ถ้ามีผลตรวจ ATK หรือ Antigen test kit อย่างเดียว จะเข้าถึงระบบรักษาอะไรได้บ้างนะ?
แม้ COVID-19 จะระบาดมาหลายปีแล้ว แต่หลายคนก็ยังเข้าไม่ถึงการตรวจ COVID-19 และถึงกระทรวงสาธารณสุขจะอนุมัติให้ประชาชนสามารถซื้อ Antigen test kit ไปตรวจเชื้อเบื้องต้นที่บ้านกันเองได้ แต่หลายคนก็ยังเข้าไม่ถึง ด้วยราคาหลักร้อยที่บางคนอาจต้องอดข้าวเพื่อซื้อมาตรวจ
ยิ่งกว่านั้น ตามระบบของกระทรวงสาธารณสุข ยังกำหนดให้ผู้ที่มีผลตรวจจาก Antigen test kit เป็นบวก นับเป็น ‘ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case)’ เท่านั้น ยังไม่ถือเป็นผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed case) ตามระบบ ต้องผ่านการตรวจ RT-PCR ก่อนจึงจะยืนยันได้
แต่ก็จะมีข่าวที่เราเห็นกันเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกรณีของผู้ป่วยที่ตรวจเชื้อเอง ได้ผลเป็นบวก แต่ก็ยังเข้าถึงการรักษาไม่ได้ เพราะทางกรมควบคุมโรคต้องการผลแล็บ จนสุดท้ายผู้ป่วยรายนั้นเสียชีวิต (แน่นอนว่าข่าวจริง) ไปจนถึงกรณีอื่นๆ อีกมาก ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องว่า ควรลดขั้นตอนการรับผู้ป่วยเข้าระบบ ด้วยการนับรวมผู้ป่วยที่ตรวจด้วย ATK ด้วย
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์จาก ศบค. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ก่อน เพราะการตรวจแบบ ATK สามารถให้ผลบวกลวง (ผลบวกที่คลาดเคลื่อน) ได้ 3-5%
ดังนั้นแล้ว ถ้ามีผลตรวจ ATK เป็นบวก และไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรงมาก นับว่าเป็นผู้ป่วยสีเขียว สามารถเข้าระบบ Home isolationได้เลย โดยสามารถเข้าได้ 2 ทางหลัก นั่นคือ
- ลงทะเบียน สปสช.
– โทร 1330 ต่อ 14 (บัตรทอง)
– โทร 1506 กด 6 (ประกันสังคม)
– Line สปสช.
– Website สปสช. (https://crmsup.nhso.go.th)
– ในพื้นที่ กทม. 50 เขต โทรสานกับสำนักงานเขต เพื่อบันทึกเข้าระบบและจับคู่หน่วยบริการให้ผู้ป่วย
การลงทะเบียนนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสิ่งของจำเป็น เช่น เครื่องตรวจวัดออกซิเจนในเลือก ยารักษา อาหาร 3 มื้อ และได้รับการประเมินอาการผ่านวิดีโอคอล แต่หากไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ ให้ตรวจสอบข้อมูล และส่งไปอีกครั้ง
- ลงทะเบียนเข้าระบบดูแลเบื้องต้นกับทีมอาสาในโครงการ Home Isolation เช่น FammedCocare, Covid Home Care หรือลงทะเบียนกับระบบ Home care agnos
แต่หากมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีโรคอื่นร่วม ถือเป็นผู้ป่วยสีเหลือง และถ้ามีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม การลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3% หลังออกแรง ถือเป็นผู้ป่วยสีแดง ซึ่งผู้ป่วยสองสีนี้ต้องได้เข้ารักษาใน Community Isolation, Hospitel หรือโรงพยาบาล จะต้องให้ความยินยอมและเซ็นใบยินยอมเข้ารับการรักษา และต้องรอผล RT-PCR ด้วย
ในส่วนนี้ ตามแถลงการณ์จาก ศบค. ระบุว่า สามารถรอควบคู่กันไปได้ โดยศูนย์พักพิงต้องแบ่งผู้ป่วยที่ตรวจด้วย RT-PCR แล้วกับผู้ที่ยังไม่มีผลตรวจออกจากกัน แต่จากข้อมูลของผู้ป่วยหลายกรณีที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกแล้ว กลับพบว่า ต้องมีผลตรวจจากแล็บ หรือก็คือ RT-PCR ก่อนจึงจะได้เตียง
ข้อมูลจากทีมอาสาที่เข้ามาช่วยดูแลระบบนี้ ได้แบ่งวิธีการเข้าถึงเตียงรักษา ดังนี้
- ลงทะเบียนกับระบบส่วนกลาง โดยโทร 1669, 1668 หรือ 1330
- เช็คหาเตียงโดยติดต่อโรงพยาบาลที่ตรวจ หรือโรงพยาบาลตามสิทธิ สปสช.
- ถ้ามีข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนรับตรวจ และเตียงว่าง แต่รับแค่คนที่ตรวจ ให้ไปตรวจใหม่เพื่อเข้ารักษาที่นั่น
- ถ้ามีสิทธิประกันสุขภาพ ประกันสังคม โทรสอบถามโรงพยาบาลที่มีคิวหรือคิวน้อยกว่าได้
- ถ้ายังไม่ได้รักษาในโรงพยาบาลกรุงเทพฯ สามารถประสานงานโรงพยาบาลเพื่อกลับภูมิลำเนาได้
จากการแถลงของ ศบค.เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ยังระบุด้วยว่า สปสช. กำลังเปิดระบบให้ประชาชนเช็คสิทธิของตัวเองได้ ผ่านเลขบัตรประชาชน
แต่ก็ต้องย้ำปัญหาในระบบการเข้าถึงการรักษา มีอีกหลายจุดที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งกระแสเรียกร้องให้เพิ่มผู้ป่วย RT-PCR เข้าไปในระบบ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที หรือการเพิ่มจุดตรวจแบบ RT-PCR ให้มากพอกับผู้ป่วย การแจกจ่าย ATK ฟรีเพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจได้เอง ไปจนถึงเรื่องของอุปกรณ์รักษาต่างๆ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีจัดหามาให้เพียงพอด้วย
อ้างอิงจาก
แถลงการณ์จากศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2564