เปิดเทอมมาสักพักแล้ว ขึ้น ม.4 มาแบบงงๆ ยังไม่ทันจะแก่ ก็เริ่มกังวลจนหัวหงอกแล้ว เพราะเลือกเรียนสายวิทย์ฯ แม้วิชาชีวะสนุกดี แต่เจอฟิสิกส์ก็อยากกัดลิ้นกลางห้องสอบ หรือเรียนสายศิลป์ เจอภาษาอังกฤษก็เหมือนอ่านอักขระบนแผ่นยันต์ ครูให้ไปอ่านบทความหน้าชั้น แต่เพื่อนคิดว่ากำลังท่องมนต์สะกดผี!
ความสนใจของเด็กๆ หลากหลายและไร้ขอบเขต แต่ทำไมเราถึงถูกตีกรอบเพียง 2 ทาง
จุดบอดของการศึกษาคือการขีดเส้นหนาๆ ระหว่าง วิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงการมองว่าเด็กเรียนสายวิทย์ ‘เก่ง’ ส่วนเด็กสายศิลป์เรียน ‘อ่อน’ ที่ทำร้ายจิตใจคนรุ่นใหม่
กลายเป็นว่าเราผลิต นักวิทย์ที่ไร้จินตนาการ และศิลปินที่ขาดการคิดอย่างเป็นระบบ ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่สอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจอย่างที่ฝันไว้ ซ้ำยังเตะฝุ่นใส่ศักยภาพคนรุ่นใหม่อีกแน่ะ
เครียดกันล่ะสิน้องๆ ใจเย็นๆ ค่อยๆ พูดค่อยจา
The MATTER ได้รับเกียรติจาก ‘ครูจุ๊ย’ หรือ ‘อ.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ’ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ ว่าถ้าบ้านเรามีแค่ทาง 2 แพร่ง ประเทศที่กำลังพัฒนาระบบการศึกษาจะมีทางเลือกให้มากกว่านี้หรือเปล่านะ?
เคยมีนักเรียนที่ครูจุ๊ยรู้จัก เดินมาบอกไหมว่า รู้สึกสับสนที่ต้องเลือกเข้า ม.4
เด็กสับสนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนใหญ่พวกเขาจะเลือกตามที่ครูเลือกให้ บางทีโรงเรียนก็เลือก แล้วมันยังสับสนมาถึง ม.ปลายเลยด้วยซ้ำ มีกรณีที่นักเรียนเป็นเด็กศิลป์ แต่เลือกมาเรียนวิทย์ แล้วเพิ่งมารู้ตัวว่าชอบศิลป์มากกว่า แต่เรียนวิทย์มาถึงขนาดนี้แล้วเสียดายความรู้ที่เรียนมา
มันจึงเป็น Dilemma ชีวิตของเขาเลยนะ อยากจะเรียนสิ่งที่ชอบ แต่ลงทุนลงแรงมาแล้วตั้งไกล แล้วความรู้ที่เรียนมาจะทำอย่างไรล่ะ?
ใครๆ ก็ว่าพวกเด็กเรียนวิทย์ฯเป็นหัวกะทิทั้งนั้น ส่วนสายศิลป์มักไม่ได้เรื่องได้ราว
มันมีรากฐานที่วัฒนธรรมของไทยเราที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ ‘จับต้องได้’ มากกว่า วิทยาศาสตร์มันมีผลที่จับต้องได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับมันเป็นอันดับแรก มองมันเป็นสิ่งที่ดีงาม ในขณะที่สายศิลป์หรือสายสังคม เป็นเรื่องที่เราจับต้องไม่ได้เลย
วิทยาศาสตร์เมื่อทำการทดลอง เราสามารถเห็นได้เลยว่า ผลการทดลองสำเร็จหรือล้มเหลว ส่วนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เราก็มีโอกาสเห็นได้ว่า มันสามารถไปต่อยอดอะไรได้
แต่พอมามองวิชาเชิงสังคมศาสตร์หรือภาษาศาสตร์ พ่อแม่มักเกิดคำถามว่า ลูกๆ จะเอาไปทำอะไรล่ะ ทำให้หลายคนไปหยุดแค่คำถามตรงนั้น ถ้าเป็นหมอ เราได้ช่วยผู้คน ผลมันอยู่ตรงหน้า ชีวิตมันเปลี่ยน
แล้วศึกษาด้านสังคมล่ะ ชีวิตมันไปเปลี่ยนเอาตอนไหน?
ทำไมการศึกษาไทยมีแค่ทางสองแพร่ง ที่อื่นเขาจัดการอย่างไร?
มันมาจากความสะดวกในการจัดการห้องเรียน ถ้าเราแบ่งออกตามนี้ คุณครูจะสามารถแบ่งความรับผิดชอบชัดเจน จากข้อจำกัดที่บุคลากรทางการศึกษาของเรามีไม่เพียงพอ
แม้เราอยู่ในระบบที่สะดวกก็จริง แต่เราก็อึดอัดกับมัน โดยไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างจริงจัง หรือตั้งคำถามว่า มันเปลี่ยนแปลงได้ไหม หลายประเทศตั้งคำถามกับจุดนี้และเดินหน้าไปแล้ว อย่างสิงคโปร์และฟินแลนด์ แต่ระบบการศึกษาของเขาไม่ได้แยกเด็กเป็นสายวิทย์กับศิลป์ แล้วแยกห้องเรียน ไม่แบ่งแม้กระทั่งห้องคิง หรือห้องควีน แค่จัดว่าเป็นห้อง A B หรือ C รูปแบบคือ เขาจะแบ่งการเรียนการสอนในช่วงมัธยมปลาย 2 สาย
สายแรกคือ Core Subjects หรือวิชาหลัก กับส่วนที่เป็น Track Subjects วิชาเลือกรอง
Track Subjects นั้นจะเป็นวิชาที่ลึกลงไปกว่าวิชาหลัก ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศให้ความสำคัญ เช่น เขาจะแบ่ง Track วิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทย์ที่ละเอียดขึ้นกว่าปกติ บางประเทศลงลึกไปที่ฟิสิกส์ในแขนงลึกซึ้ง ซับซ้อนขึ้น หากคุณชอบมากๆ คุณก็สามารถดำดิ่งไปกับมันได้เลย
Track สายสังคมศาสตร์ จะเปิดโอกาส ให้นักเรียนศึกษาการเขียนวรรณกรรม หรือ บางประเทศถึงขั้นพัฒนา Track สายศิลปะและการกีฬา
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ต้องเรียนวิชาหลักนะ เพราะมันยังจำเป็นอยู่ ต้องเรียนเลขพื้นฐาน ภาษาขั้นพื้นฐาน แต่เขาเปิดโอกาสให้คุณลงลึกไปกับเรื่องที่คุณสนใจเฉพาะทาง แต่ที่ว่ามามันทำไม่ได้ในเมืองไทยไง! เราไม่เคยมองว่าศิลปะเป็นสิ่งจำเป็น หรือดนตรีเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในประเทศอื่น องค์ความรู้เหล่านี้เป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กๆ จะต้องเรียนมาตลอด ไม่ใช่แค่ในชั้นมัธยมปลาย
ในระบบการเรียนการสอนของฟินแลนด์เอง ประสบปัญหาและจัดการความสับสนตรงนี้อย่างไร
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์มันก้าวหน้าไปถึงที่เส้นแบ่งของวิชามันแทบจะไม่เหลือแล้ว เขาเรียนกันเป็นองค์รวมมากๆ ช่วงนี้มีข่าวว่าประเทศฟินแลนด์จะเลิกวิชา ภาษา คณิตศาสตร์ สังคม แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เลิกไปเลยเสียทีเดียว ฟินแลนด์กำลังจะปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ โดยจะให้เด็กๆ เรียนกันเป็นธีม (Theme) เช่น ธีมร้านอาหาร
นักเรียนต้องเรียนรู้ทุกบริบทของร้านอาหาร เพราะตามธรรมชาติมันมีองค์ความรู้ของแต่ละวิชาบรรจุอยู่ในนั้นอยู่แล้ว มันคือกระบวนทัศน์ที่เราเอาความเป็นจริง มาอยู่ในห้องเรียนมากยิ่งขึ้น ใกล้กับความเป็นจริงของชีวิตเด็กๆ ต้องเผชิญ กว่าจะคิดได้เช่นนี้ เรายังห่างไกลอยู่หลายปีแสง
เริ่มมีหลายโรงเรียนนำกระบวนเรียนการสอนแบบ RBL (Research Base Learning) การเรียนด้วยฐานความรู้ของงานวิจัยมาช่วยเปลี่ยนบรรยากาศ
หลายโรงเรียนเริ่มพยายามทำแล้ว มีการทำใบงานให้นักเรียนได้ไปศึกษาอะไรต่อมิอะไร แต่เราก็มักจะถูกกรอบโดย การสอบเข้ามหาวิทยาลัยกดทับอยู่ดี ซึ่งทำให้เราต้องแบ่งสาย และพบข้อจำกัด แม้จะมีการใช้ RBL ในกระบวนการสอนแล้วก็ตาม
เด็กหลายคนสนุกกับ RBL ในระหว่างเรียนก็จริง แต่พอถึงการสอบมหาวิทยาลัยก็เจ็บปวดอยู่ดี เพราะเราถูกกรอบของการสอบ และระบบการศึกษาของไทย มีช่องทางให้พวกเขาเลือกเพียงไม่กี่ช่อง ไร้ซึ่งความยืดหยุ่น แต่มนุษย์กลับต้องการความยืดหยุ่นมิใช่หรือ
ในระดับนโยบายการศึกษาไทย สามารถลดช่องว่างตรงนี้ได้ไหม มีพื้นที่ทางเลือกที่น่าสนใจอื่นๆ หรือเปล่า
บางคนเคยบอกว่าให้เปลี่ยนข้อสอบ ไม่ต้องมีข้อสอบเอ็นทรานซ์เลย ซึ่งเราไม่เห็นด้วย แต่ข้อสอบต้องพัฒนาให้สอดรับกับความเป็นจริง มีเนื้อหาที่ประยุกต์ปรับใช้ได้ ไม่ใช่การท่องจำ
ข้อสอบของประเทศฟินแลนด์พยายามสะท้อนความเป็นไปในสังคม เขาจะให้นักเรียนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐ ซึ่งผ่านร่างล่าสุด ด้วยความรู้ที่มีอยู่จากมิติทางสังคมหรือปรัชญา แต่จะถึงขั้นนั้นได้ เขาต้องมีคุณครูที่มีความพร้อมในการตรวจข้อสอบเหล่านั้นด้วย
ท้ายสุดมาประเด็นนี้ ก็จะวนไปตั้งคำถามเดิมๆ ของระบบการศึกษาไทยอยู่ดี
จะมุ่งเปลี่ยนคุณภาพนักเรียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปลี่ยนที่คุณภาพครูด้วย
ใช่ ประเทศฟินแลนด์ทำเรื่องครูเป็นเรื่องแรกๆ ในการพัฒนาระบบการศึกษา ฟินแลนด์ไม่ได้มาจากการศึกษาที่ดีเลิศ มาจากการศึกษาเยินๆ ด้วยซ้ำ ในช่วงประมาณปี 1970 จวบจนปัจจุบัน ระบบการศึกษาฟินแลนด์ไม่ดีที่สุด เพราะพวกเขาไม่เคยคิดว่ามันดีที่สุดตั้งแต่แรก
การให้ความสำคัญกับครู เพราะในห้องเรียนนั้น ครูเป็นหัวใจแห่งกระบวนการเรียนรู้ การที่ระบบการศึกษาของเขาพัฒนาครูได้ คือการให้ครูสามารถย้อนไปตั้งคำถามกับตัวเองใหม่ ที่คุณสอนอยู่ในห้องเรียน คุณกำลังทำอะไร เพื่ออะไร เราเรียกว่า กระบวนการ Reset สมองครูใหม่
แต่ครูไทยเราก็ต้องทำความเข้าใจพวกเขา เพราะเราเข้าใจสิ่งที่ครูไทยต้องเผชิญ ตอนเราทำปริญญาเอกต้องทำงานใกล้ชิดกับคุณครู พวกเขาเรียนครูมาจากระบบเดิม แล้วแทบไม่รู้เลยว่า มันมีระบบอื่นๆ ข้างนอก แล้วหากถามต่อว่าทำไมพวกเขาไม่สอนด้วยระบบอื่น ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่า การศึกษาไทยให้เครื่องมือกับครูเพียงพอแล้วหรือยัง?
ดังนั้นในมุมมองของเรา วิธีแก้ปัญหาระยะสั้นและรวดเร็ว คือการเปลี่ยนข้อสอบเอ็นทรานซ์ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพื่อกระตุ้นให้ครูไปเปลี่ยนวิธีการสอน เพราะเราหลอกตัวเองไม่ได้ว่าเอ็นทรานซ์ไม่สำคัญสำหรับเรา ถ้ายังมีค่านิยมว่าทุกคนต้องเข้ารั้วมหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งในฟินแลนด์แทบเป็นพีระมิดแบบหัวกลับ
หากระบบการศึกษามี 3 ส่วน เด็กๆ จะไปสายสามัญแค่ส่วนเดียว อีก 2 ส่วนจะไปสายอาชีพ แต่ของประเทศไทยกลับมีทั้ง 3 ส่วนเป็นสายสามัญ และสายอาชีพกลับไม่มีใครอยากไป ซึ่งสังคมฟินแลนด์เองก็เจอปัญหานี้มาก่อน ไม่มีผู้ปกครองอยากให้ไปสายอาชีพ แต่ภาครัฐค่อยๆ พัฒนาโดยให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับได้ในที่สุด
ในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่คลุกคลีกับวงการการศึกษา และในฐานะ ‘ครู’ สามารถแนะนำน้องๆ ที่กำลังวิตกกังวลอย่างไร
เรามีเพื่อนที่เป็นแบบนี้หลายคน เพื่อนที่เรียนวิทย์ฯ แต่เข้าอักษรศาสตร์ มันก็ทำได้ หากเราสนใจจริงๆ อย่างในช่วงเอ็นทรานซ์เราก็ไปศึกษามาว่า การสอบคัดเลือกมีโครงสร้างอะไรบ้าง วิชาอะไรบ้าง และเราก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ข้อสอบเมืองไทย เป็นข้อสอบที่เน้นท่องจำทั้งหมด ท่องจำและเตรียมตัวไปสอบ กรณีแบบนี้น้องๆ รู้ตัวเองมันก็แก้ปัญหาไม่ยากเลย อันที่ยากคือคนที่ไม่รู้อะไรเลย
แต่ในกรณีเด็กสายศิลป์อยากไปศึกษาต่อในสายวิทยาศาสตร์ อาจยากหน่อย เขาต้องมีความสนใจขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างไปแต่ละคนว่า มีความรู้เชิงวิชาการพื้นฐานเพื่อเอาไปสอบหรือเปล่า บางคนเป็นโอตาคุวิทยาศาสตร์มากๆ เราคิดว่าพวกเขาก็น่าจะสามารถทำข้อสอบได้รอดเช่นกัน
แต่หากพวกเขาชอบ แต่ไม่ได้กระดิกทำอะไรกับมันเลย นั้นยากแล้วล่ะ
เด็กไทยจะมีความสุขกับการเรียนได้ไหม?
ห้องเรียนในปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นกระบวนการเรียนรู้ทุกอย่างของเด็ก ดังนั้นถ้าหาความสนุกสนานจากห้องเรียนไม่ได้แล้ว นอกห้องเรียนยังมีอะไรที่ให้ไปเรียนรู้อีกเยอะ เรามีลูกศิษย์ที่ชอบหุ่นยนต์ตั้งแต่ ป.5 ถ้าพ่อแม่ปกติก็บ่นลูกที่วันๆ เอาแต่เล่นหุ่นยนต์ เล่นมาจนกระทั้งเข้ามัธยมปลาย จากนั้นก็ได้ทุน ซึ่งหุ่นยนต์ไม่เคยอยู่ในห้องเรียนเลย
ถ้าห้องเรียนไม่มีความสุข หาสิ่งอื่นที่เราสนุก แล้วบาลานซ์ชีวิตของเราได้บ้าง