอง แต่ประเด็นที่ผมถามในเชิงประวัติศาสตร์การทูตคือ มีการเจรจาระหว่างประเทศครั้งไหน ที่รัฐบาลไทยใช้อำนาจทางทหารเป็นเครื่องมือหลักในการเจรจาต่อรองบ้าง
ประวัติศาสตร์ทางการทูตของไทย เราประสบความสำเร็จในการต่อรองทางการทูต ด้วยเครืองมือทางการทูตมาตลอด แม้ครั้งรัชกาลที่ 6 พาสยามเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เอง หรือข้อพิพาทช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ก็จบบนโต๊ะเจรจา
เลิกใช้คำว่ามีเครื่องมือรบแล้วเพื่อนบ้านจะเกรงใจเถอะครับ ความเกรงใจเกิดได้อย่างเดียว จากศักยภาพและสถานะทางการเมืองของประเทศไทย เกรงใจในฐานะที่เราเป็นผู้นำทางการเมืองในภูมิภาคอาเซียน แต่ต้องถามว่า ในหลายปีมานี้สถานะด้านนี้ของเราหายไปไหน
วันนี้เราต้องคิดว่า ถ้าข้อพิพาททางทะเลเกิดขึ้น ควรตกลงกันด้วยการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ หรือใช้คำว่า win-win solution เพราะในความขัดแย้งมันเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไหนจะได้ผลประโยชน์ทั้งหมดไป
และเราต้องเลิกวิธีคิดที่เห็นว่าเส้นเขตแดนเหมือนรั้วบ้านในชีวิตประจำวัน เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลไม่เหมือนเส้นเขตแดงทางบก มันอาจถูกล่วงละเมิดได้ ถ้าวันนี้เราบอกว่าเขาล่วงละเมิด พรุ่งนี้เขาอาจถามกลับว่าแล้วฝั่งเราล่วงละเมิดเขาบ้างไหม นี่คือความละเอียดอ่อน
และสุดท้าย วันนี้ไทยกับเพื่อนบ้านในอาเซียนต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ เพราะโจทย์ใหญ่ของอาเซียนไม่ใช่ข้อพิพาทภายใน แต่คือข้อพิพาทระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ ทั้งอาเซียนและไทยต้องตระหนัก
สำหรับไทย ต้องพยายามไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันกับรัฐมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จน กลายเป็นถูกพันธนาการของรัฐใหญ่คล้องคอ กลายเป็นต้องเดินตามรัฐใหญ่อยู่เสมอไป อย่าให้เป็นแบบนั้น เพียงเพราะทหารบางกลุ่มอยากได้อาวุธ
กองทัพเรือแถลงว่า ขณะนี้กองทัพเรือในภูมิภาคอาเซียนล้วนมีเรือดำน้ำประจำการเกือบหมดแล้ว อาจารย์มองว่าอย่างไรบ้าง
วันนี้เพื่อนบ้านเองก็มีโจทย์ทางยุทธศาสตร์ของเขา หมายความว่า เวลาเราเห็นประเทศเพื่อนบ้านมียุทโธปกรณ์บางอย่าง ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมียุทโธปกรณ์เหมือนที่เขามี ขอยกตัวอย่าง ตัวเลขที่พูดถึงกันมากในสังคมไทย ตรงนี้อาจเป็นตัวเลขที่ต่างจากกองทัพเรือนะครับ
เราเห็นเวียดนามมีเรือดำน้ำ 8 ลำ เขามีเรือดำน้ำมากก็จริง แต่ต้องตระหนักว่า ตอนนี้โจทย์ของเวียดนาม ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์เหมือนในยุคสงครามเย็น แต่เป็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างเวียดนาม-จีน ในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งเคยมีการปะทะกันมาแล้วครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ก็มีอินโดนีเซียมีเรือดำน้ำ 4 ลำ สิงคโปร์มีเรือดำน้ำ 4 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ภูมิภาคอาเซียนมีอยู่ประมาณ 4 ประเทศที่มีเรือดำน้ำ
แต่กลับมีความพยายามพูดว่า เมียนมาร์กำลังจะมีเรือดำน้ำ ตรงนี้ต้องตระหนักก่อนว่ากองทัพเรือเมียนมาร์ มีขนาดเล็ก มีกำลังพลแค่ 16,000 นาย เพราะฉะนั้น ยังเป็นอีกเรื่องอีกระยะหนึ่งพอสมควรที่เมียนมาร์จะมีเรือดำน้ำ
หรือที่บอกว่าฟิลลิปปินส์มีแผนซื้อเรือดำน้ำ อันที่จริง แม้เขาเป็นประเทศหมู่เกาะ เขากลับไม่มีกองทัพเรือขนาดใหญ่ มีแค่เรือขนาดเล็ก ไม่ใช่เรือรบหลัก ดังนั้น ข้อมูลที่บอกว่าฟิลลิปปินส์มีแผนซื้อเรือดำน้ำ ยังเป็นเรื่องอีกไกลพอสมควร
นอกจากนี้ ข้อมูลอีกชุดที่บอกว่า กัมพูชาเตรียมซื้อเรือดำน้ำ ผมว่าน่าจะเป็นความสับสนเป็นอย่างยิ่ง เพราะกองทัพเรือกัมพูชามีขนาดเล็กมาก มีทหารเรือเพียงแค่ 1,300 นาย และอีก 1,500 เป็นนาวิกโยธิน ไม่ต้องพูดถึงในกรณีของลาว หรือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
เพราะฉะนั้น สังคมไทยต้องตระหนักว่าประเทศไทยนี่แหละ ที่มีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยตัวเลขของสถาบันยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Institute for Strategic Studies: IISS) กองทัพเรือไทยมีกำลังพล 69,800 นาย หรือใหญ่และเยอะที่สุดในภูมิภาค แม้จำนวนเรือรบอาจจะน้อยกว่าอินโดนีเซีย แต่ต้องไม่ลืมว่า กองทัพเรือไทยมีเรือบรรทุกเครื่องบิน ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคไม่มี และหลายประเทศในเอเชียก็ไม่มี
สื่งที่ผมคิดว่ากองทัพเรือต้องคำนึงคือ การซื้อยุทโธปกรณ์ต้องรองรับกับความเป็นจริงทางยุทธศาสตร์ ซึ่งวันนี้ตอบชัดว่า ทุกประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ไม่มีขีดความสามารถในการทำสงคราม เพราะกำลังเผชิญกับสงครามโรคระบาด และผมคิดว่าในชั่วโมงนี้ยุทธศาสตร์ของทุกประเทศคือ การฟื้นฟูสังคมและชีวิตของคนในประเทศตัวเองมากกว่า
ในสังคมที่เผชิญกับโรคระบาด ความยากจน และความหิวโหย สังคมนั้นจะมีกองทัพที่เข้มแข็งไม่ได้ ต่อให้มีเรือดำน้ำ ก็ไม่มีศักยภาพ เพราะฉะนั้น ในมิตินี้ ผมคิดว่าเราคงต้องคิดด้วยเหตุและผล คิดตามความเป็นจริงของสถานการณ์ พูดง่ายๆ อย่าสร้างจินตนาการมาหลอกคนในสังคม
กองทัพเรือพูดถึงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ในประเด็นนี้ไทยเราเกี่ยวกับเขาไหม มากน้อยอย่างไร
คำพูดที่ว่า เราจะเอาเรือดำน้ำไปใช้ในแถบข้อพิพาทหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ตรงนี้ต้องถามว่าประเทศไทยเกี่ยวข้องอะไร ไทยไม่ใช้รัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ และไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น ผู้นำทหารไทยต้องไม่สอบตกวิชาภูมิศาสตร์การเมือง และต้องเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่านี้
เพราะเมื่อไรก็ตามที่ เราตัดสินใจเอาเรือดำน้ำไทย สัญชาติจีนเข้าสู่พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ มันจะกลายเป็นว่า ผู้นำทหารกำลังพาประเทศไทยเข้าสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐฯ-จีน ในทันที เพราะต้องตระหนักว่า วันนี้ผู้นำทหารไทยยืนกับจีน ไม่ได้ยืนเป็นกลางอย่างที่หลายคนชอบพูด
ผู้นำทหารไทยต้องคิดด้วยความละเอียดอ่อนมากขึ้น ผู้นำทหารทำเกินกว่าความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของประเทศไม่ได้ ผมย้ำนะครับ ผู้นำทหารไทยทำเกินกว่าความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ของประเทศไม่ได้ สิ่งที่ผู้นำทหารไทยกำลังคิดตอนนี้ อยู่บนพื้นฐานของจินตนาการที่ไม่เป็นจริง และเป็นจินตนาการที่ไม่เอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนให้กับประเทศ
ในทุกวันนี้ ประเทศที่กำลังพัฒนาแบบไทยใช้งบประมาณกับยุทโธปกรณ์แบบนี้หรือเปล่า
แน่นอนว่าประเทศส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพและเทคโนโลยีที่สูงในการผลิตอาวุธ ทำให้จำเป็นต้องซื้ออาวุธจากต่างประเทศ
แต่วันนี้ การซื้ออาวุธในหลายประเทศมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 จนก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อาวุธมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่ง กรณีของสหรัฐฯ ส.ส. เองก็เริ่มบ่นว่าอาวุธแพง จนมีการล้อว่า วันหนึ่งกองทัพจะซื้อเครื่องบินได้เพียงลำเดียว แล้วต้องแบ่งกันใช้ในทุกเหล่าทัพ
ดังนั้น ขนาดสหรัฐฯ ยังมีปัญหา ประเทศเล็กก็ยิ่งต้องคิดอย่างละเอียดขึ้น เพราะมันเป็นการซื้อด้วยงบประมาณของประเทศ ต้องใช้คำใหม่นะครับ ไม่ได้ซื้อด้วยงบของกองทัพเรือ แต่ซื้อด้วยงบประมาณที่มาจากภาษีของพี่น้องประชาชน
และสำคัญที่สุด ต้องตระหนักว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงคราม ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะสงครามทั้งหมด ดังนั้น เป็นไปได้ไหมในอนาคตที่ รัฐบาลไทยจะมีความเป็น smart buyer มากขึ้น
อาจารย์มองว่าการซื้อเรือดำน้ำจะสร้างมั่นคงได้จริงไหม ในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายหลากหลาย
ในโลกสมัยใหม่ โจทย์ความมั่นคงมีความหลากหลายขึ้นมาก แม้กระทั่งคำว่า ความมั่นคงทางทหาร (Military Security) ก็หลากหลายมากขึ้น ในหลายปีที่ผ่านมา ความมั่นคงชุดหนึ่งกลายเป็นปัญหาไฟป่า ชุดหนึ่งเป็นเรื่องสภาพอากาศ และล่าสุดคือเรื่องเชื้อโรค
ดังนั้น หลักวิชาความั่นคงศึกษามองได้อย่างเดียวว่า ความมั่นคงทางทหารเป็นเพียงโจทย์หนึ่ง ในหลายๆ โจทย์ และหากมองเฉพาะเรื่องทหาร การมีอาวุธที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ก็ไม่ใช่กุญแจเพียงดอกเดียวที่นำไปสู่ความสำเร็จ และสร้างศักยภาพทางทหาร
อีกปัญหาคือ เทคโนโลยีทางทหารก้าวหน้าเร็วมาก ถ้าเราสั่งซื้อเรือดำน้ำปี 2561 และได้เรือดำน้ำปี 2567 เรือที่เข้ามาในตอนนั้นจะไม่ตอบโจทย์เทคโนโลยีทหาร แต่จะตอบโจทย์อย่างเดียวคือ การระบุในทำเนียบกำลังรบว่าไทยมีเรือดำน้ำเพิ่มขึ้น 1 ลำ
ลองถอยกลับไปสู่เดือนกันยาปี 2019 เมื่อโดรน 10 ลำของกลุ่มฮูตี เปิดฉากโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ผลการโจมตีทำให้การผลิตน้ำมันซาอุฯ ลดลงกว่าร้อยละ 50 ลองเปรียบเทียบในเชิงมูลค่าระหว่างโดรน 10 ลำ กับการผลิตน้ำมันของซาอุฯ หรือในอนาคต เราอาจเห็นโดรนที่คอยล่าเรือดำน้ำ หรือเครื่องบินที่มีโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำ เหล่านี้คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการทหาร ดังนั้น เราต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในวิชาเศรษฐศาสตร์การทหารด้วย
สุดท้ายอาจารย์มองว่าความพยายามซื้อเรือดำน้ำในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจแบบนี้ สะท้อนฐานคิดของกองทัพอย่างไรบ้าง
หนึ่ง กองทัพมีชุดความคิดเรื่องความมั่นคงแบบเก่าที่สุด คือมองว่าความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร และทหารเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว
สอง ผู้นำทหารเติบโตกับมรดกการเมืองของสังคมไทย คือเชื่อว่าทหารต้องเป็นใหญ่และเป็นผู้ควบคุมสังคมไทย คนอื่นไม่มีสิทธิ์และสถานะที่จะคัดค้านการตัดสินใจของทหาร
และสาม ผู้นำทหารเชื่อว่างบประมาณของทหารเป็นของทหาร เพราะฉะนั้นทหารมีสิทธิ์ใช้อย่างที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงคัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น
ผมคิดว่าความพยายามซื้อเรือดำน้ำโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาน ภายใต้บริบทที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่แบบนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าเราควรต้อง ปฏิรูปกองทัพ เสียที