เทียบกับเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา มุมมองของเราต่อยอดมนุษย์ไม่เหมือนเดิม
จากภาพของคนผู้มีอำนาจเหนือผู้อื่นแล้วใช้ความสามารถนั้นๆ ในการช่วยเหลือผู้อื่น เราตั้งคำถามกับพวกเขามากขึ้นว่าคุณช่วยยังไงให้เมืองทั้งเมืองพังราบเป็นหน้ากลอง? ชายโดดเดี่ยวผู้วิ่งไล่กวดความเลวร้ายค่ำคืนแล้วค่ำคืนเล่าในการชะล้างให้บ้านเกิดของเขาขาวสะอาดถูกตั้งคำถามว่ามีเงินและอิทธิพลมากขนาดนั้นทำไมไม่ไปแก้ปัญหาเชิงระบบ?
มุมมองของเราต่อยอดมนุษย์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเราไม่ได้หมายความถึงมาร์เวลหรือดีซี แต่เราหมายถึงผู้ที่บอกกลายๆ ว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่ ‘ฮีโร่’ ที่เราเห็นในชีวิตจริงทุกวันนี้
‘อะไรทำให้คุณคิดว่าตัวเองคนเดียวจะช่วยได้?’ น่าจะเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงฮีโร่ช่วงปีปัจจุบัน และคำตอบของคำถามนั้น (ที่อาจดูเหมือนการจิกกัด) อาจเป็นเพราะ ‘Savior complex’
Savior complex, Hero complex หรือ Messiah complex คือพฤติกรรมที่คนคนหนึ่งมักต้องการช่วยเหลือผู้อื่น เพราะคิดอยู่เสมอว่า ตัวเขานั้นมีหน้าที่ที่จะช่วยเหลือคนอื่นตลอดเวลา โดยตัวอย่างของการกระทำที่อาจนับรวมได้ว่าคนคนหนึ่งมี savior complex คือเขามองหาคนที่เปราะบางกว่าเขาในแง่มุมต่างๆ เขาอาจเห็นปัญหาแล้วเขาคิดว่ามันต้องมีทางแก้ และเขานั่นเองจะแก้มัน เขาคือทางออก และแม้ว่าเขาต้องสละอะไรบางอย่างเพื่อไปสู่ทางออกนั้นเขาก็จะทำ
ก็ดูเหมือนคนใจบุญทั่วไปว่าไหม? อาจจริงในแง่หนึ่ง แต่ความต้องการเหล่านั้นมักมากับลักษณะแง่ลบด้วย เช่น ด้วยมุมมองว่าตัวของเขาคือคำตอบและทางออก คนคนนั้นอาจจะคิดแทนและทำแทนผู้อื่น หรือพยายามเปลี่ยนผู้อื่นให้ทำตามความคิดของเขาเพราะเขารู้ดีกว่า กล่าวคือบ่อยครั้งการ ‘ช่วย’ นี้ขาดการ ‘ฟัง’ ว่าปัญหาของผู้ที่ถูกช่วยอยู่มาจากไหน และต้องการให้แก้อะไร
แต่พฤติกรรมแบบนี้มีที่มาที่ไปหรือเปล่า? คำตอบคือมี แต่ว่าหลากหลาย สำหรับบางคนมาจากการแสวงหาคุณค่าภายในตัวเอง อาจมาจากความไม่เติมเต็มในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต หรืออาจจะเกิดขึ้นมาจากการปลูกฝังผ่านการฟังเรื่องราวของยอดมนุษย์แรกๆ เช่น พระเวสสันดรชาดก หรือแม่พิมพ์ของยอดมนุษย์ยุคคลาสสิคอย่างพระเยซู หรือบางครั้งมันก็อาจมาจากความหวังดีอย่างแท้จริงก็ได้
แต่ความหวังดีนั้นดีพอแล้วหรือเปล่า?
แน่ล่ะว่าเดอะแฟลชจะวิ่งด้วยความหวังดีไปเรื่อยๆ หรืออควาแมนจะดำน้ำไปตลอดเพราะเขาทำได้ เพราะนั่นอาจคือความสะดวกที่เขาจะช่วยแบบนั้น แต่การมีความสามารถที่จะทำเป็นหนึ่งเรื่อง แต่อีกเรื่องที่เป็นคำถามพ่วงมาด้วยคือทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วช่วยยังไง และที่สำคัญคือการช่วยนั้นช่วยไปได้ถึงไหน?
สมมติว่าเราเห็นตรงกันว่าระบบสาธารณสุขของประเทศมีปัญหา เราอาจเลือกวิธีการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่เป็นผลดีต่อคนหมู่มาก แต่สำหรับบางคนอาจเลือกการวิ่งหรือว่ายน้ำเพื่อรวบรวมเงินบริจาคหนึ่งก้อนแทน ความหวังดีอยู่ตรงนั้นอย่างแน่นอน แต่คำถามที่ยังไม่ได้ตอบคือมันช่วยใครได้บ้าง
ไม่ได้บอกว่าการทำแบบนั้นเป็นเรื่องผิด แต่การเลือกทำแบบนั้นเท่านั้นโดยไม่แตะไปถึงระบบเลยก็ชวนตั้งคำถามกับแนวคิดของฮีโร่อยู่เช่นกัน
แต่เมื่อมองไปยังสถานการณ์ของโลกในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ก็จะไม่แปลกใจที่ความเชื่อในฮีโร่และเป็น ‘คนดี’ จะเติบโตในหลายๆ คน สถานการณ์การเมืองโลกที่ไม่แน่นอน ความรู้สึกว่าปัญหาในโลกไม่ว่าใกล้หรือไกลตัวล้วนใหญ่เกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะแก้อะไรได้ ไม่ว่าใครจะเข้าไปอยู่ในรัฐสภาหรือฝั่งไหนอยู่ในอำนาจ ความเปลี่ยนแปลงแบบรูปธรรมไม่เคยลงมาถึงเราเลย
ราวกับว่าเราถูกทำให้เชื่อเสมอมาว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนั้นไม่ยั่งยืนผ่านการล้มกระดานหรือการแช่แข็งอย่างสม่ำเสมอ ถูกทำให้เชื่อบ่อยครั้งว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบนั้นมันเกินเอื้อม ยากลำบาก จับต้องไม่ได้ และเชื่องช้าไม่ทันใจ จึงดูเหมือนว่าคำตอบเดียวที่เราสามารถไขว่คว้าได้คือนักการเมืองที่แข็งแกร่งที่สุด ชายแข็งแรงผู้ใจบุญ หรือทหารบางนายที่ ‘พร้อมจะทำอะไรที่ไม่มีใครกล้าทำ’ ดูสิว่า ‘ฮีโร่’ พาเรามาอยู่ตรงไหน?
ครั้งแล้วครั้งเล่าเราเรียนรู้ว่าเมื่อเราได้รับฮีโร่เหล่านั้นมา พวกเขาเองก็ไม่ใช่ยาที่จะช่วยให้ที่ที่เรายืนอยู่หายป่วยไข้เช่นกัน หากแบทแมนต่อสู้กับเหล่าร้ายมาเป็น 80 ปี แต่ก็อตแธมยังไม่สิ้นวายร้าย การเป็นฮีโร่ที่ไม่แม้แต่พยายามแตะโครงสร้างก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของสังคมได้ฉันนั้น
และบ่อยครั้งอาจกระอักกระอ่วนใจอย่างมาก หากโดยไม่รู้ตัวเองฮีโร่เหล่านั้นคือหนึ่งในผู้สร้างระบบผุพังที่เขาพยายามซ่อมแซม
อ้างอิงข้อมูลจาก