ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือยัง แต่จุดตรวจ COVID-19 ก็คนแน่นมาก จะเสี่ยงไปตรวจก็กลัวไปติดเชื้อแทน แต่ถ้าไม่ตรวจก็ไม่รู้ว่าเป็นโรคนี้ไปรึยัง แถมพออยากจะตรวจเอง ก็ตรวจไม่ได้อีก
สภาวะอันน่าหนักใจที่เราต้องเผชิญกันมาตลอด นับตั้งแต่ที่ COVID-19 ระบาด อีกหนึ่งสิ่งที่เราเรียกร้องกันมาตลอดก็คือ การได้ชุดตรวจหา COVID-19 เองที่บ้าน อย่างที่หลายประเทศแจกจ่ายกัน
มาจนถึงวันนี้ ในที่สุด ทางการไทยก็เพิ่งปลดล็อกให้ประชาชนใช้ชุดตรวจเชื้อ COVID-19 ได้แล้ว เราจึงอยากพาทุกคนไปดูว่า ชุดตรวจ Rapid Antigen Test คืออะไร ต้องใช้แบบไหนกัน แล้วถ้าผลออกมาว่าติดเชื้อ ต้องทำยังไงต่อไปนะ?
Rapid Test ตรวจหาอะไรบ้าง
อธิบายแบบตรงตัวคือชุดตรวจที่ให้ผลอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีอยู่ 2 แบบ ดังนี้
ตรวจหาเชื้อ (Antigen) โดยจะเก็บตัวอย่างจากทางจมูกหรือคอ ซึ่งต้องรับเชื้อมาแล้ว 5–14 วัน ถึงจะได้ผลที่แม่นยำ โดยตอนนี้ มียี่ห้อชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วมี 24 ยี่ห้อ คาดเริ่มต้น 300-400 บาท
ตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) เก็บตัวอย่างจากการเจาะเลือด จะตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในวันที่ 10 เป็นต้นไป จนกระทั่งหายป่วยแล้ว
ตอนนี้ ชุดตรวจที่กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้ใช้ตามบ้านก็คือ ชุดตรวจแบบ Antigen หรือที่เรียกว่า Rapid Antigen Test (เรียกย่อๆ กันว่า ATK) นั่นเอง ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกัน เปิดให้ทดสอบตามโรงพยาบาล
สิ่งที่ควรรู้ก่อนตรวจ
คำแนะนำจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) ระบุข้อควรทำไว้ ดังนี้
- ไม่ควรกินหรือดื่มอะไรก่อนตรวจเชื้อ อย่างน้อย 30 นาที
- หากเพิ่งมีเลือดกำเดาไปใน 24 ชม. ให้รอก่อน หรือตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่มีเลือดกำเดา
- ชุดตรวจใช้ได้แค่ครั้งเดียว ต่อหนึ่งคน
- หากเจาะจมูก ให้ตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่ได้เจาะ แต่ถ้าเจาะ 2 ข้าง ให้เอาห่วงจมูกของข้างที่ต้องการตรวจออกก่อน
- หากตรวจทางคอไม่ได้ เช่น เจาะคอ ให้ตรวจทางจมูกแทน
สิ่งที่มีในชุดตรวจ
อ้างอิงจากแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ (12 ก.ค.) ระบุว่า ในชุดตรวจ Rapid Antigen Test ต้องมีสิ่งต่อไปนี้
- ตลับทดสอบ
- หลอดใส่น้ำยาสกัด
- ฝาหลอดหยด
- ก้านสำลีสำหรับ swab
- เอกสารกำกับชุดตรวจ
วิธีใช้ชุดตรวจ
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะวางชุดตรวจให้ดี ควรใช้แอลกอฮอสล์ฆ่าเชื้อด้วย
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด หรือใช้เจลล้างมือ เพื่อรักษาความสะอาดของมือที่จะหยับจับอุปกรณ์
- วิธีเก็บตัวอย่าง ให้ทำตามคำแนะนำที่มากับชุดตรวจอย่างเคร่งครัด แต่ละชุดตรวจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป เช่น เก็บตัวอย่างจากการแหย่จมูก แหย่จมูกถึงคอหอย หรือเข้าทางปากถึงคอหอย เป็นต้น
- เมื่อเก็บตัวอย่างเสร็จแล้ว และเตรียมอุปกรณ์ตามคู่มือการใช้งานแล้ว ให้นำก้านสำลีมาหมุนใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจเชื้อ หมุนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ 15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอด เน้นย้ำว่า ต้องไม่ให้มือสัมผัสกับก้านสำลีหรือสารที่เก็บเชื้อมา จากนั้นนำก้านสำลีทิ้งใส่ซีล และหยดสารละลายลงในแท่นตรวจตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้ รอผล 15-30 นาที
วิธีอ่านค่าผลตรวจ
หลังจากรออย่างน้อย 30 นาทีแล้ว ให้อ่านค่าจากผลตรวจ โดยตัวอักษร C หมายถึงแถบควบคุม และตัวอักษร T หมายถึง ทดสอบ โดยมีวิธีการอ่านผลตรวจ ดังนี้
- หากมีแค่ขีดเดียวตรงตัวอักษร C แปลว่าผลตรวจเป็นลบ หรือก็คือไม่ติดเชื้อ
- หากมี 2 ขีดตรงตัวอักษร C และ T แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก หรือก็คือติดเชื้อ
- หากไม่มีขีดที่ตัว C เช่น ปรากฎแค่ตรง T หรือไม่มีขีดเลย แปลว่าผลตรวจใช้ไม่ได้ ควรตรวจหาเชื้อใหม่อีกครั้ง โดยทำตามคำแนะนำในคู่มืออย่างเคร่งครัด
หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อ
- แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้าน
- แจ้งคนที่อยู่ใกล้ชิดให้ทดสอบเชื้อต่อ
- กักตัวแยกจากผู้อื่น ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน แยกห้องน้ำ สวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง
- หากหายใจติดขัด ให้รีบติดต่อขอรับการรักษา
- หากไม่ติดเชื้อ แต่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ควรทดสอบอีกครั้งใน 3-5 วัน ระหว่างนั้นพยายามแยกห่างจากผู้อื่น และถ้ามีอาการของ COVID-19 ให้ทำการทดสอบอีกครั้งนึง
วิธีทิ้งชุดตรวจ
หลังจากใช้ชุดตรวจเสร็จแล้ว ควรเก็บไปทิ้งให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันเชื้อฟุ้งกระจายและแพร่ระบาดสู่ผู้อื่น โดยมีคำแนะนำในการทิ้งชุดตรวจ ดังนี้
- ควรใส่ถุงแยกจากขยะอื่นๆ
- ปิดถุงขยะให้มิดชิด ไม่ให้ขยะหลุดรอดออกมาได้
- ใส่ขยะในถุงสีแดง เพราะใช้สำหรับใส่ขยะติดเชื้อ หรืออาจแปะป้าย/ทำสัญลักษณ์ให้รู้ว่า ‘ระวัง! เป็นขยะทางการแพทย์’ โดยต้องทำให้สังเกตเห็นได้ชัดๆ
อ้างอิงจาก
แถลงการณ์จากกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
Department of Health and Social Care