ช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมา หน้าฟีดอินสตาแกรมของบางคนอาจเต็มไปด้วยภาพถ่ายในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ พร้อมฟิลเตอร์สุดวินเทจจาก ‘ตู้ถ่ายรูป’ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมตู้ถ่ายรูปถึงกลับมาฮิตอีกครั้ง?
คำถามนี้พาเราเดินทางมายังย่านสุขุมวิท สถานที่ตั้งของออฟฟิศ ‘Sculpture Bangkok’ แบรนด์ที่พาความคึกคักมาเยือนตู้ถ่ายรูปในกรุงเทพฯ โดยชวนสองผู้ก่อตั้งอย่าง ‘ปิ่น–ลักษิกา จิระดารากุล’ และ ‘พี–สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร’ มาพูดคุยถึงเบื้องหลังความป๊อปปูลาร์ของตู้ถ่ายรูป และเรื่องราวการเติบโตของแบรนด์
Sculpture Bangkok
ไอเดียของ Sculpture Bangkok เริ่มต้นขึ้นตอนที่ปิ่นไปเที่ยวนิวยอร์ก เธอคือช่างภาพผู้ไม่สันทัดการถูกถ่ายรูป แต่กลับรู้สึกเอ็นจอยกับการถ่ายรูปในตู้อย่างไม่เคอะเขิน เมื่อกลับมาเมืองไทย ปิ่นจึงเริ่มทำตู้ถ่ายรูปของตัวเองขึ้นมา โดยมองว่าเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
“ตอนแรกกะว่าเป็นโปรเจกต์เดียว แล้วก็เลิกทำ แค่ให้คนมาสนุก แต่กลายเป็นว่าฟีดแบ็กมันค่อนข้างเยอะมาก จนเราคิดว่าถ้าคนชอบขนาดนี้ เราทำต่อดีไหม พอเจอพีก็เลยกลายมาเป็นธุรกิจแบบจริงจังเต็มรูปแบบ”
แม้จะเริ่มทำเป็นธุรกิจ แต่ปิ่นและพีไม่ได้นำตู้ถ่ายรูปหน้าตาเหมือนกันไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพราะจุดเด่นของ Sculpture Bangkok คือความกลมกลืนและกิมมิกที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละโลเคชั่น
“เวลาเราไปตั้งที่ไหน จะมีการคุยกับเจ้าของของร้านว่าคาแร็คเตอร์ของร้านเป็นยังไง อยากได้แบบไหน แล้วก็มา brainstorm กัน หาตรงกลางระหว่างความเป็น Sculpture Bangkok กับร้านร้านนั้นมากกว่า”
“เราไม่ได้มองว่ามันคือธุรกิจจ๋า แต่ปิ่นมองลึกไปกว่านั้นก็คือความเป็นตัวตนของร้านและความเป็นตัวตนของ Sculpture Bangkok มันน่าจะมีผลต่อประสบการณ์ของลูกค้ามากกว่า ปิ่นกับพีจะคุยกันตลอดว่า Sculpture Bangkok จะไม่มีให้ร้านเช่าตู้ไปตั้งตามคาเฟ่ แต่ว่าถ้าจะเข้ามาคือเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของเรา”
นอกจากมุมมองด้านศิลปะของปิ่นแล้ว พียังมองว่าวิธีนี้ส่งผลดีในระยะยาวกับ Sculpture Bangkok อีกด้วย
“จริงๆ ถ้ามองในมุมของโมเดลธุรกิจ เราสามารถดึงคนในสถานที่นั้นมาถ่ายรูปได้มากกว่าด้วย เพราะถ้าสมมติอยู่ดีๆ เราเป็นตู้ที่ไม่เหมือนเขาเลย แล้วคอนเซปต์ร้านเขาเป็นโทนไม้ๆ ต้นไม้เยอะๆ แล้วอยู่ดีๆ เราเอาสีชมพูไปตั้งกลางร้านอย่างงี้ คนก็จะ เฮ้ย! อะไรน่ะ สิ่งนี้คืออะไร แต่ถ้ามันกลมกลืน adapt กันไป ทุกอย่างมันจะลงตัวกว่า”
“ยกตัวอย่างร้าน FICS ด้วยความที่คอนเซปต์ของร้านเขาเกี่ยวกับหนัง เป็นร้านของพี่บาส <นัฐวุฒิ พูนพิริยะ> ที่เป็นผู้กำกับ เราก็เลยทำให้เป็นเหมือนซับไตเติลหนังใต้ภาพ random ไปเรื่อยๆ คือถ่ายแต่ละครั้ง ซับไตเติลจะไม่ซ้ำกันเลย ฟิลเตอร์ภาพก็จะมีความ หว่อง กาไว ตามสไตล์หนังของพี่บาส”
‘We Do Things’ เพราะไม่ใช่แค่ตู้ถ่ายรูป
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี Sculpture Bangkok เริ่มขยับขยายสู่แบรนด์ใหม่ๆ อย่าง ‘Snap Photo Service’ แบรนด์ตู้ถ่ายรูปแฟรนไชส์ที่เจาะกลุ่มใหญ่ขึ้น สนุก สดใสขึ้น และ ‘Random Sculpture Club’ แบรนด์สินค้าแสนเก๋ที่มีทั้งหมวก สติ๊กเกอร์ สมุด เฮดแบนด์ กล้องใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ แถมปิ่นกับพียังขยัน collab กับแบรนด์ต่างๆ หรือคิดโปรเจกต์ใหม่ๆ ออกมา จนเราอดคิดไม่ได้ว่า Sculpture Bangkok เหมือนกับแกลเลอรีหรือหอศิลป์ที่มีนิทรรศการใหม่ๆ ชวนใจเต้นออกมาให้รอติดตามอยู่เสมอ อย่างการแก้ปัญหาช่วงที่คนไม่กล้าออกจากบ้านด้วยตู้ถ่ายรูปแบบ Drive Thru การ collab กับ I wanna Bangkok ทำตู้ถ่ายรูปสุดเท่ราวกับหลุดเข้าไปอยู่ในแมกกาซีน หรือ collab กับ GDH ทำหมวกแบบที่ตัวเอกในเรื่อง Fast and Feel Love สวมใส่
ความหลากหลายทั้งหมดนี้ ชวนให้เราสงสัยว่านิยามของ Sculpture Bangkok คืออะไร
“สโลแกนของเราคือ ‘We Do Things’ คือเราไม่ได้กำหนดว่าเราทำอะไร แต่ว่าเราทำอะไรสักอย่าง” พีให้คำตอบปนเสียงหัวเราะ ก่อนที่ปิ่นจะเสริมว่า
“ระหว่างทำ มันทำให้ปิ่นกับพีเจออะไรเยอะมาก ว่าจริงๆ มันไปทางนี้ได้นะ กลายเป็นว่าเรามาคุยกันใหม่ โอเค Sculpture Bangkok ไม่ใช่ตู้ถ่ายรูปแล้ว แต่มันคือแบรนด์แบรนด์หนึ่งที่ในอนาคตอาจจะเป็นอะไรสักอย่างเกี่ยวกับ experimental booth ต่อไป”
“ตอนแรกเราตั้งชื่อแบรนด์ Sculpture Bangkok เพราะแปลว่าประติมากรรม เราอยากให้เป็นประติมากรรมอยู่ในที่ที่หนึ่ง แล้วคนไม่รู้ว่ามันคืออะไร เข้าไปเล่นอะไรกับมันได้อีก ตอนนี้ก็ชัดขึ้นว่า โอเค มันคือ We Do Things แต่ว่าเราไม่ใช่ตู้ถ่ายรูปแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่เราพยายามทำให้แบรนด์มันแข็งแรงขึ้น ในอนาคตอาจจะเห็นอะไรที่ชัดขึ้นกว่านี้”
ขับเคลื่อนด้วยความสนุก
แน่นอนว่าเบื้องหลังการเติบโตของ Sculpture Bangkok ย่อมผ่านความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทั้งคู่ก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
“ปัญหาเยอะมากกกก” (ลากเสียงยาวเหยียด) ก่อนที่พีจะเล่าต่อว่า “บางคนจะมองว่าแค่ธุรกิจตู้ถ่ายรูป ก็ตั้งตู้ ตั้งอุปกรณ์ถ่ายๆ ไป รับตังค์ จบ โอ้โห แต่จริงๆ แล้วมันเยอะมาก เราไม่ได้ซื้อตู้ถ่ายรูปแบบสำเร็จรูปมา มันต้องเริ่มต้นทุกอย่าง ตั้งแต่ปิ่นต้องไปติดต่อช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ให้เขาประกอบโครงตู้ อุปกรณ์เราก็ต้องแยกซื้อกัน แล้วก็มาประกอบกันเอง”
“ปัญหามันค่อนข้างจุกจิก แล้วก็กดดันประมาณหนึ่ง เหมือนถ้าสมมติเป็นเสาร์-อาทิตย์ที่คนต่อคิวเยอะๆ แล้วตู้มันเสีย ถ้าเสียแค่ 5 นาที ก็ไม่ได้แล้ว เพราะนี่คือลูกค้าที่เขาต้องการใช้บริการ ณ ตอนนี้ มันเลยเป็นการทำธุรกิจที่ต้องแก้ปัญหาเร็ว คิดเร็ว ทุกอย่างคือต้องเร็วทั้งหมด”
แม้ธุรกิจนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พีมองว่าพวกเขาก้าวผ่านมาได้ด้วยแรงผลักดันสำคัญ คือความรู้สึกของคนที่มาถ่ายรูป
“ความสนุกคือการที่คนเข้ามาสนุกกับเรา ยิ่งวันแรกๆ ที่เราเปิดตู้ใหม่ขึ้นมา แล้วคนก็มาเล่น มาสนุก อยากจะลงรูป อยากจะแชร์ คือเข้าอินสตาแกรมแล้วทุกคนลงรูป Sculpture Bangkok ทั้งฟีดมันสะใจ (หัวเราะ) เราก็ทำด้วยความสนุก แล้วก็อยากที่จะทำโปรเจกต์ใหม่เรื่อยๆ”
เช่นเดียวกับปิ่นที่มีความสนุกเป็นแรงขับเคลื่อน “ปิ่นก็เหมือนกัน แต่จะเป็นในแง่ที่ว่าสิ่งที่เราชอบ มีคนชอบเหมือนเรา หมายถึงว่า สิ่งที่เรากำหนดแนวทางแบบนี้ taste แบบนี้ มันมีคนที่อินไปกับเรา ชอบไปกับเราด้วย”
ความรู้สึกในวันเก่า กับตู้ถ่ายรูปแบบใหม่
แม้การขยับขยายของแบรนด์ Sculpture Bangkok จะเป็นส่วนสำคัญที่จุดประกายให้ตู้ถ่ายรูปในไทยได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ปิ่นและพีมองว่าเบื้องหลังความป๊อปปูลาร์อาจจะมาจากหลายเหตุผลด้วยกัน
“จริงๆ พีว่าในเชิงประสบการณ์ของคนที่เดินเข้ามาในตู้ ไม่ว่าจะยุคไหน ทุกตู้ก็น่าจะให้ประสบการณ์เดียวกันทั้งหมด ก็คือเราเข้าไปเก็บความทรงจำกับคนที่เรามาด้วย แต่ที่เหลือมันเป็นแค่เรื่องของรูปแบบแล้ว ว่าถ่ายรูปต่างกันยังไง มีปรินต์ มีสแกนไฟล์ดิจิทัล มีแต่งสติ๊กเกอร์อะไรอย่างนี้ คือทุกยุคทุกสมัยพีว่ามีประสบการณ์เดียวกัน แต่คนละรูปแบบกันเท่านั้นเอง”
ส่วนปิ่นมองว่าอาจเป็นเพราะจังหวะเวลา และโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน
“ช่วงที่ Sculpture Bangkok มามันไม่ค่อยมีตู้ที่คนสามารถจ่ายตังค์แล้วเข้าไปถ่ายกับเพื่อนได้ เราก็เลยดึงบริบทนั้น แล้วเอาออกมาใช้ใหม่ อาจจะวัยรุ่นขึ้น เข้าถึงคนง่ายขึ้น กลายเป็นว่า โอเค จังหวะมันถูกต้อง มันก็เลยไปได้เรื่อยๆ ค่ะ”
“เราอยากให้ Sculpture Bangkok เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่เกี่ยวกับการถ่ายรูป เราอยากทำให้การถ่ายรูปในกรุงเทพฯ หรือในประเทศนี้มันสนุกขึ้น ให้คนทั่วไปเข้ามาถ่ายรูปได้เหมือนรูปแฟชั่น หรือรูปที่มีมุมมองต่างออกไป อยากให้มันเป็นวัฒนธรรมแบบนั้นมากกว่าว่า เฮ้ย เดี๋ยวต่อไป Sculpture Bangkok จะทำอะไรให้คนเข้ามาเล่นอีก”
หลังจบบทสนทนา เราก้าวเข้าไปในตู้ถ่ายรูปสีฟ้าสดใส นั่งลุ้นว่ารูปจะออกมาเป็นแบบไหน พลางนึกถึงช่วงเวลาที่เคยนั่งอัดกันในตู้เล็กๆ กับเพื่อนอีกสองคน แล้วพยายามจัดใบหน้าให้อยู่ในเฟรมเดียวกัน ตามมาด้วยเสียงหัวเราะเมื่อเห็นรูปที่ปรินต์ออกมา ความรู้สึกนั้นต่างไปจากการใช้กล้องเซลฟี่เพื่อลงอินสตาแกรมอย่างสิ้นเชิง
“ทำไมตู้ถ่ายรูปถึงกลับมาฮิต?”
คำตอบอาจมีทั้งเทรนด์ โซเชียลมีเดีย หรือจังหวะที่พอดี แต่อีกคำตอบที่เราอยากเติมเข้าไปหลังจากพูดคุยในวันนี้ คือ การเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้เราเข้าไปสัมผัสความรู้สึกบางอย่าง อาจเป็นเสียงหัวเราะ ความสนุก ความสุข ความตื่นเต้น หรือความรู้สึกอื่นใดที่โทรศัพท์มือถือ หรือกล้องถ่ายรูปไม่สามารถทำได้ … คล้ายกับงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่คน (ถูก) ถ่ายและห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ นั้น ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา
Photo by Krit Pornpichitpai, Watcharapol Saisongkhroh