เปิดประเทศพร้อมรับนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ว่าความพร้อมของไทยมีมากแค่ไหนกันนะ?
ผ่านมา 3 วันหลังเปิดประเทศไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยกำหนดให้มี 63 ประเทศต้นทางที่สามารถเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่หลายคนยังคงตั้งคำถามว่า ภาครัฐพร้อมแค่ไหนกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวนี้ เมื่อยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูง แถมเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แบบไม่ได้จำแนกยี่ห้อของวัคซีน ก็ยังอยู่ที่ 47.90% เท่านั้น
ไม่เพียงแค่เรื่องของวัคซีนและยอดผู้ติดเชื้อเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทำให้คนตั้งคำถามว่า เปิดประเทศแล้ว ทำไมยังแก้ไขปัญหาไม่ได้สักทีเราจึงขอรวบรวมปัญหาความพร้อม (?) ในวันที่ไทยอ้าแขนรับนักท่องเที่ยวแล้ว เพื่อให้เห็นว่า ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขในจุดไหนบ้าง แล้วทำอย่างไรเราถึงจะพร้อมเปิดประเทศกันจริงๆ
หมอพร้อมยังไม่พร้อม ข้อมูลไม่ตรง-ไม่อัพเดท
เปิดประเทศแล้ว หลายคนที่ต้องเปิดทางออกนอกประเทศ ก็เตรียมพร้อมแล้วเช่นกัน แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถขอรับวัคซีนพาสปอร์ตได้ ทั้งที่รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว หรือบางคนก็ฉีดเข็ม 1 ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีข้อมูลในการนัดฉีดเข็มต่อไป
“ฉีดวัคซีนเข็มที่สองมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม แต่จนถึงตอนนี้หมอพร้อมยังไม่ขึ้นว่าฉีดเข็มที่สองแล้วเลย” หญิงวัย 50 ปีกล่าว
นอกจากเธอแล้ว ยังมีเพื่อนร่วมงานที่ได้รับวัคซีนช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคมอีก 21 คน ที่ระบบยังไม่อัพเดทข้อมูล ขณะที่ในโลกโซเชียลเองก็มีหลายคนกล่าวว่า ฉีดวัคซีนครบสองเข็มไปเป็นเดือนแล้ว แต่หมอพร้อมก็ยังไม่อัพเดทข้อมูลซักที
ประเด็นนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวระบบหมอพร้อม แต่เกิดจากหน่วยบริการฉีดวัคซีนยังไม่ได้ลงบันทึกข้อมูล เนื่องจากเป็นการฉีดนอกสถานที่ หรือการฉีดวัคซีนตามโครงการต่าง ๆ เช่น ไทยร่วมใจ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกันสังคม เป็นต้น
แต่กรณีของหญิงคนดังกล่าว เล่าว่า เธอได้ใบรับรองให้กับผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่สองแล้ว และเมื่อโทรไปสอบถามกับทางศูนย์ฉีดวัคซีน ที่ จ.ชลบุรี ที่เธอเข้ารับวัคซีน ทางศูนย์ฯ ระบุว่า ส่งข้อมูลสมบูรณ์แล้ว ความผิดพลาดไม่ได้มาจากทางศูนย์ฉีดวัคซีนแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่า บางคนมีข้อมูลไม่ตรงตามความจริง เช่น กรณีของชายวัย 26 ปี ซึ่งมีชื่อขึ้นในหมอพร้อมเป็นชื่อคนอื่น แต่ข้อมูลอื่นๆ ถูกต้อง เช่น เลขประจำตัวประชาชน วันเกิด เป็นต้น หรือกรณีของหญิงวัย 50 ปี ที่มีข้อมูลส่วนสูงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม ทั้งเรื่องของข้อมูลไม่อัพเดท และข้อมูลไม่ถูกต้องนี้ นำไปสู่การตั้งคำถามกับความพร้อมในการเปิดประเทศ
ชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจเชื้อเองที่บ้าน ยังมีปัญหา
ปัญหาเรื่องชุดตรวจ ATK เป็นที่พูดถึงมาตลอดช่วงที่มีการระบาดหนัก เพราะถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการตรวจหาเชื้อ และป้องกันเชิงรุก ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็เปิดจำหน่ายชุดตรวจ ATK ราคา 40 บาท ในร้านขายยาขององค์การฯ 8 สาขารอบกรุงเทพมหานคร ราคานี้ต่างจากราคาประมูลของชุดตรวจโควิดที่ อภ.เคยนำเข้ามาก่อนหน้านี้ ซึ่งราคาประมูลตกชุดละ 70 บาท
ชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการอนุมัติในราคา 40 บาทนี้ เป็นชุดตรวจยี่ห้อ Novagen
แต่เมื่อเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เปิดเผยเอกสารชี้แจงรายชื่อชุดตรวจ ATK ที่ได้ศึกษาประสิทธิภาพ เพื่อการพิจารณาให้เอกสารอนุญาตในสหภาพยุโรป พบว่า ชุดตรวจยี่ห้อ Novagen ถูกปฏิเสธไม่ให้อยู่ในรายชื่อชุดตรวจ COVID-19 ทั่วไปในสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า ชุดตรวจนี้มีข้อมูลจากผู้ผลิตไม่สมบูรณ์ และผลการทดสอบประสิทธิภาพออกมาไม่สอดคล้องกับการทดสอบใช้งานจริงในประเทศสหภาพยุโรปและไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่สภาและผู้เชี่ยวชาญกำหนด
ขณะเดียวกัน ชุดตรวจ ATK ที่ขายตามท้องตลาดจำนวนมากยังมีราคาสูงอยู่ที่หลักร้อยกว่าบาท ทั้งที่ภาครัฐควรจะแจกชุดตรวจ ATK ฟรีให้กับประชาชน ‘ทุกคน’
จะเปิดประเทศแล้ว แต่ กทม.ให้นั่งร้านเหล้าได้ถึง 3 ทุ่ม
หลังจากที่ประกาศเปิดประเทศออกมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม ร้านเหล้า ผับ บาร์ ก็เฝ้ารอประกาศจากทางการให้เปิดร้านได้กันอยู่นาน แล้วเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม (อีก 1 วันเปิดประเทศ) กทม.ก็ประกาศให้เปิดร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ต้องนั่งได้ไม่เกิน 21.00 น. เท่านั้น และต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ด้วย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ thailandsha ระบุว่า มีร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่ได้รับมาตรฐาน SHA แล้ว 1,624 ร้าน โดยมากเป็นร้านที่อยู่ในห้าง หรือเป็นร้านที่มีหลายสาขา
ประเด็นนี้ สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจบนถนนข้าวสาร ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ประจำวันที่ 3 พฤศจิกายนว่า ทราบว่าร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องมีใบอนุมัติ SHA ในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม แต่กำหนดเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน ทำให้ร้านรายย่อยจำนวนมากเตรียมขออนุญาตไม่ทัน ซึ่งการขอใบรับรองนี้ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
“เดิมที ภาครัฐบอกว่าให้เปิดประเทศได้ แต่อยู่ๆ ก็สับขาหลอกเราว่าต้องมีใบ SHA ผู้ประกอบการเลยเป๋ไปเลย”
“ส่วนใหญ่ใบ SHA จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โรงเรียน fine dining ส่วนผู้ประกอบการบนถนนข้าวสารเราเป็นรายย่อย เรื่องความสะอาด ความปลอดภัย เขตพระนครก็มาสุ่มตรวจอยู่แล้ว ผู้ประกอบการรายย่อยไม่คิดว่าต้องมีใบ SHA วันก่อนประชุมกัน ร้านข้าวต้มยังถามเลยว่า ‘ถ้าจะขายเบียร์ขวดนึง ต้องมีใบ SHA ด้วยไหม’ เราเข้าใจเรื่องนโยบายความปลอดภัย แต่ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน”
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว PPTV รายงานถึงความคิดเห็นของเจ้าของร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า การเปิดให้นั่งร้านได้ถึง 21.00 น.นั้น ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลางคืน และข้อกำหนดนี้ยังทำให้รายได้หายไปถึง 80 % ด้วย
โรงเรียนหลายแห่งยังเลื่อนเปิดเทอม
กำหนดวันเปิดเทอมคือ 1 พ.ย. แต่มีหลายโรงเรียนที่เลื่อนเปิดเทอมออนไซต์ เพราะอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดหนัก เช่น
- โรงเรียนใน อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ ประกาศเลื่อนเปิดเทอมหลังมีผู้ติดเชื้อรายวันหลักร้อยราย และคาดว่าจะเปิดวันที่ 15 พ.ย.
- โรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จ.ยะลา เขต 3 ยังไม่พร้อมเปิด เพราะยอดผู้ติดเชื้อสูง และผู้ปกครองไม่เชื่อมั่นในวัคซีน ทำให้มีเด็กได้ฉีดวัคซีนน้อย คาดว่าจะเปิดเทอมวันที่ 15 พ.ย.
- โรงเรียนกว่า 300 แห่งในปัตตานี เลื่อนเปิดเทอม เพราะยังระบาดหนัก ทั้งครูและนักเรียนได้รับวัคซีนยังไม่ถึง 80% คาดว่าจะเปิดเทอมวันที่ 1 ธ.ค.
- เชียงใหม่ให้โรงเรียน/สถาบันการศึกษาทุกประเภท พิจารณาเลื่อนเปิดเรียนแบบออนไซต์ ในช่วงวันที่ 1-14 พ.ย.
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนในอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่พร้อมเปิดเรียนแบบออนไซต์ ซึ่งเรื่องของการเปิดเรียนนี้ก็เป็นประเด็นมาตลอดทั้งปี เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์แทน นำมาสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น อุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม เด็กไม่มีสมาธิ-เรียนไม่รู้เรื่อง ขาดการเข้าสังคม เป็นต้น
การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่มาตรการป้องกันเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งสิ่งที่กล่าวไปนี้ สะท้อนถึงความไม่พร้อมในการรับมือกับมาตรการเปิดประเทศ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก