ในขณะที่ประเด็นเรื่องของการรับใช้และทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ ยังถูกนำมาใช้ดึงดูดคนเข้าสู่ระบบ ‘นักเรียนทุนรัฐบาล’ อยู่เนืองๆ ตอกย้ำถึงมุมมองของประชาชนต่อพันธกิจที่ต้องรับใช้รัฐเป็นสำคัญ ด้วยมองว่า ‘รัฐคือผู้มีบุญคุณ’ คอยอุปถัมภ์ค้ำชูและหยิบยื่นโอกาสให้ตนได้มีอิสรเสรีเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรี
และมุมมองของสาธารณะเช่นนี้นี่เองที่ทำให้การคิดขัดขืนต่อความคาดหวังของรัฐต่อนักเรียนทุนรัฐบาล ด้วยการตั้งคำถามต่อระบบเฟ้นหานักเรียนทุนก็ดี หรือการมองว่าเงื่อนไขสัญญาทุนไม่เป็นธรรมก็ดี กลายเป็นเรื่องของ ‘ความอกตัญญู’ ไม่รู้บุญคุณไป
ทุนรัฐบาลได้รับจัดสรรดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงอาจถูกเรียกกันทั่วไปว่า ทุน ก.พ. ในส่วนของทุนสำหรับบุคคลภายนอก (ที่ไม่ใช่ข้าราชการ) อาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ
- ทุนเด็กเล็ก ซึ่งคัดสรรนักเรียนระดับ ม.ปลาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) เพื่อไปศึกษา ณ ต่างประเทศในระดับปริญญาตรี (และ โท-เอก ในบางหน่วยทุน)
- ทุนผู้ใหญ่ ที่ตั้งเป้ารับสมัครนักเรียนระดับปริญญาตรีปีสุดท้ายและบุคคลภายนอกทั่วไปเพื่อศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท และ/หรีอ ป.เอก)
สำหรับ ทุนเด็กเล็ก ซึ่งเพิ่งปิดรับสมัครไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น แบ่งเป็นกลุ่มทุนที่ไม่สังกัดหน่วยงาน ผู้รับทุนมีข้อผูกพันคือกลับมาทำงานที่ไทยหลังจากเรียนจบเป็นระยะเวลา 1 เท่า หรือชดใช้เงินทุนที่ได้รับในระหว่างศึกษา ทุนกลุ่มนี้ได้แก่ทุนเล่าเรียนหลวง หรือทุนคิง (9 ทุน) และทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์ (1 ทุน) ทุนอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่กลุ่มทุนที่สังกัดหน่วยงานราชการ แบ่งเป็นทุนธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ (3 ทุน), ทุนกระทรวงการต่างประเทศ หรือ ทุน ก.ต. (5 ทุน) และทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ หรือทุน ก.วิทย์ (72 ทุน) ผู้รับทุนต้องกลับมาทำงานยังหน่วยงานตามที่ระบุไว้เป็นระยะเวลา 2 เท่า หรือชดใช้ 3 เท่าของจำนวนเงินทุนที่ได้รับ (2 เท่าสำหรับทุนแบงก์ชาติ) สำหรับทุน ก.วิทย์ นั้น ผู้รับทุนจะได้รับทุนถึงระดับปริญญาเอก
สำหรับ ทุนผู้ใหญ่ ที่จะปิดรับสมัครในวันที่ 27 ธันวาคมนี้นั้น มีทุนที่ไม่สังกัดหน่วยงาน คือ ทุนสำหรับศึกษาที่ประเทศจีน (5 ทุน) และทุนที่สังกัดหน่วยงานของรัฐแบ่งเป็นทุน ก.วิทย์ (106 ทุน), ทุนกระทรวง/กรม/สถาบันของรัฐอื่นๆ (87 ทุน) ในจำนวนทุนสังกัดหน่วยงานนี้ 11 ทุนระบุให้ผู้รับทุนต้องเข้าบรรจุและแต่งตั้ง กล่าวคือได้ทำงานในหน่วยงานนั้นๆ ก่อน เงื่อนไขข้อผูกพันของผู้รับทุนผู้ใหญ่เป็นไปในทางเดียวกับทุนเด็กเล็ก กล่าวคือ ผู้รับทุนต้องกลับมาทำงานยังหน่วยงานตามที่ระบุไว้เป็นระยะเวลา 2 เท่า หรือชดใช้ 3 เท่าของจำนวนเงินทุนที่ได้รับ (2 เท่าสำหรับทุนแบงก์ชาติ) ทั้งนี้ไม่รวม
นอกจากนี้ยังมีโครงการ ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ (UIS) ที่มอบทุนการศึกษาสำหรับนิสิต/นักศึกษา เพื่อศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทใน/ต่างประเทศ โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ถือเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับระบบนักเรียนทุนสำหรับเด็กเล็กและผู้ใหญ่ที่กล่าวมาก่อนหน้า โดยยึดแนวทางเงื่อนไขการใช้ทุนเช่นเดียวกับนักเรียนทุนทั่วไป คือ ให้ทำงานตามหน่วยงานที่สังกัดเป็นระยะเวลา 2 เท่า หรือชดใช้เป็นจำนวนเงิน 3 เท่า สำหรับปีนี้เปิดรับจำนวน 43 ทุน
จากข้อมูลข้างต้น เราสามารถคำนวนสัดส่วนทุนรัฐบาลฯ ประจำปี 2561 แบ่งเป็นทุนเด็กเล็กประมาณ 27% (แบ่งเป็นทุน ป.ตรี-โท-เอก (ก.วิทย์) 22%, ทุน ป.ตรี-โท (ก.ต.) 2%, ทุน ป.ตรี 4%), ทุนผู้ใหญ่สำหรับศึกษาระดับ ป.โท/เอก 60% และ ทุน UIS สำหรับศึกษาในปีสุดท้ายของชั้น ป.ตรี ถึง ป.โท 13%
โดยทั่วไปนั้น คำว่า scholarships ถูกใช้ในความหมายของเงินรางวัลที่ให้แก่บุคคลที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีเพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินในการศึกษาของคนนั้นๆ โดยที่ผู้ได้รับไม่จำเป็นต้องตอบแทนใดๆ
อย่างไรก็ดีคำว่า ทุนรัฐบาลไทย (Royal Thai Government’s scholarships) กลับถูกนำมาใช้ในความหมายของ เงินกู้ยืมทางการศึกษา (student loans) นั่นคือผู้ที่ได้รับทุนต้องกลับมาทำงานในหน่วยงานของภาครัฐเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาที่ใช้ในการศึกษา หรือจ่ายเป็นจำนวนเงินคืนแก่ทางรัฐเป็นจำนวน 2-3 เท่าของเงินที่รัฐบาลได้ลงทุนไปในตลอดระยะเวลาที่ได้รับทุน ยกเว้นในกรณีทุนให้เปล่าเช่นทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งคิดเป็นปริมาณไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนักเรียนทุนรัฐบาลในแต่ละปี หรือโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOS) ที่ริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาล พตท.ทักษิณ และล้มเลิกไปหลังจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์
ในขณะที่หลายคนอาจมองว่าการให้ทุนรัฐบาลเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นที่น่าเสียดายว่าเงื่อนไขของทุนรัฐบาลนี่เองที่ปิดโอกาสผู้ที่รับทุนไม่ให้สามารถเข้าถึงตลาดแรงงานอื่นภายใต้การแข่งขันในตลาดเสรี อีกทั้งกำหนดกรอบการพัฒนาของแต่ละปัจเจกให้อยู่ภายใต้ความต้องการของรัฐบาล แทนที่จะสามารถพัฒนาตามความสนใจและศักยภาพของตน
ยกตัวอย่างเช่น การจะย้ายสาขาเรียน (ซิ่ว) ของผู้ที่เรียนด้วยเงินส่วนตัวเพื่อไปศึกษาในสาขาที่ตนถนัดกว่า จะถูกจำกัดที่ความเสียดายค่าหน่วยกิตและเวลา 1 – 2 ปีที่ได้ลงทุนไป ในขณะที่ทางเลือกสำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลที่มีความประสงค์เปลี่ยนสาขาการศึกษา คือ การฉีกสัญญาทุนและชดใช้ค่าใช้จ่ายเป็นตัวเลข 7 หลัก หรือกัดฟันทนเรียนจนกว่าจะจบเพื่อทำงานใช้ทุนต่อไป หรืออย่างดีที่สุดคือการเจรจาต่อรองกับทางต้นสังกัดซึ่งโอกาสที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้นก็ขึ้นกับว่าบัณฑิตที่จะจบสาขาที่จะย้ายไปนั้นยังคงประโยชน์ต่อต้นสังกัดอยู่บ้างหรือไม่
สำหรับในหลายกรณีที่การชดใช้ทุนเป็นจำนวนเงินไม่ใช่ทางออก (เพราะถ้ามีเงินก็คงไม่จำเป็นต้องมารับทุนตั้งแต่แรก) การใช้ทุนเป็นระยะเวลาสองเท่านั้นหมายถึงการทำงานเป็นนักวิจัย ข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐไปจนอายุเกือบ 50 ปี
เราไม่สามารถบอกได้ว่าการทำงานในภาครัฐจะดีกว่าหรือแย่กว่าภาคเอกชน แต่สิ่งที่ระบบทุนรัฐบาลสร้างคือการจำกัดเสรีในการเลือกเส้นทางการทำงานและพัฒนาศักยภาพของประชาชนที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ณ เวลาที่เลือกรับทุน
การรับทุนรัฐบาลยังเป็นการขีดกรอบทางเดินชีวิตของบุคคลนั้นๆ เป็นระยะเวลา 10 – 20 ปี ที่ดูจะสวนทางกับวิถีชีวิตของคนในยุคสมัยที่คนเจนวาย-แซ้ดเลือกที่จะเปลี่ยนงานเพื่อค้นหาสิ่งที่ตนชอบและถนัดเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงสุดเท่าที่ศักยภาพของปัจเจกคนหนึ่งสามารถผลักดันไปได้
เพราะทุนรัฐบาลเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน ไม่ใช่เรื่องของความเอื้ออาทร ทุนรัฐบาลไม่ได้พัฒนาศักยภาพของผู้รับทุนโดยไม่หวังผลตอบแทน แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้ได้แรงงานคุณภาพดีค่าแรงย่อมเยาว์
แน่นอนว่าการมีบุคลากรในภาครัฐที่มีคุณภาพย่อมเอื้อต่อ ‘การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า’ ตามเจตนารมณ์ที่ทุนรัฐบาลได้ตั้งไว้
แต่คำถามที่เกิดตามมาก็คือบุคลากรผู้ทรงคุณภาพเหล่านี้ที่ถูกบ่มเพาะขึ้นมาภายใต้ระบบนักเรียนทุนรัฐบาลนั้นสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ภายใต้ความจำเป็นต้องทำ ไม่ใช่การทำเพราะมีแรงจูงใจ
อีกทั้งในหลายๆ กรณีนั้น ความเป็นระบบราชการเองก็ลืมที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการดึงเอาศักยภาพของทรัพยากรบุคคลที่ตนได้ลงทุนไปมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟของบรรดาบัณฑิตจบใหม่
จะดีกว่าหรือไม่ถ้าจะเปลี่ยนงบประมาณมา ‘สร้างแรงจูงใจ’ ไม่ว่าจะด้วยการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดแรงงาน หรือพัฒนาระบบราชการให้เกิดการแข่งขันกันตามความสามารถแทนระบบอุปถัมภ์หรืออาวุโส
แทนที่จะดึงดัน ‘สร้างตรวนล่าม’ เหยื่อรายใหม่ต่อไป แล้วก็ต้องมาโอดครวญกับภาวะสมองไหลของนักเรียนรับทุนเมื่อตรวนที่ล่ามไว้ไม่แข็งแรงพอ
เพราะสิ่งที่ใครๆ มองว่าเป็นบุญคุณ แท้จริงแล้วอาจเป็นเวรกรรมก็ได้
อ้างอิงข้อมูล
[1] สำนักงาน ก.พ. (2560). ทุนสำหรับบุคคลทั่วไป. www.ocsc.go.th/scholarship/personal
[2] สำนักงาน ก.พ. (2560). ทุนสำหรับบุคคลทั่วไปทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศ: Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS). www.ocsc.go.th/scholarship/uis
[3] ASTVผู้จัดการออนไลน์. (2558). ทุน UIS “ก้าวสู่ราชการ-พัฒนาชาติ”, ผู้จัดการออนไลน์. www.manager.co.th/qol/ViewNews.aspx?NewsID=9580000002586
[4] ธัญวัฒน์ อิพภูดม. (2560). ฉันหมดไฟก่อนได้เติบโต : ข้อเสนอปรับระบบราชการเพื่อคนรุ่นใหม่, The Matter. thematter.co/pulse/bureaucracy-burnout/39077
Illustration by Namsai Supavong